วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า


 พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า  

01 กรกฎาคม
สมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า
ปี A
ฉธบ 7:6-11
1 ยน 4:7-16
มธ 11:25-30

บทนำ

เช้าวันหนึ่งชายชราวัย 80 ปี กุลีกุจอมาหาหมอที่คลินิก บอกให้หมอช่วยทำแผลที่นิ้วหัวแม่มืออย่างรีบเร่ง เพราะมีนัดหมายในเวลา 8.30 น. หมอได้ถอดผ้าพันแผลและทำแผลให้ ก่อนจะพันแผลให้ใหม่ซึ่งใช้เวลานานพอสมควร หมอสังเกตเห็นชายชราดูรีบร้อน ดูที่นาฬิกาข้อมือบ่อยๆ จึงถามว่า “คุณตามีนัดกับหมอคนอื่นอีกเหรอ ทำไมดูรีบร้อนนัก” ชายชราตอบหมอว่าไม่ได้มีนัดกับใคร แต่ต้องการไปที่บ้านคนชราเพื่อรับประทานอาหารเช้ากับภรรยา

เมื่อหมอถามถึงสุขภาพของภรรยา ชายชราบอกหมอว่าภรรยาย้ายไปอยู่บ้านพักคนชราเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากป่วยเป็นโรคความจำเสื่อม คุณหมอจึงถามว่า “หากคุณตาไปถึงที่นั่นช้าเพียงเล็กน้อย เธอคงเสียใจมาก” แต่หมอก็ต้องแปลกใจเมื่อชายนั้นยืนยันว่าเธอจำเขาไม่ได้มา 5 ปีแล้ว หมอจึงถามว่า “คุณตาไปที่นั่นทุกเช้า แม้ว่าเธอจะไม่รู้ว่าคุณตาเป็นใครกระนั้นหรือ” ชายชรายิ้ม จับมือหมอและตอบว่า “แม้เธอจะจำผมไม่ได้ แต่ผมรู้ว่าเธอเป็นใคร มีความหมายอย่างไรสำหรับผม”

นี่คือ ตัวอย่างของความรักแท้ที่ชายชราคนนั้นมีต่อภรรยาของเขา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นความรักนี้ยังดำรงคงมั่น ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้ว่าอีกฝ่ายจะจำเขาไม่ได้แล้วก็ตาม วันสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นวันที่เราเฉลิมฉลองความรักของพระเจ้า ที่เปิดเผยให้เราทราบผ่านทางดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าที่ถูกทิ่มแทงเพื่อเรา พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นน้ำพุแห่งพระหรรษทานและความรักที่ไม่เหือดแห้งของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์

1.  พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า

วันนี้เราสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ซึ่งความเชื่อคริสตชนบอกเราว่าพระเยซูเจ้าทรงพระชนม์อยู่และทรงเป็นองค์แห่งความรัก วันฉลองนี้เริ่มขึ้นในพระศาสนจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856 โดยการเผยแสดงของพระเยซูเจ้าต่อ นักบุญมาร์การิตา มารีย์ อาลาก๊อก ที่เผยให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ กระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1899 พระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ได้มอบถวายมนุษยชาติต่อดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ต่อมาในปี ค.ศ. 1928 พระสันตะปาปาปีโอที่ 11 ได้รับรองการเฉลิมฉลองนี้

“พระหฤทัยของพระเยซูเจ้า” เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ “พระเจ้าทรงรักโลกอย่างมากจึงประทานพระบุตรเพียงพระองค์เดียวของพระองค์ เพื่อทุกคนที่เชื่อในพระบุตรจะไม่พินาศ แต่จะมีชีวิตนิรันดร” (ยน 3:16) โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนไม้กางเขน พระเยซูเจ้าทรงหลั่งโลหิตเพื่อพิสูจน์ให้เห็นถึงความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์

ความรักของพระเยซูเจ้านั้นไร้ขีดจำกัดและไม่สงวนสิ่งใดไว้สำหรับพระองค์เลย การสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน คือเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงรักมนุษย์มาก ทรงให้ได้ทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตและเลือดหยดสุดท้าย สิ่งที่ดีงามทรงให้มนุษย์ทั้งหมดไม่เหลืออะไรไว้สำหรับพระองค์เลย นอกจากสิ่งที่ไม่มีใครเขาอยากได้คือ กางเขนและมงกุฎหนามที่พระองค์ทรงรับไว้

2.  บทเรียนสำหรับเรา

วันนี้ให้เราได้แสดงความรักต่อพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเป็นพิเศษ ด้วยความเชื่อวางใจในพระองค์ มอบปัญหาและความต้องการต่างๆ ไว้กับพระองค์ ดวงพระหฤทัยที่รักเราอย่างหาที่สุดมิได้จะปกป้อง คุ้มครองเรา และประทานสันติสุขให้แก่เรา พระเยซูเจ้าได้ให้คำมั่นสัญญาในการปรากฏพระองค์ให้แก่นักบุญมาร์การิตา มารีย์ว่า จะประทานพระหรรษทานที่ล้นเหลือสำหรับผู้ที่ศรัทธาภักดีต่อดวงพระหฤทัยของพระองค์

