วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 16

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 16, อาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120 มือถือ 086-231-3231

เสร็จจากดำนา ร่วมใจกันพัฒนาวัด; อา. 25 ส.ค. 2010

สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา

พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้พูดถึงเรื่อง “ความสุภาพถ่อมตน” หนังสือบุตรสิราสอนเราให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เลือกนั่งในที่สุดท้ายในงานเลี้ยง แล้วเราจะได้รับเกียรติ และกระทำดีหรือช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถตอบแทนเราได้ แล้วเราจะได้รับตอบแทนจากพระเจ้าผู้ชอบธรรม

ให้เราเงียบสักครู่หนึ่งเพื่อพิจารณาดูว่า บ่อยครั้งไหมที่เราต้องการเป็นที่หนึ่งและเป็นจุดสนใจของผู้คน บ่อยแค่ไหนที่เราทำดีเพื่อหวังให้คนยกย่อง ชมเชย หรือทำดีแต่เฉพาะกับคนที่สามารถตอบแทนเราได้ ท่าทีและทัศนคติเช่นนี้ตรงข้ามกับวิธีปฏิบัติของคนที่เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า ให้เรากราบขอสมาโทษพระองค์สำหรับสิ่งเหล่านี้และความบกพร่องต่างๆ
ขอนใหญ่เคลื่อนย้ายได้โดยง่าย ด้วยพลังของสามัคคี

บทอ่านที่ 1: หนังสือบุตรสิรา บสร 3:17-19, 27-29

หนังสือบุตรสิราสอนเรา ให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ยิ่งเป็นคนใหญ่โตมากเท่าใด ยิ่งต้องถ่อมตนลงมากเท่านั้น เพื่อว่าเราจะได้เป็นที่รักและโปรดปรานของพระเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระเจ้าทรงได้รับเกียรติจากคนต่ำต้อย มิใช่คนเย่อหยิ่งทะนงตน เนื่องจากคนที่สุภาพถ่อมตนนั้นเปิดใจของเขาต่อพระเจ้า

บทอ่านที่ 2: จดหมายถึงชาวฮีบรู ฮบ 12:18-19, 22-24ก

จดหมายถึงชาวฮีบรูได้แสดงถึงลักษณะที่ตรงข้ามกันระหว่าภูเขาซีนายกับภูเขาศิโยน บนภูเขาซีนายพระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่ประชากรอิสราแอลและทรงกระทำพันธสัญญากับพวกเขา แต่ที่ภูเขาศิโยน ซึ่งเป็นรูปหมายถึงนครเยรูซาเล็มแห่งสวรรค์ ซึ่งเป็นเป้าหมายแห่งการจาริกแสวงบุญของคริสตชน ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยพระองค์แก่เราผ่านทางพระเยซูเจ้า

พระวรสาร: นักบุญลูกา ลก 14:1, 7-14

ในพระวรสาร พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องผู้ที่ติดตามพระองค์ไม่ให้เลือกที่ที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และให้ปฏิบัติต่อผู้ที่ต่ำต้อยซึ่งไม่สามารถจะตอบแทนเราได้ เราทราบดีว่าท่าทีเช่นนี้ไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้า เพราะทุกคนล้วนชอบการมีเกียรติ มีหน้ามีตาในสังคม แต่พระเยซูเจ้าสอนเราว่า เกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่ง แต่อยู่ที่การรับใช้ด้วยความรัก
ฝนตกบ่อย ทำให้หน้าบ้านพักตะไคร่จับ เลยต้องขัดกันแบบนี้

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 7 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 8 และขอบคุณพี่น้องที่ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาวัด เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
2) รายนามผู้บริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: (1) ครอบครัว นายคำปุ่น โนนยางเคน 1,000.- บาท และ (2) ลูกหลาน ซิลวานุสกลิ่น-มารีอาประไม เมาบุดดา (เงินต้นในมิสซา เสาร์ที่ 28 สิงหาคม) 8,000.- บาท
3) แจ้งเรื่องตารางเวลาบริการศีลอภัยบาปประจำสัปดาห์: พี่น้องสามารถมารับศีลอภัยบาปได้ทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 น.-17.00 น.
4) ขอเชิญคณะโฟโคลาเรทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะผู้ปกครอง อแด๊ฟชั่นทุกคน มาร่วมประชุมที่วัดวันนี้ เวลา 10.00 น.
5) เงินทานวันเสาร์ ได้ 349.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม ได้ 7,768.- บาท และเงินต้นในมิสซาของยายบุญทอน นารินรักษ์ วันอังคารที่ 24 สิงหาคา ได้ 2,710.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 367.- บาท

