วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ฟรังซิส เซเวียร์ คำดี ถินวัลย์

 

ชีวประวัติ

คุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ คำดี  ถินวัลย์


กำเนิด

คุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ คำดี  ถินวัลย์ เกิดเมื่อ 19 ธันวาคม 1939 (2482) ที่บ้านจันทร์เพ็ญ ต.เต่างอย อ.เมือง จ.สกลนคร เป็นบุตรคนที่ 4 ของเบเนดิกโต บุญมี  ถินวัลย์ กับ โรซา ผังทอง  ถินวัลย์ มีพี่น้องทั้งหมด 5  คน ดังรายนามต่อไปนี้

1)        กาทารีนา คำปอน  ปาหมึก          เสียชีวิตแล้ว

2)        ซีมอน ถนอม  ถิ่นวัลย์                 เสียชีวิตแล้ว

3)        อันนา บัวครอง  โพธิ์ดำ               เสียชีวิตแล้ว

4)        ฟรังซิส เซเวียร์ คำดี  ถินวัลย์      ผู้วายชนม์

5)        อันนา สุรีย์  พรหมสาขา ณ สกลนคร เสียชีวิตแล้ว

ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ แถวแรก คนรองสุดท้าย บ้านเณรฟาติมา ปี 1953
การศึกษา

คุณพ่อคำดี ถินวัลย์ ได้รับการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเต่างอยราษฎร์อนุกูล (โรงเรียนอนุบาลเต่างอย ปัจจุบัน) จากนั้นได้เข้าบ้านเณรท่าแร่ เลขลำดับที่ 125 ปี 1952 (2495) รุ่นเดียวกับคุณพ่อยอห์นบัปติสต์ นรินทร์  ศิริวิริยานันท์ เพื่อเรียนรู้กระแสเรียกและพระประสงค์ของพระเจ้า โดยศึกษาที่โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

เมื่อแน่ใจว่าไม่ใช่เส้นทางชีวิตที่พระเจ้าทรงเลือก ได้ลาออกจากบ้านเณรและสมัครเข้าเป็นครูสอนที่โรงเรียนมัธยมศิริขัน บ้านพังโคน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นเวลา 1 ปี และสมัครเข้าเป็นครูสอนที่โรงเรียนมารีย์นุเคราะห์ จันทร์เพ็ญ ต.เต่างอย อ.เมือง จ.สกลนคร พร้อมกับสมัครสอบจนได้รับประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม (พ.ม.)

ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ กับหลานชายลูกพี่สาว วันปลงศพกาทารีนา คำปอน ปาหมึก; 13 ธันวาคม 2018
หน้าที่การงาน

22 เมษายน 2511 ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูที่โรงเรียนบ้านหนองแวงน้อย ต.โคกศรี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร หมู่บ้านกันดารที่ไม่มีเส้นทางคมนาคม ต้องเดินเท้าไปตามทางเกวียนเป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร และอยู่ในเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เคยถูกลอบยิงครั้งหนึ่งขณะเดินทางไปราชการพร้อมผู้ใหญ่บ้านที่อำเภอสว่างแดนดิน ต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด และด้วยความช่วยเหลือของชาวบ้านทำให้สามารถทำหน้าที่พ่อพิมพ์ของชาติที่นั่นเป็นเวลา 3 ปี

2514-2516     ย้ายไปสอนที่โรงเรียนบ้านนาอ่างม่วงคำ ต.นาตาล อ.เต่างอย จ.สกลนคร

2516-2520     ย้ายไปสอนที่โรงเรียนชุมชนเต่างอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร (โรงเรียนอนุบาลเต่างอย ปัจจุบัน)

ปี 2518          โรงเรียนมารีย์นุเคราะห์ จันทร์เพ็ญได้เลิกกิจการ ทำให้เด็กนักเรียนจากหมู่บ้านจันทร์เพ็ญประสบปัญหาในการเดินทางไปเรียนที่อื่นซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 2 กิโลเมตร ครูคำดี  ถินวัลย์ ได้ปรึกษาพระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน  เสมอพิทักษ์ ถึงปัญหาความเดือดร้อน และเป็นผู้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเพื่อขอจัดตั้งโรงเรียนขึ้นมาใหม่ และได้รับอนุมัติตามหนังสือร้องเรียน โดยใช้อาคารสถานที่เดิมของโรงเรียนมารีย์นุเคราะห์ จันทร์เพ็ญ เปิดทำการสอนเป็นการชั่วคราว

