วันอังคารที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2557

5 ข้อคิดจาก Mark Zuckerberg



5 ข้อคิดจาก Mark Zuckerberg
Mark Zuckerberg หนึ่งในบุคคลอายุน้อยที่รวยที่สุดในโลก โดยภายในอายุ 23 เขาก็กลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนที่ Facebook เริ่มก่อตั้งขึ้น และจนถึงปัจจุบันนี้ เขาอายุ 35 ปี กับรายได้สุทธิของเขาที่มีมากถึง 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท
Mark Zuckerberg สร้างเฟซบุ๊กขึ้นมาตั้งแต่เขาเรียนอยู่ที่ฮาวาร์ด แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างเฟซบุ๊กอย่างจริงจัง เขาต้องการคิดค้นวิธีการติดต่อสื่อสารใหม่ๆ ให้คนทั่วโลก และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เฟซบุ๊กก็กลายเป็นเว็บโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมมากที่สุดเช่นกัน โดยมีผู้ใช้มากกว่า 1 พันล้านคนเกือบจะ 2 พันล้านแล้วนะ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมต่อคนทั่วโลกเข้าด้วยกัน ผ่านวิธีการสื่อสารที่ไม่เคยมีมาก่อน
ซึ่งเรื่องราวของ Mark นั้น จะทำให้คุณรู้ว่า อายุไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ที่จะทำให้คนคนนึงไล่ล่าตามความฝัน และเอาชนะอุปสรรคเบื้องหน้า เราไปดู 5 ข้อคิดของ CEO Facebook พร้อมๆ กันเลยดีกว่าครับ
1.           คุณต้องก้าวไปข้างหน้าอย่างเร็ว อาจมีบางสิ่ง ต้องเสียหายไปบ้าง เพราะถ้าไม่มีอะไรเสียหาย นั่นเป็นเพราะคุณยังไม่เร็วพอ
หากคุณมีความมุ่งมั่นอยู่แล้ว อย่ามัวแต่รอคนอื่นๆ ถ้าเขาไม่เห็นด้วยกับคุณ คุณจงวิ่งไปสู่เป้าหมายของคุณ อย่าหยุด อย่าจำกัดขีดความสามารถของตนเอง มันย่อมมีคนที่ไม่อยากมองเห็นคุณประสบความสำเร็จอยู่แล้ว
แต่คุณแค่อย่าไปสนใจ เท่านั้นเอง และหากปัจจัยบางอย่างที่คุณมี มันเป็นอุปสรรค ก็ทำลายมันเสีย เพราะบางทีมันก็เก่าแก่เกินจะเก็บไว้ก็เป็นได้ การสร้างประวัติศาสตร์ คือการทำลายของเดิมลง และสร้างสิ่งใหม่ที่คนอื่นคาดไม่ถึง นั่นล่ะ ที่เรียกว่าความสำเร็จ 
2.           เป้าหมายของผมไม่เคยคิดว่าจะ เปิดบริษัทเพื่อหาเงินเท่านั้น คนมักเข้าใจผิด เป้าหมายจริงๆ ของผมในตอนนั้น คือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของเราครั้งยิ่งใหญ่ต่างหากล่ะ
หากคุณคิดแต่เรื่องเงิน คุณก็มักจะลงเอยกับงานประจำที่จ่ายเงินคุณเท่ากันทุกๆ เดือน แต่คนส่วนมากที่ประสบความสำเร็จ เขาเสี่ยงทุกอย่าง เพื่อสู้จนพวกเขาเดินมาถึงทุกวันนี้ เพราะสิ่งที่เขารู้ก็คือ เงิน คือภาพลวงตา ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่พวกเขาต้องการสร้างชื่อมากกว่า
ซึ่งแน่นอนว่า ในโลกนี้ก็ยังมีคนรวยอีกหลายคน ที่คิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ซึ่งคนเหล่านี้ หากจากโลกนี้ไป ก็ไม่มีใครจำได้ เพราเขาไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรไว้ให้กับโลกเลยแม้แต่น้อย
3.           ส่วนตัวผมคิดว่า ผมชอบอยู่ใกล้ๆ หรือทำงานกับคนที่ชอบประเมินผมต่ำเกินกว่าความเป็นจริง เพราะมันทำให้ผมมีพลังที่จะสู้ และพิสูจน์ความจริงให้พวกเขาทึ่ง ว่าพวกเขาคิดผิด
คนที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ มักมีคนที่ไม่เชื่อ สงสัย และปรามาสเป็นธรรมดา จงต้อนรับพวกเขา เพราะนั่นแหละคือแหล่งพลังงานชั้นดี ที่ทำให้คุณมีแรงสู้ สู้เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาคิดผิด จำไว้เสมอว่า เราควบคุมความคิดคนอื่นไม่ได้ แต่เราควบคุมวิธีที่เราจะโต้ตอบความคิดของคนเหล่านั้นได้ มันคือทางเลือกของเราเองทั้งนั้น
และเมื่อคุณสำเร็จแล้ว คุณก็สามารถกลับไปหาคนที่ไม่เชื่อคุณในตอนแรก และขอบคุณพวกเขา ที่พวกเขาคือสิ่งที่ทำให้คุณสำเร็จในวันนี้ เพราะฉะนั้นจงรู้จักขอบคุณ
4.           อาจจะฟังดูเน่าไปหน่อย แต่ผมอยากเปลี่ยนสังคมให้เปิดกว้างมากขึ้น และการเปิดกว้างให้สังคมนั้น มันไม่สามารถเกิดขึ้นชั่วข้ามคืนหรอกนะ มันใช้เวลาเป็น 10-15 ปีนู่นแหละ
จำไว้ว่า ความอดทนคือกุญแจสำคัญของทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนโลก ยิ่งต้องใช้เวลานาน
อย่างเช่นเรื่องราวของ Nelson Mandela ที่ต้องใช้เวลาในคุกถึง 27 ปี จนเขาสามารถก้าวออกมา และกลายเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของแอฟริกาใต้ นี่คือตัวอย่างที่สำคัญมากของการสร้างสิ่งดีๆ ให้กับโลก เพราะฉะนั้น ความสำเร็จมันยาก เพราะฉะนั้นจงอดทนและแน่วแน่อยู่เสมอ
5.           ความเสี่ยงที่สูงที่สุด คือการไม่เสี่ยงอะไรเลย และการไม่เสี่ยงอะไรเลยเนี่ยแหละ ที่เปรียบเสมือนการการันตีสู่ความล้มเหลว
สิ่งที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกได้ในวันนี้ เมื่อ 50 ปีก่อน คงไม่มีใครคิดว่าจะเกิดขึ้นจริงได้ เพราะฉะนั้น โลกมันหมุนไปเร็วกว่าที่คิด และถ้าคุณไม่คิดจะเสี่ยงอะไรเลย คุณก็จะล้าหลังไปอย่างนั้น
คุณไม่จำเป็นที่จะต้องรู้หรอกว่า จะเกิดอะไรขึ้นข้างหน้า มันจะสำเร็จมั้ย มันจะเกิดอะไรขึ้น แค่คุณทำวันนี้ให้ดีที่สุด ลองเสี่ยงเพื่อความฝันของคุณดู ดีกว่าไม่เสี่ยงอะไรเลย เพราะบางที มันอาจจะสบาย ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราอยู่เฉยๆ เราก็มีงานทำ แต่ถ้าเราไม่กล้าที่จะเปลี่ยน ความฝัน ก็ยังคงเป็นได้แค่ความฝันอยู่วันยังค่ำ เพราะฉะนั้น ความกล้า คือสิ่งที่สำคัญที่สุด
ที่มา: http://www.flagfrog.com/5-think-from-mark-zukerberg/

