สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลปัสกา ปี A
กจ 2:42-47
1 ปต 1:3-9
ยน 20:19-31
การกลับคืนชีพคือข่าวดีแห่งสันติสุข
บทนำ
มีอาณาจักรเก่าแก่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่ตั้งของชนเผ่าโบราณที่ชอบทำสงครามกับเผ่าอื่น พวกเขาได้ออกไปเข่นฆ่า ข่มขืน และปล้นสะดมอย่างไร้ความเมตตาปราณีและปราศจากศีลธรรม ผู้อาวุโสของเผ่าจึงหาทางแก้ไขโดยเรียกประชุมผู้นำจากหมู่บ้านต่างๆ เพื่อหาทางระงับยับยั้งความรุนแรงที่จะเกิดกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หลังจากการถกเถียงกันเป็นเวลานานก็ได้ข้อสรุปว่า จะต้องเก็บความลับแห่งสันติสุขให้ห่างไกลจากพวกที่กระทำความผิดและละเมิดกฎเกณฑ์เหล่านี้
ปัญหาคือจะเก็บความลับนี้ไว้ที่ไหน บางคนเสนอให้ฝังไว้ใต้ดินให้ลึกที่สุด บางคนเสนอให้เก็บไว้บนยอดเขาที่สูงที่สุด บางคนเสนอให้เก็บไว้ใต้มหาสมุทรในจุดที่ลึกที่สุด เพื่อพวกเขาจะได้หามันไม่พบ แต่ไม่มีใครเห็นดีตามข้อเสนอเหล่านี้ เพราะในความเป็นจริงถึงแม้จะเก็บไว้ใต้ดิน บนยอดเขาสูง หรือใต้มหาสมุทรแต่มนุษย์คงค้นพบอยู่ดี เพราะมนุษย์ฉลาดและเก่งในการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อไปยังจุดหมายที่ต้องการ
ที่สุด ผู้อาวุโสที่เรียกประชุมได้เสนอให้เก็บความลับแห่งสันติสุขไว้ใจใจของพวกเขาเอง เพราะแต่ละคนล้วนคิดว่าใจของตนไม่มีสันติสุขเลย และคงไม่มีวันที่พวกเขาจะค้นพบสันติสุขในใจของตนได้ กระทั่งทุกวันนี้ พวกเขายังคงค้นหาความลับแห่งสันติสุขนี้อยู่ต่อไปในที่ต่างๆ ทุกหนทุกแห่งยกเว้นใจของตน น้อยคนนักจะพบว่าแท้จริงแล้วความลับแห่งสันติสุขซ่อนอยู่ใกล้นิดเดียว คือในใจของพวกเขานั่นเอง
1. การกลับคืนชีพคือข่าวดีแห่งสันติสุข
ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้ปรากฏพระองค์ให้บรรดาอัครสาวกได้เห็น และทรงมอบสันติสุขแก่พวกเขา สันติสุขที่ว่านี้ คือความชื่นชมยินดีและความสุขอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน สันติสุขนี้อยู่ภายในใจของเราแต่ละคนในความสัมพันธ์กับพระเจ้าและผู้อื่น สันติสุขนี้คือของประทานจากพระเจ้าสำหรับมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์ “สันติราชา” ที่นำเราไปสู่ความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับพระเจ้า และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้อื่น
คำกล่าวทักทายแรกที่พระเยซูเจ้าตรัสในการปรากฏพระองค์ให้บรรดาศิษย์ได้เห็นคือ SHALOM “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด” คำกล่าวนี้ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในใจพวกเขา ทำให้ความหวาดกลัวและความระทมทุกข์หมดสิ้นไป ใจของพวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดี ในขณะที่ทรงอวยพรพวกเขาให้มีสันติสุขพระองค์ได้ประทานพระจิตเจ้าแก่พวกเขา พระองค์ได้มอบพันธกิจและหน้าที่ในการสานต่องานไถ่กู้ของพระองค์ ได้แก่การยกบาปในพระนามของพระองค์
ในการสานต่อภารกิจของพระเยซูเจ้าในการยกบาป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยการนำของพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นของประทานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่พระองค์ประทานแก่บรรดาอัครสาวก คือพระหรรษทานของพระจิตในการยกบาป พระองค์ทรงมอบพระจิตเจ้าองค์เดียวกันแก่เราในการให้อภัยความผิดของกันและกัน เราต้องยกโทษและให้อภัยความผิดของกันและกันด้วยใจกว้าง เพราะพระเยซูเจ้าคือองค์สันติราชา ในพระองค์เท่านั้นที่ทำให้เรามีชีวิตและสันติสุขที่ยั่งยืน พระองค์ทรงชี้ทางให้เราได้ค้นพบสันติสุขที่แท้ในใจของเรา ยิ่งเราถอยห่างจากพระองค์เราก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกและสูญเสียสันติสุขนี้ไป
2. บทเรียนสำหรับเรา
