โทมัสคนกล้า
3 กรกฎาคม
ฉลองนักบุญโทมัส อัครสาวก
|
อฟ 2:19-22
ยน 20:24-29
|
วันนี้พระศาสนจักรให้เราฉลองนักบุญโทมัส
อัครสาวก ชื่อ “โทมัส” ในภาษาอาราไมอิกแปลว่า
“ฝาแฝด” เป็นหนึ่งในอัครสาวกสิบสององค์ของพระเยซูเจ้า เรามักจดจำภาพความเชื่อยากของโทมัส
จากท่าทีที่แสดงออกเกี่ยวกับการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ความจริงโทมัสเป็นคนกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยกลับไปแคว้นยูเดีย เพื่อช่วยลาซารัสที่ป่วยหนัก แต่บรรดาศิษย์ไม่เห็นด้วยเพราะชาวยิวกำลังหาโอกาสประหารพระองค์
โทมัสได้กล่าวกับบรรดาศิษย์ว่า “พวกเราจงไปตายพร้อมกับพระองค์” (ยน 11:16)
โทมัสมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ทำให้ไม่เชื่ออะไรง่าย
หากไม่เข้าใจจะถามจนชัดเจน เช่น ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้ายก่อนเสด็จไปสวนเกทเสมนี
พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เรากำลังไปเตรียมที่ให้ท่าน ...ที่ที่เราจะไปนั้นท่านรู้จักหนทางแล้ว”
(ยน 14:2-3) โทมัสได้พูดขึ้นว่า “พระเจ้าข้า พวกเราไม่ทราบว่าพระองค์จะเสด็จไปที่ใด
แล้วจะรู้จักหนทางได้อย่างไร” (ยน 14:5) และเป็นที่มาของอมตะวาจาของพระเยซูเจ้าที่ว่า
“เราเป็นหนทาง ความจริง และชีวิต” (ยน 14:6)
พระวรสารวันนี้ เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนรู้จักและจดจำเกี่ยวกับโทมัส
เป็นเหตุการณ์หลังการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และทรงปรากฏพระองค์ให้บรรดาศิษย์ได้เห็น
โทมัสไม่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้น บรรดาศิษย์ได้เล่าให้โทมัสฟังถึงการได้เห็นองค์พระเจ้า
แต่โทมัสไม่เชื่อและบอกว่า “ถ้าข้าพเจ้าไม่เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ และไม่ได้เอานิ้วแยงเข้าไปที่รอยตะปู
และไม่ได้เอามือคลำที่ด้านข้างพระวรกาย ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อเป็นอันขาด” (ยน 20:25)
เมื่อพระเยซูเจ้าทรงปรากฏมาอีก ทรงแสดงรอยตะปูที่พระหัตถ์ให้โทมัสดู
และเชิญให้เอานิ้วแยงรอยตะปูและรอยแผลนั่นแหละโทมัสถึงได้เชื่อ พระวรสารไม่ได้บันทึกว่า โทมัสได้ทำตามที่กล่าวไว้หรือเปล่า
แต่ระล่ำระลักว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า และพระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า”
(ยน 20:28) ความสงสัยและเชื่อยากทำให้โทมัสกลายเป็นองค์อุปถัมภ์ของนักวิทยาศาสตร์ ผู้แสวงหาความจริง
เราพบชื่อโทมัสครั้งสุดท้ายเมื่อออกไปจับปลากับเปโตรและอัครสาวกอีก
5 คน แสดงว่า โทมัสมีอาชีพชาวประมงเช่นเดียวกับบรรดาอัครสาวก (ยน 21:2-3) ธรรมประเพณีของพระศาสนจักรเชื่อว่า โทมัสออกไปเทศนาสั่งสอนแถบเปอร์เชียและเข้าไปในประเทศอินเดีย
และได้พลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยการถูกแทงด้วยหอก มีกลุ่มคริสตชนหลายกลุ่มอ้างว่า สืบสายความเชื่อมาจากนักบุญโทมัสจนถึงทุกวันนี้
บางตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางมารีย์สิ้นชีวิตนั้นโทมัสไม่อยู่ด้วย พอทราบข่าวได้รีบกลับมาและขอเปิดคูหาเพื่อดูหน้าเป็นครั้งสุดท้าย และพบความจริงว่า คูหาว่างเปล่าไม่มีร่างกายของพระนางเลย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่อง “พระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” ศิษย์พระคริสต์ต้องมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเหมือนนักบุญโทมัส เมื่อเกิดความสงสัยต้องแสวงหาความจริงเพื่อเชื่ออย่างสนิทใจ และก้าวเดินไปด้วยความเชื่อ อุทิศตนทั้งครบเพื่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
บางตำนานเล่าว่า เมื่อพระนางมารีย์สิ้นชีวิตนั้นโทมัสไม่อยู่ด้วย พอทราบข่าวได้รีบกลับมาและขอเปิดคูหาเพื่อดูหน้าเป็นครั้งสุดท้าย และพบความจริงว่า คูหาว่างเปล่าไม่มีร่างกายของพระนางเลย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อเรื่อง “พระนางมารีย์รับเกียรติเข้าสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ” ศิษย์พระคริสต์ต้องมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวเหมือนนักบุญโทมัส เมื่อเกิดความสงสัยต้องแสวงหาความจริงเพื่อเชื่ออย่างสนิทใจ และก้าวเดินไปด้วยความเชื่อ อุทิศตนทั้งครบเพื่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
2 กรกฎาคม 2018
ภาพ : นักบุญโทมัส อัครสาวก, มหาวิหารยอห์นลาเตรัน, โรม, อิตาลี; 2007-08-17
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น