วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2561

วันสุดท้ายของปี


วันสุดท้ายของปี
31 ธันวาคม
เทศกาลพระคริสตสมภพ
1 ยน 2:18-21
ยน 1:1-18
วันนี้เป็นวันสุดท้ายของปีปฏิทิน และคืนนี้หลายคนคงชวนกันไปนับถอยหลังต้อนรับปีใหม่ ด้วยการเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน บ้างจุดพลุไฟ ประทัด ยิงปืน เปิดประตูบ้านหรือติดเครื่องรถยนต์เพราะเชื่อว่านำมาซึ่งความโชคดี ในขณะที่ปฏิทินของพระศาสนจักรจบด้วยการเริ่มต้นพระวรสารของนักบุญยอห์น พระศาสนจักรเชิญชวนเราให้มองดูพระกุมารเยซู พระวจนาตถ์ ผู้เป็นแสงสว่างขับไล่ความมืด นำความยินดีและความหวังมาสู่เรา
 วันสุดท้ายของปี เราต้องขอบคุณพระเจ้าในความเมตตาและพระทัยกว้างของพระองค์ ผู้ทรงประทานเวลาและชีวิตแก่เรา บ่อยครั้งเราดำเนินชีวิตในทางตรงข้ามกับพระประสงค์ของพระองค์ เราเป็นเหมือน “แกะพลัดฝูง” แต่พระองค์ไม่ทรงทอดทิ้งเรา ยังทรงตามหาเรา ทรงประทานพระหรรษทานเพื่อนำเรากลับมาหาพระองค์และเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง การเริ่มต้นใหม่เป็นเครื่องหมายแห่งพระพรและความหวัง เราต้องพร้อมเริ่มต้นใหม่กับพระองค์ทุกวัน
พระวรสารวันนี้ นักบุญยอห์นได้ทำเสนอพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็นพระวจนาตถ์ เมื่อแรกเริ่มนั้น พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่แล้ว พระวจนาตถ์ประทับอยู่กับพระเจ้า และพระวจนาตถ์เป็นพระเจ้า” (ยน 1:1) ยอห์นชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโลก แต่ทรงเป็นอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่นิรันดรก่อนการสร้างสรรพสิ่งและก่อนกาลเวลา ทรงเป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่ง “ไม่มีสักสิ่งเดียวที่พระเจ้าไม่ทรงสร้างโดยทางพระวจนาตถ์” (ยน 1:3)
พระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่างที่เผยให้ทราบว่าเราเป็นใคร ทรงรับสภาพมนุษย์และประทับท่ามกลางเรา หลายคนลืมนึกถึงสิ่งนี้ “แต่ประชากรของพระองค์ไม่ยอมรับพระองค์” (ยน 1:11) มีบางคนยอมรับและเชื่อในพระองค์ ทรงทำให้คนเหล่านี้กลายเป็น “บุตรของพระเจ้า” (ยน 1:13) พระองค์ทรงกลายเป็นหนึ่งในพวกเรา เพื่อช่วยเราให้เป็นเหมือนพระองค์สักวันหนึ่ง ทรงประสงค์ให้เราได้แบ่งปันสภาวะพระเจ้าและเป็นเหมือนพระองค์
คริสตชนต้องตระหนักว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระวจนาตถ์ และแสงสว่างแห่งชีวิตของเรา ดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงแสงสว่างเช่นเดียวกับยอห์น บัปติสต์ ศิษย์พระคริสต์ต้องให้พระเยซูเจ้าเป็นแสงสว่างแห่งชีวิตของเรา ด้วยการแก้ไขความบาดหมาง แบ่งปันความยินดีที่มีกับผู้อื่น ฟังและเข้าใจผู้อื่นด้วยจริงใจ แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และให้เวลาในการอธิษฐานภาวนาทุกวันเพื่อสรรเสริญและขอบคุณพระเจ้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
30 ธันวาคม 2018
ภาพ: นักขับร้องเพลงคริสต์มาส-ปีใหม่, วัดพระเมตตาแห่งพระเยซูเจ้า โนนค้อ, สกลนคร; 2018-12-26

