วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

การเรียกให้มาเป็นศิษย์



การเรียกให้มาเป็นศิษย์
สัปดาห์ที่ 3
เทศกาลธรรมดา
ปี B
ยนา 3:1-5,10
1 คร 7:29-31
มก 1:14-20
บทนำ
การเรียกของพระเจ้าให้มาเป็นศิษย์ พร้อมกับการตอบสนองของเราด้วยสำนึกผิด กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง เป็นหัวข้อสำคัญของบทอ่านวันนี้ พระเจ้าอาจเรียกเราแต่ละคนในหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป แต่สิ่งแรกคือทรงเรียกเราให้กลับใจ เปลี่ยนแปลงตนเองและสำนึกผิด เพื่อให้เรากลายเป็นประชากรใหม่ของพระเจ้า และเป็นศิษย์แท้จริงของพระองค์
บทอ่านทั้งสามบทของวันนี้ ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นของการสำนึกผิด และพร้อมตอบสนองการเรียกของพระเจ้า
บทอ่านแรก บอกเราว่าประกาศกโยนาห์ไม่ได้ตอบสนองต่อการเรียกของพระเจ้าโดยทันที ในการไปประกาศข่าวดีที่เมืองนีนะเวห์ อาจเป็นเพราะโยนาห์เกลียดคนต่างศาสนาอย่างชาวนีนะเวห์ และคิดว่าพวกเขาไม่คู่ควรกับพระเมตตาของพระเจ้า ทำให้โยนาห์หลบหนีและขัดสู้การเรียกของพระองค์ จนเมื่อไม่สามารถเลี่ยงได้โยนาห์ได้ตอบรับการเรียก ยอมไปประกาศข่าวดี และชาวนีนะเวห์ได้ตอบรับต่อพระวาจาของพระเจ้าที่โยนาห์ประกาศ
บทอ่านที่สอง นักบุญเปาโลได้ย้ำเตือนกลุ่มคริสตชนที่เมืองโครินทร์และเราแต่ละคน มิให้ประวิงเวลาในการตอบรับข่าวดีแห่งพระวรสาร เพราะการเสด็จมาครั้งที่สองของพระคริสตเจ้าอาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา
1.        การเรียกให้มาเป็นศิษย์
พระวรสารวันนี้ได้บรรยายให้เราทราบว่า พระเยซูเจ้าได้เสด็จไปยังแคว้นกาลิลีและเริ่มเทศนาสั่งสอนเช่นเดียวกับยอห์น บัปติสต์ แต่ทรงเรียกให้สำนึกผิดและเพิ่มเติมว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว” (มก 1:15) พระอาณาจักรของพระเจ้าได้เริ่มต้นแล้วและทรงเรียกทุกคนให้เชื่อข่าวดีแห่งพระวรสาร ซึ่งเป็นข่าวดีแห่งความรัก ความเมตตา และความรอดของพระเจ้า
การเป็นศิษย์คือ การตอบสนองที่เหมาะสมต่อการประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้า เราได้เห็นถึงการที่ทรงเรียกอัครสาวก 2 คู่แรก ซีโมนกับอันดรูว์น้องชาย ยากอบบุตรเศเบดีและยอห์นน้องชาย ซึ่งเป็นชาวประมง (กำลังทอดแหและซ่อมแหอยู่) ให้ติดตามและร่วมส่วนในพันธกิจแห่งการประกาศข่าวดีและการรักษาโรคของพระองค์ และพวกเขาได้ละทิ้งทุกสิ่ง ตอบรับการเรียกนี้โดยทันที  
