วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

การเสด็จมาของพระคริสตเจ้า



การเสด็จมาของพระคริสตเจ้า
วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ปี A
อสย 2:1-5
รม 13:11-14
มธ 24:37-44
บทนำ
 จอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy) ได้เล่าเรื่องที่มีความหมายมากเรื่องหนึ่ง ในการปราศรัยรณรงค์หาเสียงเป็นประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1960 เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้พันดาเวนพอร์ท (Colonel Davenport) โฆษกสมาชิกสภารัฐคอนเนกติกัทซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการประชุมสภาในปี ค.ศ. 1789 ขณะที่กำลังประชุมกันอยู่นั้น ได้เกิดท้องฟ้ามืดมัวแบบไม่เคยเป็นมาก่อน สมาชิกสภาบางคนมองผ่านหน้าต่างและคิดว่า นี่คือเครื่องหมายว่าวาระสุดท้ายของโลกได้มาถึงแล้ว
เหตุการณ์วันนั้น ทำให้บรรดาสมาชิกสภาร้องเอ็ดอึงลั่นห้องประชุมขอให้เลื่อนการประชุมออกไป แต่ผู้พันดาเวนพอร์ทยืนขึ้นและกล่าวว่า “ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ วันพิพากษากำลังจะมาถึงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ หากยังมาไม่ถึงก็ไม่มีเหตุผลที่พวกเราจะเลื่อนการประชุมออกไป แต่ถ้ามาถึงแล้ว ข้าพเจ้าขอเลือกที่จะตายในหน้าที่ ดังนั้น ข้าพเจ้าขอให้จุดเทียนเพื่อจะได้ประชุมต่อ” ได้มีการนำเทียนมาจุดและเริ่มการประชุมต่อไป
เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นการเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้า และเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราอยู่ระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกที่เบธเลแฮม กับการเสด็จมาครั้งที่สองในวาระสุดท้ายเพื่อทรงพิพากษาทุกคน เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ไตร่ตรองถึงการเสด็จมาของพระคริสตเจ้า ด้วยการเชิญเสด็จพระองค์เข้ามาในจิตใจของเรา และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเราและเพื่อนพี่น้องเสมอ

1.         การเสด็จมาของพระคริสตเจ้า
พระวรสารวันนี้พูดถึงการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในวาระสุดท้ายของโลก เราจะเตรียมตัวรับสถานการณ์นี้อย่างไร ในโลกปัจจุบันมีคนสองกลุ่มที่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า กลุ่มหนึ่งเตรียมตัวด้วยความวิตกทุกข์ร้อนหวาดระแวง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งไม่สนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้น พระวรสารบอกอะไรเราเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของโลก และเราจะต้องเตรียมตัวเผชิญกับเหตุการณ์นี้อย่างไร
พระเยซูเจ้าทรงใช้ภาพพจน์สองอย่างเพื่ออธิบายถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์  ซึ่งไม่มีใครทราบว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เวลาใด (มธ 24:42) อย่างแรกคือน้ำวินาศที่กวาดผู้คนที่กำลังกินดื่มสนุกสนานในสมัยของโนอาห์จนหมดสิ้น อีกภาพพจน์หนึ่งคือขโมยที่มาในเวลากลางคืนที่เจ้าของบ้านไม่ได้เฝ้าระวัง การเสด็จมาครั้งที่สองและวาระสุดท้ายของโลกอย่างที่พระเยซูเจ้าบอกเราในพระวรสาร จะเกิดขึ้นโดยทันทีแบบไม่มีใครคาดฝัน ไม่มีการบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ด้วยการทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเหมือนอย่างผู้พันดาเวนพอร์ท ที่พร้อมจะตายในหน้าที่ประจำวันที่กำลังทำอยู่ ไม่ตื่นตระหนกไปกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายที่พระเจ้าต้องการจะบอกเราให้ทราบ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด ดังนั้น การตื่นเฝ้าจึงเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและดำรงตนในฐานะแห่งพระหรรษทาน เหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด

