นักบุญมัทธิว อัครสาวกและผู้นิพนธ์พระวรสาร เราไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับท่านมากนัก นอกจากรู้ว่าเป็นคนเก็บภาษีที่พระเยซูเจ้าทรงเรียกให้ติดตามพระองค์ (มธ 9:9-10) ปาปิอัส พระสังฆราชแห่งเฮียราโปลิส (Papias of Hierapolis: 130 A.D.) บอกให้เราทราบว่า อัครสาวกมัทธิวได้รวบรวมคำสอนของพระเยซูเจ้าเข้าด้วยกันเป็นภาษาอาราไมอิก ซึ่งเป็นภาษาพูดของพระเยซูเจ้า
นักบุญอีเรเนอุส (St. Iraenaeus: 180 A.D.) ได้เล่าถึงธรรมประเพณีเดียวกันที่บอกว่า นักบุญมัทธิวเทศน์สอนชาวยิวในปาเลสไตน์ และได้เขียนพระวรสารเป็นภาษาของพวกเขา นอกนั้น บรรดานักเขียนที่มีชื่อเสียงในระยะเริ่มแรกของพระศาสนจักรต่างยืนยันเรื่องนี้ และยกให้พระวรสารของนักบุญมัทธิวอัครสาวก เป็นพระวรสารเล่มแรก อาทิ เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria : 150-215 A.D.), ออริเจน (Origen : 186-254 A.D.), แตร์ตุลเลียน (Tetullian : 160-240 A.D.) และยูเซบิอุสแห่งเชซาเรีย (Eusebius of Caesarea : 265-340 A.D.)
นักบุญอีเรเนอุส (St. Iraenaeus: 180 A.D.) ได้เล่าถึงธรรมประเพณีเดียวกันที่บอกว่า นักบุญมัทธิวเทศน์สอนชาวยิวในปาเลสไตน์ และได้เขียนพระวรสารเป็นภาษาของพวกเขา นอกนั้น บรรดานักเขียนที่มีชื่อเสียงในระยะเริ่มแรกของพระศาสนจักรต่างยืนยันเรื่องนี้ และยกให้พระวรสารของนักบุญมัทธิวอัครสาวก เป็นพระวรสารเล่มแรก อาทิ เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria : 150-215 A.D.), ออริเจน (Origen : 186-254 A.D.), แตร์ตุลเลียน (Tetullian : 160-240 A.D.) และยูเซบิอุสแห่งเชซาเรีย (Eusebius of Caesarea : 265-340 A.D.)
พระวรสารตามคำเล่าของนักบุญมัทธิวไม่ได้บอกอะไรชัดแจ้งเกี่ยวกับผู้เขียน
แต่เมื่อเราอ่านเนื้อหาโดยละเอียด
ทำให้เราทราบถึงลักษณะและอุปนิสัยหลายอย่างของผู้เขียน ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยเกี่ยวกับตัวเองไว้ในงานเขียนของตน
พระวรสารของนักบุญมัทธิวทำให้เราทราบว่า คนเขียนต้องเป็นศิษย์ใกล้ชิดของพระเยซูเจ้า มีความรอบรู้เกี่ยวกับปาเลสไตน์, ธรรมเนียมและวิธีปฏิบัติของชาวยิว และเชี่ยวชาญพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิมเยี่ยงอาจารย์ซึ่งได้ศึกษามาเป็นอย่างดี
มัทธิวเป็นคนเก็บภาษี รัฐบาลโรมันมีวิธีการจัดเก็บภาษีโดยกำหนดเพดานภาษีแบบตายตัวและให้มีการประมูลราคากันเอง
หากคนเก็บภาษีจ่ายภาษีตามจำนวนที่กำหนด
เขาสามารถเก็บรายได้ส่วนที่เหลือเป็นของตนเอง อาชีพเก็บภาษีจึงสร้างรายได้มหาศาล
คนทั่วไปจึงมองคนเก็บภาษีเป็นคนบาปในระนาบเดียวกันกับหญิงโสเภณีและฆาตกร
เพราะการขูดรีดเก็บภาษีจากเพื่อนร่วมชาติไปให้รัฐบาลโรมัน อีกทั้ง
เป็นผู้ไม่บริสุทธิ์เพราะไม่รักษาธรรมประเพณีของบรรพบุรุษ
และสร้างความร่ำรวยให้ตนเองจากการเก็บภาษี
ลูกาและมาระโก เรียกมัทธิวว่า “เลวี” (ลก
6:15; มก 3:18) เป็นไปได้ว่า “เลวี”
อาจเป็นชื่อดั้งเดิมของมัทธิว และพระเยซูเจ้าได้ให้ชื่อใหม่ว่า “มัทธิว” ซึ่งหมายถึง “ของประทานของพระเจ้า”
(The gift of God) เช่นเดียวกับให้ชื่อใหม่แก่ซีโมนว่า “เปโตร”
(ยน 1:40-42, มธ 16:17-18) พระศาสนจักรในระยะเริ่มแรกจึงรู้จักท่านในชื่อมัทธิว
หรือเป็นไปได้ว่า มาระโกและลูกาต้องการเลี่ยงว่า มัทธิวเคยเป็นคนเก็บภาษี
