ชาวสะมาเรียผู้ใจดี
คำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี
เป็นคำอุปมาที่ให้แนวทางปฏิบัติและให้คำตอบต่อปัญหาในการดำเนินชีวิตมากที่สุด เป็นต้นความรอดสำหรับชนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิว
อันเป็นจุดประสงค์ของลูกาและมีเพียงลูกาคนเดียวเท่านั้นที่บันทึกเรื่องนี้ไว้
1. ฉากของเรื่อง
ฉากของเรื่องนี้เกิดขึ้นบนถนนสายเยรูซาเล็มไปเมืองเยรีโค
ถนนสายนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางอันตรายสำหรับคนเดินทาง
เนื่องจากเยรูซาเล็มเป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนภูเขา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล
2,300 ฟุต ส่วนเมืองเยรีโคตั้งอยู่ใกล้ทะเลตาย
ซึ่งเราทราบว่าทะเลตายอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1,300 ฟุต
ถนนสายนี้จึงเป็นถนนที่ดิ่งจากระดับความสูง
3,600 ฟุต ระยะทางประมาณ 20 ไมล์ หรือ 32 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวและแคบจึงเป็นชัยภูมิที่เหมาะสำหรับโจรในการหลบซ่อนและปล้นสะดมคนเดินทางผ่านไปมา ในศตวรรษที่ 5 เชอโรม
บอกว่าถนนสายนี้ยังคงเรียกกันว่า “ทางสีแดงหรือทางเลือด”
แม้ในสมัยปัจจุบันคนเดินทางยังต้องจ่ายเงินเพื่อขอความคุ้มครอง
2. บุคคลในเรื่อง
คนแรก คนเดินทางที่ได้รับบาดเจ็บ อาการสาหัส “เกือบสิ้นชีวิต” เราเห็นอย่างหนึ่งคือเขาเป็นคนประมาทและไม่ระมัดระวังตัว รู้ทั้งรู้ว่าถนนสายนี้เป็นเส้นทางโจรแต่ยังเดินทางคนเดียว ปกติจะไม่มีใครทำอย่างนั้น
คนที่สอง สมณะหรือปุโรหิต ซึ่งมีหน้าที่ในการถวายเครื่องบูชาในพระวิหาร ในรอบหนึ่งปีมีสมณะที่ทำหน้าที่ 24 ชุด แต่ละชุดจะทำหน้าที่รับใช้ในพระวิหาร 2 ครั้งๆ
ละ 1 สัปดาห์ สมณะที่ยังไม่ได้ทำหน้าที่มีอยู่ในเมืองเยรีโคหลายคน ดังเช่นสมณะที่กล่าวถึงในเรื่อง
สมณะคนดังกล่าวคงจะกำลังเดินทางไปทำหน้าที่ถวายเครื่องบูชาในพระวิหาร
เมื่อเหลือบไปเห็นชายบาดเจ็บ จึงเดินข้ามไปยังอีกฝากหนึ่งแล้วเดินจากไป ด้วยกลัวว่าตัวเองจะเป็นมลทิน
เพราะชาวยิวมีข้อห้ามว่า “ผู้ที่แตะต้องคนตายจะเป็นมลทินอยู่ 7 วัน” (กดว 19:11) ซึ่งจะทำให้เขาพลาดการอยู่เวรประจำสัปดาห์ในพระวิหาร
ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต
เขาอาจจะรู้สึกสงสารคนที่บาดเจ็บ
แต่ไม่แน่ใจว่าตายหรือยัง จึงไม่กล้าไปตรวจดูเพราะถ้าเกิดชายคนนั้นตายขึ้นมาจริงๆ
การไปแตะต้องศพจะทำให้เขาเป็นมลทิน ไม่สามารถทำหน้าที่ในพระวิหารได้ เท่ากับว่าสมณะคนดังกล่าวถือเอาเรื่องการทำหน้าที่ในพระวิหาร
