พระทรมานของพระเยซูเจ้า
อาทิตย์พระทรมาน
แห่ใบลาน
ปี A
|
อสย
50:4-7
ฟป 2:6-11
มธ 27:11-54
|
บทนำ
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับลาที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ประทับเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม
ลาตัวนั้นคิดว่า การต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของผู้คนมากมายวันนั้นจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติสำหรับตัวเอง
มันรู้สึกภูมิใจและคิดว่า สัตว์ตัวอื่นคงชื่นชมและคิดว่า มันเป็นลาที่พิเศษกว่าตัวอื่น
ลาน้อยถามแม่ว่า ถ้ามันเดินตามถนนโดยลำพังในวันข้างหน้าเพื่อรับเกียรติเช่นนั้นอีกได้ไหม
แม่ของมันรีบตอบทันทีว่า “ไม่ได้เด็ดขาด แกไม่มีอะไรเลยหากไม่มีคน ๆ นั้นนั่งบนหลังของแก”
5 วันต่อมา ลาน้อยเห็นผู้คนมากมายตามท้องถนน
วันนั้นเป็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ทหารกำลังนำพระเยซูเจ้าสู่เนินเขากัลวารีโอ
เกียรติที่ได้รับวันก่อนทำให้มันอยู่นิ่งเฉยไม่ได้
รีบวิ่งไปที่ถนนไม่สนใจคำเตือนของแม่อีกต่อไป
เมื่อไปถึงมันต้องผงะและรีบวิ่งหนีสุดชีวิต เพราะพวกทหารไล่กวดด้วยแส้และผู้คนเอาหินขว้างมัน
ลาน้อยได้บทเรียนว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงลา (โง่) น่าสงสาร
หากปราศจากพระเยซูเจ้าประทับบนหลังของมัน
ในปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง
ลาไม่ใช่สัตว์ต่ำต้อยแต่ทรงเกียรติ ปกติกษัตริย์ขี่ม้าออกศึกสงคราม
เมื่อรบชนะ หรือปราบกบฏได้ นำพาประเทศสู่ความสงบสุข
กษัตริย์จะประทับบนหลังลาเข้าเมืองอย่างผู้มีชัย
การประทับบนหลังลาของพระเยซูเจ้าเป็นการประกาศว่า พระองค์ทรงเป็น “องค์สันติราชา”
ทรงไว้ซึ่ง “ความรักและสันติสุข”
นี่คือแนวทางที่พระองค์ทรงเลือกในการเผชิญหน้ากับผู้เกลียดชังพระองค์
ชาวยิวต้อนรับพระเยซูเจ้าด้วยกิ่งมะกอก
สัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความมีเกียรติ
ขณะที่ผู้นำศาสนาและชาวฟาริสีวางแผนจับตัวและประหารพระองค์ ที่สุด
พระองค์ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
พิธีกรรมวันนี้มีทั้งความยินดีและความเศร้าโศก ใบลานที่เราใช้แห่หมายถึงการเดินทางของเราพร้อมกับพระเยซูเจ้า
ร่วมในพระทรมานของพระองค์เพื่อกลับคืนชีพและอยู่กับพระองค์ตลอดไป
บทอ่านวันนี้ท้าทายเราว่า เราได้เจริญชีวิตพร้อมกับพระคริสตเจ้าและเป็นพยานถึงพระองค์ในชีวิตประจำวันหรือเปล่า
1.