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ, ปีที่ 1 ฉบับที่ 33


สารวัดดอนม่วย-โนนค้อ

ปีที่ 1  ฉบับที่ 33;  อาทิตย์ที่ 30  ธันวาคม 2018 (2561): http.//dondaniele.blogspot.com

107 หมู่ 6 บ้านดอนม่วย ตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130È086-231-3231

ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
เด็กรับศีลมหาสนิทครั้งแรกจากดอนม่วย-โนนค้อ; 25 ธันวาคม 2018
พี่น้องที่รัก สัปดาห์สุดท้ายของปีพระศาสนจักรให้เราฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งประกอบด้วยพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอแซฟ ให้เราได้มอบถวายครอบครัวของเราและสมาชิกทุกคนในครอบครัวและหมู่คณะ บนพระแท่นบูชาเพื่อขอพระพรจากครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ วันฉลองนี้เตือนใจเราถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรสากลและการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์
พระคัมภีร์บอกให้เราทราบน้อยมากเกี่ยวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า มีพูดถึงเพียงระยะเริ่มแรกของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่เรื่องราวการบังเกิดของพระเยซูเจ้าที่เบธเลเฮม การหนีไปประเทศอียิปต์ การหายไปของพระเยซูเจ้าขณะไปนมัสการที่พระวิหารกรุงเยรูซาเล็ม บทอ่านวันนี้พูดถึงครอบครัวในฐานะที่เป็นของประทานจากพระเจ้า
 กลุ่มเด็กนักขับร้องส่งความสุขคริสต์มาส; 22 ธันวาคม 2018
บทอ่านที่หนึ่ง เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าให้พระผู้ไถ่โลกบังเกิดและเติบโตในครอบครัว หนังสือบุสิราได้ให้ภาพครอบครัวชาวยิวในพันธสัญญาเดิม บุตรต้องรักและให้ความเคารพบิดา-มารดา ซึ่งเตือนเราถึงความสำคัญและประโยชน์สูงสุดของการถือปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้าประการที่สี่
บทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลได้ให้ภาพของครอบครัวคริสตชน ซึ่งเป็นที่บ่มเพาะพระวาจาของพระเจ้า สันติสุขและความยินดี สมาชิกในครอบครัวมีหน้าที่ต่อกันและกัน พวกเขาต้องเจริญชีวิตดังคนที่รักพระเจ้า ซึ่งได้รับการเรียกให้แสดงความรัก ความดีและความอดทนต่อกันและกัน
พระวรสาร นักบุญลูกาได้เล่าเรื่องการหายไปของพระเยซูเจ้า ขณะเดินทางไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเล็มตอนพระชนมายุสิบสองพรรษา สะท้อนสภาพความเป็นจริงของชีวิตครอบครัว ซึ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากในแบบคาดไม่ถึง เช่น การพลัดพรากและการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
 ดาวจากโนนค้อที่ชนะเลิศประเพณีแห่ดาวของ อบต.ช้างมิ่ง
°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1.      ขอบคุณพี่น้องที่ช่วยกันทำดาว ประดับตกแต่งวัด และเตรียมสถานที่สำหรับงานคริสต์มาส การนำของขวัญมาแลกเปลี่ยน การแสดงบนเวที การนำดาวไปร่วมประเพณีแห่ดาวที่ท่าแร่และสกลนคร รวมถึงที่วัดดอนม่วยและโนนค้อ
2.      จันทร์ที่ 31 ธันวาคม 2018 เชิญพี่น้องร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณโมทนาคุณพระเจ้าโอกาสส่งปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่วัดดอนม่วย เวลา 19.00 น.
3.      อังคารที่ 1 มกราคม 2019 เชิญพี่น้องร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณสมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้าและวันขึ้นปีใหม่ เวลา 7.00 น. ที่วัดโนนค้อ และเวลา 8.30 น. ที่วัดดอนม่วย
4.      พุธที่ 2 มกราคม 2019 เชิญร่วมฉลองวัดพระนามเยซู โพนสวาง พิธีบูชาขอบพระคุณ เวลา 10.00 น. วัดโพนสวางขอโรงทานจากวัดของเราด้วย
5.      เงินทาน อาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2018: ดอนม่วย 1,571.- บาท; โนนค้อ 1,266.- บาท
6.      เงินทานคืนคริสต์มาส: ดอนม่วย 3,254.50- บาท; โนนคือ 1,134.- บาท และเงินทานวันคริสต์มาส: ดอนม่วย 2,264.- บาท; โนนค้อ 1,398.- บาท และเงินทำบุญคริสต์มาส 2,000.- บาท
7.      ขอบคุณ กลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 7-8 ที่มาทำความสะอาดวัด สัปดาห์หน้ากลุ่มที่ 9-10 (โนนค้อ: กลุ่มที่ 2)
 เด็กคำสอนดอนม่วยส่งความสุขคริสต์มาสผู้สูงอายุ
พิธีบูชาขอบพระคุณและวันฉลองในรอบสัปดาห์
วัน
ที่
เวลา
ผู้ขอ/วันฉลอง
จุดประสงค์
อาทิตย์
30
07.00 น.
08.30 น.
ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
สุขสำราญพี่น้องชาวโนนค้อ
† สุขสำราญพี่น้องชาวดอนม่วย
จันทร์
31
19.00 น.
มิสซาส่งท้ายปีเก่าที่ดอนม่วย