สำคัญยิ่งกว่าเสียงเรียกร้องแห่งมนุษยธรรม
คนที่สาม ชาวเลวี ซึ่งมีหน้าที่รับใช้ในพระวิหารเช่นกัน
กิริยาอาการของเขามีความแตกต่างจากสมณะอยู่บ้าง
เขาเดินผ่านมา และดูเหมือนจะหยุดดูอยู่แวบหนึ่ง ก่อนรีบร้อนเดินจากไปยังอีกฟากหนึ่ง
คำอธิบายที่อาจเป็นไปได้คือ เขาคิดว่าโจรใช้คนเป็นเหยื่อล่อทำเป็นบาดเจ็บ
หากหลงกลยอมช่วยเหลืออาจจะถูกปล้นได้
เขาเห็นว่า “เป็นการเสี่ยงมากเกินไป” แม้ว่าอยากจะช่วยก็ตาม
คนสุดท้าย ชาวสะมาเรีย ซึ่งเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว ทั้งๆ ที่แต่เดิมเป็นชนชาติเดียวกัน หลังสิ้นกษัตริย์ซาโลมอน อาณาจักรอิสราแอลได้แตกแยกออกเป็น
2 อาณาจักรคือ อาณาจักรเหนือ มีเมืองหลวงอยู่ที่สะมาเรีย
และอาณาจักรใต้มีเมืองหลวงคือ เยรูซาเล็ม
ปี 722 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรเหนือได้ตกเป็นเมืองขึ้นของอัสซีเรีย
ได้มีการกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลยและนำคนต่างชาติเข้ามาอยู่แทน พวกที่เหลืออยู่ได้แต่งงานกับคนต่างชาติและหันไปนับถือรูปเคารพของชนต่างชาติ
ชาวยิวทางใต้จึงถือว่าพวกนี้ไม่มีเลือดยิวบริสุทธิ์
ต่อมาปี 587 ก่อน ค.ศ. อาณาจักรใต้ได้ประสบชะตากรรมเดียวกัน
และถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลน แต่พวกเขายังคงรักษาความเป็นชาติและศาสนาของตนอยู่ เมื่อเปอร์เซียรบชนะบาบิโลน
ได้ปลดปล่อยชาวยิวกลุ่มนี้ให้กลับไปสร้างเมืองและพระวิหารที่ถูกทำลายขึ้นใหม่
(ในสมัยเอสราและเนหะมีย์)
ชาวสะมาเรียได้เสนอตัวที่จะช่วยเหลือแต่กลับถูกปฏิเสธอย่างดูแคลน
เพราะในสายตาของชาวยิวถือว่าชาวสะมาเรียได้เสียสิทธิ์ความเป็นยิวแล้ว ตั้งแต่นั้นมาทั้งชาวยิวและชาวสะมาเรียก็เป็นศัตรูที่มีความขมขื่นต่อกัน
ในพระวรสารเราจึงได้ยินเรื่องที่ยากอบและยอห์น
ทูลขอไฟจากฟ้ามาเผาพลาญหมู่บ้านชาวสะมาเรีย
ที่ไม่ยอมให้ที่พักและต้อนรับพระเยซูเจ้า เมื่อรู้ว่าพระองค์เป็นยิว คือกำลังเสด็จไปกรุงเยรูซาเล็ม ดังนั้น เมื่อพระเยซูเจ้านำชาวสะมาเรียเข้ามาในเรื่อง
ผู้ฟังรู้ได้ทันทีว่า “ผู้ร้าย” ได้เข้ามาในฉากแล้ว
อันที่จริง
เป็นการยากอยู่เหมือนกันที่จะบอกว่าเขาเป็นชาวสะมาเรียโดยเชื้อชาติ แต่สิ่งที่เราทราบอย่างแน่นอนคือ
เขาเป็นพ่อค้านักเดินทาง เพราะเขาได้แวะพักที่โรงแรมเป็นประจำ จนคนในโรงแรมจำได้และเชื่อถือว่าเขาจะกลับมา คำถามที่เกิดขึ้นคือ
