วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2562

ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด


ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด
จันทร์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
โยบ 1:6-22
ลก 9:46-50
ความทะเยอทะยานมีอยู่ในใจมนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า พวกเขาถกเถียงกันในหมู่ของตนว่า “คนใดในกลุ่มยิ่งใหญ่ที่สุด” (ลก 9:46) พระวรสารวันนี้ สะท้อนความทะเยอทะยานและการแสวงหาตำแหน่งแห่งอำนาจของบรรดาศิษย์ พวกเขาคิดว่า อาณาจักรสวรรค์คงไม่ต่างจากอาณาจักรแห่งโลกนี้ ผู้มีอำนาจต้องอยู่เหนือคนอื่นซึ่งพวกเขาปรารถนาไปถึงตรงจุดนั้น
พระเยซูเจ้าทรงใช้ตัวอย่างของเด็กเล็ก ๆ เป็นต้นแบบของผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสวรรค์ ด้วยเหตุผล 1) ความสุภาพถ่อมตน เด็กเล็ก ๆ มีความซื่อบริสุทธิ์ ไร้เดียงสา ไม่เสแสร้ง ไม่มีความทะเยอทะยานเพื่อเป็นใหญ่, 2) การขึ้นกับผู้อื่น เด็กเล็ก ๆ ไม่สามารถพึ่งตนเองได้ต้องอาศัยผู้อื่น ชีวิตของพวกเขาขึ้นกับผู้ปกครองและดูแลพวกเขา และ 3) ความวางใจ การขึ้นกับผู้อื่นทำให้เด็กเล็ก ๆ วางใจผู้อื่นมากกว่าตนเอง และเป็นต้นแบบของผู้เชื่อและวางใจพระเจ้า
ความสุภาพถ่อมตน เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับคริสตชนในการปฏิบัติต่อกัน การขึ้นกับผู้อื่น และความวางใจ เป็นต้นแบบของทัศนคติที่พึงมีต่อพระเจ้า เราต้องเป็นเหมือนเด็กเล็ก ๆ “ผู้ใดเล็กที่สุด ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด” (ลก 9:48) เลียนแบบเด็กเล็ก ๆ ในความสุภาพถ่อมตนและมีหัวใจเปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นกับพระเจ้า วางทุกอย่างไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงให้ความสำคัญกับเด็กเล็ก ๆ คนยากจน คนบาป และคนต่ำต้อย ซึ่งเป็นคนเล็กน้อยในสังคม ทรงบอกเราว่า พวกเขาคือผู้ที่พระเจ้าทรงรักเป็นพิเศษ ซึ่งเราต้องเอาใจใส่ไม่มองข้าม และยังบอกด้วยว่า คนเหล่านี้คือวิธีพิสูจน์ความรักแท้และความเชื่อในพระองค์ ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็ก ๆ คนนี้ในนามของเรา ผู้นั้นต้อนรับเรา...  (ลก 9:48) นี่คือเหตุผลที่พระองค์เสด็จมาในโลกอย่างยากจนและเรียบง่าย เรารู้สึกไหมว่าตนเองอยู่เหนือคนเล็กน้อยในสังคม
พระเยซูเจ้าทรงยกย่องเด็กเล็ก ๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนเล็กน้อยในสังคมเป็นพิเศษ เพราะความสุภาพถ่อมตน การขึ้นกับผู้อื่น และความวางใจของพวกเขา ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบและมีท่าทีเหมือนเด็กเล็ก ๆ ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร เป็นต้นคนเล็กน้อยในสังคม อีกทั้งไม่ทำตัวเป็นที่สะดุด หรือทำให้พวกเขาตกในบาป เพราะพวกเขาคือพระเยซูเจ้าผู้ประทับท่ามกลางเร
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
29 กันยายน 2019
ภาพ : เด็กคำสอนวัดโนนค้อ, พรรณานิคม, สกลนคร; 2019-09-01

วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 2 ฉบับที่ 72


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 2 ฉบับที่ 72; อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2019 (2562): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
อบรม 100 ปีมรณกรรมสองธรรมทูตผู้บุกเบิก อุดรธานี เขต 2
พี่น้องที่รัก อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส สะท้อนให้เห็นลักษณะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวของคนสองคน คนหนึ่งร่ำรวยเป็นเศรษฐี ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นขอทานยากจนเข็ญใจ ชีวิตของคนทั้งสองแตกต่างกัน ไม่เพียงเรื่องฐานะความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงของชีวิตหลังความตายอีกด้วย ความแตกต่างประการหลังนี้เห็นถึงความเด็ดขาดและถาวร ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้เศรษฐีต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
เราทุกคนล้วนเป็นคนบาป เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว เรารู้สึกลำบากที่จะแบ่งปันสิ่งที่มีกับคนอื่น โดยเฉพาะกับคนขัดสน แต่เฉพาะพระพักตร์พระเจ้า เราทุกคนเป็นเพียงขอทานต่ำต้อย เราต้องการการให้อภัยจากพระเจ้าสำหรับการปฏิเสธการแบ่งปันสิ่งที่มี ให้เราสำนึกถึงความบาปผิดเหล่านี้และขอให้พระองค์ทรงอภัยบาปของเรา
 ชาวโพนสูงและวัดในเขต 2 ร่วมรับฟังความรู้เรื่องสองธรรมทูตผู้บุกเบิก
ที่วัดพระวิสุทะิวงศ์ โพนสูง เสาร์ที่ 28 กันยายน 2019
บทอ่านแรก ประกาศกอาโมสพูดกับคนมั่งมีในอิสราเอล อาชญากรรมที่พวกเขาได้กระทำคือการเมินเฉยต่อเสียงร้องขอความช่วยเหลือของคนจน โดยเตือนว่าการประพฤติตนเช่นนี้นำมาซึ่งหายนะของทุกคนในชาติ และเตือนพวกเขาให้มีความรับผิดชอบต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ คริสตชนควรหันความสนใจไปที่ความมั่งมีฝ่ายจิตมากกว่าสิ่งภายนอก
บทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลเตือนทิโมธีให้เป็นพยานถึงความเชื่อจนตลอดชีวิต การเป็นพยานถึงพระวรสารเป็นกระแสเรียกของคริสตชนทุกคน เราต้องดำเนินชีวิตเยี่ยงนักบุญตามคำแนะนำของเปาโล ด้วยความมั่นใจและจริงใจในการประกาศข่าวดีกับคนขัดสนและคนมั่งมี เราต้องเป็นคนมีคุณธรรม ใจดีมีเมตตา และสม่ำเสมอในการดำเนินชีวิตด้วยความรัก
พระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงใช้อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส เพื่อสะท้อนช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน เศรษฐีไม่ได้ใช้โอกาสและทรัพย์สินที่มีเพื่อสะสมสมบัติในสวรรค์ ด้วยการแบ่งปันและช่วยเหลือคนอื่น เขาจึงกลายเป็นคนยากจนในบั้นปลาย ตรงข้ามกับลาซารัสที่กลายเป็นคนมั่งมีในสวรรค์ ทุกวันนี้มีคนทั้งสองประเภทในสังคมของเรา
 ฉลองวันเกิดลุงกับหลานชาย บ้านฮุงหวล โนนค้อ
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.          อาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2019 เปิดเดือนแม่พระวัดดอนม่วย เวลา 19.00น. แห่พระรูปแม่พระจากคุ้มสันติสุข
2.          30 กันยายน 2019 เปิดเดือนแม่พระวัดโนนค้อ เวลา 19.00 น. แห่พระรูปแม่พระจากปากทางเข้าหมู่บ้าน
3.          ขอบคุณสภาภิบาลวัดที่เข้าร่วมการอบรมผู้นำฆราวาสแพร่ธรรมระดับอัครสังฆมณฑล ที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร
4.          พุธที่ 3 ตุลาคม 2019               ประชุมพระสงฆ์เขตตะวันตก ที่วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว อำเภอวานรนิวาส
5.          เสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2019 เชิญพี่น้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในการพัฒนาสุสาน และร่วมงานชุมนุมผู้สูงอายุที่ท่าแร่
6.          ประกาศบวชพระสงฆ์ สังฆานุกรเปาโล ชัยเฉลิม สุทธิ สัตบุรุษวัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง พร้อมกับสังฆานุกรคณะนักพรตซิสเตอร์เซียน จากประเทศเวียดนาม 2 ท่าน เสาร์ที่ 12 ตุลาคม 2019 ณ บ้านเณรฟาติมา ท่าแร่
7.          พุธที่ 30 ตุลาคม 2019 ปิดเดือนแม่พระที่สุสาน, พฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2019 ภาวนาที่สุสานคืนที่สอง พี่น้องชาวโนนค้อรับผิดชอบ และศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2019 ภาวนาที่สุสานคืนที่สาม พี่น้องชาวดอนม่วยรับผิดชอบ
8.          เสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2019 ภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับและเสกสุสาน เวลา 7.00 น.
9.          เงินทาน อาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2019: วัดดอนม่วย 2,806.- บาท; วัดโนนค้อ 1,034.- บาท
10.     ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 5-6 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 7-8 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 3)
 พี่น้องชาวโนนค้อเข้ารับการอบรมฆราวาสแพร่ธรรมระดับอัครสังฆมณฑล
เสาร์ที่ 28 กันยายน 2019
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
                                   ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
29
07.00 น.
08.30 น.
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
สุขสำราญพี่น้องชาวโนนค้อ
สุขสำราญพี่น้องชาวดอนม่วย
จันทร์
30
06.00 น.
ระลึกถึง น.เยโรม พระสงฆ์และนักปราชญ์