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

60 ปี บ้านเณรฟาติมา (จบ)



2.13    คุณพ่อยอห์น สุรชาติ มุลสุทธิ: อธิการองค์ที่ 13  ค.ศ. 2008-2013
คุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิได้รับความไว้วางใจให้เป็นอธิการสืบต่อจากคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อชัยวิชิต บรรเทา ค.ศ. 2007-2009, คุณพ่อพงศ์ศิระ คำศรี ค.ศ. 20008-2010, คุณพ่อดนัย พิลาจันทร์ ค.ศ. 2009-2010, คุณพ่อญาณารณพ มหัตกุล ค.ศ. 2010-2012, และคุณพ่อวิโรจน์ โพธิ์สว่าง ค.ศ. 2011-ปัจจุบัน
ในห้วงเวลาที่คุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ เป็นอธิการถือเป็นช่วงเวลาที่สามเณราลัยมีความพร้อมในเกือบทุกด้าน (เพราะเพิ่งผ่านการฉลองครบรอบ 50 ปี) และโลกสมัยใหม่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาก สิ่งสำคัญคือการเตรียมสามเณรให้พร้อมและรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คุณพ่อได้จัดหาทุนซื้อคอมพิวเตอร์และจัดทำห้องสมุดใหม่ โดยการจัดการแสดงกายกรรมจากประเทศจีนเพื่อหาทุนดำเนินการจนสำเร็จ ถือเป็นการเพิ่มพูนความรู้ให้สามเณรรู้จักใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างรู้เท่าทัน
เหตุการณ์ที่สำคัญอีกอย่างในช่วงปลายสมัยของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิคือ การเป็นเจ้าภาพจัดงานบวชพระสงฆ์ 2 องค์ คือ คุณพ่อยอแซฟ เทพณรงค์ พุดษา และคุณพ่อยอแซฟ ทินกร เหลือหลาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) โดยพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสามเณราลัยแห่งนี้ หลังจากที่เมื่อร่วม 20 ปีก่อนเคยมีพิธีบวชพระสงฆ์ครั้งแรกคือ คุณพ่อฟิลิป สุกิจ นารินรักษ์ (9 ตุลาคม 1993)
2.14    คุณพ่อเปโตร วิโรจน์ โพธิสว่าง อธิการองค์ที่ 14  ค.ศ. 2012-ปัจจุบัน
คุณพ่อวิโรจน์ โพธิสว่าง เข้ามาเรียนรู้งานในฐานะผู้ให้การอบรมตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 หลังสำเร็จการศึกษาจากกรุงโรม ประเทศอิตาลี และได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการสืบต่อจากคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อยอห์นบัปติสต์ จีระศักดิ์ อุ่นหล้า ค.ศ. 2012-ปัจจุบัน และคุณพ่อยอแซฟ ทินนกร เหลือหลาย ค.ศ. 2012-ปัจจุบัน
งานที่คุณพ่อวิโรจน์ โพธิสว่างทำคือ การสานต่องานของคุณพ่อสุรชาติ มุลสุทธิ และเตรียมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการก่อตั้งสามเณราลัยในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) คุณพ่อได้จัดประชุมเตรียมงานหลายครั้ง จนได้ข้อสรุปเรื่องรูปแบบและแผนงานฉลอง 60 ปี ด้วยการจัดทำทำเนียบศิษย์เก่า งานชุมนุมศิษย์เก่า งานบวชพระสงฆ์และเคารพศีลมหาสนิท
 งานฉลองครบรอบ 60 ปีจัดให้มีขึ้นในวันที่ 24-25 ตุลาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557)  เริ่มด้วยการชุมนุมศิษย์เก่าทุกรุ่นในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) เวลา 14.00 น. ก่อนจะมีพิธีแห่พระรูปแม่พระในตอนค่ำวันเดียวกัน วันรุ่งขึ้นมีพิธีบวชพระสงฆ์ 3 องค์ และพิธีเคารพศีลมหาสนิทระดับอัครสังฆมณฑลฯ โดย พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ อนึ่ง สังฆานุกรที่ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในโอกาสพิเศษนี้ประกอบด้วย สังฆานุกรเปาโล วรเมธ มาหนู. สังฆานุกรยอห์น บัปติสต์ อติชาติ ธรรมวงศ์ และสังฆานุกรโทมัน อาทิตย์ ว่องไว

บทสรุป
             สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ แม้จะถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1954 (พ.ศ. 2497)  แต่ก็สามารถเชื่อมโยงไปถึงสามเณราลัยดอนโดน อันเป็นสามเณราลัยแห่งแรกของพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้  ตามเจตนารมณ์ของ มิชชันนารีผู้บุกเบิกที่ปรารถนาจะมีสถานฝึกอบรมผู้เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ และครูคำสอนสำหรับช่วยงานแพร่ธรรมที่กำลังเริ่มต้น  ดังนั้น เราจึงเห็นการถือกำเนิดขึ้น พังทลาย หรือปิดตัวเองไปของสามเณราลัยหลายแห่ง ตามเงื่อนไขทางธรรมชาติและเหตุปัจจัยทางการเมือง จนกระทั่งถึงสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ปัจจุบัน 
สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการแพร่ธรรมในภาคอีสาน และความพยายามของหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ผู้ให้กำเนิด พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสและบรรดาอธิการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจุบัน ที่มีส่วนทำให้สามเณราลัยแห่งนี้เจริญเติบโตและก้าวหน้าเรื่อยมา   ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์และยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ คือ หัวใจ และได้ทำหน้าที่เป็น แหล่งเพาะชำพืชพันธุ์ แห่งกระแสเรียกการเป็นคริสตชนและพระสงฆ์สำหรับพระศาสนจักรภาคอีสานในระยะเริ่มแรก และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในปัจจุบัน

สามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ จึงเป็นสถานที่สร้างคน สร้างคริสตชน และสร้างพระสงฆ์  ศิษย์เก่าทุกรุ่นที่ผ่านการอบรมจากสามเณราลัยแห่งนี้  ได้ดำเนินชีวิตเป็นคนที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นคริสตชนที่มีความหมายต่อคริสตชุมชนที่ตนสังกัด และเป็นพระสงฆ์ที่อุทิศตนรับใช้เยี่ยงนายชุมพาบาลที่ดี ซึ่งทุกคนล้วนมีบทบาทและเป็นพลังสำคัญของสังคมและของพระศาสนจักร
60 ปีสามเณราลัยฟาติมา ท่าแร่ จึงเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้า ที่ทุกคนจะต้องสำนึกและขอบคุณในความรักเมตตาของพระองค์ ที่โปรดให้สามเณราลัยแห่งนี้เติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวหน้าอย่างมั่นคง อีกทั้ง เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำนุบำรุงและสานต่อให้สามเณราลัยแห่งนี้ก้าวย่างต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อคงความเป็นแหล่งเพาะกระแสเรียกที่มีคุณภาพสำหรับพระศาสนจักร ตลอดไป

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
21 ตุลาคม 2014

วันอังคารที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2557

60 ปีบ้านเณรฟาติมาท่าแร่ (4)



