วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

บัญญัติแห่งความรัก

วันศุกร์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ฮซย 14:2-10
มก 12:28-34

 บัญญัติแห่งความรัก

มีเรื่องเล่าว่า ในบั้นปลายชีวิตของนักบุญยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสาร ด้วยความที่ชราภาพมากทำให้ไม่มีเรี่ยวแรง เวลามีการประชุมกลุ่มคริสตชนต้องมีผู้หามท่านไปยังที่ประชุม เนื่องจากสังขารที่อ่อนแรงทำให้ท่านไม่สามารถเทศน์สอนเป็นเวลานานได้ ท่านมักจะพูดซ้ำด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “ลูกรัก จงรักกันและกัน” พวกศิษย์รู้สึกเบื่อหน่ายกับคำพูดเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมานี้ และถามท่านว่าทำไมไม่พูดอย่างอื่นบ้าง ท่านได้ตอบพวกเขาว่า “จงรักกันและกัน แค่นี้เพียงพอแล้ว”

บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ออกกฎเกณฑ์มากมายเพื่อขยายความบทบัญญัติ ในสมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมบัญญัติมากถึง 613 ข้อ ในหมู่ชาวยิวจึงมีการถกเถียงกันมาช้านานว่าธรรมบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด สำนักของอาจารย์ฮิลเลล (Hillel) พูดอย่างหนึ่งขณะที่สำนักของอาจารย์กามาลิเอล (Gamaliel) พูดอีกอย่าง ด้วยบรรยากาศเช่นนี้จึงคาดหวังกันว่าจะมีใครซักคนถามความเห็นของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในพระวรสารวันนี้ธรรมาจารย์คนหนึ่งได้ถามคำถามนี้ คำตอบของพระเยซูเจ้าทำให้ทุกคนตาสว่างและเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทบัญญัติ

นี่คือบทสรุปของพระวรสารหรือหลักคำสอนที่สำคัญของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงเริ่มด้วย “อิสราแอลเอ๋ย จงฟังเถิด” ซึ่งเป็นรูปแบบคำขึ้นต้นของบรรดาประกาศกก่อนจะถึงการประกาศข้อความสำคัญ และแก่นแท้ของบทบัญญัติที่ประองค์ประกาศคือ รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญา และสุดกำลัง และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง (มก 12:30-31) พระองค์ทรงสรุปบทบัญญัติของพระเจ้าให้เหลือเพียงสองประการ และทรงยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองข้อนี้

พระเยซูเจ้าทรงวางบทบัญญัติทั้งสองประการเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยทรงขยายความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” ให้กว้างออกไปสู่มนุษย์ทุกคน (เพราะทุกคนคือลูกของพระเจ้าที่ทรงรักโดยไม่แบ่งแยก) “ทุกสิ่งที่ท่านทำกับพี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุด ท่านได้ทำต่อเราเอง” ชีวิตมนุษย์ในโลกจึงเป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราสามารถเติบโตในความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของบทบัญญัติและต้องไปด้วยกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

นักบุญยอห์นอัครสาวกเป็นผู้ที่เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบทบัญญัติทั้งสองประการได้ดีที่สุด ท่านได้ยืนยันกับศิษย์ของท่านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “จงรักกันและกัน” เพราะการรักเพื่อนมนุษย์คือหนทางที่นำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า “หากผู้ใดกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่จงเกลียดจงชังพี่น้องของตน ผู้นั้นเป็นคนโกหก เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องผู้ที่เขามองเห็นได้ก็จะไม่สามารถรักพระเจ้าผู้ที่เขามองไม่เห็น” (1 ยน 4:20)

พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) เราถูกเรียกร้องให้รักตามมาตรฐานของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะได้ใกล้ชิดและเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระองค์ ดังนั้น เทศกาลมหาพรตนี้ขอให้เราได้เดินในหนทางแห่งความรักของพระเจ้า ด้วยการมองเห็นพระเจ้าในผู้อื่นและปฏิบัติกิจเมตตาต่อเพื่อนพี่น้องที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ เพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
12 มีนาคม 2010

วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระเยซู ผู้ทรงอำนาจเหนือปีศาจ

วันพฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ยรม 7:23-28
ลก 11:14-23

 พระเยซู ผู้ทรงอำนาจเหนือปีศาจ

หลังจากพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างจากยอห์นบัปติสต์ในแม่น้ำจอร์แดน ก่อนจะเริ่มพันธกิจในการประกาศข่าวดีของพระบิดาเจ้า นักบุญลูกาได้เล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงได้รับพระจิตเจ้าเต็มเปี่ยม และพระจิตเจ้าได้นำพระองค์จากแม่น้ำจอร์แดนไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่อให้ปีศาจทดลอง (หลังจากอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน) เมื่อเห็นว่าไม่สามารถทดลองพระองค์ได้ ปีศาจได้ละจากไปเพื่อหาโอกาสกลับมาอีก (ลก 4:1-13)

ในพระวรสารของวันนี้ปีศาจได้กลับมาอีกครั้ง การทดลองในถิ่นทุรกันดารหวนกลับมาในชีวิตของพระองค์อีก พระองค์ทรงขับไล่ปีศาจที่ทำให้คนเป็นใบ้ออกไป เป็นการแสดงให้เราได้เห็นอีกครั้งถึงการต่อสู้ของพระองค์กับปีศาจ อีกทั้งยังแสดงให้เราเห็นว่าพระองค์คือพระเจ้าผู้ทรงอำนาจเหนือปีศาจ และทรงปลดปล่อยคนใบ้ที่น่าสงสารคนนั้นให้หายด้วยอำนาจของพระจิตเจ้า

เครื่องหมายที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำได้แบ่งประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกที่เชื่อในพระองค์ และสรรเสริญพระองค์สำหรับเครื่องหมายที่แสดงให้พวกเขาได้เห็น อีกกลุ่มหนึ่งคือพวกที่ไม่เชื่อและหาทางจับผิด พวกเขากล่าวหาพระองค์ว่าขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเบเอลเซบูล เจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง พระองค์ทรงตอบโต้ผู้ที่หาทางจับผิดและตรัสกับเราแต่ละคนในปัจจุบันว่า “ใครไม่อยู่กับเรา ย่อมเป็นปฏิปักษ์กับเรา ใครไม่รวบรวมไว้กับเรา ย่อมทำให้กระจัดกระจายไป” (ลก 11:23)

พระวาจาวันนี้ได้เชื้อเชิญเราให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ มิฉะนั้นเราจะพ่ายแพ้ต่ออำนาจของปีศาจที่มีอิทธิพลต่อตัวเราในรูปของค่านิยมที่ไม่ดีต่างๆ และความแตกแยกที่ปีศาจนำมา ความแตกแยกคือหนทางแห่งความทุกข์หรือนรก ณ แผ่นดิน เหมือนอย่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่เวลานี้ มีการแบ่งสีเลือกข้าง แบ่งพรรคแบ่งพวก นี่คือวิธีการของปีศาจ เราจำเป็นต้องกลับใจหันกลับมาหาพระเจ้าและเดินในหนทางแห่งความรักของพระบิดา ที่ประทานแต่สิ่งดีงามสำหรับบุตรของพระองค์เสมอ

ในประวัติศาสตร์เราได้เห็นภาพของพระเจ้าในชีวิตของพระเยซูเจ้าที่มีต่อประชาชนของพระองค์ พระองค์ทรงรักเราและมอบชีวิตของพระองค์เพื่อเรา ความรักที่มากพอและรออย่างอดทน นี่คือแบบอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงมอบให้เรา พระองค์ทรงน้อมรับความเกลียดชังและการถูกปฏิเสธก็เพราะรัก ทรงรับการทรมานและสิ้นพระชนม์บนกางเขนก็เพราะรัก ที่สุด พระองค์ทรงเรียกร้องความรักจากเราในลักษณะเดียวกัน เราต้องรักดังเช่นที่พระองค์รักเรา เหตุว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นไม่มีที่สำหรับปีศาจ” อีกต่อไป

ในแต่ละวันงานของพระเจ้าเพื่อความรอดของมนุษยชาติ ยังคงดำเนินต่อไปผ่านทางพระเยซูเจ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อนำมนุษย์สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ปัญหาคือเราจะสามารถมองเห็นหรือรับรู้งานของพระองค์แค่ไหน พระเยซูเจ้าคือ “ผู้ที่แข็งแรงกว่า” ที่สามารถปกป้องคุ้มครองบ้านให้ปลอดภัย บ้านซึ่งหมายถึงดวงใจของเราแต่ละคน ครอบครัวของเรา หรือชุมชนที่เราสังกัดอยู่ พระองค์สามารถช่วยเราให้ปลอดภัยจากอำนาจของปีศาจได้ สำคัญก็อยู่ตรงที่ว่า เราเลือกที่จะเชื่อหรืออยู่ฝ่ายพระองค์ หรือเปล่า

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
11 มีนาคม 2010

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติ

วันพุธ
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ฉธบ 4:1, 5-9
มธ 5:17-19

 ความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติ

พระวรสารวันนี้เป็นตอนสั้นๆ ตอนหนึ่งของบทเทศน์บนภูเขาที่งดงามและมีพลังของพระเยซูเจ้า เป็นพระวาจาที่พระองค์ใช้สอนบรรดาสาวกและประชาชนบนที่ราบเชิงเขา และในวันนี้ พระองค์ได้ตรัสพระวาจาเดียวกันนี้กับเรา เพื่อเชื้อเชิญเราให้ติดตามพระองค์ในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างผู้มีความเชื่อ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้าที่แสดงให้เราได้รับรู้ผ่านทางพระวาจาของพระองค์

พระเยซูเจ้าตรัสกับเราว่า พระองค์ไม่ได้มาลบล้างธรรมบัญญัติหรือคำสอนของบรรดาประกาศก แต่มาทำให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พระองค์เสด็จมาในโลกเพื่อทำให้น้ำพระทัยของพระบิดาสำเร็จไป พระองค์คือโมเสสคนใหม่ที่มอบบัญญัติแก่อิสราแอลใหม่ คือบัญญัติใหม่แห่งความรัก “รักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจและรักเพื่อนพี่น้องเหมือนรักตนเอง” ความรักนี่เองทำให้มนุษยชาติเป็นหนึ่งเดียวกันและเปิดหัวใจของเขาให้ปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระเจ้า ดังนี้เอง นักบุญเปาโลจึงกล่าวว่า “ความรักไม่ทำความเสียหายแก่เพื่อนมนุษย์ ความรักเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน” (รม 13:10)