นักบุญมาระโกได้แสดงให้เห็นแง่มุมที่ยิ่งใหญ่ของการเป็นศิษย์คือ การอยู่กับพระเยซูเจ้าและร่วมส่วนในพันธกิจของพระองค์ เราได้รับเชิญให้อยู่กับพระเยซูเจ้าในการเดินทางฝ่ายจิต และร่วมส่วนในพันธกิจแห่งการประกาศอาณาจักรของพระเจ้าด้วยคำพูดและการกระทำ เป็นการเน้นให้เห็นว่าเราคนบาปสามารถตอบสนองการเรียกของพระองค์ได้ ด้วยการอุทิศตนทั้งครบ ละทิ้งทุกสิ่ง และเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการกระทำ
2.        บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เราต้องตระหนักในการเรียกให้มาเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ทุกคนได้รับการเรียกจากพระเจ้าทั้งส่วนตัวและส่วนรวม พันธกิจแห่งการประกาศ การเทศน์สอน และการรักษาของพระเยซูเจ้าเวลานี้อยู่ในความรับผิดชอบของพระศาสนจักร เราได้รับกระแสเรียกและมีความสัมพันธ์กับองค์พระเจ้าผู้กลับคืนชีพในพระศาสนจักร ผ่านทางศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ
ประการที่สอง เราต้องตอบสนองด้วยการอุทิศตนรับใช้พระคริสตเจ้า การเรียกให้มาเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าคือ การเรียกให้มาเลียนแบบและเดินตามแนวทางของพระองค์ ที่มีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น ในการรัก รับใช้ และมอบชีวิตเพื่อทุกคนโดยไม่แบ่งแยก เพื่อสามารถอุทิศตนในการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องได้อย่างเต็มที่ เราต้องปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้ามากกว่าน้ำใจของเรา และพร้อมดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า
ประการที่สาม เราต้องขอบคุณพระเจ้าที่ทรงเรียกเราให้มาเป็นศิษย์ เป็นสมาชิกของพระศาสนจักร ให้เราได้ใช้ความพยายามสุดความสามารถในการเดินในแสงสว่าง เจริญเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ เรียนรู้ความจริงที่พระศาสนจักรประกาศ และรับศีลศักดิ์สิทธิ์บ่อยๆ เพื่อชิดสนิทเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสต์เจ้า ในการเป็นแสงสว่างส่องโลกและเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้ของพระอาณาจักรพระเจ้า ในความรัก ความยุติธรรม การรับใช้ และการให้อภัย  
บทสรุป
พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าได้ทรงเรียกเราให้มาเป็นคริสตชน และเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ ทำให้เราได้รับแสงสว่างและมีส่วนในพันธกิจของพระองค์ในโลก นั่นไม่ใช่เพราะเราดีกว่าคนอื่น แต่เพราะความรักของพระเจ้ายิ่งใหญ่ ทรงรักเราและเรียกเราคนบาปให้มาเป็นศิษย์ติดตามพระองค์ เราต้องไม่ลังเลในการติดตามและเลียนแบบอย่างของพระองค์