2.8       คุณพ่อหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์: อธิการองค์ที่ 8  .. 1982-1985
คุณพ่อหลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 8 โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อคริสเตียน  มีแชล, คุณพ่อเปาโล  สมพร  อุปพงศ์ ค.ศ.1982-1985 และคุณพ่อเปโตร ประยูร  พงศ์พิษณุ์ ค.ศ.1982-1987
คุณพ่อจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ วิสัยทัศน์กว้างไกล และร้อนรนเป็นพิเศษ เข้าทำนอง คิดเร็ว ทำเร็ว  บางวันบรรดาสามเณรได้รับทราบความคิดหลายเรื่องจนตามไม่ทัน  แต่ก็ส่งผลดีหลายอย่างสำหรับสามเณรให้เป็นคนกระตือรือร้น และเอาจริงเอาจังกับชีวิต ต้องยอมรับว่าสิ่งดีๆ หลายอย่างเกิดขึ้นในสมัยนี้ เช่น การแผ่ข้าว  เพื่อให้บรรดาคริสตชนตามวัดต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสามเณราลัยด้วยการบริจาคข้าว จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติเรื่อยมาถึงปัจจุบัน 
ในสมัยของคุณพ่อจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ แม้จะไม่มีสามเณรจากสังฆมณฑลอื่นแล้ว  แต่จำนวนสามเณรกลับเพิ่มขึ้นทำให้เกิดปัญหาเรื่องที่พักอาศัย  คุณพ่อได้ติดต่อขอทุนจากพระสมณทูตเรนาโต  มาร์ตีโน เพื่อสร้างอาคารใหม่  การก่อสร้างอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 30 เมตร เริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526)  ซึ่งบรรดาสามเณรได้มีส่วนในการก่อสร้างด้วยการขุดหลุมเสาทุกต้นของอาคารหลังนี้ ภายใต้การควบคุมและดูแลอย่างใกล้ชิดของคุณพ่อมีแชล จนกระทั่งแล้วเสร็จ
พิธีเสกและเปิดอย่างเป็นทางการ จัดขึ้นในโอกาสฉลองสามเณราลัย วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526)  เวลา 19.30 น. โดยพระสมณทูตเรนาโต มาร์ตีโน อาคารหลังนี้จึงได้ชื่อ อาคารมาร์ตีโน  ต่อมาในเวลา 20.00 น. มีพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณโอกาสฉลองสามเณราลัยโดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของสามเณราลัยที่จัดฉลองเวลากลางคืนและไม่ได้จัดในเดือนตุลาคมดังที่เคยปฏิบัติ 
2.9          คุณพ่อยอห์น บันลือ  เกียรติธาตรี: อธิการองค์ที่ 9  .. 1985-1989
คุณพ่อยอห์น บันลือ  เกียรติธาตรี  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอธิการองค์ที่ 9 โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อเปโตร สุรพงศ์  นาแว่น.. 1985-1989, คุณพ่อคริสเตียน  มีแชล, คุณพ่อเปาโล พิชิต  ศรีอ่อน .. 1987-1989, คุณพ่อเปโตร ประยูร  พงศ์พิษณุ์ และคุณพ่อมีคาแอล วัชรินทร์  ต้นปรึกษา ค.ศ. 1987-1994
งานแรกที่คุณพ่อบันลือ เกียรติธาตรี ทำหลังเข้ารับตำแหน่งคือ ทำกุญแจห้องต่างๆ ใหม่หมด ติดป้ายชื่อห้องเป็นระบบตัวเลขสี่หลักตามแบบโรงแรมเรียงจากตะวันตกไปตะวันออก  พร้อมทั้งนำระบบเลขประจำตัวสามเณรมาใช้เหมือนสมัยก่อน  ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของบรรดาสามเณรในสมัยนี้จึงมีหมายเลขกำกับไว้  นอกนั้น คุณพ่อยังได้นำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้เป็นครั้งแรกที่สามเณราลัย    
แนวคิดอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยคุณพ่อบันลือ เกียรติธาตรี คือ การชุมนุมผู้ปกครองสามเณร  เพื่อให้ได้รับทราบถึงแนวนโยบายและการอบรมสามเณร  นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสามเณราลัยกับผู้ปกครอง และตระหนักว่าพวกเขามีส่วนและบทบาทสำคัญในการอบรมบุตรหลานให้ก้าวหน้าในกระแสเรียก หลังการชุมนุมคุณพ่อได้มอบกิ่งพันธุ์ไม้ผลที่มีในสามเณราลัยให้แต่ละครอบครัวนำไปปลูกที่บ้าน  เพื่อว่าอย่างน้อยหากบุตรหลานไม่ได้บวชก็ยังมีต้นพันธุ์ไม้ผลของสามเณราลัยปลูกที่บ้าน และให้ประโยชน์แก่ครอบครัวต่อไป
2.10    คุณพ่อเปาโล สมพร  อุปพงศ์: อธิการองค์ที่ 10  .. 1989-1993
คุณพ่อเปาโล สมพร  อุปพงศ์ ได้ไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับคณะโฟโกลาเร ที่ประเทศฟิลิปปินส์  ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 10 โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อเปโตร ทวีชัย  ศรีวรกุล ค.ศ. 1989-1993, คุณพ่อมีคาแอล ทวีศิลป์  พงศ์พิศ ค.ศ. 1989-1990, คุณพ่อโทมัส สมเกียรติ  พลจางวาง ค.ศ. 1989-1990, คุณพ่อเปาโล ประสิทธิ์  เครือตาแก้ว ค.ศ. 1990-1998,  และคุณพ่อมีคาแอล วัชรินทร์  ต้นปรึกษา
จากการดำเนินชีวิตตามแนวทางของคณะโฟโกลาเร และได้รับการอบรมเกี่ยวกับจิตตารมณ์ของคณะนี้โดยตรง  จึงทำให้การอบรมในสมัยคุณพ่อสมพร อุปพงศ์ อยู่ในทิศทางเดียวกับคณะโฟโกลาเร ที่เน้นชีวิตหมู่คณะและความเป็นหนึ่งเดียว โดยมีความรักเป็นพื้นฐาน มีพระวาจาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและหลักในการดำเนินชีวิต  คุณพ่อได้ตั้งกลุ่มพระวาจาขึ้น  เพื่อให้บรรดาสามเณรได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจา  มีการประชุมกลุ่ม แบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันทุกเย็นวันอาทิตย์    
ผลงานอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในสมัยคุณพ่อสมพร อุปพงศ์ คือ กองทุนสามเณราลัย เพราะมองเห็นความจำเป็นในอนาคตข้างหน้าหากกรุงโรมตัดความช่วยเหลือ  อย่างน้อยก็ยังมีกองทุนที่สามารถนำดอกผลมาใช้ในกิจการของสามเณราลัยได้  นับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของคุณพ่อ  นอกนั้นสิ่งก่อสร้างที่สร้างในสมัยของคุณพ่อคือ  ถ้ำแม่พระ อาคารอาบน้ำ และถนนคอนกรีต รวมถึงการปรับแต่งภูมิทัศน์โดยรอบ
2.11            คุณพ่อมีคาแอล ประสงค์ เด่นไชยรัตน์: อธิการองค์ที่ 11 ค.. 1993-1998
คุณพ่อมีคาแอล ประสงค์  เด่นไชยรัตน์ ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 11 โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อเปโตร สุดสาคร  ศรีวรกุล ค.ศ. 1993-1994, คุณพ่อประสิทธิ์  เครือตาแก้ว, คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ สมรชัย กระแสสิงห์ ค.ศ. 1994-1998, คุณพ่ออันตน เสงี่ยม  ดีศรีวรกุล  ค.ศ. 1986-2008  และคุณพ่ออันตน วีระเดช  ใจเสรี
เนื่องจากอาคารฟาติมาอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม มีรอยร้าวแตกลึกทั่วไป วัสดุที่ใช้ก่อสร้างส่วนใหญ่หมดสภาพไม่สามารถที่จะบูรณะได้  คุณพ่อประสงค์ เด่นไชยรัตน์ จึงได้ขออนุญาตสร้างอาคารฟาติมาหลังใหม่ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 50 เมตร  ในสถานที่เดิมแทนหลังเก่า 