พระทรมานของพระเยซูเจ้า
พระเยซูเจ้าไม่เพียงมีชีวิตในยุคที่มีความรุนแรง
แต่ยังทรงเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย
พระองค์ทรงน้อมรับความความรุนแรงโหดร้ายเหมือนลูกแกะถูกนำไปฆ่า
พระทรมานของพระองค์ที่เราระลึกถึงวันนี้
ได้กลายเป็นแหล่งพลังและความเข้มแข็งของผู้คนเป็นจำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์
เมื่อเราพิจารณาดูพระมหาทรมานของพระองค์อย่างลึกซึ้ง เราเห็นถึงความทุกข์ทรมานของพระองค์ใน 3 ลักษณะ
ประการแรก ความทรมานทางด้านจิตใจ
พระเยซูเจ้าทรงถูกยูดาสศิษย์ของพระองค์ทรยศ
เหตุการณ์ที่สวนเกทเสมนีแสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงอยู่ในห้วงความทุกข์อย่างแสนสาหัส
ขณะกำลังอธิษฐานภาวนาทรงเห็นภาพล่วงหน้าถึงมหาทรมานที่กำลังจะได้รับ
จนต้องร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไป (The will of man) แต่ที่สุด
ทรงขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า (The will of God)
ความทรมานด้านจิตใจได้ส่งผลต่อร่างกายของพระองค์จนพระเสโทเป็นโลหิต
นี่คืออาการของคนเป็นทุกข์หนักแสนสาหัส
ประการที่สอง ความทรมานด้านร่างกาย
พระเยซูเจ้าทรงถูกทรมานอย่างทารุณ รอยเลือดที่ปรากฏที่ผ้าตราสังข์แห่งตูริน
มองเห็นชัดเจนว่า เจ้าของร่างที่ปรากฏได้ผ่านการทารุณอย่างโหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม
โดยเฉพาะรอยเลือดที่ไหลเป็นทางจากศีรษะและแขนทั้งสองข้าง รอยเปื้อนขนาดใหญ่ที่สีข้าง
ที่ข้อมือและเท้า บาดแผลตามร่างกายอันเกิดจากการเฆี่ยนตี ที่ปลายของรอยแผลมีรอยลึกซึ่งเกิดจากแส้
“ฟลากรัม” (Flagrum) ทำด้วยเชือก หรือเส้นหนังมีก้อนตะกั่ว หรือกระดูกผูกติดไว้ปลายแส้
เพื่อให้ตวัดเนื้อติดมาด้วย
ประการที่สาม ความทรมานด้านวิญญาณ พระเยซูเจ้าทรงถูกทอดทิ้งจากบรรดาศิษย์
และขณะทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนพระองค์ทรงรู้สึกสิ้นหวัง
เพราะดูคล้ายกับว่า พระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ด้วย “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า
ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ 27:46) คงไม่มีความทุกข์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองถูกทอดทิ้งจากบุคคลอันเป็นที่รัก
โดยเฉพาะในห้วงเวลากำลังใกล้จะตาย
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นที่มาแห่งความรอดพ้นของมนุษยชาติ
อีกทั้งได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราด้วยชีวิตและแบบอย่างของพระองค์
ประการแรก พระทรมานเป็นเครื่องหมายแห่งความรักแท้
พระองค์ทรงรักและมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน
15:13)
ประการที่สอง พระทรมานท้าทายเราให้ดำเนินชีวิตความรักแบบพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง
“นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เราได้รักท่าน”
(ยน 15:12)
ประการที่สาม พระทรมานเผยให้เห็นพระเมตาหาที่สุดมิได้ของพระเจ้า
ขณะกำลังแบกกางเขนพระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปให้กำลังใจหญิงชาวเยรูซาเล็ม ที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญถึงพระองค์
(ลก 23:28) และยังทรงอธิษฐานภาวนาขอให้พระบิดาทรงอภัยแก่ผู้ที่ประหารพระองค์ (ลก
23:33) อีกทั้ง ทรงยกโทษแก่นักโทษคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ (ลก 24:43)
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้
คริสตชนต้องพร้อมมอบชีวิตของตนแด่พระเยซูเจ้า
และต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิตของตนในฐานะพระผู้ไถ่
ใบลานที่เราได้รับและนำกลับบ้านเตือนเราว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นกษัตริย์แห่งจิตใจของเรา ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย ให้เราได้มอบตัวเองแด่พระเยซูเจ้าในการอธิษฐานภาวนาร่วมกัน
และในการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับหมู่คณะ หรือส่วนตัว
เพื่อพบสันติสุขแท้ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย
ประการสำคัญ เมื่อเราต้องเผชิญกับความยากลำบาก หรือความทุกข์ทรมานใด
ๆ ในชีวิต ควรหันมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับความบรรเทาและความช่วยเหลือ ศิษย์พระคริสต์ต้องเลียนแบบพระเยซูเจ้าในความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุด
พระทรมานของพระองค์ควรเตือนใจเราให้สำนึกในบาปที่ได้กระทำ
และกลับมาหาพระองค์ผ่านทางศีลอภัยบาป เพื่อรับการช่วยให้รอดด้วยพระโลหิตศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊บ, 2561), หน้า 136-139.
ภาพ : พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม, วัดน้อยที่เบธฟายี, ภูเขามะกอก, อิสราเอล; 2018-04-20
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น