การเป็นศิษย์คือ การอยู่กับพระเยซูเจ้าในการเดินทางฝ่ายจิต และร่วมส่วนในพันธกิจแห่งการประกาศอาณาจักรของพระเจ้า ด้วยคำพูดและการกระทำ ศิษย์พระคริสต์ต้องตอบสนองการเรียกของพระองค์ด้วยการอุทิศตนทั้งครบ ละทิ้งทุกสิ่ง และติดตามพระองค์ทุกวัน ทั้งด้วยความคิด คำพูด และการกระทำ เพื่อเป็นเครื่องมือที่มองเห็นได้ของพระเจ้าในชีวิตประจำวัน และได้ชื่อว่าเป็นศิษย์แท้จริงของพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
24 มกราคม 2015
ที่มาภาพ: https://cynthiagitongablog.files.wordpress.com/2016/06/en07jan43a_smith.jpg?w=1400&h=9999

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ดูงานญี่ปุ่น (จบ)



ศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น (จบ)
การศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นได้มาถึงวันสุดท้าย ซึ่งไม่ได้มีภารกิจอะไรพิเศษนอกจากการเก็บสัมภาระและของฝากเข้ากระเป๋า น้ำหนักกระเป๋าของแต่ละคนในวันเดินทางกลับช่างแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวันเดินทางมา แต่ละคนมีกระเป๋าลูก เป้และถุงหิ้วเพิ่มขึ้นมาแบบไม่ได้ตั้งใจ แต่ที่เริ่มเบาหวิวคือกระเป๋าสตางค์ บางท่านเงินเยนที่เตรียมมาหมดตั้งแต่ 2-3 วันแรก
เราออกเดินทางจากโรงแรมที่พัก Narita View Hotel ในเวลา 09.00 น. ใช้เวลาเดินทางไปถึงสนามบินนาริตะประมาณ 20 นาที หลังจากเช็คอินเป็นทีเรียบร้อย แต่ละคนยังมีเวลาจับจ่ายซื้อของกินของฝากกันอีกครั้ง บ้างสอบถามกันถึงของฝากจากญี่ปุ่นที่ควรซื้อ บางคนก็อาศัยสังเกตจากคนญี่ปุ่นเองว่าเขาซื้ออะไรไปฝากกัน เรียกได้ว่าซื้อตามเจ้าของบ้านไว้ก่อน รับรองไม่ผิดหวัง
ที่สุด คณะของเราได้ขึ้นเครื่องในเวลา 11.15 น. เพื่อเดินทางกลับมาตุภูมิด้วยเครื่องบินโบอึ้ง 787 ลำใหม่ของสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG643 ถึงสนามบินสุวรรณภูมิอย่างปลอดภัยในเวลา 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย ใช้เวลาเดินทาง 7 ชั่วโมง เป็นการสิ้นสุดภารกิจการศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เหลือไว้แต่ภาพความประทับใจ ความทรงจำที่ดีงามและมิตรภาพ ตลอดระยะเวลา 6 วัน 5 คืน ก่อนจะกล่าวคำอำลาและแยกย้ายกันเดินทางกลับต้นสังกัด เพื่อเริ่มต้นงานและทำหน้าที่ของตนเองต่อไป

บทส่งท้าย
การมาศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม หรือ สุโก้ยย「すごい!」ในภาษาญี่ปุ่น ทุกคนต่างได้ประโยชน์และได้รับประสบการณ์อันล้ำค่าที่เงินหาซื้อไม่ได้ ทำให้นึกถึงประโยคอันเป็นอมตะวาจาของจักรพรรดิ์เชซาร์ที่กล่าวไว้ว่า VENI, VIDI, VICI: ข้ามา ข้าเห็น ข้าชนะ  และอยากจะกล่าวประโยคเดียวกันนี้แต่เปลี่ยนคำสุดท้ายว่า “ข้ามา ข้าเห็น ข้าประทับใจ” เป็นความประทับใจและชื่นชมในทุกสิ่งทุกอย่างที่หลอมรวมเป็นประเทศญี่ปุ่น อาทิ
ความกลมกลืนระหว่างความเจริญทางวัตถุและรากเหง้าดั้งเดิม ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางนวัตกรรมและมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่ยังคงรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น เช่น การเคารพผู้อาวุโส ความกตัญญูรู้คุณ ไมตรีจิตมิตรภาพในการต้อนรับผู้มาเยือน การมีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ใช้ของดีแต่ราคาถูก (หลายอย่างถูกกว่าเมืองไทยมาก) ไม่กินทิ้งกินขว้าง รู้สึกทึ่งมากที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าโลกในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และจักรยานยนต์ แต่คนญี่ปุ่นเลือกที่จะใช้รถยนต์ขนาดเล็กและปั่นจักรยานไปทำงาน

ความเจริญทางวัตถุและการไม่มีศาสนาไม่ได้ทำให้คนญี่ปุ่นด้อยลง ญี่ปุ่นมีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุมากในทุกๆ ด้าน อีกทั้งคนในชาติส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีศาสนายึดถือ แต่คนญี่ปุ่นกลับคนเป็นคนที่มีจิตใจสูง น้ำใจงาม มีคุณธรรมและจริยธรรมมากกว่าทุกประเทศ เช่น มีวินัยในตนเองและความรับผิดชอบสูง เคารพกฎกติกาและให้เกียรติผู้อื่น ไม่แซงคิวหรือเอาเปรียบผู้อื่น ซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกงใคร
คุณภาพของประชากร เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่น่าอยู่ พัฒนาแบบก้าวกระโดดและประสบผลสำเร็จ พวกเขาปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เวลาเป็นเด็ก เช่น การตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย การทำงานเป็นทีม ความสะอาดเป็นระเบียบ ทำให้มองไปทางไหนมีแต่ความสะอาดเรียบร้อย ความอ่อนน้อมถ่อมตนไม่โอ้อวด การประหยัดรู้คุณค่าของเงินและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงและเอาเปรียบใคร

สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประสบผลสำเร็จและโดดเด่นกว่าทุกประเทศ อีกทั้งหล่อหลอมให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่น่ารัก จิตใจงาม สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือน นี่คือมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดใจผู้คนจากทั่วโลกให้ได้มาเยือนสักครั้งในชีวิต และเมื่อได้มาแล้วก็ปรารถนาจะกลับมาอีกเหมือนอย่างคณะของพวกเรา ต้องขอบคุณเป็นพิเศษ “คุณเรียวตะ ฟูจิอิ” (Ryota Fujii) ที่ได้ทำหน้าที่ดูแลพวกเราด้วยความอดทน เสียสละอย่างดียิ่งและประทับใจ
สุดท้าย ขอขอบคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ลืมไม่ได้คือ ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงสำหรับ บริษัทผลิตปัญญา (Make a Wit) โดยคุณวสันต์ นาคเจริญวารีและทีมงาน ที่ได้จัดโปรแกรมนี้สำหรับพวกเรา รวมถึงอาจารย์กุ้ง สุดาพร บุญรัตน์พันธ์  ที่ทำหน้าที่ล่ามและประสานงานได้อย่างไร้ข้อตำหนิ รวมถึง ขอขอบคุณผู้ร่วมเดินทางทุกคน ในมิตรภาพและความรักแบบพี่น้อง หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการศึกษาและดูงานเช่นนี้อีก อาริกาโตะ โกะซาอิมาซ ありがとう ございます。

Don Daniele    เรื่อง/ภาพ
danielkhuan@hotmail.com
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟยานนาวา กรุงเทพฯ
18 มกราคม 2015

วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

ดูงานญี่ปุ่น 5

ศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น (ต่อ)
การศึกษาและดูงานวันนี้ (16 มกราคม 2015) เป็นแบบง่ายๆ ไม่รีบร้อน แต่ดูเหมือนพวกเราจะตื่นแต่เช้ากันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อจะได้มีเวลาทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ บางคนเลือกที่จะไปแช่ออนเซนในตอนเช้าอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่าเกิดประโยชน์กับร่างกายตนเอง บางคนเลือกที่จะไปชมหิมะเวลาสะท้อนแสงอาทิตย์ยามเช้า ซึ่งแลดูงดงามตระการตายิ่งนัก และเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
เมื่อทุกอย่างพร้อมได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ “นิกโกเอโดะ วันเดอร์แลนด์” (Edo Wanderland) หมู่บ้านจำลองยุคสมัยเอโดะหรือเหล่าโชกุนในยุครุ่งเรือง   ซึ่งได้จำลองช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของญี่ปุ่นเอาไว้  เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนในสมัยเอโดะ ในระหว่างปี ค.ศ. 1603-1868 มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมเอโดะขนานแท้และดั้งเดิม ที่จำลองความเป็นเอโดะในยุคก่อนเอาไว้


เมื่อพวกเราเดินทางมาถึง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเหล่าซามุไร ได้เห็นถึงการจำลองทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเอโดะอย่างละเอียดและพิถีพิถัน ทำให้พวกเราได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แท้จริง อาทิ ได้รื่นรมย์กับระบำสายน้ำที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวและควบคุมสายน้ำได้ดั่งใจของสาวๆ ในชุดกิโมโน ได้สนุกไปกับการต่อสู้อันเร้าใจของเหล่านินจา และชื่นชมกับความงามของโออิรัน สาวงามแห่งเกอิชา ซึ่งคนหนึ่งในพวกเราได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงด้วย
จากนั้นได้เดินทางไปเมืองนาริตะ แวะซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าอิออน ข้าวของในญี่ปุ่นไม่ได้แพงอย่างที่คิด หลายอย่างถูกกว่าเมืองไทยมาก ช่วงเวลา 2 ชั่วโมงในการจับจ่ายซื้อของจึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นของฝากโดยเฉพาะสำหรับคุณครู เนื่องจากพวกเราทั้งหมดเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จึงอดคิดถึงคุณครูซึ่งเป็นผู้ร่วมงานคนสำคัญที่เมืองไทยไม่ได้ และในโอกาสวันครูนี้ จึงขอนำบทความของครูบาอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง "การเข้าคิวของคนญี่ปุ่น" เพื่อจะทำให้เราได้ทราบตัวตนของชาวญี่ปุ่นดียิ่งขึ้น