อังคาร
01
08.30 น.
สมโภชพระนางมารีย์ พระชนนีพระเจ้า

พุธ
02
10.00 น.
เทศกาลพระคริสตสมภพ

พฤหัสบดี
03
06.00 น.
ฉลองพระนามเยซู

ศุกร์
04
06.00 น.
เทศกาลพระคริสตสมภพ

เสาร์
05
06.00 น.
เทศกาลพระคริสตสมภพ


 บรรยากาศการเตรียมงาน การแห่ดาวและฉลองคริสต์มาสที่ดอนม่วย
จันทร์ที่ 24 ธันวาคม 2018















ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า


ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
อาทิตย์ 30 ธันวาคม
ฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์
ปี C
1 ซมอ 1:20-22, 24-28
1 ยน 3:1-2, 21-24
ลก 2:41-52
บทนำ
นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปา ได้เล่าเรื่องเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งมิลาน ขณะไปเยี่ยมอภิบาลตามวัดพระองค์ได้พบกับหญิงชราคนหนึ่งอาศัยอยู่ตามลำพัง ทรงถามเธอว่า “สบายดีไหม” เธอตอบว่า “สบายดีตามอัตภาพและไม่ต้องทรมานเพราะความหนาว” พระองค์ตรัสกับเธอว่า “แสดงว่ามีความสุขนะสิ” หญิงชราตอบทันทีว่า “ไม่เลย” และเริ่มร้องไห้ “ลูกชายกับลูกสาวไม่เคยมาเยี่ยมเลย ฉันกำลังจะตายเพราะความโดดเดี่ยว”
เหตุการณ์วันนั้นและคำพูดของหญิงชรา “ฉันกำลังจะตายเพราะความโดดเดี่ยว” รบกวนพระทัยของนักบุญเปาโลที่ 6 เรื่อยมา พระองค์ทรงตระหนักว่า “อาหารและความอบอุ่นยังไม่เพียงพอ คนเรายังต้องการอะไรมากกว่านั้น พวกเขาต้องการการอยู่พร้อมหน้า ต้องการเวลาและต้องการความรักของเรา พวกเขาต้องการการสัมผัสอันอบอุ่นของเรา เพื่อทำให้พวกเขาแน่ใจว่าไม่ถูกทอดทิ้ง”
สัปดาห์สุดท้ายของปี พระศาสนจักรให้เราฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้าประกอบด้วยพระเยซูเจ้า พระนางมารีย์ และนักบุญยอแซฟ วันฉลองนี้เตือนใจเราถึงความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรสากล แต่ละครอบครัวได้รับการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เช่นเดียวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นครอบครัว ทรงประสงค์ให้พระบุตรเกิดมาเป็นมนุษย์ในครอบครัว ในสภาพเหมือนเราทุกอย่างเว้นแต่บาป
1.       ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า
การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เป็นการฉลองชีวิตครอบครัวของพระองค์ซึ่งดำเนินชีวิตในความรัก ความเห็นอกเห็นใจและเคารพซึ่งกันและกัน เป็นแบบอย่างของการแบ่งปันความยินดี ความรับผิดชอบและการร่วมทุกข์ร่วมสุขในครอบครัว พระศาสนจักรได้ยกย่องให้เป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์และแบบอย่างของครอบครัวทั้งหลาย นอกนั้น การฉลองนี้ยังเรียกเราให้มุ่งความสนใจไปที่ครอบครัวคริสตชนทุกครอบครัว และวอนขอพระพรจากพระเจ้าสำหรับครอบครัวของเราแต่ละคน
พระวรสารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวศักดิ์สิทธิ์มากนัก แต่เราเข้าใจว่านักบุญยอแซฟเป็นคนยำเกรงพระเจ้า ปฏิบัติตามพระประสงค์โดยไม่มีเงื่อนไข มีหัวใจเปิดสู่พระเจ้า เชื่อฟังและพร้อมจะเผชิญความยากลำบากทุกอย่าง เพื่อปกป้องพระกุมารและพระนางมารีย์ให้ได้รับความปลอดภัย จนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ชอบธรรม” ที่มีความรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าครอบครัว ขณะที่พระนางมารีย์เป็นคู่ชีวิตที่รับผิดชอบดูแลครอบครัวและมีส่วนในความยากลำบากต่างๆ ในการทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าอย่างเงียบๆ
