จากเอมมาอูสสู่เยรูซาเล็ม
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
ปี A
|
กจ 2:14,22-28
1ปต 1:17-21
ลก 24:13-35
|
บทนำ
หลังร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์
เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินกลับบ้านผ่านสวนสาธารณะ
เขาฉุกคิดถึงบทเทศน์ในมิสซาซึ่งพระสงฆ์เทศน์ว่า “เมื่อท่านให้บางสิ่งกับใครคนหนึ่ง
แท้จริงแล้วท่านได้ให้พระเยซูเจ้า
และท่านจะเห็นพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพในทุกคนที่พบ”
เขาสังเกตเห็นคุณยายคนหนึ่งนั่งอยู่บนม้านั่งโดยลำพังและดูเหมือนเธอกำลังหิว เขานั่งลงข้างคุณยายและแบ่งขนมปังให้คุณยายกิน
คุณยายยิ้มกว้างรับขนมปังจากเขาและกินอย่างเอร็ดอร่อย
เขานั่งมองคุณยายอย่างมีความสุขโดยไม่พูดอะไร ที่สุด
เขาได้ลุกขึ้นสวมกอดคุณยายและเดินจากไป
เมื่อเขากลับถึงบ้านผู้เป็นแม่เห็นเขายิ้มอย่างมีความสุขจึงถามว่า “อะไรทำให้ลูกมีความสุขวันนี้”
เขาตอบแม่ว่า “ผมได้แบ่งขนมปังให้พระเยซู” ก่อนแม่ถามอะไรอีก
เขาได้กล่าวเสริมว่า “แม่รู้ไหมว่า พระองค์ยิ้มสวยมาก”
เวลาเดียวกันคุณยายได้เดินกลับห้องพักซึ่งอยู่กับน้องสาว
“ทำไมวันนี้ดูยิ้มอย่างความสุขกว่าทุกวัน” น้องสาวถาม “วันนี้ฉันได้รับขนมปังจากพระเยซูขณะกำลังนั่งอยู่ในสวนสาธารณะ”
เธอตอบ “พระองค์ดูสง่างามและหนุ่มกว่าที่ฉันคิดเสียอีก”
พระวรสารวันนี้บอกว่า เราสามารถพบและมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า
ผู้กลับคืนพระชนมชีพในทุกที่และกับทุกคน
1.
จากเอมมาอูสสู่เยรูซาเล็ม
เรื่องศิษย์สองคนที่เอมมาอูสเป็นเรื่องเล่างดงามเรื่องหนึ่งของนักบุญลูกา
แสดงถึงเทววิทยาเรื่องพิธีบูชาขอบพระคุณ ซึ่งประกอบด้วยสองภาคคือ ภาคพระวาจา
และ ภาคศีลมหาสนิท การเติบโตในความเชื่อเกิดขึ้นโดยอาศัยพระวาจาของพระเจ้าและบรรลุความสมบูรณ์ในการฉลองศีลมหาสนิท
ศิษย์สองคนมีประสบการณ์ทั้งสองรูปแบบ “ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือ
เมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทาง และอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง” (ลก 24:32) และในพิธีบิขนมปังพวกเขาจำพระองค์ได้
ศิษย์ทั้งสองเปิดประตูบ้านเชิญพระเยซูเจ้าให้ร่วมรับประทานอาหารกับพวกเขา
พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปัง กล่าวถวายพร บิออกและยื่นให้พวกเขา
ทรงปฏิบัติแบบเดียวกันกับที่ทรงกระทำในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย
ทำให้พวกเขาตาสว่างและจำพระองค์ได้
พิธีบิขนมปังที่เอมมาอูสเป็นการฉลองศีลมหาสนิทอาหารฝ่ายจิต
ซึ่งเป็นข่าวดีแห่งปัสกาที่เราฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
พระศาสนจักรในระยะเริ่มแรกมีเอกลักษณ์อยู่ที่พิธีบิขนมปัง
และการนำสิ่งของมารวมเป็นของส่วนรวม (กจ 2:42) กลุ่มคริสตชนแรกมักเว้นที่ให้พระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพประทับอยู่ด้วยเสมอ
การมาร่วมพิธีบิปังเพื่อได้พบองค์พระเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ ในพิธีบิขนมปังพระเยซูเจ้าทรงบันดาลให้ศิษย์ทั้งสองตาสว่าง
ทรงเปลี่ยนความท้อแท้สิ้นหวังให้กลายเป็นความยินดีและความหวัง