ธรรมบัญญัติที่พระเจ้าประทานให้ประชากรอิสราแอลผ่านทางโมเสสในพันธสัญญาเก่า เกี่ยวข้องโดยตรงกับบรรดาประกาศกที่ประกาศให้ทราบล่วงหน้าถึงพระผู้ไถ่ที่จะเสด็จมา ประการสำคัญ ธรรมบัญญัตินี้ไม่ใช่กฎหมายที่เป็นนามธรรม แต่เป็นบัญญัติแห่งความรักที่พระเจ้าประทานแก่ประชากรของพระองค์เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งไม่เพียงเป็นศูนย์กลางของธรรมเนียมปฏิบัติของอิสราแอลเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางด้านสังคมและการเมืองที่ก่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ

นับเป็นเวลาหลายศตวรรษที่บรรดาธรรมจารย์และชาวฟาริสี ได้เพิ่มธรรมเนียมปฏิบัติและกฎระเบียบหยุมหยิมเข้ามาในธรรมบัญญัติ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกฎเกณฑ์ของมนุษย์ไม่ใช่ธรรมบัญญัติของพระเจ้า และเป็นสิ่งที่พระเยซูเจ้าตำหนิเพราะพวกเขาออกกฎเกณฑ์ให้คนอื่นปฏิบัติแต่ตัวเองไม่ถือ “ถ้าความชอบธรรมของท่านไม่ดีไปกว่าความชอบธรรมของบรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีแล้ว ท่านจะเข้าอาณาจักรสวรรค์ไม่ได้เลย” (มธ 5:19) ในทางตรงข้าม พระองค์เสด็จมาเพื่อปลดปล่อยพวกเขาให้พ้นจากการเป็นทาสของกฎเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้พวกเขาถือบัญญัติด้วยความรัก

พระเยซูเจ้า คือความสมบูรณ์ของธรรมบัญญัติที่บรรดาประกาศกกล่าวถึงในพระธรรมเก่า คำเทศน์สอนของพระองค์ตลอดเวลาสามปีของพระชนม์ชีพเปิดเผย ได้แสดงให้เห็นถึงความรักที่แท้จริงของพระเจ้าต่อมนุษย์ ความรักที่ไม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีขอบเขต และให้อภัยไม่สิ้นสุด บัญญัติใหม่ที่พระองค์ทรงสอนพบความสมบูรณ์ในความนอบน้อมเชื่อฟังของพระองค์ ในการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดาจนถึงความตายบนไม้กางเขน การเสด็จมาของพระองค์จึงเป็นการทำให้การเผยแสดงของพระเจ้าครบบริบูรณ์

ในเทศกาลมหาพรตนี้ให้เราแสดงออกถึงการกลับใจสองลักษณะ ประการแรก ให้เราเปลี่ยนจิตใจหันมาหาพระเจ้าด้วยการฟังพระวาจาที่พระองค์ตรัสกับเรา ประการที่สอง ให้เราเลียนแบบอย่างของพระเยซูเจ้าในการปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระบิดา และทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในงานประจำของเราในแต่ละวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความรักต่อเพื่อนพี่น้องและการให้อภัยซึ่งกันและกันด้วยใจกว้าง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
10 มีนาคม 2010

วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2554

การให้อภัยไม่สิ้นสุด

วันอังคาร
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ดนล 3:25, 34-43
มธ 18:21-55
 การให้อภัยไม่สิ้นสุด

สมหมายกับสมชายเป็นพี่น้องกัน สมชายติดคุกเป็นเวลา 12 ปี และพ้นโทษได้รับการปล่อยตัว เขาต้องการกลับบ้านเพื่อพบกับสมหมายพี่ชาย ทั้งคู่ตกลงพบกันที่ลอบปี้ของโรงแรมใกล้บ้านเพื่อสะสางปัญหาค้างคาใจในอดีต สมชายมาถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลาเล็กน้อยและคอยเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เมื่อเริ่มรอไม่ไหวจึงลุกขึ้นและเดินจากไปในความมืด ขณะที่สมหมายนั่งอยู่ในมุมมืดของโรงแรมนานแล้ว เขานึกถึงความเจ็บปวดในอดีตที่สมชายเคยทำกับตัวเขาและครอบครัวของเขา จึงไม่ได้แสดงตนจนกระทั่งสมชายจากไป นับจากวันนั้นมาเขาไม่เห็นสมชาย น้องชายของเขาอีกเลย

พระวรสารโดยนักบุญมัทธิววันนี้ เตือนเราถึงหน้าที่และพันธกิจของการเป็นคริสตชน ในการเดินตามรอยเท้าและก้าวย่างของพระเยซูเจ้า อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ให้แบบอย่างแก่เราเรื่องการให้อภัย ขณะถูกตรึงบนกางเขนพระองค์ได้ร้องขอให้พระบิดาอภัยพวกเขา นี่คือ ความรักที่เปี่ยมล้นในหัวใจของพระองค์แม้ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด (ถูกทำร้ายใกล้จะตาย) สำหรับเราคริสตชน การให้อภัย หมายถึง การลืม ไม่จดจำความผิด และยกโทษด้วยใจจริง การลืมคือการรักผู้ที่ทำผิดต่อเรามากกว่าเดิม ต้อนรับเขาด้วยใจกว้างและปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรผิดต่อเรามาก่อน

เราต้องขอบคุณเปโตรที่ยกปัญหาถามพระเยซูเจ้าว่า “ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งพอไหม?” เปโตรหวังจะได้รับคำชมจากพระเยซูเจ้า เพราะเลขเจ็ดถือเป็นเลขที่สมบูรณ์ อีกทั้ง ตามคำสอนของอาจารย์ชาวยิว การยกโทษให้คนที่ทำผิดต่อเราสามครั้งถือว่ามากที่สุดแล้ว และพระเยซูเจ้าตอบเปโตรว่า “ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” ซึ่งหมายถึง “จำนวนที่ไม่จำกัด” ต้องยกโทษตลอดไปหรือให้อภัยไม่สิ้นสุดนั่นเอง

การให้อภัยไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องที่ยากมากทั้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติ เพราะความคุ้นเคยกับการแก้แค้น “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ แต่พระเยซูเจ้าสอนว่าเพื่อจะมีความสุขในชีวิตต้อง “ยกโทษให้ผู้อื่นเสมอ” คำอุปมาที่พระองค์เล่า ชี้ให้เห็นถึงจำนวนเงินมหาศาลที่คนรับใช้เป็นหนี้กษัตริย์ไม่อาจใช้คืนได้หมด ซึ่งแตกต่างจากเงินเพียงเล็กน้อยที่เพื่อนเป็นหนี้เขาอยู่ สิ่งนี้ทำให้เราต้องตระหนักว่า ผู้ที่ทำผิดต่อเราเทียบไม่ได้กับความผิดที่เราทำต่อพระเจ้า

ในทางจิตวิทยา การไม่ยอมให้อภัยนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในจิตใจ การให้อภัย ไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพจิตแต่ยังส่งผลดีต่อชีวิตจิตของเราด้วย ดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงสอนให้เรารักผู้อื่นแม้เขาจะทำไม่ดีต่อเรา ให้อภัยเขาด้วยใจจริง หากเราไม่ทำเช่นนี้ไม่ใช่พระเจ้าที่ลงโทษเรา แต่เป็นเราที่ทำร้ายตัวเอง เราจะมีความรู้สึกทุกข์ใจไม่เป็นสุข ดังเรื่องที่เล่าในตอนต้น สมหมายต้องเสียใจไปตลอดชีวิตที่สูญเสียน้องชายไปเพราะการไม่ยอมให้อภัยของเขา แต่เวลาใดก็ตามที่เรายอมให้อภัย สันติสุขและความชื่นชมยินดีจะกลับมา

“จงให้อภัยคนอื่นบ่อยๆ แต่อย่าให้อภัยตัวท่านเอง” (Forgive another often, yourself never.) สุภาษิตลาตินประโยคนี้สอนเราให้เข้าถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นคือ การให้อภัย สุภาษิตแขกมูร์ยังสอนเราด้วยว่า “การให้อภัยจากหัวใจ ดีกว่าทองคำหนึ่งกล่อง” (Forgiveness from the heart is better than a box of gold.) ทั้งนี้ก็เพราะว่า การให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย มหาพรตปีนี้เราได้ให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเรา... หรือยัง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
9 มีนาคม 2010

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ประกาศกกับการต้อนรับที่บ้านเกิด

วันจันทร์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
2พกษ 5:1-15
ลก 4:24-30

 ประกาศกกับการต้อนรับที่บ้านเกิด

เล่ากันว่า หากพระเยซูเจ้าเสด็จมาในยุคสมัยของเราเหมือนเมื่อครั้งพระองค์เคยเจริญชีวิตในปาเลสไตน์เมื่อสองพันปีก่อน แล้วจับพลัดจับพลูทำให้พระองค์ต้องเสด็จผ่านหมู่บ้านคริสตชน หรือไปวัดวันอาทิตย์เพื่อร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณพร้อมกับเรา ทุกคนคงมองพระองค์ด้วยสาตาที่แปลกละคนกับการดูแคลน แล้วหันมาซุปซิปกันว่า “ใครปล่อยให้คนบ้านี่มาเพ่นพ่านในวัด” ไม่มีใครจำพระองค์ได้

พระเยซูเจ้าเองคงตกใจกับสายตาที่จ้องมองพระองค์เช่นนั้น ยิ่งได้เห็นพิธีกรรมที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์หยุมหยิม รวมถึงได้ฟังพระสงฆ์เทศน์สอนคงทำให้พระองค์ตะลึงงันว่า “ใช่ข่าวดีที่พระองค์เคยประกาศหรือเปล่า” คงไม่ต้องรอให้ใครมาบอกว่า “คุณมาผิดที่แล้ว” พระองค์คงรู้สึกอับอายอย่างที่สุดกับสายตาทุกคู่ที่จ้องมองพระองค์ และคงรับไม่ได้กับพฤติกรรมและคำเทศน์สอนของพระสงฆ์ ซึ่งตรงข้ามกับคำสอนและแบบอย่างที่พระองค์มอบไว้ให้ ที่สุด พระองค์คงเล็ดลอดหนีไปแบบเงียบๆ เพื่อไม่ให้ใครเห็น