5.  เหตุผลที่คนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว
อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เขียนถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว โดยอาจารย์บอกว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว ที่สำคัญมันยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย
1)           เป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถูกสอนตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็กๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิว ตั้งแต่สมัยเด็ก ก็เข้าใจว่าการแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้มากกว่า เนื่องจากว่าทุกครั้งที่พยายามจะแซงคิว เด็กๆจะโดนผู้ใหญ่ดุ และไม่มีผู้ใหญ่ที่แซงคิว ทำให้เด็กรู้ว่า ฉันก็ทำไม่ได้



2)           คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนานเพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนเน้นความตรงต่อเวลามาก ดังนั้น การแซงคิวหมายความว่า คนที่แซงนั้นไม่ให้เกียรติต่อเวลาของคนอื่น เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าในเวลาของคนอื่น คนนั้นก็ถูกมองว่าคนที่ไร้คุณค่า
3)           แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับสึนามิโศกนาฏกรรมน่าเศร้าเช่นนี้ ญี่ปุ่นก็ยังแสดง ภาพน่าประทับใจให้เห็นถึงสังคมที่มีรูปแบบอย่างดี สามารถรับมือกับวิกฤตอย่างนิ่งสงบและมีระเบียบ


4)           สิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่า เขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เวลาคนญี่ปุ่นเค้าจะข้ามถนนยังต้องเข้าแถวเลย
5)           สังคมญี่ปุ่นเชื่อว่า การเข้าคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่าอาย เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่า อาย ได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม


ในสังคมบางสังคม ในขณะที่เราเข้าแถว ผู้ใหญ่มาถึงที่นั้น มักจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่และบอกว่า เชิญทางนี้นะค่ะ/ครับ หลังจากนั้นก็จะให้บริการแก่ท่านผู้ใหญ่คนนั้นก่อนคนที่เข้าแถวเป็นเวลานาน ถ้าในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่ (แม้ว่าหายาก) แต่คนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่นั้นก็ต้องบอกว่า ขอบคุณครับท่าน ขอโทษนะครับ วันนี้คิวมันจะยาวหน่อยครับ"

      ขอถือโอกาสนี้ส่งความสุขและความปรารถนาดีจากญี่ปุ่นมายังคุณครูทุกท่าน พวกเราทุกคนที่มาศึกษาและดูงานที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ต่างคิดถึงคุณครูที่โรงเรียนของตน บางท่านพูดถึงตั้งแต่เช้า และไม่ลืมที่จะหาของฝากกลับไปฝาก คืนนี้แต่ละคนคงวุ่นอยู่กับการจัดกระเป๋าให้ลงตัว เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น (17 มกราคม 2015)
Don Daniele ภาพ/รายงาน
Narita, JAPAN

16 มกราคม 2015

ดูงานญี่ปุ่น 4



ศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น (ต่อ)
วันเวลาที่อยู่ญี่ปุ่นผ่านไปอย่างรวดเร็ว ได้พบเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่ดีงามและเป็นความประทับใจ ทั้งเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับประเทศนี้ ความเจริญก้าวหน้าที่ล้ำสมัย ธรรมชาติที่สวยงามดึงดูดใจ และการศึกษาที่มีคุณภาพสูงในระดับต้นของโลก วันนี้ (15 มกราคม 2015) จึงขอพูดถึงเจ้าของบ้านอย่างคนญี่ปุ่นบ้าง
ต้องยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่ส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวคือ ความน่ารัก จิตใจดี มีระเบียบวินัย และน้ำใจงามของคนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นมนต์เสน่ห์ที่ดึงดูดทุกคนจากทั่วโลกให้มาเยือน และเป็นสิ่งที่สัมผัสได้ตั้งแต่วันแรกที่มาถึง คุณลักษณะเหล่านี้มีพื้นฐานมาจากประเพณีปฏิบัติของศาสนาชินโต ซึ่งเป็นศูนย์รวมพิธีการดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น
ธรรมเนียมปฏิบัติเหล่านี้เมื่อผสมผสานกับวัฒนธรรมของจีน และแนวคิดตามลัทธิขงจื้อที่เข้ามามีอิทธิพลในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 ทำให้ชาวญี่ปุ่นเป็นคนรักธรรมชาติ รักหมู่คณะ เคารพบรรพบุรุษ สุภาพอ่อนน้อม ขยันอดทน ซื่อสัตย์ และกล้าหาญ ซึ่งเป็นลักษณะที่ถ่ายทอดมาถึงคนญี่ปุ่นในปัจจุบัน

