วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สมโภช 100 ปีนาบัว

อนุสรณ์สมโภช 100 ปี นาบัว
1.12   สมโภช 100 ปีนาบัว

ในช่วงปีสุดท้ายในตำแหน่งเจ้าอาวาสของคุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ เป็นเวลาที่วัดนาบัวครบรอบ 100 ปีแห่งการก่อตั้งกลุ่มคริสตชน คุณพ่อได้ร่วมมือกับชาวนาบัวในการจัดเฉลิมฉลอง 100 ปีอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) พร้อมกับพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ เป็นเอกสารอัดสำเนา ขนาดกระดาษ A4 พับครึ่ง หนา 16 หน้า โดยให้ชื่อว่า “อนุสรณ์ 100 ปี ความเชื่อ ความไว้ใจ ความรัก ชาวนาบัว”
หน้าปกและข้อความบนปกหนังสืออนุสรณ์
แม้จะเป็นเพียงเอกสารอัดสำเนา ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีดธรรมดาแบบง่ายๆ แต่เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้ถึงรากเหง้าและที่มาของนาบัว และมรดกทางความเชื่อที่เป็นดอก-ผลของบรรพบุรุษซึ่งคุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ ได้เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่าเราจะต้องระลึกถึงพระคุณนี้อยู่เสมอ 100 ปี นาบัว ดอก-ผลของบรรพบุรุษ ปู่-ย่า ตา-ยาย ครูคำสอน และพระสงฆ์มิสชันนารีในอดีต เพราะความเชื่อมั่นคงของท่านจึงมีวันนี้ของเราลูกๆ หลานๆ”
คุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ พงศ์พิศ
ส่วนพระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ประมุขอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในขณะนั้น ได้เขียนคำอวยพรสำหรับชาวนาบัวตอนหนึ่งว่า “ในโอกาสที่เราเฉลิมฉลอง 100 ปีของบ้านนาบัวนี้ น่าที่เราจะตระหนักถึงข่าวดีที่เราได้รับมาตั้งแต่อดีต มันเป็นมรดกล้ำค่าที่ได้รับการถ่ายทอดและเจริญพัฒนาเรื่อยมา และควรที่เราจะเอาเยี่ยงอย่างของบรรดามิสชันนารี ที่เต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อที่ร้อนรน ในการดำเนินชีวิตของเราแต่ละวันๆ โดยเฉพาะในสังคมที่ท้าทายความเชื่อของเราในขณะนี้”
พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
เช่นเดียวกับพระคุณเจ้าเกี้ยน เสมอพิทักษ์ อดีตประมุข ที่ได้เล่าถึงการแต่งตั้งคุณพ่อโกลาส์มาเป็นเจ้าอาวาสที่นาบัว และเป็นผู้มาทำหน้าที่ดูแลนาบัว โพนสวางและหนองบกนานถึง 6 เดือนในช่วงที่คุณพ่อโกลาส์เดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านและหาทุนก่อสร้างวัดใหม่ (วัดไม้) ที่ประเทศฝรั่งเศส พระคุณเจ้ายังได้ทำให้เราทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการก่อสร้างวัดไม้ของคุณพ่อโกลาส์ว่า “เมื่อคุณพ่อโกลาส์กลับมา ท่านก็ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างวัดใหม่จนสำเร็จ ทั้งนี้โดยที่ชาวนาบัวร่วมมือเป็นอย่างดี”
พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
นอกนั้น หนังสือเล่มนี้ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติวัดนาบัว โดยเฉพาะเหตุการณ์ช่วงเบียดเบียนศาสนา ประวัติวัดโพนสวาง วัดหนองบก วัดห้วยหินลาดและกลุ่มคริสตชนบ้านดงอีบ่าง รวมถึงลำดับเจ้าอาวาสวัดนาบัวซึ่งนับว่ามีประโยชน์มาก หลังจากจัดงานสมโภช 100 ปีนาบัว คุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ได้ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนามนและสุขเจริญ โดยมีคุณพ่ออันตน เสงี่ยม ศรีวรกุล, คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ คัมภ์ศรณ์  กาแก้วและคุณพ่อยอแซฟ กมล เสมอพิทักษ์ มาเป็นเจ้าอาวาสตามลำดับ
ปกหลังของหนังสืออนุสรณ์