พระวรสารของวันนี้กล่าวถึงเรื่องราวของพระเยซูเจ้า กับสถานการณ์ที่ตึงเครียดในศาลาธรรมเมืองนาซาเร็ธ สถานที่ซึ่งพระองค์เคยเจริญวัย ชาวนาซาเร็ธไม่ต้อนรับพระองค์และปฏิเสธที่จะฟังพระองค์ ทั้งนี้เพราะจิตใจที่คับแคบของพวกเขา ที่คิดว่าพระองค์เป็นแค่ลูกของช่างไม้ชื่อโยเซฟและแม่ชื่อมารีย์หญิงชาวบ้านที่ไม่มีอะไร แล้วพระองค์ได้ปรีชาญาณนี้มาจากไหน พวกเขาอยากให้พระองค์แสดง (อัศจรรย์) ให้พวกเขาได้เห็นว่าพระองค์เป็นพระผู้ไถ่ที่แท้จริง

พระเยซูเจ้ารู้ถึงความต้องการของพวกเขา จึงตรัสว่า “ไม่มีประกาศกคนใดได้รับการต้อนรับอย่างดีในบ้านเมืองของตน” (ลก 4:24) นี่คือความจริงที่ทิ่มแทงใจดำพวกเขา พระองค์ได้อ้างถึงเหตุการณ์การอดอยากครั้งใหญ่สมัยประกาศกเอลียาห์ มีหญิงม่ายมากมายในกาลิลีแต่มีเพียงหญิงม่ายที่เมืองเศราฟัทที่ได้รับการช่วยเหลือ และสมัยประกาศกเอลีชามีคนโรคเรื้อนมากมายในอิสราแอล แต่มีเพียงนาอามานชาวซีเรียที่ได้รับการรักษา ถือเป็นการยกย่องคุณธรรมของคนต่างศาสนาเหนือกว่าชาวยิว ชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ทำให้พวกเขาโกรธมากถึงขนาดหาช่องทางจะฆ่าพระองค์

เราอาจตกในบาปเดียวกันกับพวกเขาคือ “บาปของความใจแคบ” จิตใจที่ริษยาและคับแคบทำให้มองไม่เห็นด้านดีของผู้อื่น สิ่งอื่น เราเคยคิดไหมว่า ศาสนาคาทอลิกของเราคือความจริงเที่ยงแท้เพียงศาสนาเดียว ขณะที่ศาสนาอื่นคือความผิดพลาดและที่มาของความชั่วร้าย เพราะเหตุนี้เองในยุคหนึ่งจึงมีคำสอนในลักษณะที่ว่า “นอกพระศาสนจักรไม่มีความรอด” (Extra Ecclesiam nulla salus) ความคิดนี้มาจากนักบุญซีเปรียนแห่งคาร์เทจในศตวรรษที่ 3 และมีอิทธิพลต่อวิธีปฏิบัติของพระศาสนจักรก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2

พระวาจาในวันนี้สอนเราให้ปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยใจกว้าง ด้วยท่าทีของความเป็นพี่น้องให้สมกับการเป็นลูกของพระบิดาองค์เดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยปัจจุบันที่มีความแตกแยกรุนแรง มีการแบ่งสีเลือกข้าง ความรักของพระเจ้าไม่เคยแบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มียิวหรือกรีก ไม่มีทาสหรือไท แต่ทุกคนเป็นพี่น้องกัน

ในเทศกาลมหาพรตนี้ ขอให้เรามองเห็นคุณค่าและความดีของกันและกัน

“เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา       จงเลือกเอาส่วนดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างอย่างน่าดู   ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย”
(พุทธทาสภิกขุ)

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
8 มีนาคม 2010

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 46

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 46 วันที่ 27 มีนาคา ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231


สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต

เรามาถึงสัปดาห์ที่ 3 ในเทศกาลมหาพรต พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้ได้นำเสนอพระเยซูเจ้าในรูปแบบของ “น้ำทรงชีวิต” ซึ่งสามารถดับความกระหายและนำความสุขมาสู่ผู้ที่กำลังหิวกระหาย เราแต่ละคนเป็นเหมือนหญิงชาวสะมาเรียในพระวรสาร ที่ต้องการบางสิ่งที่นำความสุข เราจึงมาที่นี่ทุกอาทิตย์เพื่อพบกับพระคริสตเจ้าที่สามารถเติมเต็มสิ่งที่เราขาด

เรามาวัดร่วมมิสซาวันอาทิตย์ เพราะเราหิวกระหายองค์พระเจ้า ในพระวาจาทรงชีวิตที่ตรัสกับเรา ในศีลมหาสนิทที่ประทานพระกายเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา ให้เราเงียบสักครู่และขอสมาโทษพระเจ้า หากเราไม่ได้ฟังและนำพระวาจาของพระองค์มาปฏิบัติ และรับพระองค์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแห่งชีวิตของเรา
พลมารีนาบัว คูเรียแม่พระเสด็จเยี่ยม  เข้าร่วมงานอาชิแอสที่ท่าแร่ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม

บทอ่านที่ 1: หนังสืออพยพ 17:3-7

ความไม่พอใจของประชากรอิสราแอล ที่พวกเขาต้องมาลำบากในทะเลทราย ขาดน้ำ ขาดอาหาร ทำให้พวกเขาสงสัยว่า พระเจ้ายังทรงประทับอยู่กับพวกเขาหรือเปล่า พระเจ้าได้แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเอาพระทัยใส่พวกเขา โดยจัดหาน้ำสำหรับพวกเขา น้ำจากหินแสดงถึงน้ำแห่งศีลล้างบาปและพระเจ้าทรงเป็นแหล่งน้ำทรงชีวิตสำหรับประชากรของพระองค์

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโรม 5:1-2,5-8

นักบุญเปาโลได้แสดงให้ชาวโรมเห็นว่า พระเจ้าได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อมนุษยชาติ ด้วยความจริงที่ว่าพระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนเพื่อเราขณะที่เราเป็นคนบาป อันแสดงถึงความเอาใจใส่ของพระเจ้าที่มีต่อเรา ความซื่อสัตย์ของพระองค์ได้แสดงให้เราเห็นในงานไถ่กู้มนุษย์ ความรักของพระองค์ไม่มีวันจบสิ้นและจางหาย

พระวรสาร: นักบุญยอห์น 4:5-15,19ข-26,39ก,40-42

ในพระวรสารวันนี้ เราได้ฟังเรื่องราวของพระเยซูเจ้ากับหญิงชาวสะมาเรียที่บ่อน้ำของยากอบ พระองค์ได้ชี้ให้หญิงชาวสะมาเรียได้ตระหนักในบาปของเธอทีละเล็กละน้อย กระทั่งเชื่อและไว้ใจว่า พระองค์เป็นพระผู้ไถ่และเป็นแหล่งน้ำทรงชีวิตที่สามารถทำให้เธอพบความสุขและชีวิตนิรันดร เราแต่ละคนก็จะต้องตระหนักในบาปของตนเช่นเดียวกัน
 คูเรียนาบัว มีทั้งหมด 5 เปรสิเดียม มีซิสเตอร์บำเพ็ญ ยอดคำอ่อน เป็นประธาน

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 2

2) ขอเชิญพี่น้องรับถุงทานมหาพรต (ครอบครัวละถุง) เพื่อเป็นทานนำใจของเราคริสตชนตามธรรมเนียมตลอดเทศกาลมหาพรตนี้ สำหรับผู้ประสบภัย ผู้เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ

3) ขอเชิญคู่บ่าว-สาว หรือสามี-ภรรยาที่ยังแต่งงานไม่เรียบร้อย มารับการอบรมเตรียมรับศีลสมรสระหว่างวันที่ 25-29 เมษายน นี้ที่บ้านเจ้าอาวาส เวลา 19.00 น. ขณะนี้มีผู้มาแสดงความจำนงกับคุณพ่อแล้ว 1 คู่

4) ประกาศศีลสมรสระหว่าง ยวงศุภษร หมั่นเสนา บุตรยวงวินัย-มารีอาบัวเรียน หมั่นเสนา จากนาบัว กับ โจน ออฟ อาร์ค ศันษนีย์ กำเนิด บุตรีของนายบุญธรรม-นางซน กำเนิด จากบ้านขว่งใต้ ต.ท่าข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประกาศครั้งที่ 2

5) รายนามผู้บริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: (1) น.ส.กิรตรา และป้าบำเพ็ญ ยอดคำอ่อน 3,000.- บาท, (2) ซองบอกบุญผ่าน น.ส.กิรตรา ยอดคำอ่อน 5,450.- บาท ขอขอบพระคุณทุกท่าน

6) เงินทานวันเสาร์ 633.- บาท, อาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 13,777.- บาท, เงินทานมิสซาเข้าเงียบพลมารี 24 มีนาคม 1,030.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 336.- บาท
พื้นที่ก่อสร้างโรงครัว อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 16 เมตร

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระเยซูเจ้า: แหล่งน้ำทรงชีวิต

วันอาทิตย์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต ปี A
อพย 17:3-7
รม 5:1-2,5-8
ยน 4:5-15, 19ข-26, 39ก, 40-42

บทนำ

ในปี ค.ศ. 1888 ชายคนหนึ่งรู้สึกตกใจที่อ่านพบข่าวการตายของตัวเองในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเกิดจากความผิดพลาดและเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม เขารู้สึกตกใจมากกว่าอีกที่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นบรรยายว่า เขาเป็นคนค้นพบวิธีใหม่ในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองจากสิ่งที่ตนเองประดิษฐ์คิดค้น เขาเป็นคนประดิษฐ์ระเบิดไดนาไมต์และร่ำรวยจากสิ่งประดิษฐ์นี้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้เขาได้คิดว่าหากเขาตายไปจริงๆ ผู้คนคงจดจำเขาตามที่หนังสือพิมพ์บรรยายไว้

เช้าวันนั้น เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตครั้งใหญ่และล้มเลิกงานที่กำลังทำอยู่ โดยอุทิศความรู้ความสามารถทุกอย่างในการทำงานเพื่อสันติภาพของโลก เขาได้ยกทรัพย์สินทั้งหมดของเขาเมื่อตายไป เพื่อตั้งกองทุนมอบเป็นรางวัลสำหรับคนที่ทำงานเพื่อสันติภาพ ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “รางวัลโนเบล” (Nobel prizes) ชายคนที่ว่านี้คือ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) ที่ทิ้งความร่ำรวยจากการค้าอาวุธ และอุทิศตนเพื่อบอกผู้คนให้ทำงานเพื่อสันติภาพ

