วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระวรสารทั้งสี่ (2)

2. พระวรสารสหทรรศน์


ในหนังสือพระวรสาร 4 เล่ม เราจะเห็นว่า 3 เล่มแรกมีลักษณะคล้ายคลึงกันในเนื้อหา จนดูเหมือนว่าคัดลอกกันมา ได้แก่ พระวรสารนักบุญมัทธิว มาระโก และลูกา จึงเรียกพระวรสารทั้งสามเล่มว่า “พระวรสารสหทรรศน์” (Synoptic Gospels) หรือ พระวรสารที่เทียบเคียงกัน มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน

2.1 พระวรสารนักบุญมัทธิว

2.1.1 ผู้เขียน

พระวรสารเล่มนี้ไม่ได้ระบุชื่อของผู้เขียน แต่เป็นที่ยอมรับกันมานานว่ามัทธิวเป็นผู้เขียน เราไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับมัทธิวนัก นอกจากรู้ว่ามัทธิวเคยเป็นคนเก็บภาษี (มธ 9:9) ซึ่งในสมัยนั้นคนเก็บภาษีเป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของผู้คนโดยทั่วไป ตามธรรมประเพณีเล่าว่า มัทธิวเริ่มประกาศเทศน์สอนให้ชาวยิวในปาเลสไตน์ก่อนและประเทศใกล้เคียง กล่าวกันว่าท่านเดินทางไปถึงเอธิโอเปีย ประเทศแถบเปอร์เชีย ซีเรีย กรีก รวมถึงไอร์แลนด์ และได้ตายเป็นมรณสักขีซึ่งวันฉลองตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี

พระสังฆราชปาปิอัสแห่งเฮราโปลิส (Papias of Hierapolis: 130) ซึ่งเป็นศิษย์ของยอห์นอัครสาวกได้เขียนเกี่ยวกับพระวรสารของมัทธิวว่า อัครสาวกมัทธิวได้รวบรวมคำเทศนาของพระเยซูเจ้าเป็นภาษาอาราไมอิก ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันในสมัยพระเยซูเจ้า นักบุญอีเรเนอุสแห่งลีออง (St. Eraenaeus of Lyon: 180) ได้ยืนยันธรรมประเพณีนี้เช่นกันว่า มัทธิวได้เทศน์สอนในหมู่พวกยิว ขณะที่เปโตรและเปาโลเทศน์สอนและก่อตั้งพระศาสนจักรที่กรุงโรม

นักเขียนที่มีชื่อเสียงและปิตาจารย์ของพระศาสนจักรหลายท่าน อย่าง เคลเมนต์แห่งอเล็กซานเดรีย (Clement of Alexandria: C. 150-215), ออริเจน (Origen: с. 185-254), แตร์ตุลเลียน (Tertullian: c.160-220) ต่างยืนยันว่ามัทธิวเป็นคนเขียนพระวรสาร แต่เราไม่ทราบว่ามัทธิวเขียนขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 70-100 หลายตอนในพระวรสารของมัทธิวเกือบเหมือนกับพระวรสารของมาระโก นักวิชาการปัจจุบันจึงเชื่อว่ามัทธิวเอาข้อความมาจากมาระโก

2.1.2 จุดประสงค์และคำสอนหลักของมัทธิว

มัทธิวเน้นว่า พระเยซูเจ้าคือพระแมสสิยาห์ที่ชาวยิวรอคอยมาเป็นเวลาช้านาน ชาวยิวรอคอยผู้นำที่จะปลดปล่อยพวกเขาจากอาณาจักรโรมัน ดังนั้น มัทธิวจึงบันทึกเรื่องแผ่นดินสวรรค์อย่างละเอียด และรวมคำสอนของพระเยซูเจ้าโดยแบ่งเป็น 5 หมวด คั่นด้วยเรื่องราวของพระองค์ มัทธิวเชื่อมพระพันธสัญญาเก่ากับพันธสัญญาใหม่เข้าด้วยกัน

ทั้งนี้เพื่อชี้ให้ชาวยิวในปาเลสไตน์ได้เข้าใจถึงความจริงที่ว่า “พระเยซูเจ้าเป็นพระแมสสิยาห์ที่พันธสัญญาเก่ากล่าวถึง” สิ่งที่มีอยู่ในพันธสัญญาเก่านั้นสมบูรณ์ในองค์พระเยซูเจ้า เราจึงเห็นมัทธิวอ้างถึงพันธสัญญาเก่าเสมอ เพื่อแสดงว่า พระเยซูเจ้าคือพระแมสสิยาห์ที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ดาวิด (มธ 1:1-17) กำเนิดโดยอานุภาพของพระเจ้า (มธ 1:23) ที่เมืองเบทเลเฮม (มธ 2:6) และมักจะเรียกพระเยซูเจ้าว่า “บุตรของดาวิด” (มธ 9:27; 12:13; 15:22; 20:30-32; 21:9,15)