งานทุบและรื้อถอนอาคารฟาติมาหลังเก่าได้เริ่มขึ้นโอกาสฉลองสามเณราลัย วันที่ 10 ตุลาคม ค.. 1996 (.. 2539)  ส่วนการก่อสร้างงานฐานรากเริ่มเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.. 1997 (.. 2540)  การก่อสร้างได้ดำเนินเรื่อยมา พร้อมกับการบริจาคของผู้มีน้ำใจดีและผู้มีพระคุณสนับสนุนเรื่อยมา  จนกระทั่งแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.. 1998 (.. 2541)
2.12             คุณพ่ออันตนวีระเดช ใจเสรี: อธิการองค์ที่ 12  .. 1998-2008
คุณพ่ออันตน วีระเดช ใจเสรี เข้ามาประจำที่สามเณราลัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 เพื่อเรียนรู้งานและได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์ที่ 12  โดยมีผู้ร่วมงานคือ คุณพ่อปัสกัล บัณฑิต  ธรรมวงศ์ ค.ศ. 1998-2001, คุณพ่อยอแซฟ สุริยา  ผันพลี ค.ศ. 1998-2003, คุณพ่ออันตน เสงี่ยม  ดีศรีวรกุล, คุณพ่อยอแซฟ สุดใจ  แสนพลอ่อน และคุณพ่อยอแซฟ ชัยวัฒน์  นำสุย ค.ศ.2002-2003
งานแรกสุดของคุณพ่อวีระเดช ใจเสรี คือ การเตรียมพิธีเสกและเปิดอาคารฟาติมาหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จในโอกาสฉลองสามเณราลัย วันที่ 10 ตุลาคม ค.. 1998 (พ.ศ. 2541) โดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน  และคุณพ่อได้สานต่อกองทุนสามเณราลัย ทำให้กองทุนสามเณราลัยที่มีอยู่งอกเงยและเกิดดอกออกผล  นอกจากนั้น คุณพ่อได้ปรับปรุงและพัฒนาอาคารสถานที่ให้เจริญก้าวหน้า ทันสมัย และพร้อมสำหรับการอบรมสามเณรยุคข้อมูลข่าวสารที่ไร้พรมแดน  กล่าวได้ว่า สามเณราลัยได้รับการพัฒนามากที่สุดในสมัยนี้เอง ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดได้รับเงินสนับสนุนจากผู้มีน้ำใจดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ซึ่งเป็นปีครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งสามเณราลัย  คุณพ่อวีระเดช ใจเสรี ได้เตรียมงานฉลองตั้งแต่ต้นปี ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่และพิธีกรรม  เช่น ทำซุ้มประตูหน้าใหม่ ทาสีอาคารใหม่ทั้งภายนอกและภายใน  และสร้างแท่นที่ประดิษฐานพระรูปพระหฤทัยพระเยซูเจ้าและพระรูปแม่พระฟาติมา เพื่อเป็นอนุสรณ์ในครบรอบ 50 ปีในครั้งนี้  งานสุวรรณสมโภชครั้งนี้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 7-9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  โดยมีพิธีกรรมสมโภช, พิธีบวชสังฆานุกร 2 องค์ และพิธีเคารพศีลมหาสนิทระดับอัครสังฆมณฑลฯ ในวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)