ประสบการณ์ของ อัลเฟร็ด โนเบล ที่ได้อ่านข่าวการตายของตนเองในหน้าหนังสือพิมพ์ คงเป็นเหมือนกับหญิงชาวสะมาเรียที่พบกับพระเยซูเจ้าในพระวรสารที่เราได้ยินในวันนี้ พระองค์ได้ชี้ให้หญิงชาวสะมาเรียได้ตระหนักในบาปของเธอทีละเล็กละน้อย กระทั่งเธอเชื่อและไว้ใจว่าพระองค์เป็นพระผู้ไถ่และเป็นแหล่งน้ำทรงชีวิต ที่สามารถทำให้เธอพบความสุขและได้รับชีวิตนิรันดร ทำให้เธอทิ้งถังน้ำไว้และไปบอกข่าวดีแก่คนอื่นในเมือง

1. พระเยซูเจ้า: แหล่งน้ำทรงชีวิต

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงสัญญากับหญิงชาวสะมาเรียว่า พระองค์จะประทาน “น้ำทรงชีวิต” ซึ่งจะเป็นเหมือนกับน้ำพุแห่งชีวิตนิรันดรและพระหรรษทานสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับพระองค์ โดยทั่วไปชาวยิวจะไม่คบค้าสมาคมกับชาวสะมาเรีย เพราะพวกเขาถือว่าชาวสะมาเรียเป็นยิวที่ไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากละเมิดบทบัญญัติและแต่งงานกับคนต่างชาติ เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ความรักของพระเจ้าไม่มีขอบเขตจำกัด อีกทั้ง น้ำทรงชีวิตและปังที่พระเยซูเจ้าประทานแก่เราเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเรานั้น มิใช่สำหรับเราเท่านั้นแต่สำหรับทุกคน นั่นแสดงให้เห็นว่า ความรักของพระเจ้าไปสู่ทุกคน

พระวรสารวันนี้ได้แสดงให้เห็นว่า หญิงชาวสะมาเรียได้รับการเรียกให้มาแบ่งปันความรักที่เปี่ยมล้นของพระเจ้าแก่ทุกคนด้วยความเชื่อไว้ใจ พระเยซูเจ้าทรงใช้รูปหมายของน้ำ เพื่อสอนหญิงชาวสะมาเรียให้เห็นถึงพระหรรษทานและการให้อภัยของพระเจ้า พระองค์ทรงตรัสถึง “น้ำทรงชีวิต” ที่ให้ชีวิตนิรันดร ประทานพระหรรษทานอันได้แก่ชีวิตพระในวิญญาณ หญิงชาวสะมาเรียคนนั้นกระหายหา “น้ำทรงชีวิต” ที่พระองค์ตรัสถึง แม้เธอจะเข้าใจผิดในตอนแรก แต่พระเยซูเจ้าได้ทำให้เธอค่อยๆ เข้าใจว่า จำเป็นที่เธอจะต้องสำนึกผิดและเปลี่ยนแปลงชีวิตเพื่อจะได้ “น้ำทรงชีวิต” ดังกล่าว

พระเยซูเจ้าได้เปิดเผยให้หญิงชาวสะมาเรียได้เข้าใจว่า พระองค์คือพระผู้ไถ่ที่ล่วงรู้ถึงบาปทุกอย่างที่เธอได้กระทำและพร้อมจะยกบาปทั้งหมดของเธอ พระองค์ทรงเป็น “แหล่งน้ำทรงชีวิต” ที่เติมเต็มชีวิตของเธอด้วยความรักอันหาขอบเขตมิได้ของพระองค์ การได้พบและสนทนากับพระองค์ครั้งแรกและครั้งเดียวนี้ ทำให้เธอได้รับความสว่าง เต็มเปี่ยมไปด้วยพระหรรษทานและเปลี่ยนแปลงชีวิตทั้งหมดของเธอ ถึงขนาดยอมทิ้งถังน้ำไว้ที่บ่อ เข้าไปในเมืองเพื่อประกาศข่าวดีเกี่ยวกับพระองค์ มีผู้คนจำนวนมากได้ออกมาพบพระองค์และเชื่อในพระองค์ เพราะการเป็นพยานของเธอ

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระวาจาของพระเจ้าสอนอะไรเราในวันนี้ พระวรสารได้แสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงเหน็ดเหนื่อย หิว และกระหายน้ำ อันแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของพระองค์ แต่ถึงกระนั้นพระองค์ได้ใช้โอกาสนี้สอนความจริงเกี่ยวกับพระองค์ให้หญิงชาวสะมาเรียได้ทราบ เพราะงานของพระองค์คือการแสวงหาและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า เราแต่ละคนได้รับการเรียกจากพระเจ้าให้มาแบ่งปันความรักของพระองค์และปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้าเช่นกัน นี่คืองานของเราในฐานะคริสตชน

เรื่องราวการสนทนาของพระเยซูเจ้ากับหญิงชาวสะมาเรีย ได้เปิดเผยให้เราทราบความจริงเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าที่ทรงเป็น “แหล่งน้ำทรงชีวิต” สำหรับทุกคน แม้กับชาวสะมาเรียที่ชาวยิวทั่วไปมองว่าเป็นคนบาปที่ไม่ควรคบหา แต่ความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้าไปถึงทุกคน แม้คนที่ชื่อเสียงไม่ดีอย่างหญิงคนนี้ (มีสามีหลายคน) พระเจ้ายังรักเธอและทำให้เธอกลายเป็นเครื่องมือในการประกาศพระองค์ การได้สนทนาและฟังพระวาจาของพระองค์ ได้ทำให้ชีวิตของเธอมีความหมายและกลายเป็นผู้นำข่าวของพระคริสตเจ้า

เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาของการพบกับพระคริสตเจ้า สนทนาและเปลี่ยนแปลงชีวิตใหม่ในพระองค์ เรื่องราวในพระวรสารสอนเราว่า พระเยซูเจ้าทรงคอยเราอยู่ทุกที่ ทุกเวลา พระองค์ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการเฝ้าคอยเรา เพราะพระองค์ทรงรักเรามากและทรงต้องการที่จะอยู่กับเราตลอดเวลา ชีวิตคริสตชนที่ปราศจากพระคริสตเจ้า จึงเป็นชีวิตที่ว่างเปล่า ทั้งนี้เพราะ พระองค์ทรงเป็น “แหล่งน้ำทรงชีวิต” ที่ทำให้ชีวิตของเรามีชีวิตชีวา สามารถดับความกระหายคนที่มาหาพระองค์และทำให้เขาพบสันติสุข

บทสรุป

พี่น้องที่รัก น้ำในแผ่นดินที่เต็มไปด้วยทะเลทราย เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง พระวาจาในวันนี้ได้ใช้เครื่องหมายของ “น้ำ” เพื่อบรรยายถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าที่ให้ชีวิต น้ำในที่นี้หมายถึง “พระคุณของพระเจ้า” พระวรสารได้แสดงให้เราเห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็น “แหล่งน้ำทรงชีวิต” ซึ่งจะกลับเป็นน้ำพุภายในมนุษย์ที่พุ่งขึ้นเพื่อให้ชีวิตนิรันดร พระเจ้าที่ประทับอยู่ท่ามกลางเราสามารถดับความกระหายทั้งหลายทั้งปวงของมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

หญิงชาวสะมาเรียในพระวรสารเป็นตัวแทนของเราแต่ละคน ที่ต้องการความรักและการให้อภัย มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่สามารถดับความกระหายในใจของเราได้ มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่สามารถเติมเต็มความต้องการในชีวิตของเราได้ ด้วยความรักยิ่งใหญ่และการให้อภัยไม่สิ้นสุดของพระองค์ เราจึงต้องหมั่นมาหาและสนทนากับพระองค์บ่อยๆ เป็นต้นในเทศกาลมหาพรตนี้ เพื่อเราจะมีจิตใจที่สุขสงบและสามารถกล่าวได้อย่างนักบุญเอากุสตินที่ว่า “ดวงใจของข้าพเจ้าจะไม่สงบ จนกว่าจะได้พักพิงในพระเจ้า”

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
25 มีนาคม 2010

บิดาผู้ใจดีและให้อภัย

วันเสาร์
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
มคา 7:14-15, 18-20
ลก 15:1-3, 11-32

 บิดาผู้ใจดีและให้อภัย

คำอุปมาเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” (The prodigal son) ที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ถือเป็นคำอุปมาที่กินใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาคำอุปมาของพระเยซูเจ้า แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า “บิดาผู้ใจดีและให้อภัย” เพราะผู้ที่เป็นวีรบุรุษในเรื่องไม่ใช่บุตรแต่เป็นบิดา คำอุปมาได้กล่าวถึงชายคนหนึ่งมีบุตรสองคน บุตรคนเล็กได้ขอให้บิดาแบ่งสมบัติส่วนที่เป็นของตน จากนั้นได้เดินทางไปต่างแดนใช้ชีวิตเสเพลล้างผลาญสมบัติจนหมดสิ้น ขณะที่บุตรคนโตยังคงอยู่กับบิดา

ตามกฎหมายของยิว บิดาไม่อาจยกสมบัติให้ใครตามใจชอบ เขาจำเป็นต้องยกสมบัติ 2/3 ส่วนให้บุตรชายคนโต และ 1/3 ส่วนให้บุตรชายคนเล็ก (ฉธบ 21:17) เนื่องจากธรรมเนียมยิวยกย่องบุตรชายหัวปี และเป็นธรรมดาที่บิดาจะแบ่งมรดกให้บุตรขณะที่ยังมีชีวิตอยู่แต่มรดกจะตกแก่บุตรเมื่อบิดาตายแล้ว ดังนั้น การที่บุตรคนเล็กขอให้แบ่งสมบัติและยกให้ตนขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่ให้เกียรติบิดา

คำอุปมาได้แสดงให้เห็นถึงชีวิตตกต่ำถึงขีดสุดของบุตรคนเล็ก เขากลายเป็นคนเลี้ยงหมูซึ่งเป็นสัตว์สกปรก (ลวต 11:7) สำหรับชาวยิวที่เคร่งศาสนาจะไม่มีวันทำอาชีพนี้โดยเด็ดขาด ทำให้เขาคิดถึงบิดาและตัดสินใจกลับบ้าน โดยตั้งใจขอให้บิดารับเขาเป็นเหมือนคนใช้ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด ในบ้านหลังใหญ่ของชาวยิวมีคนใช้อยู่สามประเภท คือ “บ่าว” ซึ่งเกือบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว อีกประเภทหนึ่งคือ “ลูกน้องของบ่าว” ซึ่งทำงานหนักกว่า และสุดท้ายที่มีฐานะต่ำที่สุดคือ “ลูกจ้างรายวัน” ซึ่งจะถูกให้ออกจากงานเมื่อไหร่ก็ได้