พระหฤทัยของพระเยซูเจ้าคือบทสรุปของพระวรสาร “จงเลียนแบบจากเรา เพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (มธ 11:29) คำสอนทั้งหมดของคริสตศาสนาสามารถพบได้ในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า ที่แสดงให้เห็นถึงความอ่อนโยน เมตตากรุณา บริสุทธิ์ และอดทนต่อการทรมานทุกอย่าง ให้เราได้เลียนแบบและปล่อยให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับดวงพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะรู้ว่ามีสิ่งไหนที่ควรกระทำเพื่อทำให้โลกและสังคมน่าอยู่ยิ่งขึ้น

ประการสำคัญ การรักซึ่งกันและกัน “ถ้าพระเจ้าทรงรักเราเช่นนี้ เราก็ควรจะรักกันด้วย (1 ยน 4:11) การรักซึ่งกันและกันจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเรารักพระเจ้า หัวใจของเราจะต้องเร่าร้อนด้วยไฟแห่งความรักเหมือนพระเยซูเจ้า รักเหมือนอย่างที่พระเยซูเจ้าทรงรัก “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน.15:12) และรักแม้พระทั่งศัตรู “จงรักศัตรู จงทำดีต่อผู้ที่เกลียดชังท่าน จงอวยพรผู้ที่สาปแช่งท่าน จงอธิษฐานภาวนาให้ผู้ที่ทำร้ายท่าน” (ลก 6:27-28)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก วันสมโภชพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าเตือนใจเราว่า พระเจ้าทรงรักเรา ปรารถนาจะอยู่ใกล้ชิดกับเรา เมื่อเรารับศีลมหาสนิท เราก็เป็นหนึ่งเดียวและชิดสนิทในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงรักเราและสัญญาจะอวยพรเรา ความรักของเราต้องมีลักษณะเดียวกันกับความรักของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติต่อเพื่อนพี่น้องที่เราพบเห็นในแต่ละวัน

เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเราตระหนักว่าพระเจ้าทรงรักเราถึงเพียงนี้ เราก็ควรรักซึ่งกันและกันด้วย สิ่งนี้แหละคือเครื่องหมายว่าเราเป็นศิษย์ของพระองค์ อีกอย่าง ในเวลาที่เราเผชิญกับปัญหาและความยากลำบากในชีวิต ให้มองดูพระหฤทัยของพระเยซูเจ้าและไม้กางเขนของพระองค์ เราจะได้มีกำลังใจในการดำเนินชีวิตและร่วมส่วนในพระมหาทรมานของพระองค์ ที่สุด ขอให้ความรักแบบเดียวกับพระเยซูเจ้า เป็นแรงบันดาลใจสำหรับเราในการดำเนินชีวิตในวันนี้

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
30 มิถุนายน 2011

วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล


 นักบุญเปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร  

29 มิถุนายน
สมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล
อัครสาวก
กจ 12:1-11
2 ทธ 4:6-8, 17-18
มธ 16:13-19

บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลถือเป็นการเฉลิมฉลองที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องมาจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมาได้มีการฉลองนี้ ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งด้วยกัน คือที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในช่วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่นๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่า ท่านทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรมตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร (ค.ศ. 54-68) เปโตร ถูกตรึงกางเขนเอาหัวลง ในปี ค.ศ. 64 บนเนินวาติกันอันเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปโตรในปัจจุบัน ส่วน เปาโล ในฐานะที่เป็นพลเมืองโรมัน ถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี ค.ศ. 67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรม ที่กลายมาเป็นที่ตั้งของมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมืองในปัจจุบัน
นักบุญเอากุสตินกล่าวเอาไว้ในบทเทศน์ของท่านว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะว่าท่านทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้ว่าจะพลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรจึงเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะที่เป็น ศิลารากฐาน ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระคริสตเจ้าสืบต่อมา อีกทั้ง ยังสั่งสอนหลักความจริงของพระคริสตเจ้า และสละชีวิตของตนเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.  เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร
เปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในตำบลเบทไซดา  (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก สิ่งที่ท่านรู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายมาตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาร์เปอร์นาอุม (มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำให้ท่านติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42)    เป็นไปได้ว่า ยอห์น แบปติสต์ คือผู้ที่เตรียมจิตใจท่านสำหรับการพบปะครั้งสำคัญกับพระเยซูเจ้า และท่านได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าได้ทรงเปลี่ยนชื่อของท่านจาก “ซีโมน” เป็น เคฟาส หรือ เปโตร ซึ่งแปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาที่พระองค์จะตั้งพระศาสนจักร และเป็นหัวหน้าของอัครสาวก (ยน 21:15-17) ท่านเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่านด้วยหลังจากทรงกลับคืนพระชนม์แล้ว (ลก 24:34; 1 คร 15:5) จะเห็นว่า เปโตรแม้จะเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนอาชีพแล้ว แต่ยังอ่อนแอ พลาดพลั้ง และท้อถอย (เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนได้พบกับพระเยซูเจ้าอีกครั้ง “Quo vadis?: ท่านกำลังจะไปไหน)
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปโตร สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์เราแต่ละคนซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ ธรรมชาติที่เป็นพระและที่เป็นคน  1) ธรรมชาติที่เป็นคน คือ ซีโมน ชื่อเดิม คนเดิม ที่ขี้คุย กลับกลอก และอ่อนแอ 2) ธรรมชาติที่เป็นพระ คือ เคฟาส หรือ เปโตรที่ร้อนรน กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ธรรมชาติทั้งสองอย่างนี้มีอยู่ในตัวเราอย่างเต็มเปี่ยม แต่สิ่งที่ทำให้เปโตรสามารถเอาชนะธรรมชาติที่เป็นซีโมนได้ จนกลายเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือ การกลับใจ หลังจากปฏิเสธพระเยซูเจ้าเป็นครั้งที่สามต่อหน้าหญิงรับใช้ที่บ้านของคายาฟาส  เปโตรรู้สึกสำนึกได้ และออกไปข้างนอกร้องไห้อย่างขมขื่น (ดู มธ 26:69-75) 
2.  เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ
เปาโล เดิมชื่อ เซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส ในแคว้นซิลีเซีย อยู่ในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งท่านคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิที่ต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้ท่านเห็น ขณะที่กำลังเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ ท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะในพระกายทิพย์ของพระคริสเจ้า ท่านได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนีย และกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่ของพระคริสตเจ้า
เปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส ออกเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระคริสตเจ้าอย่างกว้างขวาง เราทราบรายละเอียดพอสมควร เกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของท่าน จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13 เป็นต้นไป ท่านประกาศพระนามของพระคริสตเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในเมืองต่างๆ ทำให้ท่านเป็น อัครสาวกของคนต่างศาสนา เป็น เครื่องมือนำพระนามของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่ชนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15) อย่างแท้จริง
บทเรียนที่เราได้จากชีวิตของเปาโล จากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ และท่านได้กระทำเช่นนั้นตลอดชีวิตด้วยการพลีชีพเพื่อพระเยซูเจ้าด้วยความกล้าหาญ แง่คิดที่เราได้คือ การเบียดเบียนพระศาสนจักรหรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ดังนั้น พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้
บทสรุป

การสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโล เป็นการสมโภชเสาหลักทางความเชื่อสองต้นของพระศาสนจักร นักบุญเปโตร เป็นหัวหน้าพระศาสนจักร เป็นเสาหลักทางความเชื่อที่เราต้องยึดถือ นักบุญเปาโล เป็นผู้สอนและป้องกันความเชื่อ  เสาหลักทั้งสองนี้มีความสำคัญมาก เพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก ความเชื่อเปรียบดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราในวันที่รับศีลล้างบาป เราแต่ละคนจึงมีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าถึงสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังที่ได้สัมผัสกับความรักของพระเยซูเจ้า ความรักของพระองค์ได้เปลี่ยนแปลงใจท่านทั้งสอง ให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด ดังนั้น พระเจ้าทรงสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ได้ ความผิดพลาดในอดีตจึงไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหาก คือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ
นอกนั้น การฉลองในวันนี้ ยังเชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงประทานแก่นายชุมพาในพระศาสนจักร มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์หรือเจ้านายทั้งหลายในโลก แต่เป็นอำนาจใน การรักและรับใช้ โดยเฉพาะกับคนยากจน ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงสอนและปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง ด้วยการมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อทุกคน ดังนั้น ให้เราร่วมมือกับนายชุมพาของเราทุกระดับและภาวนาเพื่อท่านจะได้ทำหน้าที่ที่พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายอย่างศักดิ์สิทธิ์ และเกิดผลเป็นรูปธรรมในหมู่บ้านและวัดของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
26 มิถุนายน 2010

วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 59

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2  ฉบับที่ 59 วันที่ 26  มิถุนายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. มือถือ 086-231-3231
รา
การสัมมนา "การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ" ที่นาบัว เมื่อวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน 2011
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า

วันนี้พระศาสนจักรให้เราสมโภชพระวรกายและพระโลหิตพระคริสตเจ้า ที่ได้มอบชีวิตของพระองค์ทั้งครบเพื่อความรอดของเรามนุษย์ อักทั้ง ได้สั่งให้บรรดาศิษย์กระทำสืบต่อมาเพื่อระลึกถึงพระองค์ การฉลองนี้เริ่มขึ้นประมาณปี ค.ศ. 1230 โดยบุญราศีจูเลียน่า และพระสันตะปาปาอูร์บาโนที่ 4 ได้ประกาศให้ทำการเฉลิมฉลองทั่วพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1264
การสมโภชนี้ได้ประกาศความจริง 3 ประการคือ 1) พระเจ้าทรงประทับอยู่ในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า พระเจ้าแท้และมนุษย์แท้, 2) พระเจ้าทรงประทับอยู่ในประชากรของพระองค์ ที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าในพระศาสนจักร แล3) พระเจ้าทรงประทับอยู่ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น ในพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตคริสตชน
 บรรยากาศการลงทะเบียนและการสัมมนา มีผู้เข้าร่วมจากนาบัวและโพนสวางร่วม 40 คน