บาปคืออุปสรรคใหญ่หลวงของความสุขที่แท้นี้ ที่ทำให้พันธกิจของพระเจ้าในตัวเราไม่สมบูรณ์ กระนั้นก็ดี พระเยซูเจ้าได้ประทานอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับเราในการทำลายศัตรูของสันติสุขให้หมดสิ้นไปผ่านทางศีลอภัยบาป ที่อภัยบาปของเราและสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นใหม่ในใจเรา เมื่อแต่ละคนมีใจที่สุขสงบปราศจากความเห็นแก่ตัว ครอบครัว สังคม และประเทศชาติก็จะมีแต่สันติสุข
ทุกครั้งที่เรามอบสันติสุขให้แก่กันในพิธีบูชาขอบพระคุณ ขอให้เป็นการแสดงออกถึงท่าทีแห่งการให้อภัยและการมอบสันติสุขที่แท้จริงจากใจเราแก่กันและกัน สันติสุขจะบังเกิดขึ้นในใจเราก็ต่อเมื่อ: เราได้ปฏิบัติตามบัญญัติแห่งความรักที่พระเจ้าประทานให้แก่เรา “รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สิ้นสุดสติปัญญา และสิ้นสุดกำลังความสามารถ และรักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง” (มก 12:30), เราได้ใส่ใจในความต้องการของเพื่อนพี่น้อง “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)
ความสงสัยของนักบุญโทมัสในพระวรสาร เป็นแบบอย่างของคนที่แสวงหาความจริงและมีประสบการณ์ด้วยตนเอง นักบุญโทมัสจึงเป็นองค์อุปถัมภ์ของบรรดานักวิทยาศาสตร์ บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักร ได้อธิบายให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตในความเชื่อแบบนักบุญโทมัส ดังนี้
1) เราต้องหมั่นมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อจะได้รู้จักพระองค์เป็นการส่วนตัว มีประสบการณ์โดยตรงกับพระองค์ และรำพึงตามบทอ่านจากพระคัมภีร์ประจำวัน
2) เราต้องทำให้ความเชื่อของเราเข้มแข็งด้วยอำนาจของพระจิตเจ้า ผ่านทางการภาวนา และมีส่วนในชีวิตพระของพระเยซูเจ้าผ่านทางศีลอภัยบาปและศีลมหาสนิท
คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา ได้ใช้แนวทางนี้ในการสอนสมาชิก “ถ้าเราภาวนา เราจะเชื่อ; ถ้าเราเชื่อ เราจะรัก; ถ้าเรารัก เราจะรับใช้ ซึ่งเป็นการทำให้ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าปรากฏเป็นจริงในกิจการ”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ให้เราได้สานต่อพันธกิจของพระเยซูเจ้า ในงานแห่งความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุดในชีวิตประจำวันของเรา เพื่อเราจะได้เป็นเครื่องมือในการสร้างสันติสุขในสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชัง และความแตกแยกรุนแรง มีการแบ่งสีเลือกข้างอย่างในปัจจุบัน เพื่อสร้างสันติสุขให้บังเกิดขึ้นในครอบครัว และในหมู่บ้านของเรา ดังที่ นักบุญฟรังซิส อัสซีซี ได้ภาวนาว่า:
ข้าแต่พระบิดา ขอพระองค์ทรงกระทำให้ข้าพเจ้าเป็นเครื่องมือของพระองค์ เพื่อสร้างสันติ
ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก
ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย
ที่ใดมีความแตกแยก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสามัคคี
ที่ใดมีความเท็จ ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความจริง
ที่ใดมีความสงสัย ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความเชื่อ
ที่ใดมีความสิ้นหวัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความหวัง
ที่ใดมีความมืด ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความสว่าง
ที่ใดมีความเศร้าโศก ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำ ความยินดีเบิกบานใจ
ข้าแต่พระเป็นเจ้า โปรดให้ข้าพเจ้าเป็นผู้บรรเทา มากกว่าจะเป็นผู้รับการบรรเทา
เห็นใจผู้อื่น มากกว่าจะรับความเห็นใจ
รักผู้อื่นก่อน และมากว่าที่จะให้คนอื่นรักข้าพเจ้า
ผู้ที่ให้เท่านั้น จะได้รับความอิ่มเอิบยินดี
ผู้ที่ลืมตนเองเท่านั้น จะพบตนเองในทางสันติ
ผู้ที่ยกโทษให้เท่านั้น จะได้รับการอภัยโทษ
ดังนี้เมื่อเราตาย จะได้ไปสู่พระราชัย ของพระองค์ชั่วนิรันดร
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว29 เมษายน 2011