ที่จริงบุตรคนเล็กต้องการขอเป็นเพียงคนใช้ที่มีฐานะต่ำที่สุด แต่เขาไม่มีโอกาสแม้แต่จะขอให้บิดาทำเช่นนั้น (ลก 15:21) เพราะบิดาตัดบทและสั่งให้คนใช้ต้อนรับเขาด้วยสิ่งของสามอย่าง (ลก 15:22) ดังต่อไปนี้

1) เสื้อ หมายถึงเกียรติยศ เป็นการให้เกียรติบุตรที่กลับมา

2) แหวน หมายถึงความเป็นใหญ่ เป็นการให้อำนาจดูแลทรัพย์สินทั้งหมดแก่เขา

3) รองเท้า หมายถึงฐานะการเป็นบุตร เพราะในครอบครัวยิวมีแต่บุตรเท่านั้นที่สวมรองเท้า (ส่วนคนใช้เดินเท้าเปล่า)

คำอุปมานี้เกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่พระเยซูเจ้าถูกวิจารณ์ว่า เป็นมิตรกับคนเก็บภาษีและคนบาป คำอุปมานี้จึงแสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเจ้าต่อคนบาป

ประการแรก พระเจ้าทรงต้องการคนบาป แม้มนุษย์จะกระทำชั่วแต่พระเจ้ายังต้องการเขาอยู่ ด้วยการส่งพระบุตรมาไถ่บาปเพื่อให้เขาได้เดินในหนทางแห่งความรอด

ประการที่สอง พระเจ้าเฝ้ารอการกลับมาของคนบาป แสดงถึงความรักยิ่งใหญ่และการอภัยไม่สิ้นสุดของพระเจ้าที่ไม่จดจำความผิด แต่เพียรทนรอคอยวันที่เขากลับใจมาหาพระองค์

วันนี้พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมานี้สำหรับเราแต่ละคน เราทุกคนคือบุตรคนเล็กที่เป็นคนบาปและหนีห่างจากพระเจ้า เราต้องกลับมาหาพระองค์ทุกวัน การเดินทางกลับบ้านคือการเดินทางฝ่ายจิตที่แสดงถึงการกลับใจอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นถึงการละทิ้งบาปของเราและความทุกข์ที่เป็นผลของบาปเพื่อกลับมาหาพระองค์ คำอุปมาได้แสดงให้เราได้เห็นว่า บิดาไม่เคยละทิ้งเราแต่ตั้งตาคอยและเฝ้ารอการกลับมาของบุตรอยู่ทุกวัน

บทเรียนสำคัญอีกอย่าง ไม่ใช่เพียงบาปของบุตรคนเล็กเท่านั้นที่ทำให้เขาถอยห่างจากบิดา แต่เป็นความเกลียดชังของบุตรคนโตที่ไม่ยอมให้อภัยน้องของเขาและถือตัวว่าตนเองเป็นคนชอบธรรม ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนเรา คือการที่เขาไม่สำนึกว่าตนเองมีความผิดอะไรเลยนั่นแหละ การถือตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและดีกว่าคนอื่นไม่เพียงตัดเขาออกจากพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังตัดเขาออกจากเพื่อนพี่น้องด้วย พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรายอมรับเพื่อนพี่น้องและให้อภัยเขาด้วยใจกว้าง และใช้ช่วงเวลาพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้ในการกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิตและกลับมาหาพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
6 มีนาคม 2010

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

พระนางมารีย์ได้รับแจ้งสารจากเทวดาคาเบรียล

วันศุกร์
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
สมโภชแม่พระรับสาร
อสย 7:10-14; 8:10
ฮบ 10:4-10
ลก 1:26-38

 พระนางมารีย์ได้รับแจ้งสารจากเทวดาคาเบรียล

การสมโภชพระนางมารีย์ได้รับแจ้งสารจากเทวดาคาเบรียล ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “สมโภชการแจ้งสารเรื่องพระวจนาตถ์ทรงรับสภาพมนุษย์” ถือเป็นการเฉลิมฉลองที่สำคัญที่สุดในพระศาสนจักร เพราะหากไม่มีการแจ้งสารก็จะไม่มีการบังเกิด ไม่มีการทรมาน และไม่มีการกลับคืนชีพ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ที่พระนางมารีย์ได้รับแจ้งสารได้ทำให้งานไถ่กู้โลกเริ่มต้นขึ้น เป็นการทำให้คำทำนายของประกาศกอิสยาห์ปรากฏเป็นจริง “เอ็มมานูแอล: พระเจ้าสถิตกับเรา”

นอกนั้น การสมโภชนี้ยังเป็นการฉลองความเชื่อของพระนางมารีย์ เราเชื่อว่าพระนางได้รับเลือกสรรจากพระเจ้าให้เป็นพรหมจารี เชื่อว่านี่เป็นอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่พระบุตรของพระเจ้าทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ในครรภ์ของพระนาง ด้วยความเชื่อของพระนางทำให้คำสัญญาต่างๆ สำเร็จไป ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังด้วยความเชื่อของพระนาง ทำให้คำทำนายของบรรดาประกาศกปรากฏเป็นจริง และด้วยความมั่นคงในความเชื่อของพระนาง ทำให้งานไถ่กู้มนุษยชาติบังเกิดขึ้น

ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันสมโภชการแจ้งสารสำหรับคริสตชน เนื่องจากเป็นวันที่พระวจนาตถ์ทรงรับเอากายเป็นมนุษย์ในครรภ์ของพระนางมารีย์ ซึ่งเหตุการณ์นี้เราคริสตชนได้ระลึกถึงวันละสามครั้งด้วยกัน ในการสวดบทเทวทูตถือสารทุกวัน เวลาเช้า เที่ยง และเย็น ถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นศูนย์กลางของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ นักบุญเปาโลได้เขียนในจดหมายถึงชาวกาลาเทียว่า “เมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้ พระเจ้าทรงส่งพระบุตรของพระองค์ ให้มาบังเกิดจากหญิงผู้หนึ่ง” (กท 4:4)

การรับเอากายเป็นมนุษย์ (Incarnation) คือหัวใจแห่งแผนการของพระเจ้า เป็นการทำให้ความรักของพระเจ้าปรากฏเป็นจริงผ่านทางพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นรูปหมายถึงพระศาสนจักรและเราแต่ละคน ทำให้เราได้รับทราบข่าวดีที่พระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์เป็นองค์พระผู้ไถ่สำหรับเรา คำตอบรับของพระนางที่ว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า ขอให้เป็นไปกับข้าพเจ้าตามวาจาของท่านเถิด” ได้ดึงพระเจ้าเข้ามาในโลก รับสภาพมนุษย์เหมือนเราทุกอย่างยกเว้นบาป

คำตอบของพระนางมารีย์ได้แสดงให้เห็นถึง ความนอบน้อมเชื่อฟัง (Obedience) ด้วยความเชื่อในพระเจ้า ที่พร้อมจะปฏิบัติตามน้ำพระทัยของพระองค์ ถือเป็นกิจการแห่งความรักและความสุภาพถ่อมตนของพระนาง คำตอบของพระนางยังแสดงถึง ความยากจน (Poverty) เพราะพระนางมอบทุกอย่างไว้กับพระเจ้า ยึดถือน้ำพระทัยของพระองค์มากกว่าน้ำใจของตน กลายเป็นผู้รับใช้ของพระองค์ที่พร้อมจะรับใช้ด้วยความรักและด้วยใจยินดี ด้วยเหตุนี้ พระนางจึงได้รับการยกย่องขึ้นสูงเด่นในพระศาสนจักร

พระศาสนจักรถือว่า พระนางมารีย์ได้รับการยกขึ้นจากพระเจ้าให้สูงกว่าเทวดาและสิ่งสร้างทั้งหลายในโลก นักบุญโทมัส อาไควนัส ย้ำว่าพระนางมารีย์สูงกว่าเทวดาด้วยเหตุผลสามประการ

ประการแรก พระนางมารีย์เป็นผู้เปี่ยมไปด้วยพระหรรษทาน เพราะพระเจ้าสถิตอยู่กับพระนาง

ประการที่สอง พระนางมารีย์เป็นผู้มีความใกล้ชิดกับพระเจ้าเหนือทุกคน เพราะพระเจ้าทรงประทับอยู่ในชีวิตของพระนางเสมอ

ประการที่สาม พระนางมารีย์เป็นผู้มีความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่เฉพาะในตัวของพระนางแต่ยังเป็นแหล่งแห่งความบริสุทธิ์สำหรับผู้อื่น และนำพระพรมาสู่มนุษย์ทุกคน

ให้เราสำนึกในเกียรติอันสูงส่งที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์และได้รับการยกย่องให้เป็นบุตรของพระเจ้า ให้เราเลียนแบบอย่างของพระนางมารีย์ ในการตอบรับแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้าที่มาถึงเราในแต่ละวัน ด้วยความเชื่อ ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง ด้วยความสุภาพถ่อมตน และด้วยความรัก เพื่อเราจะได้เป็นเครื่องมือที่ดีในพระหัตถ์ของพระเจ้า เช่นเดียวกับพระนาง

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
25 มีนาคม 2010

เศรษฐีกับลาซารัส

วันพฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ยรม 17:5-10
ลก 16:19-31

 เศรษฐีกับลาซารัส

มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งชื่อแบร์นาโดได้ยินพระสุระเสียงของพระเจ้า ทำให้เขาคิดที่จะไปเป็นหมอที่ประเทศจีน เขาได้ใช้เวลาก่อนไปเป็นมิชชันนารีด้วยการรวมกลุ่มเด็กยากจนทางตะวันออกของลอนดอน หลังเลิกกิจกรรมมีเด็กชายคนหนึ่งชื่อจิม จาร์วิส ไม่ยอมกลับบ้าน เมื่อถามไถ่ก็ทราบความจริงว่าที่ไม่กลับเพราะไม่มีบ้าน วันนั้นแบร์นาโดได้เรียนรู้ชีวิตเด็กกำพร้า แต่จิตใจของเขายังจดจ่ออยู่กับเรื่องเมืองจีน

ไม่นานหลังจากนั้น แบร์นาโดได้พบลอร์ดแชมพส์เบอรีในงานเลี้ยง และได้เล่าเรื่องของจิม จาร์วิสให้ฟัง ท่านลอร์ดไม่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริง แบร์นาโดจึงอาสาพาไปยังโกดังเก็บของในเขตไวท์แชมเปิ้ล ที่นั่นลอร์ดแชมพส์เบอรีได้พบกับจิม จาร์วิส และเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันรวม 73 คน เมื่อเห็นเช่นนั้น ท่านลอร์ดได้พูดกับแบร์นาโดว่า “คุณแน่ใจหรือว่าพระเจ้าจะส่งคุณไปประเทศจีน” ทำให้เขาเข้าใจในทันทีว่าพระเจ้าส่งเขามาช่วยเด็กเร่ร่อนในบ้านเมืองของตน และเขาได้ลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเด็กเหล่านั้น