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

125 ปีนาบัว: บุตรชายคนที่สอง

คุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ พระสงฆ์องค์ที่สองของวัดนาบัว
1.11   บุตรชายคนที่สอง

เดือนเมษายน ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) คุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์ พงศ์พิศ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเข้ารับตำแหน่ง คุณพ่อได้สานต่อการก่อสร้างศาลาประชาคมที่คุณพ่อเปาโล สมพรได้เริ่มไว้ให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีบวชพระสงฆ์ ขณะที่กำลังเร่งการก่อสร้างอยู่นั้น วันหนึ่งชาวนาบัวที่ไปขนไม้ถูกตำรวจจับข้อหาขนไม้เถื่อน ไม้และรถที่ใช้ขนถูกยึดไปไว้ที่สถานีตำรวจภูธรวานรนิวาส แต่ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีโดยการช่วยเหลือของท่าน ..องุ่น สุทธิวงศ์ พร้อมด้วยนายสง่า ไชยรา และนายจิตรอารีย์ อรรถาชัย 

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่วัดนาบัวได้รับมอบหมายจากอัครสังฆมณฑล ให้เป็นเจ้าภาพบวชพระสงฆ์ในปีนั้น  เนื่องจากลูกวัดนาบัวคนหนึ่งได้รับเลือกสรรจากพระเจ้าให้เป็นผู้รับใช้ของพระองค์คือ สังฆานุกรลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ อีกคนคือ สังฆานุกรเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์ ลูกวัดพระคริสตราชาช้างมิ่ง พิธีบวชพระสงฆ์มีขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1988 (พ.ศ. 2531) ณ ศาลาประชาคมที่ชาวนาบัวได้ร่วมกันสร้างขึ้นด้วยความยากลำบาก โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ผู้เป็นประมุข

เหตุการณ์วันนั้นนับเป็นความภาคภูมิใจและความยินดีของชาวนาบัวทุกคน เนื่องจากเป็นครั้งแรกตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านที่วัดนาบัวได้จัดพิธีบวชพระสงฆ์ 2 องค์ และหนึ่งในสองผู้สมัครบวชวันนั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวนาบัวเอง คือคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ ซึ่งเป็นบุตรชายคนสุดท้องของพ่อชาย-แม่สมเพียร บัวขันธ์ นับเป็นบุตรชายคนที่สองที่ชาวนาบัวมอบถวายแด่พระเจ้า หลังจากที่ได้มอบถวายบุตรชายหัวปีคือ คุณพ่อสุรพงศ์ นาแว่น แด่พระเจ้าเมื่อสี่ปีก่อน (11 พฤษภาคม 1984)

พิธีบวชพระสงฆ์วันนั้นนับว่ายิ่งใหญ่มาก นอกจากการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างศาลาประชาคมแล้ว ชาวนาบัวยังได้จัดทำรถบุษบกเป็นรูปดอกบัว สัญลักษณ์ของหมู่บ้านเพื่อใช้แห่สังฆานุกรทั้งสองจากปากทางเข้าหมู่บ้านมายังศาลาประชาคม มีขบวนฟ้อนรำต้อนรับยาวเหยียดโดยกลุ่มเด็ก เยาวชนและแม่บ้านชาวนาบัวกว่าร้อยชีวิต มีบรรดาพระสงฆ์และพี่น้องสัตบุรุษจากหมู่บ้านต่างๆ ในสังฆมณฑลและต่างสังฆมณฑลมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

หลังพิธีบวชพระสงฆ์พระคุณเจ้าคายน์ แสนพลอ่อน ประธานในพิธีได้ประกาศแต่งตั้ง คุณพ่อเบเนดิกต์ กรไกร พิลาจันทร์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดนาบัว ส่วนคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ บัวขันธ์ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่ ยังความชื่นชมยินดีแก่ผู้มาร่วมพิธีทุกคน โดยเฉพาะชาวนาบัวที่นอกจากได้พระสงฆ์องค์ที่สองของหมู่บ้านแล้ว ยังได้ได้คุณพ่อผู้ช่วยเจ้าอาวาสอีกด้วย

