วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ความรักกับวันวาเลนไทน์

 ความรักกับวันวาเลนไทน์


วันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก เป็นวันที่ผู้คนให้ความสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยไปแล้ว โดยเฉพาะวัยรุ่นหนุ่มสาว กระทั่งดอกกุหลาบขาดตลาดและมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ยังจำได้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีก่อน มีสุภาพสตรีคนหนึ่งมายืนรอมอบดอกกุหลาบวาเลนไทน์ให้คุณพ่อฝรั่งองค์หนึ่ง คุณพ่อพูดขึ้นว่า “จะแต่งงานกับพ่อหรือครับ” เท่านั้นแหละเธออายหน้าแดงเดินหนีไปและทำให้เกิดอาการเกลียดฝรั่งขึ้นมาตั้งแต่วันนั้น

เลยทำให้เข้าใจว่า การให้ดอกกุหลาบวันวาเลนไทน์ของคนไทยกับฝรั่งแตกต่างกัน จะเป็นเพราะว่าคนไทยรับเอาวิธีปฏิบัติของตะวันตกมาโดยที่ไม่เข้าใจถึงที่มาและความหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่เปิดรับทุกอย่างโดยไม่แยกแยะหรือศึกษาทำความเข้าใจ ในที่นี้จึงใคร่เสนอที่มาและความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับวันวาเลนไทน์
นักบุญวาเลนไทน์

นักบุญวาเลนไทน์ (Valentine) เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งที่ถูกประหารชีวิตในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 270 ในสมัยพระจักรพรรดิโรมัน เกลาดิอุส ที่ 2 ความจริงแล้วท่านนักบุญไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเพณีเลือกคู่ หาคู่ หรือความรักในหมู่หนุ่มสาวเลย และที่มาของวันวาเลนไทน์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนักบุญองค์นี้ แต่ขึ้นอยู่กับวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ประเพณีเลือกคู่หรือหาคู่มีมาแต่โบราณในทุกชาติ ส่วนประเพณีวาเลนไทน์มีที่มาสมัยที่จักรวรรดิโรมันแผ่อิทธิพลไปทั่ว ชาวโรมันสมัยโบราณมีการฉลองเทพเจ้าองค์หนึ่งชื่อ ลูแปร์คุส (Lupercus) ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีการจัดงานหาคู่ของหนุ่มสาวเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองโดยจัดขึ้นก่อนวันฉลองใหญ่ 1 วัน คือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นโอกาสให้หนุ่มสาวได้เสนอตัวเป็นคู่รักกันเป็นเวลา 1 ปี เพื่อเรียนรู้นิสัยใจคอว่าไปด้วยกันได้ไหมก่อนจะตัดสินใจแต่งงานกัน

ชาวโรมันเป็นคนศรัทธาในเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และเชื่อว่ามีเทพเจ้าองค์หนึ่งเป็นผู้ดูแลความรักระหว่างที่ทดลองเป็นคู่รักกันคือ เทพธิดาจูโน เฟบรูอาตา (Juno Februata) ต่อมาเมื่อชาวโรมันส่วนใหญ่กลับใจเป็นคริสตชน ประเพณีหาคู่ของหนุ่มสาวเพื่อทดลองเป็นคู่รักกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนผู้อุปถัมภ์องค์ใหม่แทนเทพเจ้าองค์เดิม คือนักบุญวาเลนไทน์ ที่มีวันฉลองตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เพราะคริสตศาสนาไม่นับถือเทพเจ้า

ที่มาเป็นอย่างนี้ แต่ดูเหมือนในความเข้าใจของวัยรุ่นไทยสมัยใหม่จะไปไกลกว่านั้น วันวาเลนไทน์คือวันเสียความบริสุทธิ์ที่ลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์กัน ไม่ใช่วันเวลาของการเรียนรู้เป็นคู่รักเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเหมือนในอดีต ซึ่งเท่ากับเป็นการลดคุณค่าความรักที่สูงส่งในวัยหนุ่มสาวให้เป็นเพียงความใคร่ที่ปราศจากความยั้งคิดและความรับผิดชอบ

ใครที่เคยไปเที่ยว ทัชมาฮาล คงจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่สวยงามของสิ่งก่อสร้างซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความมหัศจรรย์ของมันเป็นอมตะไปตลอดกาลคือเหตุผลที่สร้างมันขึ้นมา คือ “ความรัก” นั่นเอง เป็นความรักของ กษัตริย์ชาเจฮัน ที่มีต่อ พระนางมุมทัช มาฮาล มเหสีผู้เป็นที่รักที่จากไป

ความรักจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่างของโลก ที่สามารถผลักดันให้มนุษย์ทำอะไรได้ทุกอย่าง ทำอย่างไรจึงจะทำให้วัยรุ่นหนุ่มสาวสมัยใหม่ ได้ใช้พลังของความรักไปในทางที่ถูกที่ควรและสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสังคมไทยเวลานี้ที่กำลังขาดความรักและการให้อภัย

คุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา ได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า "โรคที่เป็นกันมากทุกวันนี้ไม่ใช่โรคเรื้อนหรือวัณโรค แต่เป็นความรู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครต้องการ และที่ร้ายกาจที่สุดคือ โรคขาดความรักและเมตตา"

อย่าลืมมอบความรักตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้าแก่กัน ไม่ใช่เพียงในวันวาเลนไทน์เท่านั้นแต่ทุกวันในชีวิต และไม่ลืมว่า "วาระสุดท้ายแห่งชีวิตเราจะไม่ถูกพิพากษาด้วยจำนวนงานที่เราทำ แต่ด้วยความรักที่เราให้ในเวลาที่เราทำงานนั้นๆ"

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
หมายเหตุ บทความนี้เคยพิมพ์เผยแพร่ใน "บทบรรณาธิการ"
สารอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง, ปีที่ 1 ฉบับที่ 6, (กุมภาพันธ์, 2549)
เห็นว่ายังใช้ได้ และเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงนำมาเผยแพร่อีกครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น