บทอ่านที่ 1: หนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ                                                              ฉธบ 8:2-3, 14-16

โมเสสเตือนประชากรของพระเจ้าถึงของประทานมากมายที่พระเจ้าทรงประทานให้ โดยเฉพาะมานนาแก่บรรพบุรุษของพวกเขาระหว่างที่เดินทางผ่านถิ่นกันดารในทะเลทราย “มานนา” จึงเป็นเครื่องหมายแห่งความเอาพระทัยใส่ของพระเจ้าต่อประชากรของพระองค์ ซึ่งเป็นภาพล่วงหน้าถึง “ปังที่แท้จริงจากสวรรค์” ใครที่มีส่วนในปังนี้จะไม่หิวอีกต่อไป

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาวโครินทร์  ฉบับที่ 1                   1 คร 10:16-17

นักบุญเปาโลได้เตือนคริสตชนชาวโครินทร์และคริสตชนในปัจจุบันว่า เราได้รับพระเยซูเจ้าภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวและเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า เราจึงต้องเป็นหนึ่งเดียวกับเพื่อนพี่น้อง เพราะคริสตชนทุกคนต่างเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า

พระวรสาร: นักบุญยอห์น                                                                                            ยน 3:16-18

นพระวรสารวันนี้ แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการทวีขนมปังอย่างอัศจรรย์ พระเยซูเจ้าได้ประกาศว่า พระองค์ทรงเป็นปังทรงชีวิต ใครที่กินเนื้อและดื่มโลหิตของพระองค์จะได้รับชีวิตนิรันดร “เนื้อและเลือด” หมายถึงบุคคลทั้งครบของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบเพื่อเรา ให้เราได้ดำเนินชีวิตในความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและผู้อื่น
 มีคุณพ่อธัญญา ศรีอ่อน คุณพ่อไพศาล ว่องไว และทีมงามเป็นผู้ให้ความรู้

°ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1)      ขอบคุณคุณพ่อไพศาล ว่องไว รองผู้อำนวยการชุมชนคริสตชนพื้นฐาน ที่มาถวายมิสซาที่วัดของเราเมื่อวานนี้และวันนี้ ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 2 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 3

2)      ขอบคุณสภาอภิบาล กลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และกลุ่มส่งเสริมชีวิตครอบครัวที่มาช่วยเตรียมงานและเข้าร่วมการสัมมนา “การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ” ในวันเสาร์ที่  25 มิถุนายนนี้ ที่ผ่านมา

3)      กล้ายางของเรายังไม่ได้ปลูก ขอบคุณพี่น้องที่พากันมาในอาทิตย์ที่ผ่านมา คิดว่าคงจะสามารถปลูกได้ในไม่ช้า ส่วนจะเป็นเมื่อไหร่จะแจ้งให้พี่น้องทราบอีกที
 ผู้นำกลุ่มและตัวแทนกลุ่มคริสตชนพื้นฐานที่เข้าร่วมการสัมมนา

4)      วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป ขอให้พี่น้องทุกคนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพร้อมเพียงกัน เพราะนี่เป็นหน้าที่หนึ่งตามพระบัญญัติประการที่สี่ “จงนับถือบิดามารดา” ใช้สิทธิของเราในการเลือกคนดีเข้าไปบริหารชาติบ้านเมือง อย่าเลือกเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างที่ใครมาหยิบยื่นให้

5)      ขอเชิญสมาชิกกลุ่มโฟโกลาเรทั้งชายและหญิง ร่วมประชุมกันวันนี้ (อาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน) เวลา 10.00 น. ที่วัดของเรา

6)      เงินทานวันเสาร์ 358.- บาท, อาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน 8,549.- บาท, เงินทานวัดโพนสวาง 338.- บาท
 การสัมมนาช่วยสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกผู้เข้าร่วมทุกคน

 

วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต


 พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต  

วันอาทิตย์
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
ปี A
ฉธบ 8:2-3, 14-16
1 คร 10:16-17
ยน 6:51-58

บทนำ



 มีเรื่องเล่าว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งได้ถามอาจารย์โอโช รัชนีช (Osho Rajneesh) นักบวชและนักปรัชญาชาวฮินดูถึงความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระเยซูเจ้า อาจารย์รัชนีชได้เล่าเรื่องหนึ่งให้ลูกศิษย์ฟังว่า “เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังจะละสังขาร พระอานันต์ได้ถามพระองค์ว่าจะมอบอะไรไว้ให้บรรดาศิษย์ได้จดจำ พระพุทธองค์ได้มอบดอกจัสมินให้พระอานันต์ ไม่นานดอกไม้นี้ก็แห้งเหี่ยวไม่อยู่ในสภาพเดิมอีกต่อไป”

อาจารย์รัชนีชกล่าวต่อไปว่า “แต่พระเยซูเจ้า แม้ไม่มีใครร้องขอ ได้มอบความทรงจำสุดท้ายด้วยการมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น (ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย) และสั่งให้บรรดาศิษย์ได้แบ่งปันสภาวะพระเจ้าของพระองค์ด้วยการกระทำพิธีนี้สืบต่อไป ดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงยังทรงประทับอยู่กับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ ขณะที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น”