นักบุญลูกาได้เล่าเรื่องการหายไปของพระเยซูเจ้า ขณะเดินทางไปฉลองปัสกาที่กรุงเยรูซาเลมตอนพระชนมายุสิบสองพรรษา สะท้อนความเป็นจริงของชีวิตครอบครัวซึ่งเผชิญความยากลำบากในแบบคาดไม่ถึง เช่น การพลัดพรากและการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ไม่เว้นแม้แต่ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ แม้เมื่อพบพระเยซูแล้วยังไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์ตรัส ที่สุด พระเยซูเจ้าได้เสด็จกลับไปนาซาเร็ธพร้อมกับบิดา-มารดา ทรงอยู่กับครอบครัวต่อไปอีกสิบแปดปี แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเข้าใจความสำคัญและความจำเป็นลำดับแรกของชีวิตครอบครัว
2.       บทเรียนสำหรับเรา
การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์และพระวาจาของพระเจ้าวันนี้ ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ
ประการแรก เราต้องเลียนแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ พระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟต่างทำงานหนัก ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในฐานะของประทานจากพระเจ้า อีกทั้ง ช่วยกันดูแลพระเยซูเจ้าให้เติบโตขึ้นในความเป็นมนุษย์และการเป็นบุตรของพระเจ้า บิดา-มารดาต้องเป็นครูคนแรกที่สอนลูกให้มีความรู้และรู้จักพระเจ้า ประการสำคัญ ต้องมีความรับผิดชอบในการเป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุตรของตน
ประการที่สอง เราต้องทำให้ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ ครอบครัวเป็นหน่วยเล็กที่สุดซึ่งเป็นพื้นฐานของพระศาสนจักรสากล แต่ละครอบครัวได้รับการเรียกสู่ความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลศีลสมรสเพื่ออวยพรคู่บ่าว-สาวและครอบครัวของเขาให้ศักดิ์สิทธิ์ สามี-ภรรยาจะบรรลุความศักดิ์สิทธิ์เมื่อต่างทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์ วางใจในพระเจ้า ผ่านทางการอธิษฐานภาวนา การอ่านพระคัมภีร์และการไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ
ประการที่สาม เราต้องเคารพเชื่อฟังและเลี้ยงดูบิดา-มารดา พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปยังนาซาเร็ธพร้อมกับพระนางมารีย์และนักบุญยอแซฟ และเคารพเชื่อฟังท่านทั้งสอง ทรงทำงานช่างไม้สานต่องานของยอแซฟเพื่อเลี้ยงครอบครัว ลูกต้องเคารพเชื่อฟังและให้เกียรติบิดา-มารดา “บุตรที่ให้เกียรติบิดาจะมีอายุยืน... บุตรที่ละทิ้งบิดาก็เหมือนผู้กล่าวดูหมิ่นพระเจ้า” เรามีหน้าที่ต่อบิดา-มารดา ดูแลและเลี้ยงดูท่านยามชรา มิใช่ปล่อยให้อยู่ตามลำพังและตายอย่างโดดเดียว
บทสรุป
พี่น้องที่รัก การฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูเจ้า เป็นโอกาสให้เราได้พิจารณาไตร่ตรองถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวของเรา การอยู่ร่วมกันระหว่างบิดา-มารดา-บุตร เป็นไปตามแบบครอบครัวศักดิ์สิทธิ์มากน้อยเพียงใด เราต้องมีความรักต่อกันตามแบบอย่างของครอบครัวศักดิ์สิทธิ์  สามี-ภรรยาต้องรักและซื่อสัตย์ต่อกันต่อกันจนวันตาย ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในวันรับศีลสมรส
บิดา-มารดาต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน รับผิดชอบต่อครอบครัวและทำหน้าที่ของตนอย่างซื่อสัตย์เพื่อบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ “ของขวัญยิ่งใหญ่ที่สุดที่พ่อแม่สามารถให้แก่ลูกได้คือความรักที่พวกเขามีต่อกัน” (Anon) บุตรเช่นเดียวกันต้องเคารพเชื่อฟังบิดา-มารดา ไม่ทำให้ท่านเสียใจ กตัญญูและดูแลท่านยามแก่เฒ่า ทั้งนี้เพื่อความผาสุกของสังคม ประเทศชาติและพระศาสนจักร ดังคำกล่าวที่ว่า “ครอบครัวดี คนดี สังคมดี”
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
29 ธันวาคม 2018
ภาพ: ครอบครัวศักดิ์สิทธิ์, งานประเพณีแห่ดาวท่าแร่, สกลนคร; 2017-12-23