จนไม่สามารถเก็บไว้กับตัวเอง
ต้องรีบเดินทางกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อแบ่งปันประสบการณ์นี้กับคนอื่น
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ
โดยเฉพาะคนที่กำลังแสวงหาพระเยซูเจ้า หรือคนที่สูญเสียพระองค์ไป
ประการแรก เราต้องตระหนักว่า พระเยซูเจ้าทรงร่วมทาง
เราคงเคยมีช่วงเวลาท้อแท้สิ้นหวัง
รู้สึกกำลังเผชิญสถานการณ์เลวร้ายและยากลำบากโดยลำพัง
ความจริงพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพประทับอยู่และร่วมทางกับเรา ตรัสกับเรา ช่วยเหลือเรา และทำให้เราเข้มแข็งในแบบที่คาดไม่ถึง
แม้เรามองไม่เห็นพระองค์ก็ตาม เส้นทางสู่เอมมาอูสเป็นเส้นทางแห่งมิตรภาพ ซึ่งยืนยันว่า พระเยซูเจ้าทรงอยู่กับเราตลอดไปจนสิ้นพิภพ
(มธ 28:20)
ประการที่สอง เราพบพระเยซูเจ้าได้ในพระคัมภีร์
ในการเดินทางสู่เอมมาอูส พระเยซูเจ้าได้ร่วมทางและอธิบายพระคัมภีร์ทุกข้อเกี่ยวกับพระองค์
เราสามารถพบพระเยซูเจ้าได้ทุกวันในการอ่านและศึกษาพระคัมภีร์ “ของประทานยิ่งใหญ่ที่สุดซึ่งพระเจ้าประทานแก่มนุษย์คือพระคัมภีร์”
(อับราฮัม ลินคอล์น) การรำพึงพระวาจาของพระเจ้าช่วยเราให้เข้าใจแผนการและพระประสงค์ของพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประทับอยู่ในผู้อื่น
ประการที่สาม เราพบพระเยซูเจ้าในพิธีบิขนมปัง
ศิษย์สองคนที่เอมมาอูสจำพระเยซูเจ้าได้ตอนบิขนมปัง
เราสามารถพบพระองค์ได้ในศีลมหาสนิทในพิธีบูชาขอบพระคุณ “ผู้ที่กินเนื้อของเราและดื่มโลหิตของเรา
ก็ดำรงอยู่ในเราและเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ศีลมหาสนิทเป็นอาหารฝ่ายจิตทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับพระเยซูเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ประสบการณ์ที่มีกับพระเยซูเจ้าไม่สามารถเก็บไว้กับตัวเอง
แต่ต้องแบ่งปันกับผู้อื่นเพื่อช่วยทุกคนให้พบพระองค์และนำสู่ชีวิตนิรันดร
บทสรุป
พี่น้องที่รัก
การร่วมเดินทางของพระเยซูเจ้าบนเส้นทางสู่เอมมาอูสคือ เครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา
ทรงร่วมชีวิตกับเรา โดยเฉพาะในห้วงเวลาแห่งความทุกข์และความยากลำบากของชีวิต
แม้เราจำพระองค์ไม่ได้แต่ทรงอยู่กับเราเสมอ
การร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณเตือนเราถึงอาหารฝ่ายจิตที่ต้องแบ่งปัน
และเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
เอมมาอูส หมายถึงทุกที่ที่เราสามารถพบพระเจ้าได้
พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์ทุกครั้งที่เรารวมกันในนามของพระองค์ (มธ 18:20) การเดินทางจากเอมมาอูสสู่เยรูซาเล็มคือประสบการณ์การพบองค์พระเจ้าซึ่งเราต้องแบ่งปันกับผู้อื่น
นี่คือ “ข่าวดีปัสกา” ที่เราต้องประกาศในชีวิตประจำวัน
ศิษย์พระคริสต์ต้องตระหนักในการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้าผู้ทรงร่วมเดินทางกับเรา
ตรัสกับเรา ช่วยเหลือเรา และอยู่กับเราจนสิ้นพิภพ โดยเฉพาะในคนต่ำต้อยในสังคม
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลปัสกา การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า, (สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 44-47.