2.         บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ การตื่นเฝ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่เป็นศิษย์ ซึ่งมุ่งหวังและรอคอยพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมา ด้วยการดำเนินชีวิตรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ และในการรำพึงภาวนาอย่างจริงจังตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง” (มก 14:38) หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนา และทรงอธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน (ลก 6:12)
ประการที่สอง เราต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทราบถึงวาระสุดท้ายของโลกและการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้า ดังนั้น ชีวิตของเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือหน้าที่ที่เราต้องกระทำ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯจึงท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสามข้อ: 1) เราจะทำอะไรขณะนี้, 2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3) เราจะเริ่มทำอะไรบ้างตอนนี้ คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตากล่าวว่า “สิ่งที่ท่านทำในครอบครัวของท่าน เพื่อลูก เพื่อสามี เพื่อภรรยา จงทำเพื่อพระเยซูเจ้า” ดังนั้นทุกคืนก่อนนอนเราต้องถามตัวเราเองว่า “วันนี้ฉันได้พบพระคริสตเจ้าที่ไหนบ้าง”
ประการที่สาม เราต้องเตรียมต้อนรับพระคริสตเจ้าอยู่เสมอ พระองค์เสด็จมาหาเราทุกวันในพิธีบูชาขอบพระคุณ และในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน เป็นต้นในคนยากจนและคนต้องการความช่วยเหลือ คริสตชนจะต้องเตรียมรับเสด็จ ด้วยการเปิดใจเราต้อนรับพระองค์ กลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนพี่น้อง เวลาใดก็ตามที่เราทำหน้าที่ของเราเพื่อพระองค์ พระองค์จะเสด็จมาหาเรา และเวลาใดก็ตามที่เราภาวนาร่วมกันในนามของพระองค์ พระองค์จะประทับอยู่กับเรา

บทสรุป
พี่น้องที่รัก บ่อยครั้งเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อมอบแก่กัน ของขวัญคริสต์มาสที่แท้จริงมีเพียงอย่างเดียวคือ องค์พระคริสต์เจ้า ผู้ทรงเป็นของประทานจากพระบิดาเจ้าที่ทรงมอบแก่เรา เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า เป็นช่วงเวลาแห่งความเพียรทนในการภาวนาด้วยความเชื่อวางใจ และเปิดใจเราต้อนรับพระองค์ในเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในคนยากจนและต้องการความช่วยเหลือ
พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของการเดินออกจากความมืดเพื่อเดินในแสวงสว่างของพระคริสตเจ้า ซึ่งพระศาสนจักรกระตุ้นเตือนเราให้เริ่มต้นปีพิธีกรรม ด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเองและคิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา มุ่งหน้าไปหาพระเจ้าที่กำลังเสด็จมาด้วยการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อพระองค์ ด้วยการถอดแบบพระองค์ในความรักที่พึงมีต่อเพื่อนพี่น้อง ในครอบครัว สังคม หมู่คณะและหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
29 พฤศจิกายน 2013

วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล



กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
วันอาทิตย์
สมโภชพระเยซูเจ้า กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
ปี C
2ซมอ 5:1-3
คส 1:12-20
ลก 23:35-43
บทนำ
 มีเรื่องเล่าว่า ทหารอเมริกันคนหนึ่งขณะกำลังนั่งรถโดยสารประจำทางในประเทศสวีเดน ได้บอกกับชายที่นั่งถัดจากเขาว่า “สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในโลก เนื่องจากที่อเมริกาประชาชนทั่วไปสามารถไปพบประธานาธิบดีที่ทำเนียบขาวได้ และสามารถพูดจาถกเถียงกับประธานาธิบดีได้ทุกเรื่อง” ชายที่นั่งติดกันกับเขาพูดขึ้นบ้างว่า “นั่นถือเป็นเรื่องธรรมดามาก ในประเทศสวีเดนกษัตริย์และประชาชนเดินทางไปไหนมาไหนด้วยรถประจำทางคันเดียวกัน”  
เมื่อทหารอเมริกันคนนั้นลงจากรถโดยสาร คนขับรถได้บอกให้เขาทราบว่า ชายที่นั่งติดกับเขาและพูดกับเขาคือ กษัตริย์กุสตาฟ อด๊อฟ ที่ 6 (Gustaf VI Adolf: 1882-1973) แห่งสวีเดน ปัจจุบันระบอบกษัตริย์ในยุโรปได้ลดบทบาทลงเป็นแต่เพียงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีอำนาจปกครองแบบเบ็ดเสร็จเหมือนเช่นอดีต นับเป็นความโชคดีของประเทศไทย ที่สถาบันกษัตริย์ยังคงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทำให้เราคริสตชนไทยเข้าใจความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าได้ดียิ่งขึ้น
แม้ว่าพระคัมภีร์จะกล่าวถึงความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าอย่างชัดแจ้ง เช่น การสืบเชื้อสายจากกษัตริย์ดาวิด การที่โหราจารย์จากทิศตะวันออกเดินทางมานมัสการกษัตริย์ชาวยิวที่เพิ่งประสูติ หรือคำตอบที่พระองค์ให้กับปีลาโตเมื่อถูกถามว่า “ท่านเป็นกษัตริย์หรือ” แต่ต้องรอถึงปี ค.ศ. 1925 พระศาสนจักรจึงได้กำหนดให้มีวันฉลองการเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า โดยพระสันตะปาปา ปีอุสที่ 11 ทั้งนี้เพื่อเป็นคำตอบสำหรับประชาชนที่อยู่ภายใต้ปกครองของบรรดากษัตริย์ในต้นศตวรรษที่ 20 

1.         กษัตริย์แห่งสากลจักรวาล
การเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้าแตกต่างจากบรรดากษัตริย์ทั้งหลาย พระองค์ไม่มีข้าทาสบริวาร ไม่มีวังที่ประทับ ไม่มีคทาที่แสดงถึงการเป็นกษัตริย์ ในทางกลับกัน พระองค์มีมงกุฎหนามสวมพระเศียร ร่างกายเปลือยเปล่า พระพักตร์ชุ่มไปด้วยเลือด พระองค์ถูกทิ้งให้อยู่โดยลำพัง ขณะที่คนที่เคยติดตามพระองค์ต่างหนีเอาตัวรอด พระองค์ถูกสบประมาทและเยาะเย้ยจากผู้นำชาวยิวและทหาร
ความเป็นกษัตริย์ของพระเยซูเจ้า ได้เผยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเวลาที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน นี่คือ ฉากสำคัญที่นักบุญลูกาได้แสดงถึงความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ในพระวรสารวันนี้ บนไม้กางเขนเหนือศีรษะพระองค์มีข้อความเขียนเป็นภาษากรีก ลาตินและฮีบรูว่า “ผู้นี้คือกษัตริย์ของชาวยิว” พระองค์ทรงครองราชย์ ณ เชิงเขากัลวารีโอ โดยมีผู้ร้ายสองคนเป็นพยาน (ตามกฎของโมเสส) ผู้ร้ายคนหนึ่งได้พูดจาดูหมิ่นพระองค์ แต่อีกคนหนึ่งคัดค้าน “สำหรับเราก็ยุติธรรมแล้ว... แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้ทำผิดเลย”
พระเยซูเจ้าทรงปกครองจากไม้กางเขน ขณะที่พระองค์กำลังสิ้นพระชนม์บนกางเขน พระองค์ทรงอภัยบาปผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ ทรงสัญญาจะประทานความรอดให้เขา “วันนี้ ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” อีกทั้งยังทรงวอนขอพระบิดาให้อภัยคนที่ประหารพระองค์ “พระบิดาเจ้าข้า โปรดอภัยความผิดแก่เขาเถิด เพราะเขาไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรลงไป” (ลก 23:33) อาณาจักรของพระองค์จึงเป็นอาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย อำนาจปกครองที่พระองค์มีคือ ความรักที่พร้อมจะให้อภัยเสมอ (Forgiving love)