เราภาวนาทุกวันว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ในพระคัมภีร์จึงใช้ภาพพจน์ของงานเลี้ยง เพื่อแสดงถึงความสำพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามาจากหลายครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา ทรงต้อนรับเรา รักเรา และประทานพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงชาวเรา


1.  พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต



เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์” พระองค์ทรงหมายถึง ศีลมหาสนิท ศีลแห่งความรัก ที่พระองค์ทรงประทับอยู่กับเราอย่างแท้จริงและปรารถนาจะอยู่กับเราตลอดไป “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” ในศีลมหาสนิททำให้เรามีประสบการณ์ถึงความรักที่เปี่ยมล้นของพระเจ้าที่มีต่อเรา พระองค์ทรงเลี้ยงเรา รักษาเรา และทำให้เราเข้มแข็งด้วยชีวิตของพระองค์เอง ศีลมหาสนิทจึงเป็นบ่อเกิดและพลังแห่งชีวิตคริสตชน อีกทั้ง เป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงประชากรของพระองค์

ในศีลมหาสนิทเราได้มีประสบการณ์ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า ที่มอบพระองค์เองเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา และมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับเรา “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งมีประสบการณ์ความรักของพระเจ้า เขาจึงไม่สามารถอยู่โดยลำพัง แต่ได้รับมอบพันธกิจในการนำข่าวดีและเป็นพยานถึงพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

ในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าได้ประทาน “ปังทรงชีวิต” ทำให้เราได้มีส่วนในชีวิตของพระเจ้าและลิ้มรสล่วงหน้าถึงถึงชีวิตนิรันดร “ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเราเพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51) ศีลมหาสนิทจึงเป็นศูนย์กลางชีวิตคริสตชน และหล่อเลี้ยงชีวิตของพระศาสนจักรให้เติบโต จึงมีคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “พระศาสนจักรก่อให้เกิดศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทก่อให้เกิดพระศาสนจักร(Henri de Lubac: 1896-1991)

2.  บทเรียนสำหรับเรา


การสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรสำหรับเรา

ประการแรก ความรักและความเป็นหนึ่งเดียว ศีลมหาสนิทสอนเราถึงความสำคัญของหมู่คณะ ขนมปังทำจากแป้งจำนวนมากที่นำมานวดเป็นก้อน เช่นเดียวกับเหล้าองุ่นที่ทำจากผลองุ่นจำนวนมากที่นำมารวมในบ่อย่ำ ดังนั้น เราจึงกลายเป็นหนึ่งเดียวในเครื่องบูชานี้ ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์และผู้อื่น ด้วยการใช้เวลาและความสามารถต่างๆ ที่เรามีเพื่อเพื่อนพี่น้อง ศีลมหาสนิทที่เรารับต้องทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวและความรักที่เรามีต่อกัน เข้มแข็งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประการที่สอง การคืนดีและการให้อภัย เรามีธรรมเนียมในการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทด้วยการคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางศีลแห่งการคืนดีเพื่อเราจะได้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมสำหรับการรับองค์พระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเรา และเรายืนยันถึงท่าทีนี้อีกครั้งก่อนจะรับศีลมหาสนิท ด้วยการมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้าแก่กันและกัน เราต้องตระหนักถึงคำเตือนของนักบุญเปาโลที่ว่า “ดังนั้น ผู้ที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 11:27-29) ให้เรารับศีลมหาสนิทด้วยความเคารพ ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และถ่อมตน
ประการที่สาม การนำพระเยซูเจ้าไปสู่ผู้อื่น เมื่อเรารับศีลมหาสนิทเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าและเป็นผู้นำพระองค์ไปสู่ผู้อื่น เราจะต้องไม่ทิ้งพระองค์ไว้ที่วัด แต่ต้องนำพระองค์ออกไปในชีวิตจริงของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ชีวิตของเราจะต้องเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ ด้วยการดำเนินชีวิตในความรัก ความเมตตา การให้อภัย และการรับใช้ตามแบบอย่างของพระองค์ เพื่อเราจะสามารถกล่าวได้อย่างนักบุญเปาโลที่ว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสต์ทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า (กท 2:20)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ศูนย์กลางของศีลมหาสนิทคือ พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า คำว่า "มหาสนิท" หมายถึงเอกภาพหนึ่งเดียว ที่ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า ดังนั้น การไปรับศีลมหาสนิทและตอบรับว่า "อาแมน" จึงเป็นการประกาศถึงเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่คริสตชน ที่ทุกคนต่างรับปังจากก้อนเดียวกันและดื่มโลหิตจากถ้วยเดียวกันของพระคริสตเจ้า

ศีลมหาสนิทจะยังคงเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ระลึกถึงการกระทำของพระเยซูเจ้าเมื่อสองพันปีก่อน หากศีลมหาสนิทไม่ได้กลายเป็นชีวิตที่แท้จริงของคริสตชน ที่นำเราไปสู่ความรักที่ไม่แบ่งแยกและความเป็นเอกภาพที่เป็นหนึ่งเดียวตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า ไม่มีการแบ่งสีเลือกข้าง ถือเขาถือเราอย่างที่เคยเป็นมา นี่คือความหมายของการสมโภชพระกายและพระโลหิตที่เราฉลองในวันนี้

