วันเสาร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ศาลาทศวรรษ (Decade)



ศาลาทศวรรษ (Decade)
“ศาลาทศวรรษ” เป็นศาลาไม้เสาต้นเดียว หลังคาทรงแปดเหลี่ยม มีก้านที่ยึดโยงจั่วกับลำต้น ลักษณะเหมือนร่มหรือดอกเห็ด ตั้งอยู่ตรงปลายสุดของลานซีเมนต์หน้าอาคารเซนต์ยอแซฟด้านทิศตะวันตก อยู่เยื้องกับศาลาสันติสุข ที่มาคือความตั้งใจที่ต้องการจะทำศาลาแบบนี้ที่วัดนาบัว แต่ทำไม่สำเร็จครบวาระย้ายใหญ่เสียก่อน ทำได้เพียงตั้งเสาไม้กะบกขนาดใหญ่ หน้าวัดไม้ของคุณพ่อปีแอร์ โกลาส์
เมื่อย้ายมาทำหน้าที่และรับผิดชอบโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ เห็นสถานที่กว้างขวาง แต่ไม่มีที่พักให้ร่มเงาสำหรับเด็กๆ มีเพียงเพิงพักชั่วคราวมุงแฝก 5 หลังที่เริ่มเสื่อมสภาพตามกาลเวลา ความคิดที่จะสร้างศาลาที่ถาวรแข็งแรงจึงเกิดขึ้น เริ่มจาก “ศาลาสันติสุข” ที่ได้กล่าวถึงเมื่อวาน (27 ก.พ. 2015)
เวลาไปขอไม้เสามาทำศาลาจากพี่น้องชาวหนองห้าง ได้เห็นไม้มะหาดขนาดใหญ่ที่ถูกโค่นทิ้ง เหตุผลที่ได้ยินคือกิ่งก้านและใบของมันปกคลุมไร่อ้อยกินบริเวณกว้าง ทำให้ไร่อ้อยเจริญเติบโตไม่เต็มทีจำเป็นต้องโค่นทิ้ง เมื่อทราบว่าเจ้าของเป็นใครได้ไปขอซื้อ แต่เจ้าของคือนางสุคี ปุณขันธ์หรือ “แม่ต้น” สัตบุรุษวัดแม่พระราชินีแห่งสันติภาพหนองห้าง ใจกว้างมอบไม้ต้นนี้ให้ฟรี
ปัญหาที่ตามมาคือการชักลาก โชคดีที่คนอาสาพาเพื่อนชักลากมาส่งที่โรงเรียน ความฝันที่จะทำศาลาซุ้มดอกเห็ดจึงปรากฏเป็นจริง การตั้งเสาเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2014 โดยอาศัยรถเครนที่ผู้รับเหมาเช่ามาใช้เทพื้นอาคารเซนต์แมรี่ แต่ต้องรอถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2014  จึงได้เริ่มการก่อสร้าง โดยช่างเสียงแคนและทีมงานที่มาทำกระดานและทาสีอาคารเซนต์แมรี่
ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างศาลานี้คือไม้ที่เหลือจากการสร้างศาลาสันติสุข จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ ส่วนที่มาของชื่อ “ศาลาทศวรรษ” มาจากการครบรอบ 10 ปีของการก่อตั้งโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ อีกทั้งเป็นอนุสรณ์สำหรับชั้นประถมปีที่ 6 ศิษย์รุ่นครบรอบ 10 ปี ที่กำลังจะจบชั้นสูงสุดของโรงเรียนในปีนี้ โดยจะมีพิธีเสกในวันเดียวกันกับศาลาสันติสุขคือ วันที่ 2 มีนาคม 2015
ขอให้ศาลาทศวรรษ เป็นเครื่องหมายความสมัครสมานสามัคคีของศิษย์รุ่น 10 และบุคลากรทุกระดับของโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ ขอให้มีความเจริญยิ่งขึ้นไปจากทศวรรษเป็นศตวรรษ และตลอดไป
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
28 กุมภาพันธ์ 2015

วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ศาลาสันติสุข (Shalom)



ศาลาสันติสุข (Shalom)
ศาลาสันติสุข เกิดจากความใจกว้างของพี่น้องชาวหนองห้าง ที่ได้บริจาคไม้เครื่องและไม้เสาสำหรับการก่อสร้าง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายชด ปุณขันธ์ นายค่าย-นางต้อย นิลปัทม์ และอาจารย์กำจัด ศิริปะกะ มีนายบัวหวัน ศิริปะกะ ทำหน้าที่เลื่อยและกำลังคนสำคัญ โชคดีที่ตอนนั้น คสช ยังไม่ได้ปฎิวัติยึดอำนาจ จึงสามารถเลื่อยและขนย้ายไม้ได้สะดวก โดยมีบรรดาครูชายและพนักงานของโรงเรียนช่วยในการขนย้าย



