วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต


 พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต  

วันอาทิตย์
สมโภชพระวรกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า
ปี A
ฉธบ 8:2-3, 14-16
1 คร 10:16-17
ยน 6:51-58

บทนำ



 มีเรื่องเล่าว่า ลูกศิษย์คนหนึ่งได้ถามอาจารย์โอโช รัชนีช (Osho Rajneesh) นักบวชและนักปรัชญาชาวฮินดูถึงความแตกต่างระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระเยซูเจ้า อาจารย์รัชนีชได้เล่าเรื่องหนึ่งให้ลูกศิษย์ฟังว่า “เมื่อพระพุทธเจ้ากำลังจะละสังขาร พระอานันต์ได้ถามพระองค์ว่าจะมอบอะไรไว้ให้บรรดาศิษย์ได้จดจำ พระพุทธองค์ได้มอบดอกจัสมินให้พระอานันต์ ไม่นานดอกไม้นี้ก็แห้งเหี่ยวไม่อยู่ในสภาพเดิมอีกต่อไป”

อาจารย์รัชนีชกล่าวต่อไปว่า “แต่พระเยซูเจ้า แม้ไม่มีใครร้องขอ ได้มอบความทรงจำสุดท้ายด้วยการมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์ ภายใต้รูปปรากฏของปังและเหล้าองุ่น (ในการเลี้ยงอาหารค่ำมื้อสุดท้าย) และสั่งให้บรรดาศิษย์ได้แบ่งปันสภาวะพระเจ้าของพระองค์ด้วยการกระทำพิธีนี้สืบต่อไป ดังนี้ พระเยซูเจ้าจึงยังทรงประทับอยู่กับบรรดาผู้ติดตามพระองค์ ขณะที่พระพุทธเจ้ามีชีวิตอยู่แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น”

เราภาวนาทุกวันว่า “โปรดประทานอาหารประจำวันแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายในวันนี้” การรับประทานอาหารร่วมกันเป็นเครื่องหมายของมิตรภาพ ในพระคัมภีร์จึงใช้ภาพพจน์ของงานเลี้ยง เพื่อแสดงถึงความสำพันธ์ที่ใกล้ชิดและเป็นหนึ่งเดียวกัน เรามาจากหลายครอบครัวที่แตกต่างกัน แต่รวมเป็นหนึ่งเดียวกันในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระองค์ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา ทรงต้อนรับเรา รักเรา และประทานพระองค์เป็นอาหารเลี้ยงชาวเรา


1.  พระเยซูเจ้า ปังทรงชีวิต



เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราเป็นปังทรงชีวิตที่ลงมาจากสวรรค์” พระองค์ทรงหมายถึง ศีลมหาสนิท ศีลแห่งความรัก ที่พระองค์ทรงประทับอยู่กับเราอย่างแท้จริงและปรารถนาจะอยู่กับเราตลอดไป “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” ในศีลมหาสนิททำให้เรามีประสบการณ์ถึงความรักที่เปี่ยมล้นของพระเจ้าที่มีต่อเรา พระองค์ทรงเลี้ยงเรา รักษาเรา และทำให้เราเข้มแข็งด้วยชีวิตของพระองค์เอง ศีลมหาสนิทจึงเป็นบ่อเกิดและพลังแห่งชีวิตคริสตชน อีกทั้ง เป็นเครื่องหมายแห่งความรักที่พระเยซูเจ้าทรงเลี้ยงประชากรของพระองค์

ในศีลมหาสนิทเราได้มีประสบการณ์ถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของพระเยซูเจ้า ที่มอบพระองค์เองเป็นอาหารเลี้ยงวิญญาณของเรา และมีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับเรา “ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา” (ยน 6:56) ดังนั้น การที่ใครคนหนึ่งมีประสบการณ์ความรักของพระเจ้า เขาจึงไม่สามารถอยู่โดยลำพัง แต่ได้รับมอบพันธกิจในการนำข่าวดีและเป็นพยานถึงพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12)

ในพิธีเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท พระเยซูเจ้าได้ประทาน “ปังทรงชีวิต” ทำให้เราได้มีส่วนในชีวิตของพระเจ้าและลิ้มรสล่วงหน้าถึงถึงชีวิตนิรันดร “ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้คือเนื้อของเราเพื่อให้โลกมีชีวิต” (ยน 6:51) ศีลมหาสนิทจึงเป็นศูนย์กลางชีวิตคริสตชน และหล่อเลี้ยงชีวิตของพระศาสนจักรให้เติบโต จึงมีคำกล่าวในลักษณะที่ว่า “พระศาสนจักรก่อให้เกิดศีลมหาสนิท และศีลมหาสนิทก่อให้เกิดพระศาสนจักร(Henri de Lubac: 1896-1991)