วันรุ่งขึ้นชาวนาบัวได้ร่วมความยินดีอีกครั้งในพิธีมิสซาแรกของคุณพ่อลอเรนซ์ ชำนาญ ในวัดไม้ของคุณพ่อโกลาส์ ก่อนจะแห่แหนบุตรชายคนที่สองนี้ไปยังบ้านของคุณพ่อบริเวณหน้าวัดเพื่อผูกข้อต่อแขน อันแสดงถึงความยินดีและความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้นตามประเพณีท้องถิ่นอีสาน นับเป็นเหตุการณ์สำคัญของหมู่บ้านและความภาคภูมิใจอีกครั้งหนึ่งของชาวนาบัว แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาลาประชาคมที่เคยใช้ประกอบพิธีบวชในวันนั้น ถูกพายุพัดพังเสียหายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) จนต้องรื้อถอนทิ้งไปในปีเดียวกัน


วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 81


สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว

ปีที่ 2  ฉบับที่ 81  วันที่ 27  พฤศจิกายน  ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
เลขที่ 154 หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231
รา
ท้องทุ่งนาของนาบัวหลังฤดูเก็บเกี่ยว
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า

วันนี้เราเริ่มต้นเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า ซึ่งเป็นเทศกาลนี้เรามุ่งความสนใจไปที่การรอคอยการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า เราทราบว่าพระเยซูเจ้าได้เสด็จมาแล้วในประวัติศาสตร์เมื่อสองพันปีก่อน และเราระลึกถึงระหว่างอาทิตย์ก่อนคริสตสมภพ เพื่อเฉลิมฉลองการบังเกิดมาของพระองค์ อีกทั้งรอคอยการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ในวาระสุดท้าย

เรามีประสบการณ์ถึงการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าในแต่ละวัน ผ่านทางศีลมหาสนิท พระวาจาของพระเจ้า ในบุคคลและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต ในบทอ่านของวันนี้ได้ให้ความมั่นใจกับเราว่า องค์พระเจ้ากำลังเสด็จมา แต่เราจะต้องระวังและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ให้เราได้กราบขอสมาโทษพระองค์ หากไม่ได้ต้อนรับพระองค์ที่เสด็จมาหาเราในรูปแบบต่างๆ
 การมุงหลังคายุ้งข้าวใหม่และการปรับพื้นรอบโรงครัวเพื่อเทกันสาด

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกอิสยาห์  อสย 63:16-17; 63:1, 3-6

ประชากรอิสราแอลได้หันหลังให้พระเจ้า ประกาศกอิสยาห์ได้ภาวนาด้วยความกระตือรือร้น เพื่อวอนขอให้พระเจ้าเสด็จมาและช่วยเราให้พ้นบาป เปิดเผยให้เห็นถึงความรักและความเอาพระทัยใส่ของพระองค์ หากเราได้เปลี่ยนแปลงตนเองและหันกลับมาหาพระเจ้า พระองค์จะทรงรับเราเพราะพระองค์เป็นพระผู้ไถ่และบิดาที่รักเรา

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ ฉบับที่ 1   1 คร 1:3-9

นักบุญเปาโลได้เน้นความเชื่อและย้ำเตือนคริสตชนที่เมืองโครินทร์ ให้มั่นคงในความเชื่อในพระเยซูเจ้าจนกระทั่งวาระสุดท้าย เราจะต้องเป็นเหมือนคริสตชนแรกที่ดำเนินชีวิต “ไม่มีที่ติ ในวันที่พระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราจะเสด็จมา”  อาศัยพลังของพระเยซูเจ้าจะทำให้เราเข้มแข็ง พระองค์ทรงเป็นผู้ค้ำจุนและเรียกเราให้มามีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์

พระวรสาร: นักบุญมาระโก  มก 13:31-37

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตักเตือนและให้กำลังใจผู้ติดตามพระองค์ให้ตื่นเฝ้าทางด้านจิตใจ พระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป อาศัยความเชื่อและการอุทิศตน ผู้ติดตามพระองค์จะต้องเป็นดังคนใช้ที่ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบพวกเขากำลังตื่นเฝ้าด้วยความเชื่อและพร้อมที่จะต้อนรับพระองค์
 การเทพื้นกันสาดโดยรอบโรงครัว