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ทุกครั้งที่รักและรู้จักให้คือคริสต์มาส


ทุกครั้งที่รักและรู้จักให้คือคริสต์มาส
24 ธันวาคม
สมโภชพระคริสตสมภพ
(มิสซากลางคืน)
อสย 9:2-7
ทต 2:11-14
ลก 2:1-14
บทนำ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดการสู้รบอย่างดุเดือดในทวีปยุโรป ทหารหนุ่มชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งได้แตกทัพพลัดหลงเข้าไปในป่าและพยายามหาทางออก เย็นวันหนึ่งพวกเขาพบบ้านเล็กหลังหนึ่ง เมื่อเข้ามาใกล้บ้าน หญิงเจ้าของบ้านได้ออกมาต้อนรับและบอกกับพวกเขาว่าคงหลงทางและกำลังหิว เชิญแวะกินอาหารและพักที่บ้านของเธอก่อน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องให้ความเคารพแขกของเธอ ขณะนั้นใกล้วันคริสต์มาส เธอประสงค์ให้บ้านของเธอมีสันติภาพ
เมื่อทหารอเมริกันเข้าไปในบ้าน ได้พบทหารหนุ่มเยอรมันกลุ่มหนึ่งกำลังนั่งอยู่และมองมายังพวกเขา แต่หญิงเจ้าของบ้านเป็นคนใจดีมีเมตตาได้บอกกับพวกเขาก่อนหน้านั้นแล้วว่าต้องให้ความเคารพแขกของเธอ ทหารเยอรมันเป็นกลุ่มที่แตกทัพเช่นเดียวกัน ค่ำคืนนั้นพวกเขารู้สึกว่าได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ทุกคนคิดถึงบ้าน พวกเขาขับร้องเพลงคริสต์มาสด้วยกัน โดยไม่คิดว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู แต่เป็นเพื่อนมนุษย์ที่แสวงหาสันติภาพและบ้านที่อบอุ่นเหมือนกัน
วันต่อมาพวกเขาต่างแยกย้ายกลับไปยังกองกำลังของตน หลังจากได้แบ่งปันความรักและความชื่นชมยินดีแห่งการบังเกิดมาของพระกุมารเยซูด้วยกัน องค์พระเจ้าผู้เสด็จมาบังเกิดในโลกได้นำพระพรแห่งความชื่นชมยินดี ความรักและสันติสุขมาสู่มนุษย์ทุกคน แต่ละคนต้องเลียนแบบพระองค์ในความรักไม่มีเงื่อนไขและไม่แบ่งแยก แบ่งปันสิ่งที่ตนมีแก่กันและกัน เป็นต้นคนยากจนและผู้ที่จำเป็นเร่งด่วน เพราะ ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้ นั่นคือคริสต์มาส
1.       ทุกครั้งที่รักและรู้จักให้คือคริสต์มาส