มัทธิวเน้นว่า พระเยซูเจ้าคือโมเสสคนใหม่ ที่ถูกส่งมาเพื่อทำให้คำทำนายของบรรดาประกาศกเป็นจริง โมเสสได้ประกาศบทบัญญัติของพระเจ้าบนภูเขาซีนาย พระเยซูเจ้าได้ประกาศบัญญัติของพระองค์บนภูเขา (มธ 5:1) มิใช่บัญญัติ 10 ประการ แต่เป็นบุญลาภ 8 ประการ (มธ 5:3-10) โมเสสได้ปรากฏมาในการจำแลงพระกายบนภูเขา (มธ 17:3-4) และอ้างถึงโมเสสเกี่ยวกับการอนุญาตให้หย่าร้าง (มธ 19:3-9)

นอกนั้น มัทธิวยังเน้นว่า พระเยซูเจ้าคือบุตรของพระเจ้า คำสอนของพระองค์ทำให้บทบัญญัติในพันธสัญญาเก่าสมบูรณ์ และพระองค์ทรงก่อตั้งอาณาจักรใหม่ของพระเจ้าซึ่งสืบเนื่องมาจากอาณาจักรในพันธสัญญาเก่า หากแต่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงชาวอิสราแอลเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อนำความรอดไปสู่ประชาชาติทั้งมวล และการที่พระวรสารของมัทธิวเป็นระบบและสมบูรณ์เช่นนี้ จึงได้รับการยอมรับและกล่าวถึงมากที่สุดในยุคแรกๆ และยกให้เป็นพระวรสารฉบับแรก

จะเห็นว่า มัทธิวให้ความสำคัญกับคำสอนของพระเยซูเจ้ามากกว่ารายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของพระองค์ เห็นได้จากการสนใจในพระดำรัสของพระองค์ โดยการรวบรวมคำสอนของพระองค์ในโอกาสต่างๆ เป็นหมวดหมู่ 5 หมวดด้วยกันที่เรียกว่า “คำเทศนาบนภูเขา” พูดถึงคำอุปมา 14 เรื่อง เพื่อชี้ให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าคืออาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ

2.2 พระวรสารนักบุญมาระโก

2.2.1 ผู้เขียน

เราพบชื่อยอห์นมาระโกหลายครั้งในหนังสือกิจการอัครสาวกและจดหมาย มารดาของท่านมีบ้านที่เยรูซาเล็มซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มคริสตชนยุคแรก (กจ 12:12) ได้กลับใจรับศีลล้างบาปกับเปโตร ดังที่เปโตรเรียกท่านว่า “บุตรของข้าพเจ้า” (1 ปต 5:13) เป็นลูกพี่ลูกน้องกับบานาบัสเพื่อนร่วมงานของเปาโล เป็นที่ไว้ใจและเคยร่วมงานกับเปาโล และเป็นศิษย์รักของเปโตร

พระวรสารนักบุญมาระโก เป็นพระวรสารที่สั้นที่สุดและเขียนขึ้นเป็นเล่มแรกที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 64 โดยบันทึกเรื่องราวคำสอนของพระเยซูเจ้าที่ท่านได้ยินจากเปโตรโดยตรง และบรรดาผู้ฟังที่กรุงโรมได้สนับสนุนให้ท่านเขียนขึ้น และนี่เป็นเหตุให้พระวรสารเล่มนี้บันทึกอย่างเห็นภาพชัดเจน มาระโกมักอธิบายธรรมเนียมยิว ทำให้เรารู้ว่า มาระโกจงใจเขียนพระวรสารสำหรับคนที่มิใช่ยิวอ่าน