พระวาจาของพระในวันนี้ได้นำเสนอคำอุปมาเรื่องเศรษฐีกับลาซารัส พระเยซูเจ้าได้ฉายภาพชีวิตเศรษฐีที่อยู่อย่างคนโลภอาหารและฟุ่มเฟือย “แต่งกายหรูหราด้วยเสื้อผ้าเนื้อดีราคาแพง จัดงานเลี้ยงทุกวัน” เขาได้ละเลยบัญญัติเอกและสำคัญที่สุดของพระเจ้าคือ “จงรักพระเจ้าสิ้นสุดจิตใจและรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” ชีวิตของเขาตั้งอยู่บนความสะดวกสบายด้านวัตถุและทำทุกอย่างเพื่อตนเอง โดยไม่เคยคิดถึงความลำบากเดือดร้อนของคนอื่น

ในทางตรงข้าม ลาซารัส มีชีวิตอยู่อย่างยากจนน่าสังเวช เป็นแผลเต็มตัว ไม่มีแรงแม้แต่จะไล่สุนัขที่กำลังเลียแผล เขาถูกนำมาทิ้งไว้ที่ประตูบ้านเศรษฐีและรอสิ่งที่ตกจากโต๊ะอาหาร เขาไม่ได้ต้องการสิ่งที่มีค่าใดๆ นอกจากเศษอาหารเพื่อประทังชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่เศรษฐีไม่ต้องการแล้ว เศรษฐีจึงเป็นตัวแทนของคนมั่งมีที่เห็นแก่ตัว ขณะที่ลาซารัส เป็นตัวแทนของเสียงกรีดร้องของคนจนที่ไม่มีใครได้ยินทุกยุคทุกสมัย

คำว่า “ลาซารัส” เป็นชื่อภาษากรีกแปลว่า “พระเจ้าเป็นผู้ช่วย” เพื่อเน้นให้เห็นความจริงที่ว่า ถึงแม้คนชอบธรรมจะยากจนไม่มีใครช่วยเหลือ แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้ช่วยของเขาเสมอ เราจึงได้เห็นสถานการณ์ที่กลับกันหลังความตาย เศรษฐีกลายเป็นคนจนน่าสมเพชที่ร้องขอความช่วยเหลือจากลาซารัส (แต่คำร้องขอของเขาไม่ได้ยินและไม่ได้รับการตอบสนอง) ขณะที่ลาซารัสกลายเป็นคนร่ำรวยมีความสุขเพราะได้อยู่ในอ้อมอกของอับราฮัม

คำอุปมานี้ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราว่า เราจะได้รับในสิ่งที่ต้องการ แต่ก็ต้องชดเชยตามราคาของสิ่งนั้น เวลามีชีวิตอยู่ในโลกเราอาจได้ทุกสิ่งที่ปรารถนา แต่อาจต้องสูญเสียวิญญาณหรือความสุขนิรันดรกับพระเจ้าในบั้นปลาย “ไม่ใช่สิ่งที่เศรษฐีทำลงไปที่ทำให้เขาตกนรก แต่เป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ทำต่างหาก” ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าจึงต้องแสดงออกต่อเพื่อนพี่น้องของเราด้วย เพราะเป็นพระเจ้าเองที่ปรากฏพระองค์ให้เราเห็นในตัวคนยากจนขัดสน

ทรัพย์สมบัติหรือความร่ำรวยที่เรามีถือเป็นพระพรของพระเจ้า ที่เราต้องสำนึกเสมอว่ามิใช่สมบัติส่วนตัวของเราเพียงคนเดียว เราจะต้องแบ่งปันให้ผู้ที่ไม่มี เพื่อให้เขาสามารถเจริญชีวิตสมศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นบุตรของพระเจ้า เราจะทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับพี่น้องที่ขัดสนหรือเดือดร้อนเจียนตายไม่ได้เป็นอันขาด มิฉะนั้นชะตากรรมของเราในชีวิตหน้าก็จะไม่ต่างจากเศรษฐีในวันพระวรสารวันนี้ เทศกาลมหาพรตจึงเป็นช่วงเวลาของการหันกลับมามองดูตัวเองว่า อะไรคือแก่นแท้ของชีวิตคริสตชน ทรัพย์สมบัติในโลกนี้หรือขุมทรัพย์เที่ยงแท้ในเมืองสวรรค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
สำนักมิสซังฯ สกลนคร
4 มีนาคม 2010

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทางแห่งไม้กางเขนและการทรมาน

วันพุธ สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ยรม 18;18-20
มธ 20:17-28

 ทางแห่งไม้กางเขนและการทรมาน


พระเยซูเจ้าเริ่มภารกิจของพระองค์ในแคว้นกาลิลีซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือ ส่วนเยรูซาเล็มตั้งอยู่ทางตอนใต้ ถือเป็นนครศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวยิวเพราะเป็นที่ตั้งของพระวิหาร อันเป็นเครื่องหมายของการประทับอยู่ของพระเจ้า แน่นอนว่าพระเยซูเจ้าเคยเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มหลายครั้ง แต่การเดินทางไปเยรูซาเล็มครั้งนี้เป็นการตัดสินใจเลือกหนทางแห่งไม้กางเขนเพื่อนำประชาชาติมาหาพระบิดา นั่นหมายความว่า พระองค์ได้ละทิ้งความรุ่งโรจน์ที่กาลิลีเพื่อไปรับการทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพ (ธรรมล้ำลึกปัสกา)

ทางแห่งกางเขน คือเป้าหมายของพระเยซูเจ้าในการเสด็จมาในโลก พระองค์จะถูกมอบแก่ผู้มีอำนาจและถูกทรมานอย่างแสนสาหัส เป็นเรื่องเข้าใจยากว่าทำไมพระเจ้าต้องเลือกการทรมานเพื่อช่วยเรามนุษย์ให้รอด พระองค์สามารถเลือกวิธีที่ง่ายกว่านี้ได้โดยไม่ต้องมีการทรมานใดๆ เพื่อจะเข้าใจความจริงข้อนี้ เราต้องเชื่อในความรักของพระเจ้าที่มีต่อเราว่าเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข ความรักย่อมอยู่เหนือความเข้าใจและเหตุผลทางโลกเสมอ

นี่เป็นครั้งที่สามแล้วที่พระเยซูเจ้าได้เตรียมบรรดาสาวกของพระองค์ และประกาศให้พวกเขาทราบล่วงหน้าถึงชะตากรรมของพระองค์ในกรุงเยรูซาเล็ม แต่ทุกครั้งที่พระองค์ตรัสถึงเรื่องนี้ พระวรสารได้แสดงให้เห็นถึงข้อขัดแย้งในแบบเดียวกัน พวกศิษย์มีความคิดเห็นในทางตรงข้าม พวกเขาไม่เข้าใจในสิ่งที่พระองค์ตรัส แต่มีความทะเยอทะยานถึงตำแหน่งแห่งอำนาจในทางโลก ซึ่งเป็นความปรารถนาของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย

ในการประกาศครั้งแรก เป็นเปโตรที่ช๊อคความรู้สึกของพระเยซูเจ้าด้วยการพูดว่า “สิ่งนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับพระองค์” ครั้งที่สอง บรรดาศิษย์ต่างถกเถียงกันว่าใครจะเป็นใหญ่ และในครั้งที่สาม แม่ของยากอบและยอห์นได้มาขอให้บุตรทั้งสองของนางนั่งข้างซ้ายและข้างขวาในอาณาจักรของพระองค์ สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยของแม่ทุกคนในโลกต่ออนาคตลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่ทั้งยากอบและยอห์นซึ่งอยู่กับพระองค์มา 3 ปียังไม่เข้าใจถึงถ้วยที่พระองค์จะดื่ม ได้แก่ ทางแห่งกางเขนและการทรมานที่พระองค์พูดถึงก่อนหน้านี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้อัครสาวกทั้งสิบคนรู้สึกโกรธพี่น้องสองคนนี้ หากมองในอีกด้าน เราต้องขอบคุณแม่ของยากอบและยอห์น เพราะทำให้เราได้รับรู้ถึงบทเรียนอันสำคัญที่พระเยซูเจ้าได้มอบให้กับบรรดาสาวกและเราทุกคนในปัจจุบัน พระองค์ไม่ได้ปล่อยให้ความโกรธหรือความขัดแย้งในหมู่พวกเขาผ่านเลยไป แต่ได้เรียกทุกคนมารวมกัน และสอนความจริงที่ว่า ทางแห่งกางเขนและการถ่อมตนรับใช้ผู้อื่นเท่านั้น ที่จะนำไปสู่เกียรติมงคลที่แท้จริง ไม่มีทางลัดอื่นใดทั้งสิ้น

มหาพรต เป็นช่วงเวลาแห่งการเดินทางไปพร้อมกับพระเยซูเจ้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม เพื่อถวายเกียรติแด่พระเจ้าด้วยชีวิตทั้งครบของเรา ในทางแห่งกางเขนและการรับใช้ที่พระองค์ทรงมอบแบบอย่างแก่เรา กล่าวคือ ทรงนอบน้อมเชื่อฟังพระบิดา ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก และรับใช้จนถึงที่สุดคือความตายบนกางเขน ขอให้เราได้เปิดดวงใจของเราต่อทางแห่งกางเขนและพระทรมานของพระองค์ เพื่อจะได้ตระหนักในชีวิตของตนบนเส้นทางแห่งการรับใช้ แสวงหาแต่น้ำพระทัยของพระบิดามากกว่าน้ำใจของตน และพร้อมที่จะพลีชีวิตของตนเพื่อผู้อื่นในแต่ละวัน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
สำนักมิสซังฯ สกลนคร
3 มีนาคม 2010

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

การรับใช้ผู้อื่น

วันอังคาร
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
อสย 1:10, 16-20
มธ 23:1-12