อังคาร
01
06.00 น.
ฉลอง น.เทเรซาแห่งพระกุมารเยซู พรหมจารี

พุธ
02
06.00 น.
ระลึกถึง น.ทูตสวรรค์ผู้อารักขา

พฤหัสบดี
03
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา

ศุกร์
04
06.00 น.
ระลึกถึง น.ฟรังซิสแห่งอัสซีซี
วันศุกร์ต้นเดือน
เสาร์
05
06.00 น.
ระลึกถึง น.โฟสตินาแห่งโควัลสกา พรหมจารี

 บรรยากาศการรับประทานอาหารร่วมกันหลังพิธีบูชาขอบพระคุณ
ของพี่น้องชาวดอนม่วย อาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2019








รวยจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม


รวยจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 26 เทศกาลธรรมดา
ปี C
อมส 6:1ก,4-7
1 ทธ 6:11-16
ลก 16:19-31
บทนำ
ในการกล่าวปาฐกถาที่เอเชียสมาคม (Asia Society) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อไม่นานมานี้ นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า  “ต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้าภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายคือจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2579 มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน มีพัฒนาการทางสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียมในสิทธิพื้นฐาน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย และไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”
ในความเป็นจริงความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมานานจนยากแก่การแก้ไข เมื่อไม่นานมานี้นิตยสารฟอร์บส์ได้เปิดเผยรายชื่อ 50 อันดับมหาเศรษฐีประเทศไทย มีมูลค่าความร่ำรวยรวมสูงถึงกว่า 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 4 หรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) นอกนั้น มหาเศรษฐีไทย 44 รายจาก 50 ราย ยังมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทุกวันนี้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในสังคมถูกขยายให้ห่างกันมากขึ้น
อุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส สะท้อนให้เห็นลักษณะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวของคนสองคน คนหนึ่งร่ำรวยเป็นเศรษฐี ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นขอทานยากจนเข็ญใจ ชีวิตของคนทั้งสองแตกต่างกัน ไม่เพียงเรื่องฐานะความเป็นอยู่เท่านั้น แต่ยังแตกต่างกันระหว่างชีวิตหลังความตายอีกด้วย ความแตกต่างประการหลังนี้เห็นได้ถึงความเด็ดขาดและถาวร ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้เศรษฐีต้องทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
1.        รวยจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม
พระวรสารวันนี้ได้นำเสนอเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส พระเยซูเจ้าได้ฉายภาพชีวิตเศรษฐีที่อยู่อย่างคนโลภและฟุ่มเฟือย “แต่งกายหรูหราด้วยเสื้อผ้าเนื้อดีราคาแพง จัดงานเลี้ยงใหญ่ทุกวัน” (ลก 16:19) เขาได้ละเลยบัญญัติเอกและสำคัญที่สุดคือ จงรักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจและรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเองชีวิตของเขาตั้งอยู่บนความสะดวกสบายด้านวัตถุและทำทุกอย่างเพื่อตนเอง โดยไม่เคยคิดถึงความลำบากเดือดร้อนของผู้อื่น หัวใจของเขาว่างเปล่าเพราะขาดความรัก ตาของเขาบอดมืดเพราะมองไม่เห็นความต้องการของพี่น้อง
ในทางตรงข้าม ลาซารัส มีชีวิตอยู่อย่างยากจนน่าสังเวช มีแผลเต็มตัว ไม่มีแรงแม้แต่จะไล่สุนัขที่กำลังเลียแผล เขาถูกนำมาทิ้งไว้ที่ประตูบ้านของเศรษฐีและรอเศษตกจากโต๊ะอาหาร เขาไม่ต้องการสิ่งมีค่าใด นอกจากเศษอาหารเพื่อประทังชีวิตซึ่งเศรษฐีไม่ต้องการแล้ว เศรษฐีเป็นตัวแทนของคนรวยเห็นแก่ตัว ขณะที่ลาซารัสเป็นตัวแทนของคนยากจนทุกรูปแบบ เป็นตัวแทนของเสียงกรีดร้องที่ไม่มีใครได้ยิน อย่างเด็กซึ่งถูกทำลายชีวิตจากน้ำมือของผู้เป็นแม่ด้วยการทำแท้ง
