วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คือคำว่า "รัก"

 คือคำว่า “รัก”


เราเคยสงสัยไหมว่า “ความรู้สึกที่แสดงออกต่อกัน” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “LOVE” ทำไมภาษาไทยจึงบัญญัติศัพท์ให้ใช้คำว่า “รัก” ไม่ใช้คำอื่น เช่นคำว่า “ชอบ” หรือ “ชื่นชม” เช่น “ฉันชอบเธอ” หรือ “ฉันชื่นชมในตัวเธอ” แต่กลับใช้คำว่า “ฉันรักเธอ”

“รัก” มีตัวอักษรอยู่ 2 ตัว คือ ร.เรือ และ ก.ไก่ การเลือกใช้ตัวอักษร 2 ตัวนี้มีความหมาย “ร” มาจากคำว่า “เรา” “ก” ย่อมาจากคำว่า “กู” ตัวกู-ของกู อย่างที่ท่านพุทธทาสสอน “ความรัก” จึงเป็นเรื่องคน 2 คน ไม่ว่าจะเป็นชีวิตคู่หรือชีวิตหมู่คณะ จะต้องเป็นการผสาน “ร” และ “ก” เข้าด้วยกัน

เมื่อคน 2 คนตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน หรือเลือกดำเนินชีวิตหมู่คณะ เหมือนกับว่าต่อไปนี้จะไม่มี “ฉัน” ไม่มี “เธอ” มีแต่ “เรา” กระนั้นก็ดี ในความเป็น “เรา” ทั้ง 2 คนยังมีความเป็นตัวตนของตนเองอยู่ ฉันยังเป็นตัวฉัน เธอยังเป็นตัวเธอ

การหาค่ากลางระหว่าง “เรา” และ “ตัวตน” ของแต่ละคน เพื่อให้ชีวิตคู่หรือชีวิตหมู่คณะดำเนินไปอย่างราบรื่นและมีความสุข เป็นศิลปะแห่งความรัก และนั่นคือ เหตุผลที่ “ร” และ “ก” ต้องมี “ไม้หันอากาศ” อยู่ด้านบน สำหรับเชื่อมอักษรสองตัวนี้เข้าด้วยกัน หากสังเกตให้ดี ไม้หันอากาศบนตัว “ร” ปลายหางมันตวัดลงเป็นรูป “หัวใจ”

ความรักจึงไม่ใช่เรื่องของ “เหตุผล” แต่เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” เราถามทุกสิ่งด้วย “เหตุผล” ได้ แต่สำหรับ “ความรัก” เราต้องถามด้วย “หัวใจ” และตอบด้วย “หัวใจ” เท่านั้น และเมื่อมีความรักแล้ว ย่อมสามารถเปลี่ยนกระท่อมธรรมดาให้กลายเป็นราชสำนักได้

“ความรัก” จึงเป็นหลักการพื้นฐานและคำสอนที่สำคัญของพระเยซูเจ้า ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ทั้งสิ้น และพระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

หากไม่มีสิ่งไหนจะมอบให้กัน จงให้ “ความรัก” ออกไป และไม่ใช่เฉพาะวันวาเลนไทน์เท่านั้น แต่ทุกวันในชีวิตของเรา จงปล่อยให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า เพื่อเราจะสามารถรู้ได้ว่า มีสิ่งไหนที่ควรทำเพื่อทำให้คนที่เรารักมีความสุข และทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
14 กุมภาพันธ์ 2011

หมายเหตุ ได้ข้อคิดจากบทความ “รัก” ของ หนุ่มเมืองจันท์ ใน มติชนสุดสัปดาห์, ปีที่ 31ฉบับที่ 1591, 11-17(กุมภาพันธ์, 2554), หน้า 24.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น