เรื่องราวการประสูติของพระกุมารเยซู (ลก 2:1-14) เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่จักรพรรดิซีซาร์ ออกัสตัส ได้ออกกฤษฎีกาให้มีการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วอาณาจักรโรมัน ด้วยเหตุนี้ ยอแซฟซึ่งสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิดต้องพาพระนางมารีย์ เดินทางจากนาซาเร็ธแค้วนกาลิลีไปยังเบธเลเฮมแคว้นยูเดียบ้านเกิดของดาวิด เป็นระยะทางประมาณ 130 กิโลเมตรซึ่งถือว่าไกลมากสำหรับหญิงมีครรภ์แก่ อีกทั้ง เบธเลเฮมยังพลุกพล่านไปด้วยผู้คนที่เดินทางมาลงทะเบียน
ไม่ว่าไปที่ไหนคำตอบที่ได้รับคือ “ไม่มีห้องว่างสำหรับท่าน” ยอแซฟต้องพาพระนางมารีย์ไปที่ถ้ำเลี้ยงสัตว์ ลักษณะคล้ายเพิงเลี้ยงสัตว์ซึ่งผู้พักแรมต้องนำอาหารติดตัวมาเอง  เจ้าของจัดเตรียมเพียงฟางหรือหญ้าแห้งสำหรับสัตว์เลี้ยงและไฟสำหรับปรุงอาหารเท่านั้น นี่คือสถานที่ซึ่งพระเยซูเจ้าบุตรพระเจ้าทรงประสูติ พระองค์เลือกบังเกิดบนรางหญ้าในสภาพที่ยากจนขัดสน เพื่อสอนให้โลกรู้ว่าความยากจนขัดสนไม่ใช่อุปสรรคสำหรับความรักของพระเจ้า
ตรงข้ามความยากจนขัดสนและใจสุภาพถ่อมตนต่างหากคือ หนทางหรือโอกาสทำให้เราได้พบกับพระกุมารเจ้า ผู้ร่ำรวยด้วยพระพรนานัปการ อีกทั้ง บุคคลกลุ่มแรกที่พระเจ้าทรงเผยให้ทราบข่าวดีเรื่องการประสูติมาของพระผู้ไถ่ และได้พบพระกุมารคือบรรดาคนเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็น ผู้ต่ำต้อยและถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากสังคม แต่การเป็นคนยากจนและต่ำต้อยทำให้พวกเขาได้พบกับพระกุมารเจ้า นี่คือความสุขและความยินดียิ่งใหญ่ในชีวิต
2.       บทเรียนสำหรับเรา
การบังเกิดของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายแห่งความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้าต่อเรา และได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ
ประการแรก เราต้องให้พระเยซูเจ้าบังเกิดในใจเรา เทศกาลคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรที่ช่วยให้เราได้ตระหนักถึงความรักของพระเจ้า ด้วยการเปิดดวงใจของเราและประดับตกแต่งถ้ำแห่งดวงใจนี้ ด้วยไฟแห่งความรักเพื่อให้องค์พระเจ้าได้บังเกิด และเป็น “อิมมานูแอล” พระเจ้าอยู่กับเราทุกจังหวะชีวิต คริสต์มาสแท้จริงมิใช่การบังเกิดของพระกุมารเยซูในถ้ำเลี้ยงสัตว์ที่เมืองเบธเลเฮม แต่เป็นการบังเกิดมาของพระองค์ในถ้ำแห่งจิตใจเรา