 การรับใช้ผู้อื่น


นักพรตชราตนหนึ่งเฝ้าภาวนาเป็นเวลาหลายปีที่จะเห็นนิมิตจากพระเจ้า เพื่อเพิ่มพูนความเชื่อของตนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น แต่เขาไม่เคยเห็นนิมิตใดเลยจนเกือบสิ้นหวัง แล้ววันหนึ่งนิมิตปรากฏมาให้เห็น เขาดีใจมาก แต่ขณะที่กำลังดื่มด่ำกับภาพนิมิตเสียงระฆังของอารามดังขึ้น บอกให้รู้ว่าถึงเวลาแจกอาหารคนจนแล้วและวันนี้เป็นหน้าที่ของเขาด้วย หากเขาไม่ไปคนเหล่านั้นคงกลับไปโดยไม่ได้กินอะไรตลอดทั้งวัน

นักพรตตนนี้เกิดลังเลที่จะเลือกระหว่างหน้าที่ของโลกกับนิมิตแห่งสวรรค์ ที่สุด เขาตัดสินใจหันหลังให้นิมิตไปแจกอาหารคนจน หนึ่งชั่วโมงให้หลังเขากลับมาที่ห้องของเขาอีกครั้ง เมื่อเปิดประตูเขาแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง นิมิตยังรอเขาอยู่ในห้อง เขาคุกเข่าลงโมทนาคุณพระเจ้าและพระองค์ตรัสกับเขาว่า “ลูกรัก หากลูกไม่ไปให้อาหารคนจน เราคงไม่อยู่แล้ว” หนทางที่ดีที่สุดในการรับใช้พระเจ้าคือ การรับใช้เพื่อนพี่น้องโดยเฉพาะคนขัดสน

พระวรสารทุกตอนเขียนขึ้นเพื่อพระศาสนจักร พวกธรรมาจารย์และชาวฟาริสีคือเราแต่ละคน ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงตำหนิธรรมาจารย์และฟาริสี รวมถึงเราแต่ละคน ที่ทำกิจการทุกอย่างเพื่อให้คนอื่นเห็นและเพื่อให้คนอื่นชม ไม่ได้มาจากความรักหรือความสัมพันธ์ที่แท้จริงต่อพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง “ถ้าเขาสั่งสอนเรื่องใด ท่านจงปฏิบัติตามเถิด แต่อย่าปฏิบัติตามพฤติกรรมของเขา เพราะเขาพูดแต่ไม่ปฏิบัติ” (มธ 23:3)

คนทุกวันนี้แสวงหาและทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ตำแหน่งสูงและหน้าที่ใหญ่โต เพราะมันหมายถึงเกียรติยศชื่อเสียง ทรัพย์สินเงินทอง และอำนาจวาสนา อันเป็นยอดปรารถนาของทุกคนในโลก ไม่เว้นแม้ในวงการศาสนา ในสังคมไทย กล่าวกันว่าเพื่อจะบรรลุถึงตำแหน่งหน้าที่ดังกล่าว จะต้องมีอักษร 3 ตัวนี้: ด-ว-ง ที่ไม่ใช่ “โชควาสนา”

1) หมายถึง “เด็กของใคร” หรือเด็กเส้นในระบบอุปถัมภ์ ที่เขาจะดูว่าใครให้การสนับสนุน เป็นศิษย์-อาจารย์ของใคร จบการศึกษาจากสถาบันไหน นามสกุลอะไร

2) หมายถึง “วิ่ง” หากไม่มีอย่างแรกต้องวิ่งเข้าหาคนใหญ่โตหรือผู้มีชื่อเสียงดีเป็นที่รู้จัก เพื่อให้การรับรองหรือสนับสนุนฝากฝังให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ

3) หมายถึง “เงิน” หากไม่มีทั้งสองอย่าง เงินต้องถึง เข้าทำนองจ่ายไม่อั้นเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ต้องการ

นี่คือวิธีบรรลุถึงความสำเร็จในชีวิตและได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการในทางโลก แต่ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงให้คำตอบในลักษณะตรงข้าม “ผู้ใดเป็นใหญ่จะต้องเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น” (มธ 23:3) พระวาจาตอนนี้คือบทสรุปชีวิตและแบบอย่างของพระเยซูเจ้าที่เสด็จมามิใช่เพื่อให้คนอื่นรับใช้ แต่เพื่อรับใช้ผู้อื่น (มธ 20:26) และทรงมอบแบบอย่างแห่งการรับใช้นี้ไว้ให้แก่เราในการล้างเท้าอัครสาวก (ดู ยน 13:1-15)

พระวาจาวันนี้สอนเราว่า ตำแหน่งหมายถึงภาระหน้าที่มิใช่เกียรติยศ ต้องรับใช้มากกว่าที่จะตั้งตนเป็นนาย สำหรับเราคริสตชนเพื่อจะบรรลุถึงชีวิตนิรันดรจะต้องถ่อมตัวเองลง รับใช้ผู้อื่น เพราะชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่อุทิศตนรับใช้ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ดังตัวอย่างของคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตาที่สอนว่า การรับใช้คือความรักในภาคปฏิบัติ และสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 ที่ทรงเป็นแบบอย่างของ “ข้ารับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งหลาย”

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
2 มีนาคม 2010

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความเมตตากรุณา

วันจันทร์
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
ดนล 9:4ข-10
ลก 6:36-38

 ความเมตตากรุณา


หลายปีมาแล้วมีพนักงานขายกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประชุมใหญ่ที่เมืองหลวง พวกเขาได้บอกกับภรรยาว่าคงกลับมาทันเวลาทานอาหารเย็นที่บ้านอย่างแน่นอน บังเอิญการประชุมวันนั้นมีเรื่องมากมาย ทำให้การประชุมเลยเวลาออกไป พวกเขาต้องรีบเดินทางไปที่สนามบินเพื่อกลับบ้าน ด้วยความเร่งรีบคนหนึ่งได้ชนโต๊ะที่วางตะกร้าแอปเปิลที่อาคารผู้โดยสาร พวกเขามุ่งตรงไปที่เครื่องบินโดยไม่ยอมหยุด และสามารถขึ้นเครื่องได้ทันเวลาพอดี

ขณะที่คนหนึ่งในพวกเขามีความรู้สึกว่าต้องหยุด เพราะสงสารหญิงคนนั้นที่ตะกร้าแอปเปิลคว่ำกระจาย เขาโบกมือให้เพื่อนและย้อนกลับไปหาหญิงที่น่าสงสารนั้น เขารู้สึกดีใจที่ได้ทำเช่นนั้นเพราะหญิงคนนั้นตาบอด เขาช่วยเก็บผลแอปเปิลใส่ตะกร้าและสังเกตว่ามีหลายลูกช้ำจึงหยิบเงินในกระเป๋าให้หญิงคนนั้น พร้อมกับบอกว่า “กรุณารับเงินนี้ไว้สำหรับความเสียหายที่พวกเราได้ทำ” เมื่อเขาเดินจากไปได้ยินเสียงหญิงตาบอดคนนั้นร้องว่า “ท่านเป็นพระเยซูหรือเปล่า” ทำให้เขารู้สึกดีใจละคนแปลกใจมาจนถึงทุกวันนี้

ในสังคมปัจจุบันช่างหาคนใจดีมีเมตตาได้ยากนัก ทั้งๆ ที่ทุกคนอยากได้รับความเมตตาจากคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น พระวาจาของพระเจ้าในวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกเราอีกครั้งให้เลียนแบบพระบิดาเจ้าสวรรค์ใน “ความเมตตากรุณา” ซึ่งพระองค์ได้ให้แนวทางในการปฏิบัติความเมตตานี้ บนพื้นฐานของความรักต่อเพื่อนพี่น้อง 4 อย่างด้วยกัน

1) อย่าตัดสินคนอื่น เรามักจะคุ้นเคยและตัดสินคนอื่นโดยเบาความ เราไม่ควรตัดสินเขาเพราะไม่รู้ถึงเจตนาและเบื้องลึกแห่งจิตใจของเขาที่ทำเช่นนั้น บางที หากเราอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา อาจทำสิ่งที่เลวร้ายกว่าเขาด้วยซ้ำ และที่สำคัญ พระเยซูเจ้าไม่ได้มาเพื่อตัดสินโลก แต่เพื่อช่วยให้รอด

2) อย่ากล่าวโทษคนอื่น เรามักจะกล่าวโทษและมองเห็นแต่ความผิดของคนอื่นอยู่เสมอ เข้าทำนองที่ว่า “ความผิดของคนอื่นมองเห็นเท่าขุนเขา ความผิดของตนเล่ามองเห็นเท่าเส้นข (ตดคนอื่นแสนเบื่อเหม็นเหลือทน ตดของตนแสนเหม็นไม่เป็นไร)”

3) จงให้อภัยคนอื่น ใครที่บอกว่า “ฉันให้อภัยคุณนะ แต่ฉันไม่มีวันลืม” นั่นเป็นเพียงแค่วิธีพูดให้ตัวเองดูดี แต่ความจริงคือ “ฉันไม่มีวันให้อภัยคุณ” สุภาษิตอาหรับจึงบอกว่า “การให้อภัยสมบูรณ์ได้ เมื่อไม่คิดถึงบาปนั้นอีก” (Forgiveness is perfect when the sin is not remembered.)

4) จงรู้จักให้ ทั้งนี้เพราะ “การให้นำความสุขใจมาให้เรามากกว่าการรับ” ดังนั้น จงเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ อย่างน้อย ในการให้ความรักและความยุติธรรมกับทุกคน ยิ่งให้มากเท่าใด เราก็จะได้รับมากเท่านั้น

พระวรสารของวันนี้จึงเตือนสติเราให้มีความเมตตาต่อทุกคน ไม่ตัดสิน ไม่กล่าวโทษ แต่ให้อภัย และรู้จักให้ เพราะความเมตตากรุณาคือภาษาที่ทุกคนสามารถรับรู้และเข้าใจได้ ดังนั้น เทศกาลมหาพรต จึงเป็นช่วงเวลาที่เราพุ่งความสนใจมาหาตัวเรา เพื่อจะได้ตระหนักว่า เราเองอ่อนแอและมีข้อบกพร่องไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนอื่น และพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงใจเรา ให้เป็นดวงใจใหม่เหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่มีความเมตตากรุณาต่อทุกคน

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
1 มีนาคม 2010

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 45

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 45 วันที่ 20 มีนาคา ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

พิธีอำลาสถาบันของนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านนาบัว

 สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต

บนภูเขาทาบอร์ เปโตร ยากอบและยอห์นได้เห็นถึงพระสิริมงคลรุ่งเรืองของพระเยซูเจ้าในฐานะบุตรของพระเจ้า ในพิธีบูชาขอบพระคุณทุกอาทิตย์ พระเยซูเจ้าได้เผยแสดงพระองค์ให้เราได้เห็นถึงเกียรติมงคล ในฐานะบุตรของพระบิดาเจ้าในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเราทุกคนล้วนมีส่วนในความเป็นบุตรนี้ ทำให้ชีวิตของเราให้มีความหวังและความหมาย