จึงเรียกชื่อท่านตามชื่อเดิมคือ เลวี
แต่มัทธิวไม่ได้รู้สึกอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพราะตระหนักว่า พระเยซูเจ้าทรงรักและอภัยบาปท่าน ไม่ได้มองท่านเป็นคนบาปและทรยศชาติอย่างชาวยิวทั่วไป
นี่คือท่าทีใหม่ซึ่งมัทธิวสัมผัสได้ถึงความเมตตากรุณาของพระองค์ จึงจัดงานเลี้ยงใหญ่ต้อนรับพระองค์ที่บ้าน
และจากงานเลี้ยงนี้พระองค์ได้เปิดเผยความจริงให้ทุกคนทราบว่า ทรงเป็นเพื่อนกับคนบาปและเสด็จมาเพื่อตามหาคนบาป
“คนสบายดีไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ... เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม
แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มธ 9:12-13)
อีกทั้ง เมื่อพูดถึงรายชื่ออัครสาวกของพระเยซูเจ้า มัทธิวเขียนชัดเจนว่า
“มัทธิว คนเก็บภาษี” (มธ 10-2-3) อย่างไรก็ตาม
เราทราบน้อยมากเกี่ยวกับชีวิตของมัทธิวหลังจากนั้น แต่ธรรมประเพณีเล่าว่า ท่านได้สั่งสอนชาวยิวในปาเลสไตน์เป็นแห่งแรก
จากนั้นได้ไปยังประเทศอื่นนอกดินแดนศักดิ์สิทธิ์ นักเขียนโบราณบางท่านกล่าวกันว่า
มัทธิวเดินทางไปถึงเอธิโอเปีย ประเทศแถบเปอร์เชีย ซีเรีย กรีซ และไอร์แลนด์
เชื่อกันว่ามัทธิวได้ตายเป็นมรณสักขี ซึ่งวันฉลองของท่านตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี
พระวรสารนักบุญมัทธิวทำให้เราทราบเรื่องราวและคำสอนของพระเยซูเจ้า
โดยเฉพาะ “บทเทศน์บนภูเขา” ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งพระวรสารของท่าน
และความจริงเรื่องการประทับอยู่ของพระองค์ท่ามกลางเรา เน้นถึงความสัมพันธ์ของพระเยซูเจ้ากับความเชื่อของยิว โดยแสดงให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าคือพระเมสสิยาห์ที่เสด็จมาเพื่อทำให้พันธสัญญาเดิมสำเร็จไป
และเพื่อพิพากษาชาวยิวเนื่องจากความไม่ซื่อสัตย์ของพวกเขา มัทธิวจึงสรุปพระวรสารของท่านว่า
“แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28:20)
ในบรรดาพระวรสารทั้งสี่
พระวรสารนักบุญมัทธิวเป็นฉบับที่ใช้มากที่สุดในพระศาสนจักร บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรและนักเขียนในระยะเริ่มแรกจึงสรุปว่า
พระวรสารนักบุญมัทธิวได้รับที่พิเศษในพระศาสนจักร
โดยแท้จริงแล้วทุกอย่างล้วนชี้ไปยังข้อสรุปที่ว่า “พระวรสารของนักบุญมัทธิวได้ใช้เป็นตำราเรียนในการสอนคำสอน”
ดังนั้น
เราควรใช้หนังสือพระวรสารเป็นเหมือนคู่มือในการสอนคำสอนและเรียนรู้จักพระเยซูเจ้า
พระวรสารและแบบอย่างชีวิตมัทธิวบอกเราว่า พระเยซูเจ้าได้เรียกเราแต่ละคนให้ติดตามพระองค์
ด้วยการละทิ้งชีวิตเก่าเต็มไปด้วยบาป และหันมาหาพระองค์ผู้เป็นองค์แห่งความรอด
พระองค์ไม่ได้เรียกเราให้เป็นคนดีก่อนถึงติดตามพระองค์ได้ ทรงทราบและเข้าใจดีถึงบาปและความอ่อนแอของเรา ทรงเรียกเราแต่ละคนอย่างที่เราเป็นให้ติดตามพระองค์ ศิษย์พระคริสต์ต้องตระหนักในความรักของพระเจ้า พร้อมเปลี่ยนแปลงตนเอง
เลียนแบบอย่างนักบุญมัทธิว ปฏิบัติตามคำสอนของพระเยซูเจ้าและติดตามพระองค์ด้วยความมั่นใจ
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
Majus Seminarium, J.M. Vianne, Thakhaek
20 กุมภาพันธ์ 2017
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น