วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร

นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร
นักบุญลูกา ผู้นิพนธ์พระวรสาร เป็นผู้ร่วมงานใกล้ชิดของนักบุญเปาโล และผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวก ที่เล่าถึงการประกาศข่าวดีของบรรดาอัครสาวกในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะของนักบุญเปโตรและเปาโล ลูกาเป็นคนที่มีความรู้สูงเนื่องจากมีอาชีพเป็นนายแพทย์ และมีความสามารถหลายอย่าง เช่น การวาดภาพ ที่มีชื่อเสียงคือภาพวาดแม่พระ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่มหาวิหารแม่พระ (Santa Maria Maggiore) ที่กรุงโรม ลูกาจึงได้ชื่อเป็นองค์อุปถัมภ์ของนายแพทย์ ศิลปิน และจิตกร
ลูกาเป็นชาวกรีกโดยกำเนิด เกิดที่เมืองอันทิโอก (กจ 11:19-21) ประเทศซีเรีย  ในครอบครัวคนต่างศาสนา ภายหลังได้กลับใจเป็นคริสตชน เป็นศิษย์ของอัครสาวก และกลายเป็นเพื่อนร่วมงานคนสำคัญของนักบุญเปาโลในการประกาศข่าวดี (กจ 16:10) ได้ร่วมเดินทางไปกับเปาโลในการเดินทางไปแพร่ธรรมครั้งที่สาม (กจ 20:5-21:16) ในการไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่โตรอัส มิเลทัส เอเฟซัส ไทระ และเชซาเรีย อีกทั้งได้อยู่กับเปาโลในการเดินทางที่ยากลำบากตอนถูกส่งตัวไปกรุงโรมในฐานะนักโทษ  และต้องเผชิญกับเรือแตกที่มอลต้า (กจ 27:1-28:14)
 ลูกาได้ช่วยงานของเปาโลที่กรุงโรม ซึ่งเปาโลได้เขียนจดหมายถึงฟิเลโมนว่าลูกาเป็นเพื่อนร่วมงานของท่านคนหนึ่ง (ฟม 24) และในคำทักทายและคำอวยพรในจดหมายเขียนถึงชาวโคโลสี  (คส 4:14) ในห้วงเวลาที่เปาโลถูกคุมขังครั้งที่สองที่กรุงโรม ลูกาได้อยู่กับท่านและน่าจะเป็นเพื่อนร่วมงานคนเดียวที่เหลืออยู่ หลังจากการพลีชีพเป็นมรณสักขีของเปาโล ลูกาเปี่ยมไปด้วยพระจิตเจ้าและได้อุทิศตนรับใช้องค์พระเจ้าโดยไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าได้พลีชีพเป็นมรณสักขีในวัย 84 ปี ที่โบเอโอเทีย (Boeotia) มีวันฉลองตรงกับวันที่ 18 ตุลาคม
ลูกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นิพนธ์พระวรสารเพราะได้เขียนพระวรสารฉบับที่สาม ระหว่าง ค.ศ. 70-80 ใกล้กับเมืองอาเคอา (Achea) ใกล้กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ลูกาแตกต่างจากผู้นิพนธ์พระวรสารท่านอื่น เนื่องจากท่านไม่ใช่ชาวยิว แต่เป็นชาวอันติโอกที่กลับใจ เป็นคนชั้นสูงที่มีการศึกษาเนื่องจากเป็นนายแพทย์ และเขียนพระวรสารท่ามกลางวัฒนธรรมกรีก ท่านได้รับรู้เรื่องราวของพระเยซูเจ้าจากเปโตร และประสบการณ์งานอภิบาลจากเปาโล
เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria: 150-215 A.D.) แตร์ตูเลียน (Tertulian: 160-240 A.D.) และออริเจน (Origen: 186-254 A.D.) กล่าวว่าลูกาไม่ได้เห็นภารกิจของพระเยซูเจ้าด้วยตาตนเอง แต่ท่านใส่ใจมากในการค้นหาข้อเท็จจริงจากบรรดาอัครสาวกและผู้ที่ได้เห็นองค์พระเจ้า บางธรรมประเพณีถือว่าลูกาเขียนพระวรสารในห้วงเวลาที่ไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนที่กรีซ ค.ศ. 65 หรือหลังมรณกรรมของเปาโล จากนั้นไม่นานได้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวกซึ่งเป็นภาคต่อของพระวรสาร
จากงานเขียนทั้งสองได้แสดงให้เห็นว่าลูกาเป็นคนที่มีการศึกษาสูง โดยเฉพาะพระวรสารของลูกามีลักษณะเด่นที่การใช้คำและเรียบเรียงอย่างประณีต ถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้าในรายละเอียดมากที่สุด โดยรวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งข้อมูลที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง เพื่อค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์สมัยพระเยซูเจ้า โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 5 ประการ:
ประการแรก ต้องการเน้นไปที่คำสอนของพระเยซูเจ้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าพระองค์เป็น “ความรอดของมนุษยชาติ” (Salvation of mankind) การรับเอากายของพระองค์เป็นศูนย์กลางของพระวัติศาสตร์โลก โดยชี้ให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเป็นบุคคลสำคัญของโลก โดยได้ลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าย้อนไปจนถึงอาดัม บรรพบุรุษของมนุษยชาติ (ลก 3:23-38) นั่นคือตั้งแต่สร้างโลก เพื่อบอกให้ทราบว่าการเสด็จมาของพระเยซูเจ้าเป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก 
ประการที่สอง ต้องการบันทึกเรื่องราวในช่วงที่ยังทรงพระเยาว์ของพระเยซูเจ้า (ลก 2:21-51) ซึ่งไม่มีพระวรสารเล่มใดบันทึกไว้ เพื่อย้ำว่าการบังเกิดมาของพระองค์มิใช่นำสันติมาให้ชาวยิวเท่านั้น แต่สำหรับมนุษยชาติ ดังบทเพลงที่ทูตสวรรค์ขับร้อง “สันติจงมีแก่มนุษย์ที่พระองค์โปรดปราน” (ลก 2:14) และบทเพลงที่สิเมโอนกล่าว “เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น ผู้ซึ่งพระองค์ได้จัดเตรียมไว้สำหรับนานาประชาชาติ” (ลก 2:30-31)
ประการที่สาม ต้องการเน้นให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนที่ถูกกดขี่ข่มเหง และคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม โดยการเสนอภาพความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนบาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจนและประณามคนมั่งมีและเอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53; 6:20-26; 12:13-21) ลูกาได้แสดงให้เห็นถึงพระเมตตาของพระเจ้า โดยเฉพาะต่อหญิงคนบาป (ลก 7:37-38) และคนเก็บภาษี (ลก 19:1-10)
ประการที่สี่ ต้องการให้ความสำคัญกับผู้หญิง ซึ่งสมัยนั้นถูกมองข้ามและไม่มีบทบาทในสังคม โดยเน้นบทบาทของแม่พระ การแจ้งข่าวของทูตสวรรค์ การเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ (ลก 1:26-56) และการประสูติของพระเยซูเจ้า (ลก 2:1-20) นอกนั้น ลูกายังได้บันทึกเรื่องราวของหญิงม่าย (ลก 7:11-17; 21:1-4) และบทบาทของผู้หญิงผู้ติดตามพระเยซูเจ้า (ลก 8:1-3) และในหมู่สาวก (ลก 24:10)
ประการที่ห้า ต้องการให้ผู้อ่านทราบว่าข่าวดีของพระเยซูเจ้าเป็นสากล (ลก 4:43) มาถึงคนทุกชาติ ไม่ใช่เฉพาะชาติใดชาติหนึ่ง (ลก 6:17) โดยเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน เนื้อหาส่วนใหญ่จึงแสดงออกถึงความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในคำอุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ซึ่งเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้า
ดังนั้น พระวรสารของนักบุญลูกาจึงมีความหมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งลูกาได้แสดงพระองค์เป็นความรอดและแสงสว่างสำหรับนานาชาติ โดยอ้างประกาศกอิสยาห์มากกว่าที่มัทธิวและมาระโกอ้าง “แล้วมนุษย์ทุกคนจะเห็นความรอดพ้นจากพระเจ้า” (ลก 3:6) อีกทั้งได้ย้ำคำแนะนำสุดท้ายของพระเยซูเจ้าแก่บรรดาอัครสาวก “จะต้องประกาศในพระนามของพระองค์ ให้นานาชาติกลับใจเพื่อรับอภัยบาป” (ลก 24:47)
นักบุญลูกาได้แสดงให้เราเห็นว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องพร้อมแบกกางเขนของตนติดตามพระองค์ทุกวัน ในการเป็นเครื่องมือแห่งความรักและความเมตตาของพระองค์ในการประกาศข่าวดี และท่านได้เป็นพยานถึงข่าวดีนี้ด้วยชีวิตของท่าน เราแต่ละคนถูกส่งออกไปประกาศข่าวดีนี้เช่นเดียวกัน  ให้เราวิงวอนท่านนักบุญลูกา เพื่อให้เราสามารถเป็นเครื่องหมายแห่งความรักและพระเมตตาของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน เป็นต้นกับเพื่อนพี่น้องที่อยู่รอบข้าง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
Majus Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
22 กุมภาพันธ์ 2017

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น