นักบุญมาระโก
ผู้นิพนธ์พระวรสาร
นักบุญมาระโก
ผู้นิพนธ์พระวรสาร เป็นศิษย์ติดตามนักบุญเปโตร ได้เขียนพระวรสารเป็นเล่มแรกที่กรุงโรมในราว
ค.ศ. 65 นับเป็นพระวรสารที่สั้นที่สุดโดยบันทึกเรื่องราวของพระเยซูเจ้าตามที่ท่านได้ยินจากเปโตรโดยตรง
นักบุญอีเรเนอุส (St. Iraenaeus: 180 A.D.) กล่าวว่า “มาระโกเป็นศิษย์และผู้แปลคำสอนของเปโตร
และทำให้คำสอนของเปโตรตกทอดมาถึงเราในรูปของงานเขียน” ซึ่งท่านมักอธิบายธรรมเนียมยิว
ทำให้เรารู้ว่าท่านจงใจเขียนพระวรสารสำหรับคนที่มิใช่ยิวอ่าน
เราพบชื่อ
ยอห์น มาระโก (John Mark) หลายครั้งในหนังสือกิจการอัครสาวกและจดหมาย
(กจ 12:12) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับบานาบัสเพื่อนร่วมงานของเปาโล
และคงเหมือนกับบานาบัสที่เกิดในตระกูลเลวีมีบ้านอยู่ที่ไซปรัส (กจ 4:36f) ทำให้เราแน่ใจว่า ท่านได้รับการศึกษาแบบยิวอย่างเคร่งครัด
สามารถพูดภาษาอาราไมอิกตามบิดามารดาและภาษากรีกที่พูดกันทั่วไปในไซปรัส
ท่านไม่ได้อยู่ในปาเลสไตน์ในช่วงวัยหนุ่มจึงไม่เคยได้ยินเรื่องราวของพระเยซูเจ้า
ราว
ค.ศ. 38
มาระโกได้กลับใจโดยนักบุญเปโตร ซึ่งในจดหมายของเปโตร ฉบับที่ 1
เปโตรเรียกมาระโกว่า “บุตรของข้าพเจ้า” (1 ปต 5:13) อันเป็นสำนวนภาษาที่บรรดาอัครสาวกใช้กับคนที่ได้รับความเชื่อจากท่าน
หลังจากกลับใจมารดาของท่านได้เสนอบ้านที่กรุงเยรูซาเล็ม ให้เป็นที่พบปะของกลุ่มคริสตชนแรก
ซึ่งหลังจากได้รับการช่วยให้พ้นคุกอย่างอัศจรรย์ เปโตรได้ตรงไปบ้านหลังนี้ (กจ 12:12-17)
มาระโกและบานาบัส
ได้ร่วมเดินทางไปแพร่ธรรมกับนักบุญเปาโลในการเดินทางครั้งแรกไปเมืองอันทิโอก ค.ศ. 45-49 (กจ 12:25) และมาระโกได้เดินทางกลับบ้านที่เยรูซาเล็มโดยไม่ทราบสาเหตุ
ทำให้เปาโลไม่พอใจและไม่ให้มาระโกร่วมเดินทางไปแพร่ธรรมด้วยในการเดินทางครั้งที่สอง
แต่บานาบัสยืนกรานให้มาระโกไปด้วย เปาโลกับสิลาสจึงเดินทางไปเอเชียน้อย และบานาบัสกับมาระโกได้เดินทางไปที่ไซปรัส
(กจ 15:36-40) ต่อมาได้เป็นที่ไว้ใจของเปาโลและเปโตร และเป็นศิษย์รักของเปโตร
มาระโกเขียนพระวรสารที่โรมประมาณ
ค.ศ. 65
เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria : 150-215 A.D.) ได้อ้างธรรมประเพณีว่า “เมื่อเปโตรประกาศพระวาจาที่กรุงโรมและสอนพระวรสารด้วยพระจิตเจ้า
ผู้ฟังมากมายของท่านได้สนับสนุนให้มาระโกเขียนสิ่งที่เปโตรสอน
เนื่องจากท่านได้ติดตามเปโตรเป็นเวลานานและจดจำคำพูดของท่านได้
มาระโกเห็นดีเห็นงามกับคำขอร้องของพวกเขาและได้ให้พระวรสารแก่พวกเขา”
มาระโกตั้งใจเรียบเรียงพระวรสารให้ชาวโรมันอ่าน
ซึ่งในขณะนั้นเป็นทาสกันมาก โดยชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าคือ “พระคริสตเจ้า” และเป็น “พระบุตรของพระเจ้า” แต่ผู้คนไม่ยอมรับ
กลับประหารพระองค์ด้วยการตรึงกางเขน
พระเยซูเจ้าทรงยอมรับทนทรมานและความตายเพื่อไถ่มนุษย์ให้พ้นจากอำนาจของบาป
ซึ่งถูกใจชาวโรมันมาก ทำให้ทาสกลับใจและอโหสิทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ
นายกลับใจปล่อยทาสให้เป็นไทและเลี้ยงดูดุจพี่น้อง
มาระโกเรียบเรียบเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ค่อยละเอียดนัก โดยบันทึกแบบคร่าว ๆ
ตั้งแต่เหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างถึงเหตุการณ์ที่ไม้กางเขนและการกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย
และไม่ได้เน้นเสนอคำสอนของพระเยซูเจ้าเท่าใดนัก แต่เน้น “การอัศจรรย์และภารกิจที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ”
ในสถานที่ต่าง ๆ อันทำให้เราแน่ใจว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า
ประมาณ
ค.ศ. 66-67
นักบุญเปโตรถูกตรึงกางเขนที่เนินวาติกันจากการเบียดเบียนของจักรพรรดิเนโร
นักบุญเปาโลถูกจับขังคุกเป็นครั้งที่สองที่กรุงโรม ส่วนมาระโกได้หนีไปเอเชียน้อย
ซึ่งเปาโลได้เขียนจดหมายถึงทิโมธี พระสังฆราชแห่งเอเฟซัสในเอเชียน้อยว่า “เหลือเพียงลูกาที่ยังอยู่กับข้าพเจ้า
จงพามาระโกไปกับท่านด้วย เพราะเขามีประโยชน์สำหรับข้าพเจ้าในการปฏิบัติศาสนบริการ”
(2 ทม 4:11)
นี่คือ
ข้อความสุดท้ายที่ชัดเจนเกี่ยวกับมาระโกที่เราทราบ
ธรรมประเพณีบอกว่า ภายหลังมาระโกได้กลายเป็นพระสังฆราชแห่งอเล็กซานเดรียในอียิปต์ ได้เป็นพยานถึงพระเยซูเจ้า
วันฉลองของท่านตรงกับวันที่ 25 เมษายน
แม้ว่านักบุญมาระโกจะไม่ได้เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าโดยตรง
แต่ครอบครัวของท่านอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม น่าจะทำให้ท่านได้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจและคำสอนของพระเยซูเจ้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้
อีกอย่าง ท่านได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับผู้นำอัครสาวก อย่างบานาบัส
เปโตร และเปาโลมากกว่า 20 ปี ท่านจึงรู้สิ่งที่พวกเขาเทศน์สอนอย่างทะลุปรุโปร่ง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
Majus
Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
21
กุมภาพันธ์ 2017
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น