2.  บทเรียนสำหรับเรา


การสมโภชพระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้าและข่าวดีแห่งพระวรสารวันนี้ ได้ให้บทเรียนอะไรสำหรับเรา

ประการแรก ความรักและความเป็นหนึ่งเดียว ศีลมหาสนิทสอนเราถึงความสำคัญของหมู่คณะ ขนมปังทำจากแป้งจำนวนมากที่นำมานวดเป็นก้อน เช่นเดียวกับเหล้าองุ่นที่ทำจากผลองุ่นจำนวนมากที่นำมารวมในบ่อย่ำ ดังนั้น เราจึงกลายเป็นหนึ่งเดียวในเครื่องบูชานี้ ที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระองค์และผู้อื่น ด้วยการใช้เวลาและความสามารถต่างๆ ที่เรามีเพื่อเพื่อนพี่น้อง ศีลมหาสนิทที่เรารับต้องทำให้ความเป็นหนึ่งเดียวและความรักที่เรามีต่อกัน เข้มแข็งและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ประการที่สอง การคืนดีและการให้อภัย เรามีธรรมเนียมในการเตรียมตัวรับศีลมหาสนิทด้วยการคืนดีกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ผ่านทางศีลแห่งการคืนดีเพื่อเราจะได้มีจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ เหมาะสมสำหรับการรับองค์พระเจ้าเข้ามาในจิตใจของเรา และเรายืนยันถึงท่าทีนี้อีกครั้งก่อนจะรับศีลมหาสนิท ด้วยการมอบสันติสุขของพระคริสตเจ้าแก่กันและกัน เราต้องตระหนักถึงคำเตือนของนักบุญเปาโลที่ว่า “ดังนั้น ผู้ที่กินปังหรือดื่มจากถ้วยขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่สมควร ก็ผิดต่อพระกายและพระโลหิตขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (1 คร 11:27-29) ให้เรารับศีลมหาสนิทด้วยความเคารพ ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์และถ่อมตน
ประการที่สาม การนำพระเยซูเจ้าไปสู่ผู้อื่น เมื่อเรารับศีลมหาสนิทเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้าและเป็นผู้นำพระองค์ไปสู่ผู้อื่น เราจะต้องไม่ทิ้งพระองค์ไว้ที่วัด แต่ต้องนำพระองค์ออกไปในชีวิตจริงของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน ชีวิตของเราจะต้องเป็นเครื่องหมายที่มองเห็นได้แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ ด้วยการดำเนินชีวิตในความรัก ความเมตตา การให้อภัย และการรับใช้ตามแบบอย่างของพระองค์ เพื่อเราจะสามารถกล่าวได้อย่างนักบุญเปาโลที่ว่า ข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ มิใช่ตัวข้าพเจ้าอีกต่อไป แต่พระคริสต์ทรงดำรงชีวิตอยู่ในตัวข้าพเจ้า (กท 2:20)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ศูนย์กลางของศีลมหาสนิทคือ พระกายและพระโลหิตของพระคริสตเจ้า คำว่า "มหาสนิท" หมายถึงเอกภาพหนึ่งเดียว ที่ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันในพระคริสตเจ้า ดังนั้น การไปรับศีลมหาสนิทและตอบรับว่า "อาแมน" จึงเป็นการประกาศถึงเอกภาพและความเป็นหนึ่งเดียวกันของหมู่คริสตชน ที่ทุกคนต่างรับปังจากก้อนเดียวกันและดื่มโลหิตจากถ้วยเดียวกันของพระคริสตเจ้า

ศีลมหาสนิทจะยังคงเป็นเพียงพิธีกรรม ที่ระลึกถึงการกระทำของพระเยซูเจ้าเมื่อสองพันปีก่อน หากศีลมหาสนิทไม่ได้กลายเป็นชีวิตที่แท้จริงของคริสตชน ที่นำเราไปสู่ความรักที่ไม่แบ่งแยกและความเป็นเอกภาพที่เป็นหนึ่งเดียวตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า ไม่มีการแบ่งสีเลือกข้าง ถือเขาถือเราอย่างที่เคยเป็นมา นี่คือความหมายของการสมโภชพระกายและพระโลหิตที่เราฉลองในวันนี้

ดังนั้น ทุกครั้งที่เรารับศีลมหาสนิทจึงเป็นการย้ำว่า ทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกันและพี่น้องกัน เราต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่าในฐานะที่เป็นคริสตชน ทุกคนที่สัมผัสชีวิตของเราได้พบกับความรักของพระเยซูเจ้าในตัวเราหรือเปล่า เราได้กลายเป็นเครื่องมือที่มองเห็นได้แห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกับกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้องมากน้อยแค่ไหน ในชีวิตของเรา ครอบครัว หมู่คณะ และในหมู่บ้านของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์

danielkhuan@hotmail.com

วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
24 มิถุนายน 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น