เป็นสิ่งดีที่เราจะตระหนักถึงการมารวมกันที่นี่ ให้เราได้หันกลับมาหาพระเยซูเจ้า พี่ชายของเรา ซึ่งภาวนาและถวายพระองค์เองแด่พระบิดาเจ้าพร้อมกันกับเรา อีกทั้ง ยังได้เปิดเผยให้เราได้ทราบถึงการประทับอยู่ของพระบิดาเจ้าท่ามกลางเรา และทรงรักเราอย่างหาที่สุดมิได้ ให้เราได้กราบขมาโทษหากเรามองไม่เห็นการประทับอยู่และขาดความรักต่อพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์ เป็นประธานในพิธีมิสซาอำลาสถาบัน และทำพิธีเสกด้ายขาวที่ใช้ผูกข้อมือ
ของนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านนาบัว เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2011


บทอ่านที่ 1: หนังสือปฐมกาล 12:1-4

อับราฮัมปฏิบัติตามการเรียกของพระเจ้า โดยออกเดินทางจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนไปยังดินแดนที่ไม่รู้จัก อับราฮัมเชื่อในพระวาจาของพระองค์ที่ว่า “เราจะทำให้ท่านเป็นชนชาติใหญ่” ไม่มีความมั่นใจอื่นนอกจากคำสัญญาของพระเจ้า ที่อับราฮัมเชื่อมั่น อับราฮัมจึงได้ชื่อว่าเป็นบิดาของผู้มีความเชื่อ และความเชื่อนี้ทำให้โลกได้รับพระพร

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธีฉบับที่2 1:8-10

นักบุญเปาโลได้เตือนทิโมธีและเราคริสตชนได้ตระหนักว่า เราได้รับการเรียกจากพระเจ้าสู่ความศักดิ์สิทธิ์และเดินในหนทางที่ถูกต้อง พระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ได้รับความรอด และร่วมส่วนในความทุกข์ทรมานต่างๆ เพื่อมีส่วนในเกียติมงคลอันรุ่งเรืองนิรันดรของพระองค์ ผ่านทางพระหรรษทานของพระองค์

พระวรสาร: นักบุญมัธทิว 7:21-27

ในพระวรสารวันนี้ เปโตร ยากอบ และยอห์น ได้เห็นพระสิริมงคลรุ่งโรจน์ของพระเยซูเจ้าในฐานะบุตรของพระเจ้าบนภูเขาทาบอร์ ซึ่งเป็นการให้ความมั่นใจกับพวกเขา เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเป็นพยานถึง พระมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสตเจ้า และมีส่วนในเกียรติมงคลรุ่งเรืองเช่นเดียวกับพระองค์

หลังพิธีผูกข้อต่อแขน ผ.อ.พิเชษฏ ไชยบุญตา ได้กล่าวปัจฉิมโอวาสแก่นักเรียนทั้ง 24 คน

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 12 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 1

2) บ้านเณรฟาติมาท่าแร่จะจัดค่ายสัมผัสกระแสเรียก ระหว่างวันที่ 21-25 มีนาคมนี้ ขอเชิญผู้ที่สนใจเรียนรู้กระเรียกของตนเข้าร่วมค่ายได้ที่บ้านเณรฟาติมาท่าแร่ ส่วนการเข้าบ้านเณรสำหรับสามเณรใหม่คือ วันที่ 8 พฤษภาคม

3) ขอบคุณเจ้ยุ้ย ที่บริจาครูปช้างใหญ่ และรูปสิงห์สาราสัตว์อีกหลายตัว เพื่อทำเป็นไม้ดัดประดับด้านหน้าวัดให้สวยงาม
ผ.อ.พิเชษฏ ไชยบุญตาและครูประจำชั้น ป.6 ส่งมอบนักเรียนทั้ง 24 คน คืนแก่ผู้ปกครอง

4) ประกาศศีลสมรสระหว่าง ยวงศุภษร หมั่นเสนา บุตรยวงวินัย-มารีอาบัวเรียน หมั่นเสนา จากนาบัว กับ โจน ออฟ อาร์ค ศันษนีย์ กำเนิด บุตรีของนายบุญธรรม-นางซน กำเนิด จากบ้านขว่งใต้ ต.ท่าข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประกาศครั้งที่ 1

5) รายนามผู้บริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: (1) ทนายวัชรินทร์ ศรีสถาพร 1,000.- บาท, (2) พระคุณเจ้าจำเนียร สันติสุขนิรันดร์ 5,000.- บาท, (3) คุณนิทัศน์ นวชาตโฆษิต 85,860.- บาท ขอขอบพระคุณทุกท่าน

6) ขอเชิญคู่แต่งงานร่วมสัมมนาฟื้นฟูชีวิตครอบครัว รุ่นที่ 160 ระหว่างวันที่ 25-27 มีนาคมนี้ ที่วัดพระคริสตราชา ช้างมิ่ง

7) เงินทานวันอาทิตย์ที่ 13 มีนาคม 8,455.- บาท; เงินทานวัดโพนสวาง 453.- บาท

คณะกรรมการบริหารสังฆมณฑล ตรวจเยี่ยมวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2011

วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2554

นักบุญยอแซฟ บุรุษผู้ชอบธรรม

นักบุญยอแซฟ บุรุษผู้ชอบธรรม
19 มีนาคม
สมโภชนักบุญยอแซฟ
ภัสดาของพระพรหมจารีมารีย์
2 ซมอ 7:4 –5ก, 12-14ก, 16
รม 4:13, 16-18, 22
มธ 1:16, 18-21, 24

พระวรสารและธรรมประเพณีของพระศาสนจักรรับรู้ว่า นักบุญยอแซฟคือบุรุษผู้ “ชอบธรรม” ซึ่งเกี่ยวพันกับ ความนอบน้อมเชื่อฟังของท่านต่อแผนการของพระเจ้า ท่านเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าทันทีที่รู้ความจริงเกี่ยวกับพระนางมารีย์จากทูตสวรรค์ ด้วยการรับพระนางมาเป็นภรรยาของตนและร่วมกันสร้างครอบครัวใหม่ให้กลายเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้ง ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองและเลี้ยงดูพระกุมารเยซูอย่างไม่มีที่ติ
เราจึงกล่าวได้ว่า การรับเอากายของพระเยซูเจ้าเป็นจริงได้ไม่ใช่เพียงด้วยความเชื่อของพระนางมารีย์เท่านั้น แต่ด้วยความชอบธรรมของนักบุญยอแซฟด้วย ชีวิตของนักบุญยอแซฟแม้จะไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก กระนั้นก็ดี ตลอดเวลาสามสิบปีที่ท่านเจริญชีวิตร่วมกับพระนางมารีย์และพระเยซูเจ้า ได้ให้บทเรียนแก่เราสามประการ กล่าวคือในความเงียบ ความเป็นหนึ่งเดียวในความรัก และในการทำงาน
ประการแรก ความเงียบ ในพระวรสารได้อ้างถึงคำพูดของพระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟเพียงไม่กี่คำ ในความเงียบนี้เองทำให้ท่านได้พิศเพ่งและสรรเสริญการประทับอยู่ของพระเจ้า ความเงียบจึงจำเป็นสำหรับการเติบโตของชีวิตฝ่ายจิต อีกทั้ง ความเงียบของนักบุญยอแซฟได้สอนเราให้ตระหนักในความคิดที่ดีงาม ช่วยให้เราได้ยินการเผยแสดงของพระเจ้าและคำแนะนำสั่งสอนที่แท้จริงจากเบื้องบน
ประการที่สอง ความเป็นหนึ่งเดียวในความรัก นักบุญยอแซฟ พระนางมารีย์ และพระเยซูเจ้าต่างพึ่งพาอาศัยกันและเต็มเปี่ยมด้วยพระจิตเจ้า การดำเนินชีวิตของสมาชิกครอบครัวนี้เป็นการดำเนินชีวิตเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง เห็นได้จากการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เอาใจใส่ดูแลซึ่งกันและกัน พร้อมที่จะฟังและรับใช้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวแห่งความรักของพระเจ้าตั้งแต่ในโลกนี้
ประการที่สาม การทำงาน งานอาชีพของนักบุญยอแซฟในฐานะช่างไม้เป็นงานที่มีเกียรติ ที่สามารถจุนเจือครอบครัวของท่านและเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม การทำงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นและทำให้คนมีเกียรติ เราจึงมีคำพูดในลักษณะที่ว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” หากอยากรู้จักใครซักคนให้ดูที่ความรับผิดชอบของเขาต่องานหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เราคริสตชนเชื่อว่าเมื่อพระเจ้าทรงโปรดให้ใครประกอบการสิ่งใดหรือทำหน้าที่ใด พระองค์ย่อมจะประทานพระหรรษทานให้อย่างเพียงพอ เพื่อเขาจะสามารถปฏิบัติงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้
นักบุญเกรโกรี นาซีอันส์ได้เขียนเอาไว้ว่า “พระเจ้าได้ทรงวางความดีงาม ความยิ่งใหญ่ที่มีอยู่ในตัวบุคลอื่นไว้ในนักบุญยอแซฟ เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์รวบรวมแสงสว่างทุกอย่างที่มีในสิ่งอื่นไว้ในดวงอาทิตย์” ดังนั้น นอกจากหน้าที่อันสูงส่งของพระนางมารีย์ในฐานะเป็นพระมารดาแล้ว เห็นจะไม่มีหน้าที่ใดจะมีความสำคัญเท่าหน้าที่ของนักบุญยอแซฟ ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นบิดาเลี้ยงของพระเยซูเจ้าและพระสวามีของพระนางมารีย์
เราจึงกล้ากล่าวอย่างเต็มปากว่า นอกจากพระนางมารีย์แล้ว ไม่มีใครในโลกนี้จะมีความใกล้ชิดสนิทกับพระเยซูเจ้ามากเท่ากับนักบุญยอแซฟ ที่ได้อุทิศชีวิตในการรักพระเยซูเจ้าและปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเยซูเจ้า เทศกาลมหาพรตนี้เราได้อุทิศตนเพื่อผู้อื่นอย่างไร เราได้รับใช้พระเจ้าโดยปราศจากความเห็นแก่ตัวหรือเปล่า ขอให้เราได้เรียนแบบอย่างความชอบธรรมของนักบุญยอแซฟ ในการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย
19 มีนาคม 2010