วันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2554

ความสุภาพถ่อมตนในการภาวนา

วันเสาร์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ฮซย 6:1-6
ลก 18:9-14

 ความสุภาพถ่อมตนในการภาวนา

มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโทเฟน (นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน) เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวที่ใช้ประพันธ์เพลงมูนไลท์ โซนาต้า (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นเพลงท่อนแรกของโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบลง มัคคุเทศก์ได้กล่าวว่า “คุณคงสนใจหากรู้ว่า ท่านเพเดรอสกี้ (นักดนตรีเอกชาวโปแลนด์) ก็ได้มาเยี่ยมที่นี่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง”

เด็กสาวคนนั้นได้พูดว่า “ดิฉันพนันได้ว่าเขาต้องทำเหมือนที่ดิฉันทำ ด้วยการนั่งลงและเล่นเพลงโซนาต้าใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์กลับตอบว่า “เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่า ‘ไม่ได้ ผมไม่คู่ควรเลย’” เด็กสาวผู้มีความมั่นใจในตัวเองคนนั้นได้เล่นเพลงของบีโทเฟ่น แต่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่กลับมีความสุภาพถ่อมตน จนเกินกว่าจะเล่นเพลงที่เปียโนของบีโทเฟ่นได้

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมาเกี่ยวกับชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีที่เข้าไปภาวนาในพระวิหารเพื่อสอนเราเกี่ยวกับความสุภาพถ่อมตนในการภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่ภาวนาวันละ 4 เวลา ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมง และหกโมงเย็น จากวิธีภาวนาของชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์

ชาวฟาริสีได้ยืนขึ้นภาวนากับตนเอง แม้เขาจะขอบคุณพระเจ้าแต่คำพูดของเขาแสดงความยินดีกับตนเอง ที่ไม่ได้เป็นขโมยหรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน (วันจันทร์กับวันพฤหัสบดี) และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด เขามีเจตนาที่จะเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาจึงไม่ใช่คนที่น่ายกย่องอะไร ความดีของเขาเป็นเพียงความดีที่เกินจำเป็นหรือความดีในด้านลบ

ส่วนคนเก็บภาษีซึ่งเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว (เพราะเก็บภาษีให้โรมันและเก็บส่วนที่เกินเป็นของตนเอง) เขารู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด เขาจึงยืนอยู่ห่างๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาป ด้วยเถิด” คำภาวนาของชาวฟาริสีไม่ได้ผิดอะไร เขาพูดความจริงเกี่ยวกับความดีของตน แต่เขาเป็นคนหยิ่งยโส ภูมิใจในตนเองและดูหมิ่นคนอื่น ขณะที่คนเก็บภาษีสำนึกในความบาปผิดของตน เขาตระหนักในความรักและเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า

คำอุปมานี้ได้ให้บทเรียนแก่เราในเรื่องความสุภาพถ่อมตนและการสำนึกในความผิดที่ตนเองกระทำ มีคนเคยบ่นกับอับราฮัม ลินคอล์น (ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา) ว่า ทำไมท่านถึงเสียเวลาไปกับการภาวนา แต่ลินคอล์นตอบว่า “ข้าพเจ้าคงเป็นคนโง่ที่สุดในโลก ถ้าคิดว่าข้าพเจ้าสามารถแบกภาระที่มีอยู่ได้สักหนึ่งวัน โดยไม่ขอความช่วยเหลือจากองค์ผู้ยิ่งใหญ่และปรีชาฉลาดกว่าข้าพเจ้า”

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้ (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิสอัสซีซี พูดถึงตัวท่านเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” มีคำกล่าวว่า ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น ฉะนั้น ขอให้เรามีความสุภาพถ่อมตน สำนึกว่าเราเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษหรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
13 มีนาคม 2010

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น