วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2561

นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่


นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่
3 ธันวาคม
ฉลอง น.ฟรังซิส เซเวียร์
1 คร 9:16-19, 22-23
มก 16:15-20
วันนี้พระศาสนจักรให้เราทำการฉลองนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ พระสงฆ์และองค์อุปถัมภ์ของมิสซัง เนื่องมาจากงานแพร่ธรรมที่ท่านได้ประกาศกับผู้คนจำนวนมาก ที่มีความแตกต่างกันด้านภาษาและวัฒนธรรมตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ห่างไกล ในห้วงเวลาที่การเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบาก ท่านได้ไปประกาศพระวรสารในประเทศอินเดีย อาณานิคมของโปรตุเกสในคาบสมุทรมาลายู อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
ฟรังซิส เซเวียร์ เป็นชาวสเปน เกิดในตระกูลสูงแห่งอาณาจักรนาวาราทางตอนเหนือของสเปน เป็นเพื่อนของนักบุญอิกญาซีโอแห่งโลโยลา ผู้ตั้งคณะเยสุอิต หลังบวชเป็นพระสงฆ์ได้เดินทางไปแพร่ธรรมที่เมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดีย ออกเดินทางจากกรุงลิสบอน 7 เมษายน 1541 ใช้เวลาเดินทาง 13 เดือน ต่อมาได้เดินทางไปมะละกาและเกาะโมลูกัส ที่มะละกาได้พบกับชาวญี่ปุ่นชื่อ “อันจิโร” (Anjiro) ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการไปแพร่ธรรมที่ประเทศญี่ปุ่น
ฟรังซิส เซเวียร์ ได้เดินทางไปญี่ปุ่นถึงเมืองคาโกชิมาเมื่อ 15 ธันวาคม 1549 การแพร่ธรรมเกิดผลดีมาก ต่อมาเมื่อทราบว่า วัฒนธรรมญี่ปุ่นคล้ายคลึงกับวัฒนธรรมจีนได้คิดไปแพร่ธรรมในจีน เหตุการณ์ช่วงนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรสยาม นั่นคือ ความตั้งใจเข้ามาในสยามเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจีน โดยขอให้รัฐบาลโปรตุเกสช่วยให้สามารถร่วมเดินทางไปกับคณะทูตของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ที่ส่งไปเจริญสันถวไมตรีกับจักรพรรดิจีน
ฟรังซิส เซเวียร์ ไม่สามารถเดินทางไปแพร่ธรรมในจีนได้เพราะป่วยหนักและสิ้นใจเมื่อ 3 ธันวาคม  1552 ที่เมืองซานเซียน พร้อมกับกล่าวคำพูดสุดท้ายว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ลูกมีความเชื่อมั่นในพระองค์ตลอดมา ลูกจะไม่มีวันสับสนชั่วนิรันดร์” ผู้ติดตามได้ฝังร่างของท่านไว้ที่ซานเซียน สองเดือนต่อมาได้มีการขุดศพของท่านและพบว่าไม่เน่าเปื่อย ได้นำมาที่มะละกาและส่งต่อไปเก็บรักษาไว้ที่เมืองกัวในอินเดีย ส่วนมือขวาที่ล้างบาปผู้คนมากกว่าสามหมื่นคนได้แยกไปเก็บไว้ที่วิหารพระเยซูเจ้า ศูนย์กลางของคณะเยซูอิตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
แม้ฟรังซิส เซเวียร์มิได้เดินทางมาสยามอย่างความตั้งใจ เพียงแค่เอ่ยชื่อสยามในจดหมายของท่านเท่านั้น แค่นี้นับว่าเป็นเกียรติต่อพระศาสนจักรสยามแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุดในใจของท่านมีเราชาวสยามอยู่ นอกนั้น ท่านยังได้ช่วยคลี่คลายข้อข้องใจเกี่ยวกับชื่อ “สยาม” นั่นคือ ชื่อสยามอาจไม่เป็นที่รู้จักของชาวสยาม แต่เป็นคำที่ชาวต่างชาติใช้เรียกชื่อประเทศของเรา
ชีวิตของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เป็นบทเรียนล้ำค่าสำหรับคริสตชนในปัจจุบัน เรามีหน้าที่ประกาศข่าวดีแก่ทุกคนที่อยู่รอบข้างเรา และใช้ทุกโอกาสในการนำผู้อื่นให้มารู้จักพระเยซูเจ้า นี่คือกระแสเรียกและงานของเรา คริสตชนแต่ละคนสามารถเป็นข้ารับใช้ของพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกับท่าน ที่ได้ใช้เวลาทั้งหมด ความพยายามทุกอย่าง และชีวิตจนลมหายใจสุดท้ายในการนำประชาชนให้มาพบพระเยซูเจ้า
นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ สำนึกในหน้าที่ประกาศข่าวดีเช่นเดียวกับนักบุญเปาโลที่ว่า “หากข้าพเจ้าไม่ประกาศข่าวดี ข้าพเจ้าย่อมได้รับความวิบัติ” (1 คร 9:16) และ “ข้าพเจ้าทำทุกอย่างเพราะเห็นแก่ข่าวดี” (1 คร 9:23) ศิษย์พระคริสต์ต้องสำนึกในหน้าที่ประกาศข่าวดี เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่ตามบทบาทและหน้าที่ของแต่ละคน ผ่านทางแบบอย่างชีวิตดีงามของเรา และบอกเล่าเรื่องราวของพระเยซูเจ้าให้ผู้อื่นได้รับรู้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
2 ธันวาคม 2018
ที่มาภาพ : http://www.sfxmedina.com/parish/wp-content/uploads/2014/12/150th-50_medium.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น