นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
อัครสาวก
29 มิถุนายน สมโภช น.เปโตรและน.เปาโล อัครสาวก |
กจ 12:1-11 2 ทธ 4:6-8,
17-18 มธ 16:13-19 |
บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลเป็นการฉลองเก่าแก่ที่สุด
มีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน
มีการฉลองนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ
3 แห่งที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง
และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียนที่เชื่อว่า เป็นที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง
ในห้วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่า ทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร
เปโตร ถูกตรึงกางเขนเอาหัวลงปี 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรปัจจุบัน
และ เปาโล ในฐานะพลเมืองโรมันถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม ที่ตั้งมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง
นักบุญเอากุสตินได้เทศน์ว่า
“อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน
แม้พลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม”
ดังนั้น พระศาสนจักรเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น “ศิลารากฐาน” ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระเยซูเจ้าสืบต่อมา
อีกทั้ง ยังสั่งสอนหลักความจริงของพระเยซูเจ้าและสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.
นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล
อัครสาวก
นักบุญเปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน”
เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในเมืองเบธไซดา (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก
สิ่งที่รู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม
(มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ
อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำเปโตรให้ติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42) เป็นไปได้ว่า ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างเป็นผู้เตรียมจิตใจเปโตรในการพบพระเยซูเจ้า
และได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อจาก “ซีโมน” เป็น “เปโตร”
เพื่อเป็นศิลาสำหรับตั้งพระศาสนจักร (มธ 16:17-19) และเป็นหัวหน้าอัครสาวก
(ยน 21:15-17) เปโตรเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า
(ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่เปโตรหลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว
(ลก 24:34; 1 คร 15:5) เราเห็นชัดว่า
เปโตรแม้เปลี่ยนชื่อ แต่ยังอ่อนแอและพลาดพลั้ง เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนพบพระเยซูเจ้าอีกครั้ง
นักบุญเปาโล เดิมชื่อ “เซาโล” เกิดที่เมืองทาร์ซัสในแคว้นซิลีเซีย จากตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าคริสตชนเพราะคิดว่า เป็นพวกมิจฉาทิฐิที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เห็นขณะเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัส เปาโลเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า ได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนียและกลายเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่
นักบุญเปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส
ออกเดินทางไปประกาศข่าวดี เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของเปาโล
จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13
เป็นต้นไป เปาโลประกาศพระนามของพระเยซูเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา
ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในเมืองต่าง ๆ ทำให้เปาโลเป็น “อัครสาวกของคนต่างศาสนา”
เพราะได้นำข่าวดีของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่คนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15)
2.
บทเรียนสำหรับเรา
การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลอัครสาวก
และพระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิต
ประการแรก เราต้องกลับใจหันมาหาพระเจ้า นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน
เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน พระเยซูเจ้าทรงเรียกชื่อทั้งสองและทรงเปลี่ยนชีวิตของทั้งสอง
ให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด ทรงเรียกและเลือกใช้ผู้อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์
ความผิดพลาดในอดีตไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหากที่สำคัญ
ประการที่สอง เราต้องสำนึกในความต่ำต้อยของตน นักบุญเปโตรได้รับเลือกพิเศษให้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้า
แต่สำนึกในความไม่เหมาะสมของตนและทูลพระเยซูเจ้าว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด
พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8) นักบุญเปาโลเช่นกันได้เขียนว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้น้อยที่สุดในบรรดาอัครสาวก
และไม่สมควรได้ชื่อว่าเป็นอัครสาวก” (1 คร 15:9) และเลือกใช้ชื่อเปาโลซึ่งหมายถึง “เล็กน้อย”
ประการที่สาม เราต้องรักกันและให้อภัยเสมอ นักบุญเปโตรถามพระเยซูเจ้าว่า ถ้าพี่น้องทำผิดต้องยกโทษให้กี่ครั้ง
เจ็ดครั้งพอไหม พระเยซูเจ้าตอบว่า “เราไม่ได้บอกท่านว่าต้องยกโทษให้เจ็ดครั้ง
แต่ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ 18:22) ความรักและการให้อภัยของพระเยซูเจ้าทำให้เปโตรรู้สึกผิดที่เคยปฏิเสธพระองค์ และเปาโลรู้สึกผิดที่เคยทำร้ายผู้บริสุทธิ์
ความรักและการให้อภัยของพระเยซูเจ้ายิ่งใหญ่กว่าความผิดและความล้มเหลวของทั้งสอง
ประการที่สี่ เราต้องประกาศข่าวดีและเป็นพยาน นักบุญเปโตรได้ประกาศข่าวดีและพลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยการตรึงกางเขนกลับหัวที่เนินวาติกัน
ส่วนนักบุญเปาโลได้ประกาศข่าวดีและก่อตั้งกลุ่มคริสตชนตามเมืองต่าง ๆ จนได้ชื่อว่า เป็นอัครสาวกของคนต่างศาสนา
และได้เขียนว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ”
(1 คร 9:16) ที่สุด ได้พลีชีพเป็นมรณสักขีด้วยการถูกตัดศีรษะบนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม
บทสรุป
พี่น้องที่รัก การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล อัครสาวก เป็นการสมโภชเสาหลักทางความเชื่อของพระศาสนจักร นักบุญเปโตรเป็นเสาหลักทางความเชื่อที่ต้องยึดถือ
นักบุญเปาโลเป็นผู้สอนนานาชาติให้มีความเชื่อ เสาหลักทั้งสองมีความสำคัญเพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากบรรดาอัครสาวก
ความเชื่อเป็นดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราในวันรับศีลล้างบาป เรามีหน้าที่บำรุงรักษา
ทำให้เจริญเติบโต และเกิดผล
การสมโภชวันนี้เชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจ ที่พระเยซูเจ้าประทานแก่นายชุมพาของพระศาสนจักร
มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์ หรือเจ้านายทั้งหลาย แต่เป็น อำนาจแห่งความรักและการรับใช้ ซึ่งพระองค์ทรงสอนและมอบชีวิตบนไม้กางเขนเพื่อความรอดของทุกคน ศิษย์พระคริสต์ต้องร่วมมือกับนายชุมพาทุกระดับของตน
อธิษฐานภาวนาเพื่อท่านให้สามารถทำหน้าที่แห่งความรักและการรับใช้เยี่ยงพระเยซูเจ้า และทำหน้าที่ประจำวันของตนให้ดีที่สุดและเกิดผล
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
28 มิถุนายน 2022
ที่มาภาพ : http://www.neeramukalcathedral.com/