°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1)      ขอให้สภาอภิบาลและกลุ่มคริสตชนพื้นฐานทุกกลุ่ม เตรียมทำถ้ำพระกุมาร ทำดาวและจัดหาของขวัญคริสต์มาส (เครื่องจักสาน) แต่เนิ่นๆ เพื่อจับสลากมอบเป็นของแก่กันและกัน

2)      คุณพ่อไพศาล ว่องไว ได้รับแต่งตั้งให้ไปเป็นจิตตาธิการโรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา กรุงเทพฯ เพื่อช่วยงานคุณพ่อวีรพงศ์ โพธิมล ขอบคุณคุณพ่อเป็นพิเศษที่ได้มาช่วยงานที่วัดของเราเป็นเวลา 2 เดือนเศษ

3)      ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 12 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 1

4)      ขอบคุณพี่น้องที่ภาวนาเพื่อการเข้าเงียบประจำปีของบรรดาพระสงฆ์ในอาทิตย์ที่ผ่านมา

5)      รายนามผู้บริจาคสมทบซื้อกระเบื้องปูพื้นโรงครัว: (1) นางสาวสายสมร ปู่ภิรมย์ 500.- บาท, (2) นางสาวอุไรรัตน์ มะวงศ์งอย 500.- บาท และ (3) นายชาญ บัวขันธ์ 1,000.- บาท รวมยอด 62,390.- บาท

6)      เงินทานวันเสาร์ 312.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 20 พฤศจิกายน 3,814.- าท; เงินทานวัดโพนสวาง  288.- บาท
 ขอคำภาวนาสำหรับเปาโลพิมนต์ (หนุ่ย) นาแว่น และพ่อสมบูรณ์ สรุงบุญมี ซึ่งป่วยหนัก

พิธีมิสซาและวันฉลองในรอบสัปดาห์

วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
27
07.00 น.
10.00 น.
มิสซาที่นาบัว
มิสซาที่โพนสวาง
สุขสำราญ สำหรับพี่น้องชาวนาบัว
† สุขสำราญ สำหรับพี่น้องชาวโพนสวาง
จันทร์
28
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ

อังคาร
29
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ

พุธ
30
06.00 น.
ฉลองนักบุญอันดรูว์ อัครสาวก

พฤหัสบดี
01
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ

ศุกร์
02
06.00 น.
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ
วันศุกร์ต้นเดือน (ส่งศีลคนป่วย)
เสาร์
03
06.00 น.
19.30 น.
ฉลอง น.ฟรังซิสเซเวียร์ พระสงฆ์
สัปดาห์ที 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จ


คณะสงฆ์ท่าแร่-หนองแสง โอกาสเข้าเงียบประจำปี วันที่ 26 พฤศจิกายน 2011

วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ


จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 1 เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
ปี B
อสย 63:16-17; 63:1, 3-6
1 คร 1:3-9
มก 13:31-37

บทนำ

 มีคำถามทดสอบเชาว์ปัญญา ถ้าคืนหนึ่งขณะที่คุณกำลังหลับสนิทและฝันว่า สิงโตตัวหนึ่งกำลังไล่ขย้ำคุณ ทำให้คุณต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่กลับต้องเผชิญหน้ากับเสือที่พร้อมจะตะปบคุณด้วยกรงเล็บอันแหลมคมของมัน เข้าทำนอง “หนีเสือปะจระเข้” คุณมองหาทางหนีไปที่สองข้างทาง แต่ทั้งสองข้างเต็มไปด้วยสัตว์ป่าดุร้ายที่พร้อมจะทำร้ายคุณเช่นกัน ในสถานการณ์เวลานั้นคุณเหมือนคนจนตรอก หนีไปทางไหนไม่ได้ ถามว่า “คุณจะหนีเอาตัวรอดอย่างไร” คำตอบคือ “จงตื่นจากฝัน”

