คริสต์มาส ประวัติและประเพณี
โดย คุณพ่อมิเกล กาไรซาบาล
ประวัติวันคริสต์มาส
คริสต์มาส
คือการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าที่เราเฉลิมฉลองกันในวันที่ 25 ธันวาคม คำว่า "คริสต์มาส" เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ Christes
Maesse ที่แปลว่า บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า เพราะการเข้าร่วมพิธีมิสซา
เป็นประเพณีสำคัญที่สุดที่ชาวคริสต์ถือปฏิบัติกันในวันคริสต์มาส
คำว่า Christes
Maesse พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษ ในปี 1038
และคำนี้ก็แปรเปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas ในภาษาไทย
“คริสต์มาส” ก็มีความหมายเช่นกัน คำว่ามาส แปลว่า เดือน เทศกาลคริสต์มาสจึงเป็นเดือนที่เราระลึกถึงพระเยซูเจ้าคริสตเจ้าเป็นพิเศษ
อีกความหมายหนึ่งของคำว่ามาส คือดวงจันทร์ ฉะนั้น จึงตีความหมายเป็นภาษาไทยได้อีกอย่างหนึ่ง
คือพระเยซูเจ้าเป็นความสว่างของโลก เหมือนด วงจันทร์เป็นความสว่างในตอนกลางคืน
คำทักทายที่เราได้ฟังบ่อยๆ
ในเทศกาลนี้คือ Merry Christmas คำว่า Merry
ในภาษาอังกฤษโบราณแปลว่าสันติสุข และความสงบทางใจ เพราะฉะนั้น คำนี้จึงเป็นคำที่ใช้อวยพรคนอื่น ขอให้เขาได้รับสันติสุข
และความสงบทางใจ เนื่องในโอกาสเทศคริสต์มาส
ความเป็นมาของเทศกาลคริสต์มาส
ชาวไทยฉลอง
“วันเฉลิมพระชนมพรรษา” วันที่ 5 ธันวาคม
เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกปี ในสมัยโบราณก็มีประเพณีเช่นเดียวกัน
ชาวโรมันมีการระลึกถึงการสมภพของพระจักรพรรดิ
คนท้องถิ่นอื่นก็ระลึกถึงและเฉลิมฉลองวันเกิดของกษัตริย์ หรือผู้ปกครองบ้านเมืองของตนด้วยความยินดี
แม้แต่ชาวยิวในสมัยของพระเยซูเจ้าเองก็ฉลองการเกิดของกษัตริย์เฮโรด เช่นเดียวกัน (มธ14:16) เพราะฉะนั้น
จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวคริสต์สมัยโบราณถือเอาประเพณีของชนในท้องถิ่นนั้นมาประยุกต์เข้ากับศาสนา
โดยจัดให้มีการฉลอง เพื่อระลึกถึงการบังเกิดของพระเยซูเจ้า ที่เขายกย่องเหมือนกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งสากลโลก
ผู้ทรงเกียรติเลอเลิศ ประเพณีนี้ได้เริ่มมาจากกรุงโรม ในศตวรรษที่ 4 และค่อยๆ เผยแพร่ไปทุกทวีป
ทำไมจึงฉลองวันที่ 25 ธันวาคม
ตามหลักฐานในพระวรสาร
(ลก 2:1-3) มีว่า พระเยซูเจ้าบังเกิดในสมัยที่จักรพรรดิซีซาร์
ออกัสตัส ให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยมีคีรินิอัส เป็นเจ้าเมืองซีเรียซึ่งในพระวรสารไม่ได้บอกว่าเป็น
วันหรือเดือนอะไร สมัยก่อน คริสตชนคิดเอาว่าที่มีการฉลองคริสต์มาสในวันที่ 25
ธันวาคมนี้ ก็เพราะเป็นวันเกิดของพระเยซูเจ้าตามทะเบียนเกิด ซึ่งเป็นเอกสารที่คีรินิอัสเก็บไว้
แต่ที่จริงแล้ว เอกสารนี้ได้สูญหายไปหมดแล้ว นักประวัติศาสตร์ไม่สามารถค้นพบได้
นักประวัติศาสตร์หาสาเหตุต่างๆว่า
ทำไมคริสตชนเลือกเอาวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันฉลองคริสต์มาส
ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา และก็อธิบายต่างๆ กัน แต่คำอธิบายหนึ่งสมเหตุสมผล
หรือมีน้ำหนักมากที่สุดคือ ในปี ค.ศ. 274 จักรพรรดิ
AURELIAN ได้กำหนดในวันที่ 25 ธันวาคม
เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพผู้ทรงพลัง กล่าวตามความรู้ทางวิชาดาราศาสตร์สมัยนั้นเห็นว่า
วันนั้นเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลที่สุดจากเส้นศูนย์สูตรของโลก และเริ่มหมุนไปทางด้านเหนือของท้องฟ้า
วันใหม่เริ่มยาวขึ้น ชาวโรมันฉลองวันนี้อย่างสง่า
และถือเสมือนว่าเป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะพระจักรพรรดิก็เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์
ที่ให้ความสว่างแก่มนุษย์ ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมันรู้สึกอึดอัดใจที่ฉลองวันเกิดของสุริยเทพตามประเพณีชาวโรมัน
จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทนในวันที่ 25 ธันวาคม
ค.ศ. 330 เริ่มมีการฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและอย่างเปิดเผย
เนื่องจากก่อนนั้นมีการเบียดเบียนคริสตชนอย่างรุนแรง (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 64-313)
ทำให้คริสตชนไม่มีโอกาสฉลองอะไรอย่างเปิดเผย
อีกนัยหนึ่ง
ชาวคริสต์ได้เห็นว่าในพระคัมภีร์ (มลค 4:2) เรียกพระเจ้าว่าเป็นดวงอาทิตย์แห่งความชอบธรรม
จึงเห็นว่ามีหลักฐานในพระคัมภีร์สนับสนุนให้ถือวันที่ 25 ธันวาคม
เป็นวันเกิดของพระเยซู
วิวัฒนาการของการฉลองคริสต์มาส
การฉลองคริสต์มาสแพร่มาจากกรุงโรม
ไปยังทุกประเทศ พร้อมกับศาสนาคริสต์ที่ค่อยๆแผ่ขยายไปในที่ต่างๆจนในปี ค.ศ. 1100 ประชาชนก็เป็นคริสตชนทั้งหมดทั่วยุโรปและก็มีการฉลองวันคริสต์มาสพร้อมกันในยุโรป
เพราะถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในศาสนา
เราสามารถแบ่งวิวัฒนาการของการฉลองวันคริสต์มาสเป็น 4 ช่วง
คือ
1) ค.ศ. 330-1100 ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการเผยแพร่ศาสนาคริสต์
ที่ละเล็กที่ละน้อยก็มีการฉลองวันคริสต์มาสและก็มีการเริ่มเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้า
เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนคริสต์มาส
เป็นเวลาเตรียมตัวโดยการใช้โทษบาป อดอาหาร และภาวนาเป็นพิเศษ
2) ค.ศ. 1100 - ศตวรรษที่ 16 ช่วงนี้มีการพัฒนาประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับการฉลองคริสต์มาส เช่น การแต่งเพลงคริสต์มาส
การทำถ้ำพระกุมาร การทำต้นคริสต์มาส
3) ศตวรรษที่ 16-19 ระยะนี้มีการแตกแยกในคริสตศาสนา
เกิดนิกายบางนิกายขึ้นมา ซึ่งบางนิกายไม่สนับสนุนให้มีการฉลองคริสต์มาส ด้วยเหตุผลที่ว่าคริสต์มาสเป็นวันที่มนุษย์เลือกเอาเองโดยได้รับอิทธิพลจากชาวโรมัน