ปี 2520          รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณสร้างอาคารเรียนสองชั้น ในที่ดินสาธารณะของหมู่บ้าน โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญ” เพื่อเป็นสถานศึกษาเล่าเรียนของบุตรหลานชาวจันทร์เพ็ญเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และครูคำดี  ถินวัลย์ ในฐานะผู้บุกเบิกและก่อตั้ง ได้ย้ายมาสอนที่โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญในปีเดียวกันนั้น

ปี 2522          ครูคำดี ถินวัลย์ ได้รับคำสั่งด่วนและลับมากจากนายสายสิทธิ์ พรแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ให้ไปราชการที่หมู่บ้านโคกกลาง หมู่บ้านที่อยู่กลางหุบเขาภูพาน ทุรกันดาร อยู่ใต้อิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และถูกตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสิ้นเชิง โดยมีเป้าหมายเพื่อหาสถานที่ตั้งโรงเรียนและสร้างอาคารเรียนภายใน 1 ปี เพื่อให้บุตรหลานชาวโคกกลางได้เรียนหนังสือ ครูคำดี ถินวัลย์ ต้องเดินเท้าโดยการนำทางของชาวโคกกลางไปตามไหล่เขาสูงชัน ผ่านลำห้วย และป่าหนาทึบของเทือกเขาภูพานเป็นระยะทาง 16 กิโลเมตร

ที่สุด ได้เดินทางถึงหมู่บ้านโคกลาง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชาวโคกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นพี่น้องจากบ้านจันทร์เพ็ญ ด้วยประสบการณ์ที่เคยรับราชการที่บ้านหนองแวงน้อย ปฏิภาณไหวพริบ และความเฉลียวฉลาดของครูคำดี ถินวัลย์ ทำให้สามารถจัดตั้งโรงเรียนและหาสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียนได้สำเร็จโดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านโคกกลาง” และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูใหญ่ของโรงเรียน

ขณะรับราชการที่โรงเรียนบ้านโคกกลาง ครูคำดี ถินวัลย์ ได้ทำหนังสือถึงนายสายสิทธิ์ พรแก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร เพื่อขออุปกรณ์แป๊บน้ำประปาต่อจากแหล่งน้ำธรรมชาติบนภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านเป็นระยะทางยาว 6 กิโลเมตร ทำให้ราษฎรบ้านโคกกลางได้มีน้ำประปาสำหรับบริโภคและอุปโภค อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้หลงผิดได้กลับใจกลายเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย พาครอบครัวเข้ามาอาศัยในหมู่บ้านโคกกลาง จำนวน 10 ครอบครัว

ปี 2533         ครูคำดี ถินวัลย์ ได้ขอย้ายตัวเองโดยยอมลดตำแหน่งครูใหญ่ลงมาเป็นครูสายผู้สอนที่โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญ ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร เพื่อพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ก่อนเกษียณอายุราชการเมื่อ  1 ตุลาคม 2543 ในตำแหน่งข้าราชการบำนาญ อาจารย์ 2 ระดับ 7

ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ กับ อักแนส ดีไสย์ ถินวัลย์ คู่ชีวิต
ครอบครัว

เมื่อคุณพ่อคำดี ถินวัลย์ มีอายุพอสมควรได้พบรักและแต่งงานกับนางสาวอักแนส ดีใสย์ งอยจันทร์ศรี ธิดาสาวสวยของคุณตาคำมี-คุณยายทองคำ งอยจันทร์ศรี โดยเข้าพิธีรับศีลสมรสที่วัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ มีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 9 คน ดังรายนามต่อไปนี้

1)        นายเฮียโรนิโม เพชรบูรณ์  ถินวัลย์          เจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

2)        ว่าที่ร้อยตรีโทมัส สุดสารคร  ถินวัลย์       ข้าราชการบำนาญและหมอผสมเทียมโค กระบือ เขตติดต่ออำเภอวรนรนิวาส, เจริญศิลป์ และคำตากล้า

3)        นางมารีอา ประภาพร  มูลศรี       ครูโรงเรียนเซนต์ยอแซฟสกลนคร อ.เมือง จ.สกลนคร

4)        นางสาวมาร์การิตา รัศมี  ถินวัลย์  ครูโรงเรียนเซนต์ยอแซฟมุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร

5)        นายยออากิม ขจรศักดิ์  ถินวัลย์    ประกอบอาชีพอิสระ

6)        นายมีคาแอล พรชัย  ถินวัลย์        เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร

7)        นายปีโอ สิทธิชัย  ถินวัลย์            ประกอบอาชีพอิสระ

8)        นางลูชีอา อุไรวรรณ  โพธิ           พยาบาลผู้ช่วยโรงพยาบาลศูนย์สกลนคร

9)        นางคลารา กรรนิการ์  วงค์คำจันทร์         เจ้าหน้าที่ประจำห้องทดลองศูนย์วิจัยพืชไร่ อ.กุดจับ จ.อุดรธานี

ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ กับลูกหลานวันมิสซาหน้าศพพี่สาว กาทารีนา คำปอน ปาหมึก; 12 ธันวาคม 2018

คุณงามความดี

ตลอดชีวิตการรับราชการ คุณพ่อคำดี ถินวัลย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์สุจริต กล้าหาญเด็ดเดี่ยว เสียสละและอุทิศตนเพื่องานราชการอย่างดียิ่ง เป็นครูที่ลูกศิษย์รักและเคารพนับถืออย่างสนิทใจ เป็นบุคลากรทางการศึกษาที่ผู้บังคับบัญชาไว้ใจและชื่นชม ได้สร้างคุณประโยชน์มากมายต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีการก่อตั้ง “โรงเรียนบ้านจันทร์เพ็ญ” และ “โรงเรียนบ้านโคกกลาง” ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร

อีกทั้งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้หลงผิดกลับใจมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย จนได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 3 ชื่ออริยาภรณ์ มงกุฎไทย เมื่อ 5 ธันวาคม 2533 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ 2 ระดับ 7 รุ่นแรกของครูสายผู้สอนในจังหวัดสกลนคร ต่อเมื่อเกษียณอายุราชการ ยังทำหน้าที่ช่วยเหลืองานสังคมและพระศาสนจักรอย่างแข็งขัน ด้วยการเป็นสภาภิบาลวัดแม่พระถวายพระกุมารในพระวิหาร จันทร์เพ็ญ เป็นเวลาหลายปี นับเป็นปูชนียบุคคลที่ควรค่าแก่การยกย่อง และเป็นแบบอย่างสำหรับอนุชนรุ่นหลังอย่างแท้จริง

ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ รับศีลเจิมคนไข้และศีลมหาสนิท; 16 มิถุนายน 2020

วาระสุดท้าย

เหตุการณ์ที่ยังความเศร้าโศกเสียใจที่สุดของคุณพ่อคำดี ถินวัลย์ คือการกลับไปเฝ้าพระเจ้าของอักแนส ดีไสย์ ถินวัลย์ คู่ชีวิต เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2013 (2556) ทำให้ต้องอยู่โดยลำพังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีบรรดาบุตรหลานแวะเวียนมาดูแล ประมาณกลางปี 2020 (2563) คุณพ่อคำดี ถินวัลย์  เริ่มอ่อนแรงและเจ็บป่วย แต่ยังสามารถพึ่งพาตนเองได้ ได้เตรียมตัวด้วยการรับศีลเจิมคนไข้และศีลมหาสนิทเมื่อ 16 มิถุนายน 2020 (2563) จากหลานชายซึ่งเป็นพระสงฆ์ ถือเป็นพระพรยามเจ็บป่วย

กระทั่งสองเดือนที่ผ่านมา คุณพ่อคำดี ถินวัลย์ ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้โดยลำพัง บุตรสาวคนรองสุดท้องได้ลาออกจากงานเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ที่สุด ได้มอบคืนดวงวิญญาณ สู่การพักผ่อนนิรันดรในองค์พระเจ้าอย่างสงบ เมื่อพุธที่ 22 มิถุนายน 2022 (2565) เวลา 8.20 น. สิริอายุ 82 ปี 6 เดือน 3 วัน

ขอฝากดวงวิญญาณของ คุณพ่อฟรังซิส เซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ ไว้ในคำภานาของพระคุณเจ้า คณะสงฆ์ นักบวช แขกผู้มีเกียรติ และพี่น้องทุกท่านด้วย

พิธีบูชาขอบพระคุณหน้าศพ ฟรังซิสเซเวียร์ คำดี ถินวัลย์ ที่จันทร์เพ็ญ; 23 มิถุนายน 2022









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น