คำว่า “ลาซารัส” เป็นชื่อภาษากรีกแปลว่า “พระเจ้าทรงเป็นผู้ช่วย” เพื่อเน้นให้เห็นความจริงว่า แม้คนชอบธรรมยากจนไม่มีใครช่วยเหลือ แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยเขาเสมอ เราได้เห็นสถานการณ์กลับกันหลังความตาย เศรษฐีกลายเป็นคนจนน่าสมเพชในเปลวไฟ (นรก) ที่ร้องขอความช่วยเหลือจากลาซารัส  ขณะที่ลาซารัสกลายเป็นคนร่ำรวยมีความสุข (สวรรค์) เพราะได้อยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม
2.        บทเรียนสำหรับเรา
อุปมานี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก พระเจ้าทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม เราได้รับในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ต้องชดเชยตามราคาของสิ่งนั้น เวลามีชีวิตอยู่ในโลกเราอาจได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่อาจต้องสูญเสียวิญญาณ หรือความสุขนิรันดรกับพระเจ้าในบั้นปลาย สิ่งที่ทำให้เศรษฐีต้องทรมานในไฟนรก ไม่ใช่สิ่งที่เขาทำลงไป แต่เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำต่างหากความรักต่อพระเจ้าต้องแสดงออกต่อเพื่อนมนุษย์ของเรา เพราะเป็นพระเจ้าเองทรงปรากฏพระองค์ให้เราเห็นในคนยากจน
ประการที่สอง เราต้องแบ่งปันสิ่งที่มีกับคนยากจน ทรัพย์สมบัติ หรือความร่ำรวยที่มีถือเป็นพระพรของพระเจ้า เราต้องสำนึกเสมอว่า มิใช่สมบัติส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว แต่ต้องแบ่งปันกับผู้ไม่มี เพื่อให้เขาสามารถเจริญชีวิตสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้า เราจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับพี่น้องซึ่งขัดสน หรือเดือดร้อนเจียนตายไม่ได้เป็นอันขาด มิฉะนั้นชะตากรรมของเราในชีวิตหน้าจะเป็นเช่นเดียวกับเศรษฐี
ประการที่สาม เราต้องใส่ใจและช่วยเหลือคนเดือดร้อน บางคนอาจคิดว่า อุปมานี้ไม่เกี่ยวกับฉัน เพราะ “ฉันไม่ใช่คนรวย ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะแบ่ง หรือช่วยเหลือใคร” พระเยซูเจ้าไม่ได้หมายถึงทรัพย์สินเท่านั้น เราสามารถแบ่งปันสิ่งที่มี พระพร และความสามารถต่าง ๆ กับคนเดือดร้อน ดังนั้น เราต้องมองดูว่า มีใครกำลังนั่งอยู่ที่ประตูบ้านของเรา” ซึ่งต้องการคำพูดให้กำลังใจ ต้องการความเป็นเพื่อน ต้องการความรักและความเข้าใจ หรือต้องการการให้อภัยจากเรา บางทีอาจเป็นคนในบ้านของเราเอง
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงสอนให้แบ่งปันและรับผิดชอบต่อคนขัดสน เศรษฐีในอุปมาได้รับการลงโทษเพราะเขาปฏิเสธการช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อนซึ่งอยู่ต่อหน้า เราไม่สามารถเป็นผู้ดูเฉย ๆ ปล่อยให้เรื่องราวความอยุติธรรมในสังคมผ่านเลยไป เราต้องทำบางสิ่งบางอย่าง ด้วยการแบ่งปันสิ่งที่มีกับบุคคลเหล่านี้ เราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้ ขณะที่ยังมีคนอย่างลาซารัสนั่งคอยอยู่ที่ประตูบ้าน
ชีวิตของเศรษฐีเป็นชีวิตไร้ค่า เพราะใช้ความร่ำรวยเพื่อตนเองเท่านั้นและปฏิเสธผู้อื่น ตาของเขาบอดมืดต่อคนยากจนและเดือดร้อน เขาเจริญชีวิตในโลกโดยปราศจากพระเจ้าและสูญเสียพระองค์ไปตลอดกาลรวมถึงทุกสิ่งที่มี ศิษย์พระคริสต์ต้องเชื่อวางใจพระเจ้าเหมือนลาซารัส ดำเนินชีวิตในความรักต่อเพื่อนมนุษย์ และการใส่ใจต่อคนยากจนขัดสน แบ่งปันสิ่งที่มีกับผู้เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
28 กันยายน 2019
ภาพ : คนยากจนที่มาพึ่งธรรมทูต, อุบลราชธานี; ภาพต้นฉบับ คณะรักกางเขนแห่งอุบลราชธานี

วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562

แผนการของพระเจ้า


แผนการของพระเจ้า
เสาร์
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ปญจ 11:9-12:8 
ลก 9:43-45
นักบุญลูกาจบพันธกิจของพระเยซูเจ้าในแคว้นกาลิลี ด้วยการพูดถึงการเสด็จไปกรุงเยรูซาเลมเพื่อรับทรมาน นับเป็นครั้งที่สองที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องนี้ หลังจากทรงรักษาเด็กที่ถูกปีศาจสิงให้หายเป็นปกติ “ทุกคนประหลาดใจมากเมื่อเห็นความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า” (ลก 9:43) การประกาศข่าวดีของพระองค์ในระยะเริ่มแรกประสบความสำเร็จพอสมควร ประชาชนต่างชื่นชม และทึ่งในงานที่ทรงกระทำ
พระเยซูเจ้ามิได้เคลิบเคลิ้มไปกับคำชื่นชมของประชาชน แต่ทรงมุ่งไปที่พันธกิจซึ่งพระบิดาเจ้าทรงมอบหมาย อีกทั้งทรงเตรียมบรรดาศิษย์มิให้ถูกชักจูงไปในทางที่ผิด และละเป้าหมายจากแผนการของพระเจ้า พระองค์ทรงบอกพวกเขาล่วงหน้าถึงพระทรมาน “ท่านทั้งหลายจงฟังถ้อยคำเหล่านี้ไว้ให้ดีเถิด บุตรแห่งมนุษย์กำลังถูกมอบในมือของคนทั้งหลาย” (ลก 9:44) ทรงเลือกหนทางแห่งไม้กางเขน เพื่อร่วมส่วนในชีวิตและไถ่บาปเราทั้งหลาย
นักบุญลูกาแจ้งเรื่องพระทรมานเป็นครั้งที่สอง ขณะที่ประชาชนกำลังประหลาดใจในงานของพระองค์ พระทรมานและการสิ้นพระชนม์ถือเป็นการจบสิ้นการเดินทางของพระองค์ในโลกนี้ พระวรสารทั้งสี่พูดถึงเหตุการณ์นี้มิใช่แบบวาระสุดท้าย แต่เป็นศูนย์รวมของเหตุการณ์ที่ทำให้แผนการของพระเจ้าสำเร็จ แม้พระองค์พยายามเตรียมจิตใจบรรดาศิษย์ให้เข้าใจ แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะใจของพวกเขามุ่งไปที่ตำแหน่งและอำนาจทางการเมือง
บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระดำรัสของพระเยซูเจ้า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในมือของคนทั้งหลาย” หมายถึงการตกเป็นเหยื่อและได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน บรรดาศิษย์มิได้คาดหวังว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เพราะต่างมุ่งหวังตำแหน่งและอำนาจ แต่นี่เป็นแผนการของพระบิดาเจ้า เพื่อช่วยมนุษย์ให้ได้รับความรอดนิรันดร ผ่านทางพระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระองค์
ในการทำงานเมตตาจิตและกิจการดีทุกอย่างที่เราทำ ต้องไม่มุ่งหวังคำชมของมนุษย์ แต่มุ่งทำให้แผนการและพระประสงค์ของพระเจ้าสำเร็จ ศิษย์พระคริสต์ต้องเจริญชีวิตตามพระประสงค์ของพระเจ้า เลียนแบบพระเยซูเจ้า ดำเนินชีวิตเป็นมือที่ช่วยมนุษย์ให้หายจากความเจ็บป่วย ความทุกข์ทรมาน และความพิการทุพลภาพ พร้อมถูกเข้าใจผิดและยอมรับความลำบากเพื่อคนทั้งหลาย
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดพระวิสุทธิวงศ์ โพนสูง, บ้านดุง, อุดรธานี
28 กันยายน 2019
ภาพ : พิธีปลงศพกาโรลา ฮ้อม ถิ่นวัลย์, บ้านถิ่นวัลย์, นาโพธิ์, สกลนคร; 2019-07-17

วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562

ท่านละว่าเราเป็นใคร


ท่านละว่าเราเป็นใคร
ศุกร์
สัปดาห์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา
ฮกก 2:1-9
ลก 9:18-22
พระเยซูเจ้าทรงเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ แต่ยังมีผู้คนเป็นจำนวนมากไม่รู้จักพระองค์ เนื่องจากไม่เคยพบเห็นพระองค์หรือไม่มีใครพูดถึงพระองค์ให้พวกเขาฟัง คำถามที่ว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร” จึงเป็นคำถามที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุด และมีผู้ให้คำตอบมากมายหลายแบบแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงถามเราแต่ละคน “ท่านละว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:20)
พระเยซูเจ้าทรงถามความเห็นจากบรรดาสาวกว่า “ประชาชนว่าเราเป็นใคร” (ลก 9:18) สมัยนั้นยังไม่มีการสำรวจประชามติ (Poll) วิธีง่ายที่สุดคือถามความเห็นจากคนใกล้ชิด และบรรดาศิษย์ได้สะท้อนคำตอบของประชาชนในลักษณะต่าง ๆ อาทิ ยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ประกาศกเอลิยาห์หรือประกาศกคนใดคนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญสำหรับพระเยซูเจ้ามิใช่ความเห็นของประชาชน แต่เป็นคำตอบของบรรดาศิษย์และเราแต่ละคน ท่านละว่าเราเป็นใคร”
เปโตรได้ประกาศความเชื่อว่า “พระองค์คือพระคริสต์ของพระเจ้า” (ลก 9:20) คำว่า “พระคริสต์” หมายถึง “พระเมสสิยาห์” หรือ “ผู้ได้รับเจิม” ตลอดเวลายาวนานชาวยิวรอคอยพระเมสสิยาห์หรือพระผู้ช่วยให้รอด มาปลดปล่อยพวกเขาจากการกดขี่ของพวกโรมัน ซึ่งเป็นความเข้าใจทางการเมืองเหมือนอัศวินขี่ม้าขาว พวกเขาไม่เคยคิดว่าพระผู้ช่วยให้รอดเป็น “พระคริสตเจ้า ผู้รับการทรมาน” เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากบาป
พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้บรรดาศิษย์ทราบเป็นครั้งแรกว่า พระองค์จะต้องรับการทรมาน ถูกประหารชีวิตและกลับคืนชีพในวันที่สาม (ดู ลก 9:22) เราต้องพร้อมติดตามพระองค์แม้ในความทุกข์ทรมาน เราต้องตอบด้วยตนเองว่าพระองค์เป็นใครสำหรับเรา ทรงเป็นผู้ที่เราเชื่อและรักมากที่สุด ทรงเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตและเป็นทุกอย่างสำหรับเรา ปราศจากพระองค์เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย มีเพียงพระองค์ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย
พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดซึ่งทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและความหมาย ทรงเป็นผู้ที่เราเชื่อและรักมากที่สุด ด้วยการมาหาพระองค์บ่อย ๆ ทางศีลศักดิ์สิทธิ์  ในพิธีบูชาขอบพระคุณ และการอธิษฐานภาวนา ศิษย์พระคริสต์ต้องเจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ชีวิตของเราต้องเป็นพยานแห่งพระวรสารและเครื่องหมายที่มองเห็นได้ ซึ่งทำให้คนอื่นได้รู้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นใครและมีความหมายอย่างไรสำหรับเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
26 กันยายน 2019