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรารับศีลมหาสนิทจึงเป็นการย้ำว่า ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันและพี่น้องกัน เราต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าในฐานะที่เป็นคริสตชน ทุกคนที่สัมผัสชีวิตของเราได้พบกับความรักของพระเยซูเจ้าในตัวเราหรือเปล่า เราได้กลายเป็นเครื่องมือที่มองเห็นได้แห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมากน้อยแค่ไหน ในชีวิตของเรา ครอบครัว หมู่คณะ และในหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
24 มิถุนายน 2011

วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สารวัดนาบัว, ปีที่ 2 ฉบับที่ 58

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 2 ฉบับที่ 58 วันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120. 086-231-3231

พิธีปลงศพเปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี วัย 72 ปี โดยคุณพ่อสุรพงศ์ นาแว่น เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2011
 สมโภชพระตรีเอกภาพ

วันนี้พระศาสนจักรให้เราสมโภชพระตรีเอกภาพ พระบิดา พระบุตร และพระจิต พระเจ้าสามพระบุคคลรวมเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว อันเป็นความเชื่อพื้นฐานของเราคริสตชน ในชีวิตคริสตชนเราคุ้นเคยกับการออกนามพระเจ้าสามพระบุคคล ด้วยการทำสำคัญมหากางเขน เป็นต้นในการภาวนาและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพเป็นสิ่งที่เข้าใจยากด้วยภาษาของมนุษย์ เรามักจะเข้าใจพระบิดาเจ้าในฐานะพระผู้สร้าง พระบุตรในฐานะพระผู้ไถ่ และพระจิตในฐานะพระผู้บรรเทาและทำให้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งสามพระบุคคลเท่าเสมอกันและเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้เราเงียบสักครู่และกราบขอสมาโทษพระเจ้า หากเราขาดความเชื่อและความไว้ใจพระองค์
 มิสซาหน้าศพเปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี ที่บ้านเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน

บทอ่านที่ 1: หนังสืออพยพ 34:4ข-6, 8-9

พันธสัญญาเดิมแม้ไม่ได้เผยถึงพระตรีเอกภาพโดยตรงแต่บ่งชี้ถึงพระตรีเอกภาพ พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่โมเสสบนภูเขาซีนาย ว่าทรงเป็นพระเจ้าที่มีความรูสึกเหมือนมนุษย์ที่ทรงซื่อสัตย์และพร้อมที่จะให้อภัย ก่อให้เกิดการตอบสนองขึ้นในดวงใจของโมเสส ด้วยการกราบลงนมัสการพระองค์ ให้ช่วยนำทางประชากรของพระองค์สู่แผ่นดินพระสัญญา

บทอ่านที่ 2: จดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโครินทร์ฉบับที่ 2 13:11-13

นักบุญเปาโลได้เตือนคริสตชนชาวโครินทร์ถึงความรักของพระบิดาเจ้า โดยการส่งพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์และประทานพระหรรษทานของพระองค์ผ่านทางพระเยซูคริสตเจ้า ช่วยให้เราได้รับสิทธิพิเศษในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับพระจิตเจ้า ผ่านทางศีลล้างบาปที่เราได้รับ

พระวรสาร: นักบุญยอห์น 3:16-18

ในพระวรวารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้แสดงให้นิโคเดมัสได้เข้าใจว่า พระเจ้าสามพระบุคคลได้เริ่มงานไถ่กู้มนุษย์ให้รอดด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ “ความรัก” ที่มีต่อมนุษยชาติ “พระเจ้า องค์ความรัก” จึงเป็นศูนย์กลางของข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ พระเจ้าทรงรักเราทุกคนและทรงรักโลกจึงได้ประทานพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์
ตู้สัมฤทธิ์เป็นชาวอำเภอโนนสังข์ แต่งงานกับมารีอา เทวี บัวมณี มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 7 คน

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณกลุ่มคริสตชนพื้นฐานกลุ่มที่ 1 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือกลุ่มที่ 2

2) ขอเชิญสภาอภิบาล สมาชิกทุกกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และกลุ่มส่งเสริมชีวิตครอบครัวเข้าร่วมการสัมมนา “การพัฒนาชุมชนคาทอลิกแบบบูรณาการ” ในวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายนนี้ ที่วัดของเรา
 คบเด็กสร้างบ้าน เด็กๆ ชาวนาบัวนอกจากมาเล่นที่วัดแล้ว ยังช่วยงานวัดจนมืดค่ำ

3) ขอแรงพี่น้องชาวนาบัวช่วยปลูกยางในบริเวณวัดของเราวันนี้ (19 มิถุนายน) และช่วยกันพัฒนาวัดของเราให้สะอาดสวยงาม เพื่อเตรียมสถานที่สำหรับการสัมมนาในวันเสาร์ที่จะถึง

4) อาทิตย์หน้า (26 มิถุนายน) สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า

5) เงินทานวันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน 7,953.- บาท, เงินต้นมิสซาปลงศพ เปโตร สัมฤทธิ์ บัวมณี (14 มิ.ย.) 4,520.- บาท, เงินทานวัดโพนสวาง 321.- บาท และเงินต้นมิสซา ออกัสติน วน นาแว่น (3 มิถุนายน) 1,020 บาท
 คุณพ่อวีระศักดิ์ สุภาเพิ่ม เลขานุการพระสังฆราชลือชัย ธาตุวิสัย แวะมาเยี่ยม (18 มิ.ย.)

วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระตรีเอกภาพ: พระเจ้าหนึ่งเดียวสามพระบุคคล

วันอาทิตย์
สมโภชพระตรีเอกภาพ ปี A
อพย 34:4ข-6, 8-9
2 คร 13:11-13
ยน 3:16-18

 พระตรีเอกภาพ: พระเจ้าหนึ่งเดียวสามพระบุคคล
บทนำ

ชาวนาคนหนึ่งมีธุระเข้าไปในเมือง ขณะที่เขากำลังเดินบนถนนที่พลุกพล่านสายหนึ่ง ทันใดนั้นเขาได้หยุดและพูดกับเพื่อนที่ไปด้วยว่า “ฉันได้ยินเสียงจิ้งหรีด” เพื่อนของเขารู้สึกแปลกใจจึงถามว่า “แกได้ยินเสียงจิ้งหรีดท่ามกลางเสียงที่อึกทึกคึกโคมเช่นนี้ได้อย่างไร” ชานนาคนนั้นยืนยันหนักแน่นว่า “ฉันได้ยินเสียงมันจริงๆ หูของฉันคุ้นเคยกับเสียงของมัน”

จากนั้น ชาวนาได้ตั้งใจฟังเสียงจิ้งหรีดและติดตามเสียงของมัน จนพบจิ้งหรีดตัวหนึ่งกำลังร้องริมหน้าต่าง เพื่อนที่ไปด้วยฉงนใจมาก แต่ชาวนาไม่รู้สึกแปลกใจอะไร เขาล้วงเข้าไปในกระเป๋ากางกาง หยิบเงินเหรียญหนึ่งออกมาและขว้างลงไปบนทางเดิน เสียงเงินเหรียญกระทบพื้นทำให้ผู้คนที่ผ่านไปมาหยุดและหันมองไปทางเสียงนั้น

ชาวนาจึงพูดกับเพื่อนคนนั้นว่า “แกคงเข้าใจสิ่งที่ฉันหมายถึง ผู้คนไม่ได้ยินเสียงจิ้งหรีดแต่ได้ยินเสียงเงินเหรียญ คนส่วนใหญ่มักจะได้ยินเสียงที่เขาคุ้นเคยและเพิกเฉยต่อเสียงอื่นที่เขาไม่สนใจ” เรื่องของชาวนาคนนี้ ตรงกับคำกล่าวของวอลแตร์ที่ว่า “ใครคนหนึ่งสามารถรับรู้ถึงความมีอยู่ของพระเจ้า หากเขาเปิดตาของเขา” เราสามารถได้ยินเสียงของพระเจ้าและเห็นถึงการประทับอยู่พระองค์ หากเราเปิดตาและหูของเราฟังเสียงของพระองค์

วันนี้เราสมโภชพระตรีเอกภาพ ธรรมล้ำลึกเรื่องพระบิดา พระบุตร และพระจิต ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานสำคัญของคริสตชน ที่พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยให้เราทราบว่า พระเจ้ามิใช่ใครอื่นที่อยู่ห่างไกล แต่เป็นเหมือนพ่อ (Abba) ที่ใจดี ซึ่งรักและให้อภัยเราเสมอ ดังคำอุปมาเรื่อง “บิดาผู้ใจดี” (ลูกล้างผลาญ) นอกนั้น สิ่งแรกที่บิดามารดาสอนเราเกี่ยวกับศาสนาคือ การทำสำคัญมหากางเขน และสิ่งสุดท้ายที่พระสงฆ์ทำที่หลุมศพเหนือร่างของเราคือ สำคัญมหากางเขนเช่นเดียวกัน ชีวิตคริสตชนของเราจึงถูกตราไว้ในพระนามของพระตรีเอกภาพ “พระบิดา พระบุตร และพระจิต”

1. พระตรีเอกภาพ พระเจ้าหนึ่งเดียว

ในพระวรวารวันนี้ พระเยซูเจ้าได้แสดงให้นิโคเดมัสได้เข้าใจว่า พระเจ้าสามพระบุคคลได้เริ่มงานไถ่กู้มนุษย์ให้รอดด้วยเหตุผลเพียงประการเดียวคือ “ความรัก” ที่มีต่อมนุษยชาติ “พระเจ้า องค์ความรัก” จึงเป็นศูนย์กลางของข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ พระเจ้าทรงรักเราทุกคนและทรงรักโลกจึงได้ประทานพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์ แบบไร้ขีดจำกัดและไม่สงวนสิ่งใดไว้เลย ดังที่นักบุญเปาโลกล่าวว่า “พระองค์มิได้หวงแหนพระบุตรของพระองค์ แต่ทรงมอบพระบุตรเพื่อเราทุกคน” (รม 8:31-32) วันสมโภชพระตรีเอกภาพ จึงเป็นวันเฉลิมฉลองพระเจ้าและความรักของพระองค์