ถ้าชายคนนี้เป็นชาวสะมาเรียจริง เขาไปทำอะไรที่กรุงเยรูซาเล็ม ทั้งนี้เพราะชาวยิวไม่คบค้ากับชาวสะมาเรีย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวสะมาเรียจะมาทำธุรกิจที่กรุงเยรูซาเล็ม
คำว่า “ชาวสะมาเรีย” ในที่นี้จึงเป็นคำที่ใช้แสดงความเกลียดชังและเหยียดหยามคนที่ละเมิดบทบัญญัติและคนนอกศาสนา ใครที่ไม่รักษาธรรมบัญญัติจะถูกตราหน้าว่าเป็น “ชาวสะมาเรีย” คำอุปมานี้ได้วาดภาพคนเคร่งศาสนาว่าเดินผ่านไปยังถนนอีกฟากหนึ่ง
ขณะที่คนนอกรีตที่เขาชิงชังว่าเป็นคนบาป เป็นคนเดียวที่ช่วยชายบาดเจ็บไว้
3. คำตอบของคำอุปมา
ในจำนวนคำอุปมาทั้งหมดของพระเยซูเจ้า
คำอุปมานี้เกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติมากที่สุด อาจกล่าวได้ว่าเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้าก็ว่าได้ และได้ให้คำตอบต่อปัญหาของนักกฎหมาย 2
ข้อด้วยกัน
ข้อแรก “ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” คำตอบของคำอุปมานี้คือ “ใครก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือ” สำหรับชาวยิวแล้วเป็นสิ่งที่สะดุดอย่างมาก
เพราะพวกเขาจะช่วยเฉพาะชาวยิวด้วยกันเท่านั้น
ตัวอย่าง กฎวันสะบาโตข้อหนึ่งกำหนดว่า
ถ้าในวันสะบาโตเกิดมีกำแพงล้มทับคน ควรมีการขุดรากพอให้ดูรู้ว่าคนเจ็บเป็นยิวหรือต่างชาติ ถ้าเป็นยิวเขาจะได้รับการช่วยชีวิต
แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติจะถูกทิ้งให้ทนทุกข์ต่อไป
เราทำเช่นนี้บ้างหรือเปล่ากับเพื่อนพระสงฆ์ด้วยกันหรือกับสัตบุรุษที่เราดูแล ช่วยเฉพาะพวกพ้อง พี่น้องของเรา
คนที่เรารู้จักชอบพอ หรือคนที่มีผลประโยชน์สำหรับเรา กี่ครั้งที่เราได้เดินผ่านคนที่ทุกข์ยาก
เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ โดยอ้างว่า
คนเหล่านี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับเรา
ข้อสอง คำอุปมานี้ได้ให้คำตอบที่เป็นนัยต่อคำถามที่ว่า “ข้าพเจ้ามีหน้าที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนอย่างไร” คำตอบก็คือ “จงมีความสงสารที่สำแดงออกในรูปของการช่วยเหลือ” ไม่ต้องสงสัยว่าทั้งสมณะและชาวเลวีได้เกิดความสงสารคนบาดเจ็บ
แต่เขาไม่ได้กระทำอะไรที่แสดงความสงสารออกมาในรูปของการช่วยเหลือ
นักบุญเทเรซาแห่งกัลกัตตา ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความเชื่อในภาคปฏิบัติคือ ความรัก และความรักในภาคปฏิบัติคือ
การรับใช้” การช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนจึงเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม
4.