4.           คนญี่ปุ่น
สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงเมื่อมาญี่ปุ่นคือ ธรรมเนียมปฏิบัติและมารยาท คนญี่ปุ่นมีมารยาทและธรรมเนียมปฏิบัติหลายอย่างที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ กล่าวกัน หากเรารู้จักคนญี่ปุ่นคนหนึ่งก็เท่ากับรู้จักคนญี่ปุ่นทั้งประเทศ สืบเนื่องมาจากวิถีชีวิตและธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมือนกันทุกคน จนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่น อาทิ
การตรงต่อเวลา เวลานัดหมายกับใครต้องรักษาเวลา เมื่อไปไม่ได้หรือไม่สามารถไปตรงตามที่นัดหมายได้ ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพราะหากไม่รักษาสัญญาจะทำให้อีกฝ่ายขาดความเชื่อถือ คนญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญและปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เวลาเป็นเด็ก รวมถึงสภาพแวดล้อม สังคม และการคมนาคมขนส่งที่หลอมรวมคนญี่ปุ่นให้ตรงเวลา หากไม่รักษาเวลาจะทำให้พลาดเครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร เป็นต้น

ความซื่อสัตย์ คนญี่ปุ่นจะเป็นคนที่ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงใครและไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น หากใครลืมสิ่งของอะไรไว้ที่ไหนก็มั่นใจได้ว่าจะได้คืน ไม่หายไปไหน ไม่มีใครหยิบฉวยไปเป็นของตนเอง อย่างมากผู้พบเห็นอาจวางไว้ที่ใหม่ใกล้ที่เดิม แต่สามารถมองเห็นได้อย่างเด่นชัด เพื่อให้เจ้าของพบได้ง่าย พวกเราบางคนที่มาศึกษาและดูงานครั้งนี้ถึงกับพูดว่า “มาญี่ปุ่นแล้วสบายใจ  จะซื้อหาอะไรก็มั่นใจได้ว่าเขาจะไม่โกงเรา” มีการพูดกันด้วยว่า คนญี่ปุ่นจองที่นั่งโดยใช้ IPhone หรือ Ipad นี่คือความซื่อสัตย์ของคนญี่ปุ่น นอกนั้น คนญี่ปุ่นยังเป็นคนที่รู้คุณคน โดยเฉพาะต่อผู้มีพระคุณ 
ความรับผิดชอบสูง คนญี่ปุ่นเป็นคนที่มีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบสูง ต่องานและหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เราจึงเห็นคนญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นและเอาจริงเอาจังในการทำงาน เพื่อให้ได้งานที่มีคุณภาพและประสบผลสำเร็จ สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้นำของโลกในหลายๆ ด้าน รวมถึงความรับผิดชอบทางการเมือง หากเกิดความผิดพลาดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นักการเมืองญี่ปุ่นจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกทันที

การถือเรื่องเท้า คนญี่ปุ่นจะถือเรื่องเท้าคล้ายคลึงกับคนไทย เช่น ห้ามสวมรองเท้าในบ้าน วัด โรงแรมแบบญี่ปุ่น รวมไปถึงพิพิธภัณฑ์ ร้านหรือห้องอาหารบางแห่ง โดยปกติแล้วจะมีการเตรียมรองเท้าแตะไว้ให้ก่อนเข้าบริเวณที่ห้ามสวมรองเท้า แต่ถ้าเป็นพื้นที่ปูเสื่อตะตะมิ แม้รองเท้าแตะต้องถอดไว้ที่เกงคัง (ที่วางรองเท้า) โดยหันปลายรองเท้าไปทางประตู นอกจากนี้เวลาเข้าห้องน้ำจะมีรองเท้าแตะที่จัดไว้ใช้เฉพาะสำหรับห้องน้ำ
การพูดโทรศัพท์ คนญี่ปุ่นไม่ค่อยนิยมพูดโทรศัพท์ในที่สาธารณะอย่างในรถไฟฟ้าหรือร้านอาหาร เพราะถือเรื่องการให้เกียรติคนอื่นค่อนข้างมาก (ดูอย่างคุณเรียวตะที่ดูแลคณะของพวกเราระหว่างอยู่ที่ญี่ปุ่น เขามีเรื่องต้องติดต่อมากมาย แต่ไม่ได้ยินเสียงโทรศัพท์เขาเลยเพราะปิดเสียงไว้) แม้แต่คุยกันเองกับเพื่อนฝูงยังคุยกันเบาๆ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา หากจะมีคุยกันบ้างนิดหน่อยคงไม่ว่าอะไร