สิ่งที่มาระโกเขียนเป็นคำเทศน์สอนของเปโตร รวมถึงคำเทศน์สอนของบรรดาสาวกองค์อื่นๆ ในพระวรสารของมาระโกจึงพบหลักฐานเฉพาะที่เปโตรได้เป็นพยาน โดยการเริ่มต้นภารกิจของพระเยซูเจ้าด้วยการเรียกเปโตร (มก 1:16-18) ซึ่งเปโตรได้พบกับพระเยซูเจ้าเป็นครั้งแรก ทรงเปลี่ยนชื่อจาก “ซีมอน” เป็น “เปโตร” และได้รับการเลือกให้เป็นพยานในเหตุการณ์พิเศษบางอย่าง เช่น การรักษาบุตรสาวของไยรัส (มก 8:29), การจำแลงพระกาย (มก 9:2), เหตุการณ์ในสวนเกทเสมนี (มก 14:33-37)

2.2.2 จุดประสงค์และคำสอนหลักของมาระโก

มาระโกเขียนพระวรสารที่กรุงโรม โดยตั้งใจเรียบเรียงให้ชาวโรมันอ่าน ชาวโรมันในขณะนั้นเป็นทาสกันมาก มาระโกเน้นเรื่องพระแมสสิยาห์ซึ่งปรากฏมาแต่ผู้คนไม่ยอมรับ กลับประหารพระองค์ด้วยการตรึงกางเขนเสีย มาระโกต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงยอมรับทรมานและความตาย เพื่อเป็นสินไถ่มนุษย์ให้พ้นจากอำนาจของบาป ซึ่งถูกใจชาวโรมันมาก ทาสกลับใจแล้วมีความกล้าหาญอดทน อโหสิให้ทุกคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ นายกลับใจแล้วปล่อยทาสให้เป็นไทหรือเลี้ยงดูต่อไปอย่างพี่น้อง

มาระโกเรียบเรียบเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ค่อยละเอียดนัก โดยบันทึกแบบคร่าวๆ ตั้งแต่เหตุการณ์ที่พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างถึงเหตุการณ์ที่ไม้กางเขนและการกลับเป็นขึ้นมาจากความตาย ไม่ได้เน้นเสนอคำสอนของพระเยซูเจ้าเท่าใดนัก แต่เน้น การอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าและภารกิจที่ทรงกระทำในสถานที่ต่างๆ อันทำให้เราแน่ใจว่า พระองค์คือพระบุตรของพระเจ้า

เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเปโตร เราจึงเห็นมาระโกอ้างคำพูดของเปโตรกับพระเยซูเจ้าบ่อยๆ เช่น คำสารภาพของเปโตร “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” (มก 8:29), “พระอาจารย์ ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ เราจงสร้างเพิงขึ้นสามหลังเถิด…” (มก 9:5), “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์แล้ว” (มก 10:28), “แม้ว่าทุกคนจะทอดทิ้งพระองค์ ข้าพเจ้าก็จะไม่ทอดทิ้งพระองค์เลย” (มก 14:29) ดังที่นักบุญอีเรเนอุส กล่าวว่า “มาระโกเป็นศิษย์และผู้แปลคำคำสอนของเปโตร และทำให้คำสอนของเปโตรตกทอดมาถึงเราในรูปของงานเขียน” ดังนั้น เมื่อเราอ่านพระวรสารของมาระโก เท่ากับว่าเรากำลังฟังเปโตรเทศน์สอน

2.3 พระวรสารนักบุญลูกา

นักบุญอีเรเนอุส บอกเราว่า “ลูกา ผู้ร่วมงานของเปาโล ได้บันทึกสิ่งที่เปาโลสอนในพระวรสารของท่าน” พระวรสารของลูกา มีลักษณะเด่นที่ผู้เขียนใช้ความประณีตเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวและคำสอนต่างๆ ของพระเยซู แต่ลูกาเคารพแหล่งที่มาของเนื้อหาส่วนใหญ่ โดยเพิ่มเติมส่วนอื่นๆ ที่ขาดเข้าไป มีโครงสร้างคล้ายพระวรสารนักบุญมาระโก แต่ปรับเปลี่ยนลำดับบ้างเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดและสอดคล้องกันยิ่งขึ้น

2.3.1 ผู้เขียน

แม้ไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน แต่จากหลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้เขียนคือ นายแพทย์ลูกา ผู้ร่วมงานของเปาโล เมื่ออ่านพระวรสารทั้งเล่มก็เห็นชัดว่า ผู้เขียนต้องเป็นคนมีการศึกษาดีเพราะใช้ศัพท์หลากหลาย เลือกใช้คำเหมาะสมและเรียบเรียงได้ดี เชี่ยวชาญเรื่องเบื้องหลังทั้งกรีกและยิว นักโบราณคดีได้พิสูจน์หลักฐานต่างๆ และยอมรับว่าลูกาบันทึกหลักฐานต่างๆ ได้ถูกต้อง ลูกาเคยร่วมงานกับมาระโก พระวรสารของมาระโกจึงเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของลูกา โดยเขียนขึ้นที่อาคายา ใกล้กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีก

ลูกาเกิดในครอบครัวชาวกรีกที่อันติโอกในซีเรีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของคริสตศาสนาแห่งแรกนอกปาเลนไตน์ที่ใหญ่ที่สุด ภายหลังกลับใจได้ย้ายไปอยู่ที่โตรอัส ได้พบกับเปาโลที่นั่น และได้กลายเป็นผู้ร่วมงานคนสำคัญของเปาโล ภายหลังความตายของเปาโล ประมาณปี ค.ศ. 67 ลูกาได้ใช้เวลารวบรวมข้อมูลเขียนพระวรสารและหนังสือกิจการอัครสาวก แม้จะไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง แต่งานเขียนสองเล่มนี้ บอกให้เรารู้ว่าท่านเป็นคนมีความรู้ดีและสนใจศึกษาค้นคว้าข้อมูลเป็นอย่างดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้

2.3.2 จุดประสงค์และคำสอนหลักของลูกา

พระวรสารนักบุญลูกาให้รายละเอียดเรื่องของพระเยซูเจ้ามากที่สุด โดยเขียนอุทิศแก่ชาวกรีกชื่อ เธโอฟิลัส ลูการวบรวมเนื้อหาอย่างระมัดระวังจากแหล่งที่ไว้ใจได้ คือคนที่เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง ลูกาไม่เป็นเพียงนักเขียนประวัติธรรมดา แต่มีจุดประสงค์ในการค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นในปาเลสไตน์ในสมัยพระเยซูเจ้า เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โลก ด้วยการลำดับวงศ์วานของพระเยซูเจ้าไปถึงอาดัม เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์โรมัน ด้วยการอ้างถึงการสำรวจสำมะโนประชากรทั่วจักรวรรดิโรมันในสมัยจักรพรรดิออกัสตัส (ลก 2:1)

ลูกาเน้นว่า พระเยซูเจ้าเป็นผู้ช่วยมนุษย์ทุกคน และการมาของพระองค์เป็นเหตุการณ์สำคัญของโลก แต่ขณะเดียวกันเขาได้ให้ภาพความเป็นมนุษย์ของพระเยซูเจ้าด้วย โดยการเสนอความรักที่พระเยซูเจ้ามีต่อคนบาป (ลก 15) ทรงให้อภัยคนบาป (ลก 7:36-50; 15:11-32; 19:1-10) ทรงเมตตาคนยากจนและประณามคนมั่งมีและเอาเปรียบผู้อื่น (ลก 1:51-53; 6:20-26; 12:13-21) เรื่องที่เขาเลือกมาสะท้อนให้เห็นว่าเขาสนใจตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเจ็บป่วย คนไร้ที่พึ่ง คนยากจน ผู้หญิง เด็กและคนที่สังคมรังเกียจ

ดูเหมือนลูกาจะเน้นบทบาทของสตรีมากกว่าพระวรสารทุกฉบับ เช่น การแจ้งข่าวการประสูติและการเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบธของพระนางมารีย์ (ลก 1:28-56), การรักษาแม่ยายของเปโตร (ลก 4:38-39), การรักษาหญิงที่ป่วยเป็นโรคตกโลหิต (ลก 8:43-48), ทานของหญิงม่าย (ลก 21:1-4), กล่าวถึงผู้หญิงที่เป็นพยานถึงพระทรมาน (ลก 23:49) และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ลก 24:1-10) ทั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่า พระนางมารีย์และบรรดาสตรีเหล่านั้น มีบทบาทสำคัญในแผนการแห่งความรอดของพระเยซูเจ้า

นอกนั้น ลูกายังเน้นการสวดภาวนาโดยพระเยซูเจ้าเองทรงกระทำเป็นแบบอย่าง (ลก 11:5-8; 8.1-8) เนื้อหาส่วนใหญ่แสดงออกถึงความรู้สึกส่วนลึกของหัวใจมนุษย์ เพื่อชี้ให้เห็นถึงความรักและพระเมตตาของพระเจ้า ดังปรากฏในนิทานเปรียบเทียบเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ลก 10:25-37) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักที่มีต่อเพื่อนพี่น้องซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะชาวยิว เพื่อเน้นให้เห็นว่า พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อประกาศข่าวดีแก่มนุษย์ทุกคน
(ยังมีต่อ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น