บทเรียนสำหรับเรา
ประการแรก เรามีหน้าที่ที่จะต้องช่วยเหลือผู้อื่น
แม้ว่าเขาจะประสบความเดือดร้อนเพราะความผิดพลาดของเขาเอง เราเห็นชัดว่าคนเดินทางที่บาดเจ็บเป็นคนประมาท
เดินทางคนเดียวลำพังในเส้นทางที่รู้ดีอยู่แล้วว่าอันตราย ในความเป็นจริง ไม่มีใครดีพร้อม
ไม่เคยผิดพลาดเลย เราเองเป็นคนบาปคนหนึ่ง ผิดพลาดเป็นประจำ บางครั้งความผิดพลาดนั้นหนัก “เกือบสิ้นชีวิต” ในสภาพเช่นนี้แหละที่เราต้องการความช่วยเหลือจากใครสักคน
การพึงพาช่วยเหลือกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ประการที่สอง การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญอันดับแรก
เราเห็นสมณะมีใจจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ตามจารีตพิธีในพระวิหาร
ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดเรื่องการเป็นมลทิน
จนลืมความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ศาสนาสำหรับเขาจึงเป็นแต่เพียงการถือปฏิบัติตามจารีตพิธีอย่างครบถ้วนไม่มีที่ติ แต่ขาดมิติของชีวิตคือ ความสัมพันธ์กับเพื่อนพี่น้อง
แน่นอนว่าความรับผิดชอบต่อการงานหน้าที่เป็นสิ่งสำคัญ
การถือตามระเบียบกฎเกณฑ์เป็นสิ่งจำเป็น
แต่บางครั้งเราต้องยอมทิ้งสิ่งเหล่านี้เพื่อช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน เพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม
เพราะนั่นคือพระประสงค์ของพระเจ้าสำหรับเราขณะนั้น
ประการที่สาม เราต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนแม้ว่าจะต้องเสี่ยง ชาวเลวีไม่ยอมเสี่ยงเพราะเกรงว่าตนเองจะติดร่างแหไปด้วย หากหมอไม่ยอมช่วยคนไข้เพราะกลัวติดโรคจะไม่มีการรักษาเกิดขึ้น แต่หมอทั้งหลายยอมเสี่ยง เราเป็นหมอฝ่ายวิญญาณ เป็นบุรุษแห่งความเมตตา
ที่บวชมาเพื่อสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือ
เหตุผลหนึ่งที่เราไม่กล้าเสี่ยง เป็นเพราะเราไม่อยากเดือดร้อนไปด้วย
คิดคำนวณดูแล้วเห็นว่าไม่คุ้ม ทำให้เราเสียงาน เสียอารมณ์ เสียเวลา ที่สำคัญคือ เสียเงิน
แต่พระเยซูเจ้าสอนเราว่า
“อย่าชั่งน้ำหนัก อย่าคำนวณ
แต่จงยอมแพ้ต่อความรัก”
ประการสุดท้าย บทเรียนและแง่คิดของชาวสะมาเรีย ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวสะมาเรียโดยเชื้อชาติที่ชาวยิวถือว่าเป็นคนบาป
หรือเป็นคนนอกรีต คนใช้ชีวิตเสเพล
ที่ไม่ถือตามบทบัญญัติ ชื่อเสียงไม่ดี ไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ
แต่เขาได้กระทำในสิ่งที่คนเคร่งศาสนา ชื่อเสียงดี มีเกียรติภูมิไม่ทำกัน
พระเยซูเจ้าทรงบรรยายว่าเขาเป็นคนที่ช่วยเหลือชายบาดเจ็บที่เกือบสิ้นชีวิต เขากระทำในสิ่งที่ให้ชีวิต เข้าไปหาชายบาดเจ็บ ปลอบโยน พันแผลให้
ช่วยพยุงขึ้นหลังสัตว์ เป็นธุระจัดการเรื่องที่พัก และจัดหาคนดูแล
เขาปรากฏตัวขึ้นอย่างคนธรรมดาที่ไม่มีชื่อ ไม่ได้มีตำแหน่งแห่งอำนาจ ที่จะช่วยให้เขาได้รับสิทธิพิเศษ เขาเป็นคนต่างถิ่นที่เดินทางตามลำพัง ไม่ได้มีทรัพย์สินมาก ไม่มีสิ่งใดนอกจากถุงอานม้าและสัตว์ที่เขาขี่มา แต่ “ตาของเขาช่างสังเกต
และหัวใจของเขาเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า”
เขาได้กระทำในสิ่งที่เล็กน้อยแต่ยิ่งใหญ่ ด้วยการเดินไปหาคนที่บาดเจ็บ
เขารู้สึกสงสารและรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อชีวิตของคนบาดเจ็บคนนี้
การที่ต้องดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ทำให้แผนการของเขาหยุดชะงัก รวมทั้งโครงการทั้งหมดของเขา แต่ความห่วงใยในชีวิตของผู้อื่นที่กำลังตกอยู่ในอันตรายมีความสำคัญเหนือแผนการของเขา
เขาเป็นคนแปลกหน้า มีความเชื่อทางศาสนาต่างกัน ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือชาติพันธุ์ที่บังคับให้เขาต้องทำอย่างนั้น แต่เขาได้ช่วยเหลือคนบาดเจ็บและทำตัวเป็นผู้ดูแลดุจพี่น้องของเขา เขาตีความพระบัญญัติประการที่ 5 อย่าฆ่าคน ว่าหมายถึง “ท่านต้องทำสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป”
ในความเป็นจริงไม่ว่ายุคใด
คนอย่างชาวสะมาเรียได้กระทำในสิ่งที่น่ายกย่อง
และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อสังคม ประเทศชาติ และพระศาสนจักร จึงขอให้กำลังใจพวกเราทั้งหลาย เป็นต้นคนที่ไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกมองว่าไม่ดี
อย่าได้ท้อใจ เพราะพระเจ้าทรงเลือกคนบาปเช่นนี้แหละให้ทำในสิ่งที่คนดีไม่ทำ
เพื่อจะได้เข้าใจคนบาปด้วยกันและชักนำพวกเขาให้กลับมาหาพระเจ้า
บทสรุป
ชาวสะมาเรียผู้ใจดีคือภาพที่ชัดเจของ
“พระเยซูเจ้า ชาวสะมาเรียผู้ยิ่งใหญ่” ผู้เสด็จมาเพื่อตามหาคนบาป ช่วยเหลือคนทุกข์ยากเดือดร้อน
และยอมรับความตายบนไม้กางเขนเพื่อช่วยทุกคนให้รอด ให้เราก้าวเดินไปพร้อมกับพระองค์
ในเส้นทางแห่งการรับใช้ที่เราได้เลือก ด้วยดวงตาและหูที่เปิดกว้าง โดยมีเข็มทิศแห่งความเมตตาเป็นเครื่องนำทาง
ให้เรายอมให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเยซูเจ้า
เพื่อเราจะตัดสินได้ว่ามีสิ่งไหนที่เราสามารถทำได้ เพื่อทำให้คนที่ “เกือบสิ้นชีวิต” ที่เราพบในชีวิตประจำวันได้มีชีวิตอยู่ต่อไป เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้
รู้จักแบ่งปัน และช่วยเหลือผู้อื่นลำบากเดือดร้อน ทั้งนี้เพราะ “หัวใจที่มีความสุขมากที่สุดคือ
หัวใจที่เต้นเพื่อผู้อื่น”
ขอให้คำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “จงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” ปลุกเร้าหัวใจของเรา ให้ทำเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่ใจได้ว่า เส้นทางสายชีวิตนิรันดรได้เปิดกว้างอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว
ปัญหาก็อยู่ตรงที่ว่า เราจะเลือกเดินตามเส้นทางสายนี้หรือไม่
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
Majus Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
23
กุมภาพันธ์ 2017