การต่อราคา ที่ญี่ปุ่นจะไม่มีการต่อราคากัน ของฝากของที่ระลึกต่างๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวไม่สามารถต่อราคาได้และไม่ควรลองด้วย อาจจะโดนว่าเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ ร้านค้าส่วนใหญ่จะติดป้ายราคาสินค้าไว้อย่างชัดเจนทุกร้าน ไม่ต้องเดินเข้าไปถามว่าอันนี้เท่าไร อันนั้นเท่าไร
การให้ทิป คนญี่ปุ่นไม่นิยมให้ทิปกัน เนื่องจากถือว่าทุกคนต้องทำงานของตนให้ดีที่สุดอยู่แล้วตามค่าจ้างที่ได้รับ ไม่เหมาะสมที่จะได้รับเงินเพิ่มจากลูกค้า และสุดท้ายสำหรับคนสูบบุหรี่ ควรสูบบุหรี่เฉพาะในที่ที่จัดไว้ หากฝ่าฝืนไปสูบในที่สาธารณะเข้า อาจจะถูกมองและถูกปรับไหมได้

คุณสมบัติ 10 ประการ ของคนญี่ปุ่น ได้แก่
1)   ตรงต่อเวลา
2)   รับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
3)   ทำงานด้วยความกระตือรือร้น
4)   สะอาดเป็นระเบียบ
5)   อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่พูดโอ้อวด
6)   ประหยัด รู้คุณค่าของเงิน สิ่งของและเครื่องใช้ต่างๆ
7)   พิถีพิถัน ใส่ใจในรายละเอียด
8)   ซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงระลึกถึงบุญคุณของผู้มีพระคุณ
9)   แยกแยะเรื่องส่วนตัวและความรับผิดชอบในหน้าที่
10) ทำงานเป็นทีม

ส่วนการศึกษาและดูงานวันนี้ คณะของเราเดินทางไปเมืองนิกโก้ เมืองมรดกโลก ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงโตเกียว 149 กิโลเมตร เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ แต่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวัดและศาลเจ้าสำคัญที่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ มองเห็นสะพานชินเคียวสีแดงทอดข้ามแม่น้ำไดยะ ตั้งเด่นเป็นสง่าท่ามกลางธรรมชาติ
สะพานชินเคียวแห่งนี้ เป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของเมืองนิกโก้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า “สะพานอสรพิษคู่”  มีความยาว 28 เมตร กว้าง 7 เมตร สูงจากระดับน้ำ  10 เมตร  สร้างจากไม้โดยมีเสาหินรองรับน้ำหนัก ได้ชื่อว่าเป็นสะพานที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น และเป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกที่นิกโก้

เมื่อคณะของพวกเราเดินทางถึงนิกโก้ หิมะเริ่มตกปรอยๆ เหมือนสายฝน เป็นที่ตื่นตาตื่นใจแก่ทุกคนที่ได้สัมผัสเป็นครั้งแรก ตลอดเส้นทางที่เดินขึ้นชมศาลเจ้านิกโกโทโชกุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หิมะเริ่มตกหนักมากขึ้น จนพื้นและหลังคาศาลเจ้าเริ่มขาวโพลน หิมะเริ่มจับตัวตามกิ่งไม้และต้นสนจนกลายสภาพเป็นสีขาวแลดูสวยงามยิ่งนัก ก่อนจะเข้าสู่ที่พักที่ YUMMY GROUP และเลือกแช่ออนเซนกลางแจ้งกันได้ตามความพึงพอใจของแต่ละคน
Don Daniele ภาพ/รายงาน
Nikko, JAPAN
15 มกราคม 2015