ที่ฉลองดวงอาทิตย์คล้ายเป็นพระเจ้าของเขา และชาวบ้านก็ให้ความสำคัญแก่วันนี้มากกว่าวันอาทิตย์
ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้ากำหนดให้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ชาวคาทอลิกพร้อมกับคริสต์ศาสนาหลายๆ
นิกาย เช่น Lutheran เป็นต้น ยังรักษาการฉลองนี้ไว้ด้วยความอบอุ่น
และศรัทธาจนถึงปัจจุบัน
4) ศตวรรษที่ 19 - ปัจจุบัน
เริ่มมีการประเพณีอื่นทางโลกแทรกเข้ามา ซึ่งมีอิทธิพลต่อการฉลองนี้มาก เช่นเรื่องซานตาคลอส
การให้ของขวัญ การส่งบัตรอวยพรคริสต์มาส ซึ่งร้านต่างๆยินดีสนับสนุน เพราะเป็นโอกาสดีที่จะขายสินค้าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นไปในตัว
ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านทั่วไปก็อาจจะลืมความสำคัญ หรือความหมายที่แท้จริงของคริสต์มาส
โดยหันมาเพิ่มความสนใจในสิ่งภายนอกมากกว่า
การทำถ้ำพระกุมาร
ตามความในพระคัมภีร์
พระเยซูเจ้าเกิดในรางหญ้า (ลก 2:7) ซึ่งเราไม่แน่ใจว่าอยู่ตรงไหน
แต่เนื่องจากในแถบเบธเลเฮมมีถ้ำอยู่มากมายที่พวกดูแลฝูงแกะใช้เป็นที่พักของสัตว์
(รางหญ้า) และตัวเอง เป็นความคิดของชาวคริสต์ธรรมดาว่า รางหญ้าที่พระวรสารอ้างนั้น
คงอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเบธเลเฮม ประเพณีการทำถ้ำนั้นมาจากอิตาลี
โดยนักบุญฟรังซิส อัสซีซี เป็นผู้ริเริ่ม โดยในวันคริสต์มาสปี
ค.ศ 1223 นักบุญฟรังซิส ชวนให้ชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้านที่ Greccio ที่ท่านอยู่ ร่วมแสดงละคร มีการเตรียมถ้ำพระกุมารและใช้สัตว์จริงๆ เช่น
วัวและลา อยู่ในถ้ำด้วย (การที่ใช้วัวและลา
เพราะเป็นสัตว์ที่ชาวบ้านใช้เป็นประจำ) จากนั้นก็จุดเทียนมายืนรอบๆถ้ำที่ทำขึ้น
ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าจนสว่าง และฟังมิสซาด้วยกัน ตั้งแต่นั้นมา ประเพณีทำถ้ำพระกุมารทั้งในวัดและในบ้านก็แพร่หลายไปทั่วทุกหนแห่ง
ต้นคริสต์มาส
ในสมัยโบราณ
ต้นคริสต์มาส หมายถึงต้นไม้ในสวนสวรรค์ ซึ่งอาดัมและเอวาไปหยิบผลไม้มากิน และทำบาปไม่เชื่อฟังพระเจ้า
(ปฐก 3:1-6) ตั้งศตวรรษที่ 11 ชาวคริสต์แสดงละครที่หน้าวัด
ถึงความหมายของคริสต์มาส และเอาต้นไม้ต้นหนึ่งไว้ตรงกลาง เพื่อประดับฉาก
แสดงถึงบาปกำเนิดของอาดัมเอวา ต้นไม้ที่ใช้เป็นต้นสน
เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่หาง่ายที่สุดในประเทศเหล่านั้น การแสดงละครคริสต์มาสแบบนี้มีมาเป็นเวลาช้านานหลายร้อยปี
จนถึงศตวรรษที่ 15 พระสังฆราชหลายแห่งได้ห้ามแสดง เนื่องจากการแสดงนั้นกลายเป็นการเล่นเหมือนลิเกล้อชาวบ้าน
ผู้ปกครองบ้านเมือง และศาสนาซึ่งไม่ตรงกับบรรยากาศของการฉลอง ชาวบ้านรู้สึกเสียดายที่ไม่มีโอกาสดูละครสนุกๆ
แบบสนุกๆ แบบนั้นอีก จึงไปสนุกกันที่บ้านของตน โดยเอาต้นไม้มาไว้ที่บ้าน