การตื่นขึ้นทำให้เราอยู่ในโลกของความเป็นจริง ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโลกของความฝัน ปัญหาใหญ่โตที่เรากำลังเผชิญขณะฝัน ไม่มีผลใดๆ ต่อชีวิตปัจจุบันของเรา เมื่อตื่นขึ้นเราพบความจริงว่าอันตรายจากสัตว์ร้ายในความฝัน ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงความฝัน ไม่ใช่ความจริง เราอาจเปรียบเทียบสภาวะแห่งความฝันและการตื่นนี้กับชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชน การตื่นเฝ้าระวังอยู่เสมอ ทำให้เราพร้อมที่จะเผชิญกับทุกสิ่ง

ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้ พระศาสนจักรเชื้อเชิญเราให้พร้อมที่จะต้อนรับองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมา เราจะต้องระวังและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบเรากำลังเตรียมพร้อมอยู่ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ไม่เพียงเป็นการเตรียมฉลองการบังเกิดมาของพระคริสตเจ้า แต่ยังเป็นการเตรียมต้อนรับการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ เราอยู่ระหว่างการเสด็จมาครั้งแรกที่เบธเลแฮม กับการเสด็จมาครั้งที่สองในวาระสุดท้ายเพื่อทรงพิพากษาทุกคน

เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังที่เราจะได้ไตร่ตรองถึงการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า ด้วยการเชิญเสด็จพระองค์เข้ามาในจิตใจของเรา และตระหนักถึงการประทับอยู่ของพระองค์ในตัวเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นและมาหาเราในรูปแบบต่างๆ ในขณะที่เรากำลังเตรียมฉลองคริสต์มาสทางด้านภายนอก พระศาสนจักรได้ให้เรามีเวลาเริ่มต้นเตรียมต้อนรับพระองค์ทางด้านจิตใจในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ นี้

1.           จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตักเตือนและให้กำลังใจผู้ติดตามพระองค์ให้ตื่นเฝ้าทางด้านจิตใจ พระองค์กำลังจะจากพวกเขาไป อาศัยความเชื่อและการอุทิศตน ผู้ติดตามพระองค์จะต้องเป็นดังคนใช้ที่ตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ดังนั้น ช่วงเวลาที่พระองค์ไม่อยู่จึงเป็นเวลาแห่งการทดสอบความเชื่อ พระองค์ทรงย้ำเตือนให้พวกเขาระวังและตื่นเฝ้า เพราะไม่มีใครรู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไหร่ เพื่อว่าเมื่อพระองค์เสด็จมาจะพบพวกเขากำลังตื่นเฝ้าด้วยความเชื่อและพร้อมที่จะต้อนรับพระองค์

นักบุญมาระโกได้ใช้ภาพพจน์ของคนรับใช้ที่คอยเปิดประตูให้เจ้าของบ้าน ซึ่งไม่รู้ว่าจะกลับมาเมื่อไหร่ ณ เมืองเบ็ธเลแฮมพระเยซูเจ้าเสด็จมาในรูปของเด็กทารก แต่ผู้คนจำพระองค์ไม่ได้ ในคำอุปมาเรื่องการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่เราได้ฟังอาทิตย์ที่ผ่านมา พระองค์เสด็จมาในรูปแบบของคนที่ต่ำต้อยและต้องการความช่วยเหลือ มีแต่คนที่มีความเชื่อเท่านั้นที่จำพระองค์ได้และรับใช้พระองค์ในบุคคลชายขอบของสังคมเหล่านั้น ความเชื่อจึงเป็นวิธีดำเนินชีวิตที่สำคัญที่ช่วยให้เรามองเห็นและจำพระองค์ได้

การดำเนินชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ต้องตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ด้วยการทำหน้าที่ของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ด้วยความซื่อสัตย์และรับผิดชอบ การตื่นเฝ้ายังหมายถึงการเรียนรู้เครื่องหมายแห่งกาลเวลา เพื่อจะได้เข้าใจถึงความหมายที่พระเจ้าต้องการจะบอกให้เราทราบ และรับผิดชอบต่อหน้าที่ประจำวันจนถึงที่สุด ดังนั้น การตื่นเฝ้าจึงเป็นการเจริญชีวิตแห่งการรับใช้พระเจ้าด้วยความวางใจ ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติและดำรงตนในฐานะแห่งพระหรรษทาน เหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายอย่างเคร่งครัด

2.           บทเรียนสำหรับเรา

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราคริสตชนหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติ

ประการแรก จงตื่นเฝ้าอยู่เสมอ การตื่นเฝ้าแสดงให้เห็นถึงลักษณะของผู้ที่เป็นศิษย์ ซึ่งมุ่งหวังและรอคอยพระคริสตเจ้าเสด็จกลับมา การเฝ้าคอยนี้ต้องถือเป็นเรื่องสำคัญในการรำพึงภาวนาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ การตื่นเฝ้าไม่ใช่การอยู่เฉยๆ แต่หมายถึงความรับผิดชอบและซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติตามคำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงตื่นเฝ้าและอธิษฐานภาวนาเพื่อจะไม่เข้าสู่การทดลอง” (มก 14:38) หรือปฏิบัติตามแบบอย่างของพระองค์ที่เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่ออธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าตลอดทั้งคืน (ลก 6:12)

 ประการที่สอง การเสด็จมาครั้งที่สองจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่เมื่อไรไม่มีใครรู้ มีแต่พระบิดาเจ้าเท่านั้นที่ทราบถึงวาระสุดท้ายของโลกและการเสด็จมาอีกครั้งหนึ่งของพระเยซูเจ้า (มก 13:32) ดังนั้น ชีวิตของเราจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเสด็จมาของพระองค์ นี่คือหน้าที่ที่เราต้องทำ เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงท้าทายเราด้วยคำถามที่สำคัญสามข้อ: 1) เราจะทำอะไรขณะนี้ เพื่อสร้างอาณาจักรของพระเจ้าในโลก, 2) เราควรจะทำอะไรเวลานี้ และ 3) เราจะเริ่มทำอะไรบ้าง ในสัปดาห์แรกของเทศกาลรับเสด็จฯ นี้

ประการที่สาม จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุด การเสด็จมาครั้งที่สองซึ่งเป็นเวลาแห่งการพิพากษานั้น จะเกิดขึ้นโดยฉับพลันและไม่มีใครคาดคิด เราแต่ละคนจึงต้องดำเนินชีวิตในแต่ละวันให้ดีที่สุด ประหนึ่งว่าเป็นวันสุดท้ายที่องค์พระเจ้าเสด็จมา “จงพยายามดำเนินชีวิตให้ดีทุกวัน ราวกับว่าท่านต้องตายในเย็นวันนั้น” (ชาร์ล เดอ โฟโกลต์) คริสตชนผูกพันตนเองกับปัจจุบันอย่างลึกซึ้ง เพราะทราบดีว่าทุกนาทีเป็นการนัดพบกับพระเจ้า และวาระสุดท้ายขึ้นอยู่กับเวลาที่เราดำเนินชีวิตในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน เป็นต้นในคนยากจนและคนต้องการความช่วยเหลือ

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า เป็นช่วงเวลาของรื้อฟื้นและสร้างความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระเจ้า เป็นช่วงเวลาแห่งความเพียรทนในการภาวนาด้วยความเชื่อไว้ใจ และเปิดใจของเราต้อนรับพระองค์ในเพื่อนพี่น้อง เป็นต้นในคนยากจนและต้องการความช่วยเหลือ พระคริสตเจ้าทรงเป็นแสงสว่างของโลก ดังนั้น เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ จึงเป็นช่วงเวลาของการก้าวเดินออกจากความมืดด้วยการกลับใจเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อเดินในแสงสว่างของพระคริสตเจ้า

พระศาสนจักรให้เราเริ่มต้นปีพิธีกรรมด้วยเทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ เพื่อท้าทายและกระตุ้นเตือนเราให้คิดถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรา ในการมุ่งหน้าไปพบองค์พระเจ้าที่กำลังเสด็จมา ด้วยการทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ในการทำให้พระคริสตเจ้าปรากฏเป็นจริงในชีวิตประจำวันสำหรับผู้ที่ไม่เชื่อพระองค์ คริสตชนแต่ละคนจะต้องถอดแบบพระองค์ในความรักที่เรามีต่อเพื่อนพี่น้อง  เป็นต้นในครอบครัว หมู่คณะ สังคมและหมู่บ้านของเรา นี่คือการเตรียมพร้อมและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ ที่พระองค์ต้องการจากเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
สำนักมิสซังฯ สกลนคร
24 พฤศจิกายน 2011