สามพระบุคคลในพระตรีเอกภาพ “พระบิดา พระบุตร และพระจิต” รวมเป็นหนึ่งเดียวในความรักและเท่าเสมอกัน ความรักของพระเจ้าแสดงออกให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในการสร้าง รวมถึงเรามนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งสร้างที่ประเสริฐที่สุด และเรามีส่วนในความรักที่สมบูรณ์ของพระองค์ การสมโภชพระตรีเอกภาพจึงเตือนใจเราให้ตระหนักถึงความรักที่สูงส่งของพระเจ้าที่มีต่อเรา ผ่านทางความรักนี้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงตนเองกลายเป็นทายาทในอาณาจักรของพระเจ้า

ธรรมล้ำลึกเรื่องพระตรีเอกภาพ “สามพระบุคคลรวมเป็นพระเจ้าหนึ่งเดียว” เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยากด้วยสติปัญญา (Intellect) แต่เราสามารถเข้าใจอย่างถ่องแท้ด้วยหัวใจ (Heart) เมื่อเราเจริญชีวิตในความรักต่อกัน เวลาที่เรารักกันพระเจ้าจะประทับอยู่กับเราและเราอยู่ในพระเจ้า สายสัมพันธ์แห่งความรักได้รวมพระบิดา พระบุตร และพระจิตให้เป็นหนึ่งเดียวกันในพระตรีเอกภาพ อีกทั้งรวมมนุษย์เราให้เป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์และกับเพื่อนพี่น้อง

2. บทเรียนสำหรับเรา

ความเชื่อและประสบการณ์ของพระศาสนจักรทุกยุคทุกสมัย เป็นความเชื่อที่หยั่งรากลึกในพระตรีเอกภาพ “พระบิดา พระบุตรและพระจิต” เสมอมาไม่เคยเปลี่ยนแปลง เป็นประสบการณ์ของบรรดาคริสตชนและนักบุญทั้งหลายที่เชื่อในพระตรีเอกภาพ และพยายามเจริญชีวิตแบบพระตรีเอกภาพ คือชีวิตแห่งความสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้องในชีวิตประจำวัน

ประการแรก ชีวิตของเรากับพระเจ้า ควรเป็นชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา และเชื่อมั่นในพระเจ้าเที่ยงแท้ และมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างแน่นแฟ้นที่สุด จนกล่าวได้ว่า “พระเจ้าทรงเป็นที่หนึ่งและสำคัญที่สุดในชีวิตเรา” พระองค์คือพระเจ้าที่เราเชื่อ รัก และวางใจมากที่สุด ไม่มีสิ่งใดในโลกจะเปรียบกับพระเจ้าได้เลย ชีวิตของเราคือชีวิตของพระเจ้านั่นเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิ การมาวัดวันอาทิตย์ การทำบุญให้ทาน การภาวนา เป็นต้น

ประการที่สอง ชีวิตของเรากับเพื่อนมนุษย์ ควรต้องเป็นชีวิตแห่งความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียว มีความเชื่อและความไว้ใจกัน ที่แสดงออกในความรัก ความเมตตา และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่เรามีต่อกัน เป็นชีวิตที่เป็นหนึ่งเดียวกันเสมอ รักเสมอ และให้อภัยเสมอในแบบเดียวกันกับพระเจ้า โดยเริ่มจากความเป็นหนึ่งเดียวกันในครอบครัว ในหมู่คณะ และในสังคมของเรา นี่คือ การเป็นพยานถึงความเป็นหนึ่งเดียวกันในชีวิตพระตรีเอกภาพ ที่เราสมโภชในวันนี้

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระตรีเอกภาพที่เราสมโภชในวันนี้คือความเชื่อและความหวังของเรา เหนือสิ่งอื่นใด พระเจ้าเที่ยงแท้ที่เราเชื่อศรัทธาและมีพลังต่อชีวิตของเรามากที่สุด เป็นพระเจ้าสามพระบุคคล “พระบิดา พระบุตร และพระจิต” เป็นพระเจ้าแห่งความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวแท้จริง ไม่มีการแบ่งแยกแต่เท่าเสมอกัน และสมบูรณ์ครบครันในความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเราจะเข้าใจอย่างถ่องแท้เมื่อเราอยู่ต่อหน้าพระเจ้า และเมื่อเราเจริญชีวิตในความรักต่อกัน ทั้งกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์

เราคริสตชนประกาศเสมอมาในการภาวนาถึงพระตรีเอกภาพ “พระบิดา พระบุตร และพระจิต” ด้วยการทำสำคัญมหากางเขนที่หน้าผาก ที่หน้าอก และที่ไหล่ทั้งสองข้าง เราออกนามพระเจ้า พระบิดา พระบุตร และพระจิต ให้มาประทับอยู่กับเราและอวยพรเรา เป็นการประกาศให้ทุกคนได้รับทราบว่า “เราเป็นคริสตชน” อีกทั้ง เป็นการยืนยันว่า เราเชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวสามพระบุคคล และดำเนินชีวิตในพระนามของพระตรีเอกภาพ “พระบิดา และพระบุตร และพระจิต”

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
17 มิถุนายน 2011