เพราะต้นไม้เป็นจุดเด่นในลานวัด ที่เขาเคยร่วมสนุกสนานกัน หลังจากนั้น ก็เริ่มมีการแขวนลูกแอปเปิ้ล
และแขวนแผ่นขนมปัง เพื่อระลึกถึงศีลมหาสนิทซึ่งมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุด
ก็กลายเป็นขนมและของขวัญอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
นอกจากนั้น
ชาวเยอรมันยังมีประเพณีอีกอย่างหนึ่ง คือ มีการจุดเทียนหลายเล่มเป็นรูปปิรามิดไว้ตลอดคืนคริสต์มาส
โดยมีดาวของดาวิดอยู่ที่ยอดปิรามิด ซึ่งประเพณีที่จะแขวนของขวัญและขนมก็ได้รวมกับประเพณีของชาวเยอรมันนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 โดยเอาเทียนมาไว้ที่ต้นไม้เป็นรูปทรงปิรามิด
นี่เป็นที่มาของประเพณีปัจจุบัน ที่มีการแขวนของขวัญและไฟกระพริบไว้ที่ต้นคริสต์มาส
และมีดาวของดาวิดไว้ที่สุดยอด ประเพณีนี้เป็นที่นิยมชอบของชาวตะวันตกอยู่มาก
แม้ว่าประเพณีการตั้งต้นคริสต์มาสมีความเป็นมาดังกล่าว ชาวคริสต์ในสมัยนี้ก็ยังนิยมทำกันอยู่
เพราะเห็นว่ามีความหมายถึงพระเยซูเจ้าผู้เปรียบเสมือนต้นไม้แห่งชีวิต (ปฐก 2:9) ที่เขียวสดเสมอในทุกฤดูกาล
ซึ่งหมายถึงนิรันดรภาพของพระเยซูเจ้าและนอกจากนั้นยังหมายถึงความสว่างของพระองค์เสมือนแสงเทียนทีส่องในความมืด
ทั้งยังหมายถึงความชื่นชมยินดีและความสามัคคีที่พระเยซูเจ้าประทานให้ เพราะต้นไม้เป็นจุดรวมของครอบครัวในเทศกาลนั้น
ซานตาคลอส
ซานตาคลอส
เป็นจุดเด่น หรือสัญลักษณ์ที่เด็กและผู้คนนิยมมากที่สุดในเทศกาลคริสต์มาส แต่แท้ที่จริงแล้วซานตาคลอสแทบจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเทศกาลนี้เลย
ชื่อซานตาคลอส
มาจากนักบุญนิโคลาส ซึ่งเป็นนักบุญที่ชาวฮอลแลนด์นับถือ เป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของเด็กๆ
นักบุญองค์นี้เป็นสังฆราชของไมรา (อยู่ในประเทศตุรกีปัจจุบัน) มีชีวิตอยู่ราวศตวรรษที่
4 เมื่อชาวฮอลแลนด์ กลุ่มหนึ่งอพยพไปอยู่ในสหรัฐก็ยังรักษาประเพณีนี้ไว้
คือ ฉลองนักบุญนิโคลาส ในวันที่ 6 ธันวาคม
ซึ่งหมายถึงนักบุญนี้จะมาเยี่ยมเด็กๆ และเอาของขวัญมาให้ เด็กอื่นๆที่ไม่ใช่ลูกหลานของชาวฮอลแ
ลนด์ที่อพยพมาก็รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในประเพณีแบบนี้บ้างเพื่อรับของขวัญ ประเพณีนี้จึงเริ่มเป็นที่รู้จักและแพร่หลายไปในอเมริกา
โดยมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างคือ ชื่อนักบุญนิโคลาส ก็เปลี่ยนเป็นซานตาคลอส และแทนที่จะเป็นสังฆราช
ซึ่งเป็นนักบุญองค์นั้น ก็กลายเป็นชายแก่ที่อ้วน ใส่ชุดสีแดง
อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ มีเลื่อนเป็นพาหนะ มีกวางเรนเดียร์ลาก และจะมาเยี่ยมเด็กทุกคนในโลกนี้โอกาสคริสต์มาส
โดยลงมาทางปล่องไฟของบ้าน เพื่อเอาของขวัญมาให้เด็กเหล่านั้น ตามความประพฤติของเขา
ลักษณะภายนอกของซานตาคลอสที่ถูกสมมุติขึ้นมา เหมือนกับจะลอกเลียนแบบมาจาก Thor