นอกนั้น ไม้เครื่องส่วนหนึ่งได้มาจากโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกาฬสินธุ์ โดยคุณพ่อวีรพงศ์ โพธิมล ได้บริจาคไม้เก่าของอาคารเซนต์หลุยส์ (อาคารไม้ชั้นเดียว) ที่รื้อถอนเพื่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ส่วนใหญ่เป็นไม้คอเสา หน้า 8 ยาว 12 เมตร และไม้โครงคร่าวที่ยังอยู่ในสภาพดี แต่วางกองระแกะระกะตามสนามเหมือนไม่มีค่า
ต้องขอบคุณคุณพ่อวีรพงศ์ โพธิมลเป็นอย่างมากที่ได้บริจาคไม้จำนวนดังกล่าว อีกทั้งถ่ายรูปและออกหนังสือลงวันที่ 6 เมษายน 2557 บอกรายการไม้อย่างละเอียด จำนวน 64 ตัว  ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการขนย้าย ดังรายการต่อไปนี้
ที่
หน้าไม้
ความยาว (เมตร)
จำนวน
1.
ขนาด 20x2
10
12
2.
ขนาด 6x2
5
12
3.
ขนาด 3x2
8
25
4.
ขนาด 5x2
4
15
ขอบคุณพระเจ้าที่สามารถขนย้ายไม้ มายังโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์อย่างปลอดภัย โดยไม่มีเหตุการณ์อะไร เสียค่าเช่าเหมารถยนต์ขนย้ายเพียง 4,000.- บาท



การก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 โอกาสสมโภชแม่พระรับสาร เริ่มขุดหลุมวางท่อจากบรรดาเด็กๆ จากนาโพธิ์ และพนักงานชาย จากนั้นจึงเทลีนและตั้งเสา โดยมีนายช่างประดิษฐ์ แสนเมือง ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารอนุบาลเป็นช่างใหญ่ พร้อมช่างไม้จากไซด์งานที่นำมาช่วย ทำให้การก่อสร้างรุดหน้าเป็นลำดับ และเสร็จสมบูรณ์
ศาลาที่สร้างใหม่นี้ ถอดแบบมาจากการก่อสร้างวัดไม้ที่นาบัว ซึ่งเป็นผลงานการก่อสร้างของคุณพ่อปีแอร์ โกลาส์ มีลักษณะเป็นศาลาแบบทรงไทย เสา 6 ต้น ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร มีปีกยื่นออกไปโดยรอบ ตั้งเด่นเป็นสง่าระหว่างอาคารเซนค์ยอแซฟกับอาคารเซนต์แมรี่ที่กำลังก่อสร้าง



เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ จึงได้ตั้งชื่อศาลานี้ว่า “ศาลาสันติสุข” เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “ชาโลม” (Shalom) ในภาษาอีบรู ซึ่งเป็นคำที่ใช้ทักทายและกล่าวลาในเวลาเดียวกัน อีกทั้งยังมีความหมายที่ลึกซึ้งเป็นคำอวยพร เวลาที่พระเยซูเจ้าทรงกลับคืนพระชนม์ชีพ และตรัสคำนี้ในการปรากฏพระองค์แก่บรรดาศิษย์เป็นครั้งแรก “สันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด (ยน 20:19)
ศาลาสันติสุข จึงเป็นเครื่องหมายแห่งพระพร ความรักและสันติสุขจากพระเยซูเจ้า สำหรับบุคลากรทุกระดับในโรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ ที่จะต้องมีสันติสุขในใจ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและหมู่คณะ โดยมีพิธีเสกอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มีนาคม 2558 โอกาสมิสซาปิดปีการศึกษาและสมโภชนักบุญยอแซฟ องค์อุปถัมภ์ของโรงเรียน
ชาโลม!  Shalom!  ขอให้ทุกท่านมีสันติสุข



คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
27 กุมภาพันธ์ 2015



วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฉลองวัดนาโพธิ์



ฉลองวัด น.มารีอามักดาเลนา นาโพธิ์
วัดนักบุญมารีอา มักดาเลนา นาโพธิ์ เป็นหนึ่งในหลายวัดที่ทำการฉลองในวันนี้ (เสาร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2015) ซึ่งตรงกับวันวาเลนไทน์หรือวันแห่งความรัก จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่วันนี้ถือเป็นวันสำคัญสำหรับลูกหลานชาวนาโพธิ์ทุกคน ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนจะพากันมาเพื่อฉลองวัดของตน ซึ่งเป็นการฉลองความเชื่อคริสตชนประจำปีที่ได้รับมาเป็นเวลา 127 ปี และถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น  
การฉลองวัดในปีนี้ ชาวนาโพธิ์ได้รับเกียรติจากพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธี มีการแสดงต้อนรับพระคุณเจ้าจากเด็กนักเรียน เยาวชนและแม่บ้านรวม 4 รายการ ก่อนจะเริ่มด้วยพิธีเสกอนุสาวารีย์แม่พระที่พึ่งคริสตชน และอนุสาวรีย์นักบุญมารีอา มักดาเลนา ที่ลูกหลานชาวนาโพธิ์สร้างถวายสำหรับวัดของตน โอกาสครบรอบ 125 ปีของการก่อตั้งหมู่บ้าน ค.ศ. 1889-2014 (พ.ศ. 2432-2557)
อนุสาวรีย์แม่พระที่พึ่งของคริสตชน สร้างถวายโดยบุตรหลานของ ดอมินีโก สมเกียรติ กับ เทเรซา แก้วประทาน มหัตกุล เพื่อเป็นที่พึ่งของคริสตชนชาวนาโพธิ์ และขอพระมารดามารีย์ได้พิทักษ์คุ้มครองและอำนวยพรทุกคน ให้มีความสุขความเจริญสืบไป บนป้ายหินของอนุสาวรีย์นี้มีคำจารึก ที่บอกให้ทราบถึงประวัติความเป็นมาของวัดและชาวนาโพธิ์ว่า
“กลุ่มคริสตชนวัดนักบุญมารีอา มักดาเลนา นาโพธิ์  เป็นเชื้อสายชาวภูไทที่เคยเป็นทาสที่เมืองเว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม  เมื่อปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430)  พวกเขาได้ติดต่อกับคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ เจ้าอาวาสวัดมหาพรหมมีคาแอลหนองหาร (ท่าแร่)  คุณพ่อได้ไปรับมาและจัดให้อยู่บริเวณหนองแฮ่ ติดหนองหารด้านทิศตะวันออกของบ้านท่าแร่  เพื่อความสะดวกในการดูแลและอภิบาล 
จากหลักฐานทะเบียนศีลล้างบาปที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม  ค.ศ. 1888 (พ.ศ. 2431) คุณพ่อได้โปรดศีลล้างบาปแก่คริสตชนชาวนาโพธิ์กลุ่มแรกจำนวน 8 คน ที่วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร  จนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) มีผู้รับศีลล้างบาปเพิ่มอีกรวมจำนวน 11 คน แสดงว่าคริสตชนชาวนาโพธิ์ตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณหนองแฮ่ประมาณ 2 ปี 
ที่สุด คริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 20 ครอบครัว ราว 120 คนได้ย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ที่เหมาะสมและอุดมสมบูรณ์กว่า บริเวณลำห้วยโพธิ์ ห้วยลึก และห้วยจับ ห่างจากบ้านท่าแร่ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 15 กิโลเมตร  เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเต็มไปด้วยต้นโพธิ์จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า นาโพธิ์
ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์นักบุญมารีอา มักดาเลนา สร้างถวายโดยบุตร-หลานของซีมอน ถนอมกับกาโรลา ฮ้อม ถิ่นวัลย์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ดวงวิญญาณ ซีมอน ถนอม, อันนา ศรีประไพ ถิ่นวัลย์ และญาติพี่น้องผู้ล่วงลับ พร้อมกับป้ายหินจารึกประวัติของนักบุญมารีอา มักดาเลนา องค์อุปถัมภ์ของวัด ที่บอกให้ทราบถึงบทบาทของนักบุญองค์นี้ในฐานะพยานแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า
“พิธีกรรมใหม่ของพระศาสนจักรได้ชี้ให้เห็นว่า นักบุญมารีอา มักดาเลนา เป็นคนแรกที่ได้เป็นประจักษ์พยานถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า เมื่อเธอรีบรุดไปที่พระคูหาในเช้าตรู่ของวันปัสกาเพื่อชโลมพระศพ แต่พบพระคูหาว่างเปล่าและร้องไห้เพราะคิดว่ามีคนขโมยพระศพไป เมื่อพระเยซูเจ้าปรากฏมาเธอเข้าใจว่าเป็นคนสวน กระทั่งพระองค์เรียกชื่อจึงจำได้ และพระเยซูเจ้าได้ส่งเธอไปบอกเรื่องนี้แก่พี่น้องของพระองค์
เชื่อกันว่าหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้า นักบุญมารีอา มักดาเลนาได้เดินทางไปที่ตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เจริญชีวิตภาวนาในถ้ำและสิ้นใจที่นั่น ชาวฝรั่งเศสจึงมีความเชื่อศรัทธาต่อนักบุญองค์นี้มาก และได้แพร่ไปในพระศาสนจักรตะวันตก โดยมีวันฉลองตรงกับวันที่ 22 กรกฎาคม ดังนั้น เมื่อคุณพ่อยอแซฟ กอมบูริเออ (MEP) ตั้งกลุ่มคริสตชนที่นาโพธิ์ในปี ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432)  ได้เลือกนักบุญองค์นี้เป็นองค์อุปถัมภ์”
ดูเหมือนลูกหลานชาวนาโพธิ์จะตื่นตัว และให้ความสำคัญกับการฉลองวัดในปีนี้มาก เห็นได้จากจำนวนคนที่มาร่วมฉลองจนล้นวัด อีกทั้งมีส่วนร่วมในการฉลองด้วยการทำโรงทานมาร่วมกับทางวัดมากกว่า 50 จุด ถือเป็นเรื่องดีที่น่าชม ขอให้ลูกหลานชาวนาโพธิ์ได้สืบสานและรักษาประเพณีเหล่านี้สืบไป ขอท่านนักบุญมารีอา มักดาเลนา อำนวนพรและวิงวอนเพื่อชาวเราด้วยเทอญ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์
15 กุมภาพันธ์ 2015