2 บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ได้ให้บทเรียนที่สำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนของพระคริสตเจ้า กษัตริย์ผู้ไม่จดจำความผิดหรือแก้แค้นใคร แต่ให้อภัยเสมอ ดังคำกล่าวของอเล็กซานเดอร์ โป๊ป (Alexander Pope: 1688-1744) นักประพันธ์ชาวอังกฤษที่ว่า “ผิดพลาดคือมนุษย์ อภัยไม่สิ้นสุดคือพระเจ้า” เราต้องปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ ในการแบ่งปันความรักที่ให้อภัยนี้กับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง อีกทั้ง ตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในบุคคลต่างๆ ที่เราพบเห็น
ประการที่สอง เราต้องต่อสู้กับศัตรูของอาณาจักรพระคริสตเจ้า อาทิ ความเกลียดชัง การแตกแยก ความรุนแรง และการก่อการร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อโลกและอาณาจักรของพระคริสตเจ้าในโลกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งยั่วยุจากรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ดนตรีและสื่อลามก ที่ทำลายครอบครัว สังคมและศีลธรรมอันดีงาม เช่น การทำแท้ง การกระทำชำเราเด็ก เราต้องต่อสู้กับศัตรูเหล่านี้ผ่านทางการภาวนาและการรับใช้ด้วยความรักที่ถ่อมตน
ประการที่สาม เราต้องสำนึกผิดและกลับใจ เช่นเดียวกับผู้ร้ายคนหนึ่งที่ถูกตรึงกางเขนพร้อมกับพระเยซูเจ้า “สำหรับเราก็ยุติธรรมแล้ว... แต่ท่านผู้นี้ไม่ได้ทำผิดเลย” และพระเยซูเจ้าทรงให้คำมั่นสัญญากับเขาว่า “วันนี้ท่านจะอยู่กับเราในสวรรค์” ทำให้เขามีส่วนในตำแหน่งกษัตริย์และเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้และการให้อภัย

บทสรุป
พี่น้องที่รัก กษัตริย์ในบริบทของชาวยิว ต้องเป็นทั้งผู้เลี้ยงแกะและผู้ปกครอง และพระเยซูเจ้าได้ทรงสืบทอดเจตนารมณ์นี้ ทรงยืนยันความเป็นกษัตริย์ของพระองค์บนไม้กางเขน ทรงเป็นกษัตริย์ที่รักโดยไม่มีเงื่อนไข รักแม้กระทั่งศัตรู ทรงเป็นกษัตริย์ที่รับใช้และมอบชีวิตเพื่อคนอื่น มิใช่ให้คนอื่นรับใช้ และทรงเป็นกษัตริย์ที่ให้อภัยเสมอ ให้อภัยแม้คนที่ประหารพระองค์ อาณาจักรของพระองค์จึงเป็นอาณาจักรแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัย
พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์ของเราทุกคน ที่จะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ในวาระสุดท้าย ทุกครั้งและทุกแห่งที่เราทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ในการรัก รับใช้ และให้อภัยซึ่งกันและกัน อาณาจักรของพระองค์อยู่ที่นั่น และที่ไหนที่พระเจ้าทรงปกครอง ที่นั่นจะมีแต่ความยุติธรรม สันติภาพ และความสุ ดังนั้น ขอให้เราได้ดำเนินชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีในอาณาจักรของพระองค์ ในความรัก การรับใช้ และการให้อภัยซึ่งกันและกันด้วยใจกว้าง เป็นต้น ในครอบครัว ที่ทำงาน หมู่คณะและในหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
22 พฤศจิกายน 2013

วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

เข้าเงียบประจำปี 3



ข้อคิดจากคุณพ่อแพทริก มัชโชนี S.D.B.
ความเมตตากรุณา
เราเป็นศาสนบริกรแห่งพระเมตตากรุณาของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่สมเด็จพระสันตะปาปาย้ำเสมอ “ขอให้พวกเธอแสดงความเมตตากรุณาต่อทุกคน” ให้เราตามหาคนที่ผิดหลงห่างไกลพระเจ้า ด้วยความเมตตากรุณาตามแบบของพระคริสตเจ้า เราแต่ละคนเป็นคนบาป แต่พระองค์ไม่เคยทอดทิ้งเราดังคำอุปมาเรื่องบิดาผู้ใจดี ที่ต้อนรับการกลับมาของบุตรคนเล็กด้วยความยินดี ไม่ลงโทษ ไม่ดุด่า พระองค์ทรงลบล้างบาปของเราด้วยพระโลหิตอันประเสริฐของพระองค์
ความเมตตากรุณาเป็นสิ่งที่พระสันตะปาปาเน้นมากในปัจจุบัน บุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ได้เปิดสังคายนาวาติกันที่สอง เพราะมองเห็นว่าพระศาสนจักรในฐานะเจ้าสาวของพระคริสตเจ้า ต้องเลือกใช้ยาแห่งความเมตตากรุณามากกว่าความเคร่งครัด พระองค์ทรงเป็นเพื่อนกับคนบาป ถูกเฆี่ยนด้วยแส้จากทหารโรมันด้วยความเจ็บปวด และทรงอยู่เคียงข้างเราเสมอ
พระเยซูเจ้าทรงแบกภาระแทนเรา ที่ไหนมีความยากลำบาก เราพระสงฆ์ต้องสำนึกว่าที่นั่นต้องการเรา ไม่ใช่หลีกหนี แน่นอนว่าเราไม่ได้เข้าข้างความบาปผิด แต่เราต้องอยู่ข้างคนบาป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้บริการศีลอภัยบาป ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของความเมตตากรุณาสำหรับคนอ่อนแอ อย่างที่นักบุญยอห์นมารีย์เวียนเนย์ได้ทำ ถ้าเราไม่มีใจเมตตากรุณา ความรักและการรับใช้ก็จะไม่เกิดขึ้น
ดวงใจใหม่และความร้อนรน
พระเยซูเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์และประทานดวงใจใหม่ให้เรา เป็นดวงใจที่นอบน้อมเชื่อฟังพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์จนถึงที่สุด พระองค์ทรงต้องการให้พระสงฆ์เป็นสื่อกลาง (Mediator) หรือเป็นสะพาน (Pontifex) เชื่อมระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ ดังนั้น เราต้องรู้สึกว่าทุกถ้อยคำที่ออกจากปากของเรานั้น ออกจากพระโอษฐ์ของพระเยซูเจ้า
เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่เราถวายมิสซา ให้เรารู้ว่าเรากำลังทำอะไร ใครอยู่ในนั้น เราต้องรู้ว่ามือของเรา เสียงของเรากำลังทำอะไร ประการสำคัญ เราต้องสร้างหัวใจแห่งความเป็นสงฆ์แบบพระเยซูเจ้าจริงๆ ด้วยการกลับใจเปลี่ยนแปลงดวงใจของเราเป็นดวงใจที่ร้อนรน และเต้นในจังหวะเดียวกันกับพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
พระสงฆ์ต้องมีไฟในตัวเพื่อรักพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง เกียรติสูงสุดของเราพระสงฆ์คือการรับใช้ประชากรของพระเจ้าที่ทรงฝากให้เราดูแล “ไม่มีสิ่งใดที่สำคัญกว่าการได้รักและรับใช้พระเจ้า” อย่าให้พลังการเป็นประกาศกของเราลดน้อยลง เราต้องเป็นพระสงฆ์ที่ร้อนรนด้วยไฟแห่งความรักของพระเจ้า ซึ่งมีบ่อเกิดจากการภาวนาอย่างสม่ำเสมอ
Don Daniele สรุปความ
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
21 พฤศจิกายน 2013