ซึ่งเป็นเทพเจ้าในนิยายโบราณของเยอรมัน และลอกเลียนแบบนักบุญนิโคลาส
ที่นำของขวัญมาแจกเด็กๆ อันที่จริงซานตาคลอสเป็นรูปแบบที่น่ารัก เหมาะสำหรับเป็นนิยายให้เด็กๆเชื่อ
แต่อาจจะทำให้คนทั่วไปหันมาสนใจ ให้ความสำคัญในตัวนิยายนี้แทนการบังเกิดของพระเยซูเจ้า
ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของเทศกาลคริสต์มาสนี้
การร้องเพลงคริสต์มาส
เพลงคริสต์มาสเริ่มมีขึ้นในศตวรรษที่ 5 ซึ่งในสมัยนี้มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสเป็นผู้แต่ง ร้องเป็นภาษาลาติน ลักษณะของเพลงเป็นแบบสง่า
เน้นถึงความหมายของการเสด็จมาของพระเยซูเจ้า แต่ในศตวรรษที่ 12 ได้มีวิวัฒนาการใหม่ในด้านเพลงนี้ เริ่มในประเทศอิตาลี โดยนักบุญฟรังซิส
อัสซีซี และนักบวชคณะฟรังซิสกัน เป็นผู้มีส่วนในการสนับสนุนให้มีเพลงคริสต์มาสแบบใหม่
ซึ่งชาวบ้านชอบ คือมีท่วงทำนองที่ร่าเริงกว่า และเน้นถึงความชื่นชมยินดีในโอกาสคริสต์มาสนี้เพลงเหล่านนี้เป็นภาษาลาติน
และภาษาพื้นเมือง เพลงหนึ่งที่แต่งในสมัยนั้น (แต่งคำร้องในปี ค.ศ. 1274) และยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบันคือ เพลง “ขอเชิญท่านผู้วางใจ” O Come,
all ye faithful หรือในภาษาลาตินว่า “Adeste Fideles”
เพลงคริสต์มาสที่เรานิยมร้องมากที่สุดในปัจจุบันได้แต่งขึ้นในศตวรรษที่ 19 จากประเทศเยอรมันและประเทศอังกฤษเป็นส่วนใหญ่ เพลงที่มีชื่อเสียงมาก
ได้แก่ Silent Night, holy Night เป็นภาษาไทยว่า “ราตรีสวัสดิ์
ราตรีสงัด” ความเป็นมาของเพลงนี้คือ วันก่อนฉลองคริสต์มาสของปี
ค.ศ. 1818 คุณพ่อ Jeseph Mohr เจ้าอาวาสวัดที่
Oberndorf ประเทศออสเตรีย ได้ข่าวว่าออร์แกนในวัดเสีย ทำให้วงขับไม่สามารถร้องเพลงตามที่ซ้อมไว้ได้
คุณพ่อเองตั้งใจจะแต่งเพลงคริสต์มาสใหม่ หลังจากแต่งเสร็จก็เอาไปให้เพื่อนคนหนึ่งชื่อ
Franz Gruberที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียงใส่ทำนองในคืนวันที่ 24
นั้นเอง สัตบุรุษวัดนี้ก็ได้ฟังเพลง Silent Night เป็นครั้งแรก โดยการเล่นกีต้าร์ประกอบการขับร้อง
ซึ่งกลายเป็นเพลงที่นิยมมากที่สุดทั่วโลก
เทียนและพวงมาลัย
ในสมัยก่อน
มีกลุ่มคริสตชนกลุ่มหนึ่งในเยอรมัน ได้เอากิ่งไม้มาประกอบเป็นวงกลมคล้ายพวงมาลัย แล้วเอาเทียน 4 เล่ม วางไว้บนพวงมาลัยนั้น
ในตอนกลางคืนของวันอาทิตย์แรกของเทศกาลเตรียมรับเสด็จทุกคนในครอบครัวจะมารวมกัน
ดับไฟ แล้วจุดเทียนเล่มหนึ่ง สวดภาวนาและร้องเพลงคริสต์มาสร่วมกัน เขาจะทำดังนี้ทุกอาทิตย์จนครบ 4 อาทิตย์ก่อนคริสต์มาส
ประเพณีนี้
เป็นที่นิยมและแพร่หลายในที่หลายแห่งโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา
ซึ่งต่อมามีการเพิ่ม
โดยเอาพวงมาลัยพร้อมกับเทียนที่จุดไว้ตรงกลาง 1 เล่ม ไปแขวนไว้ที่หน้าต่าง
เพื่อช่วยให้คนที่ผ่านไปมาได้ระลึกถึงการเตรียมตัวรับวันคริสต์มาสที่ใกล้เข้ามา