ประการที่สอง เราต้องแสวงหาและเลียนแบบพระเยซูเจ้าในความยากจน เราพบพระเยซูเจ้าได้อย่างแท้จริงในความยากจน ในบุคคลที่ถูกทอดทิ้งและต้องการความช่วยเหลือ ความยากจนขัดสนไม่ใช่อุปสรรคสำหรับความรักของพระเจ้า ตรงข้ามความยากจนขัดสนคือหนทางหรือโอกาสที่ทำให้เราได้พบกับพระกุมาร ผู้เป็นเพื่อนกับคนยากจน ร่วมทุกข์ในความลำบากของพวกเขา  และมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อช่วยพวกเขาให้รอดพ้น
ประการที่สาม เราต้องรักโดยไม่มีเงื่อนไขและให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน เทศกาลคริสต์มาส เป็นช่วงเวลาของการเสียสละแบ่งปันสิ่งที่เรามีแก่ผู้อื่น นักบุญฟรังซิส อัสซีซี กล่าวว่า ถ้าในตู้เสื้อผ้าของท่าน มีเสื้อผ้าที่ท่านไม่ใช้แล้ว  พึงรู้ไว้ด้วยว่านั่นเป็นของคนยากจนที่ไม่มีแม้เสื้อผ้าจะใส่  ถ้าในตู้กับข้าวของท่าน มีกับข้าวที่ท่านไม่ทานแล้ว  พึงรู้ไว้ด้วยว่านั่นเป็นส่วนของคนที่กำลังอดอยาก  หากเราไม่มีของขวัญอะไรจะให้ จงให้ความรักออกไป
บทสรุป
พี่น้องที่รัก โลกทุกวันนี้มีคนเป็นจำนวนมากขาดความรัก อดอยากและขาดแคลน ซึ่งรอคอยความรัก ของขวัญและความช่วยเหลือจากเรา  คริสต์มาสปีนี้อย่าลืมให้ความรักและแบ่งปันสิ่งที่เรามี เป็นความสุขสำหรับผู้ยากไร้และด้อยโอกาสทั้งหลาย  เพราะ “ทุกครั้งที่เรารัก ทุกครั้งที่เราให้นั่นคือคริสต์มาส” (เดล อีเวนส์) เพื่อว่าการบังเกิดมาของพระกุมารเยซูจะเป็นความชื่นชมยินดีสำหรับครอบครัวของเรา หมู่คณะและมนุษยชาติ
คริสตชนต้องไม่ทำตัวเย็นชาเฉยเมยอย่างชาวเมืองเบธเลเฮมที่บอกยอแซฟว่า “ไม่มีห้องว่างสำหรับท่าน” แต่เปิดดวงใจของตนให้พระองค์บังเกิด ศิษย์พระคริสต์ต้องดำเนินชีวิตในความรักต่อกันและแบ่งปันสิ่งที่ตนมีกับผู้อื่น ทุกครั้งที่เรารักและรู้จักให้นั่นคือคริสต์มาส เช่นนี้เอง ความสุข ความชื่นชมยินดีและสันติภาพจะเกิดขึ้นในโลก อีกทั้ง ทำให้การฉลองคริสต์มาสปีนี้มีคุณค่าและความหมายมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา
“สุขสันต์วันคริสต์มาส”, Merry Christmas!, Buon Natale!
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
24 ธันวาคม 2018 สมโภชพระคริสตสมภพ
ภาพ: เด็กคำสอนวัดดอนม่วยร้องเพลงคริสต์มาสอวยพรผู้สูงอายุและคนป่วย, ดอนม่วย, สกลนคร; 2018-12-24