และพวงมาลัยนั้นยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่คนสมัยโบราณใช้หมายถึงชัยชนะ แต่ในที่นี้หมายถึงการที่พระองค์มาบังเกิดในโลก
และทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างครบบริบูรณ์ตามแผนการของพระเป็นเจ้า
การทำมิสซาเที่ยงคืน
เมื่อพระสันตะปะปา
จูลีอัส ที่ 1 ได้ประกาศให้วันที่ 25 ธันวาคม
เป็นวันฉลองพระคริสตสมภพ (วันคริสต์มาส) แล้วในปีนั้นเอง
พระองค์และสัตบุรุษได้พากันเดินสวดภาวนาและขับร้องไปยังตำบลเบธเลเฮม ยังถ้ำที่พระเยซูเจ้าประสูติ
พอไปถึงก็เป็นเวลาเที่ยงคืน
พระสันตะปาปและก็ทรงถวายมิสซา
ณ ที่นั้น เมื่อเสร็จแล้วก็กลับมาที่พัก เป็นเวลาเช้ามืด ราวๆ ตีสาม พระองค์ก็ถวายมิสซาอีกครั้งหนึ่งและสัตบุรุษเหล่านั้นพากันหลับ
แต่ยังมีสัตบุรุษหลายคนที่ไม่ได้ไป พระสันตะปาปาก็ทรงถวายมิสซาอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่
3 เพื่อให้สัตุบุรุษเหล่นั้น ด้วยเหตุนี้เองพระสันตะปาปาจึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์ถวายมิสซาได้
3 ครั้ง ในวันคริสต์มาส เหมือนกับการปฏิบัติของพระองค์
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงมีธรรมเนียมถวายมิสซาเที่ยงคืนในคริสต์มาสและพระสงฆ์ก็สามารถถวายมิสซาได้
3 มิสซา ในโอกาสวันคริสต์มาสเช่นเดียวกัน
ความสำคัญของวันคริสต์มาส
เราจะเห็นได้ว่า
วันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง
เนื่องจากเป็นการระลึกถึงวันที่พระบุตรของพระเจ้ามาบังเกิดเป็นมนุษย์ พระองค์เป็นพระเจ้าที่จะอยู่กับเราตลอดไป เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นพี่หัวปีที่จะนำมนุษย์ทั้งมวลไปสู่พระบิดาเจ้า
พระองค์เป็นความสำเร็จบริบูรณ์ตามคำสัญญาของพระเจ้าที่จะดูแลป้องกันรักษาเราผู้เป็นประชากรของพระองค์
เราเป็นเหมือนลูกแกะที่หายไป
แต่พระเยซูเป็นชุมพาบาลใจดีที่ตามหาเราจนพบ
และจะไม่มีอะไรที่แยกเรากับพระองค์ได้อีกเลย
มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชนชาติไหน
จะรวยหรือจน คนศรัทธาหรือคนบาป
ล้วนมีความสำคัญต่อหน้าพระเจ้าเสมอ
เพราะตั้งแต่การเสด็จมาบังเกิดของพระเยซูเจ้านั้น
พระเป็นเจ้าพระบิดาทรงเห็นพระฉายาลักษณ์ของพระบุตรในทุกคน เราก็เช่นเดียวกัน
เราต้องรักซึ่งกันและกันเหมือนอย่างที่เรารักพระเจ้า
นั่นหมายถึงเราต้องเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน
ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนยากจน คนต่างชาติ หรือคนที่วางตัวเป็นศัตรูกับเรา “ผู้ที่ไม่รักพี่น้องที่เขาแลเห็นได้
ย่อมไม่รักพระเจ้าที่เขาแลเห็นไม่ได้
เราได้รับบทบัญญัตินี้จากพระองค์
คือให้ผู้ที่รักพระเจ้ารักพี่น้องของตนด้วย” (1ยน 4: 20-21)
ประเพณีของการฉลองคริสต์มาสที่มีความเป็นมาดังกล่าวนี้
ควรเป็นสิ่งที่ชักจูงเราให้เปี่ยมไปด้วยความรัก
ที่พร้อมจะรับใช้ผู้อื่นอย่างเต็มที่