ความสุภาพถ่อมตน

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 22 เทศกาลธรรมดา ปี C
บทอ่านที่ 1: บสร 3:17-19, 27-29
บทอ่านที่ 2: ฮบ 12:18-19, 22-24ก
พระวรสาร: ลก 14:1, 7-14
ความสุภาพถ่อมตน คือพื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง

บทนำ

มีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโธเฟน (Ludwig van Beethoven: 1770-1827) นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวที่ใช้ประพันธ์เพลง “มูนไลท์ โซนาต้า” (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นท่อนหนึ่งของเพลงโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบได้พูดกับมัคคุเทศก์ว่า “ดิฉันเข้าใจว่านักดนตรีที่มีชื่อเสียงของโลกคงมาเยี่ยมชมที่นี่ทุกปี” มักคุเทศก์ตอบว่า “ใช่ ท่านเพเดเรฟสกี้ (Ignacy Jan Paderewski: 1860-1941) เพิ่งมาเยี่ยมที่นี่เมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง”

เด็กสาวรู้สึกภาคภูมิใจและพูดอย่างมั่นใจว่า “ดิฉันแน่ใจว่าเขาต้องทำเหมือนที่ดิฉันทำ คือนั่งลงตรงเปียโนตัวนี้และเล่นเพลงโซนาต้า ใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์ตอบว่า “เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่า ‘ไม่ได้ ผมไม่คู่ควรที่จะทำเช่นนั้น’” เด็กสาวคนนั้นรู้สึกละอายที่ตนได้ถือวิสาสะเล่นเปียโนของบีโธเฟน ขณะที่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ของโลกชาวโปแลนด์อย่าง เพเดเรฟสกี้ มีความสุภาพเกินกว่าที่จะเล่นเพลงของบีโธเฟนด้วยเปียโนตัวเดียวกัน

พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้พูดถึงเรื่อง “ความสุภาพถ่อมตน” หนังสือบุตรสิราสอนเราให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้เลือกนั่งในที่สุดท้ายในงานเลี้ยง แล้วเราจะได้รับเกียรติ และกระทำดีหรือช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถตอบแทนเราได้ แล้วเราจะได้รับตอบแทนจากพระเจ้าผู้ชอบธรรม คนที่มีความสุภาพถ่อมตน ย่อมเป็นที่รักของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ความสุภาพจึงเป็นเหมือนกับความมืดที่เผยแสดงให้เห็นแสงแห่งสวรรค์

1. ความสุภาพ: พื้นฐานของคุณธรรมทุกอย่าง

หนังสือบุตรสิราสอนเรา ให้ทำทุกสิ่งด้วยความสุภาพถ่อมตน ยิ่งเป็นคนใหญ่โตมากเท่าใด ยิ่งต้องถ่อมตนลงมากเท่านั้น เพื่อว่าเราจะได้เป็นที่รักและโปรดปรานของพระเจ้า ทั้งนี้ก็เพราะว่า พระเจ้าทรงได้รับเกียรติจากคนต่ำต้อย มิใช่จากคนเย่อหยิ่งทะนงตน นักบุญเอากุสตินจึงกล่าวว่า “ท่อธารแห่งพระหรรษทานของพระเจ้าจะไม่ไหลผ่านภูเขาแห่งความหยิ่งทะนง แต่ไหลผ่านหุบเหวแห่งความถ่อมตน” เนื่องจากคนที่มีใจสุภาพย่อมเปิดใจของตนต่อพระเจ้า

มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther: 1483-1546) ได้เล่าเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสุภาพให้ผู้ติดตามฟังว่า แพะภูเขาสองตัวเดินทางมาจ๊ะเอ๋กันบนทางแคบๆ ที่ด้านหนึ่งเป็นหน้าผาสูงชันและอีกด้านเป็นเหวลึก สามารถเดินผ่านได้แค่ตัวเดียว พวกมันจะทำอย่างไร เพราะทางแคบเกินกว่าที่จะเดินสวนกันได้ จะหันหลังกลับก็อันตรายเกินไป หากสู้กันให้แพ้ชนะกันไปข้างมีโอกาสสูงที่จะตกหน้าผาตายด้วยกันทั้งคู่ แต่แพะตัวที่แก่กว่าเรียนรู้วิธีเอาตัวรอด มันนอนลงและให้อีกตัวเดินบนตัวของมันข้ามไป แพะทั้งสองตัวเลยรอด

ขงจื้อ นักปราชญ์จีนโบราณสอนว่า “ความสุภาพถ่อมตนคือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของคุณธรรมทุกอย่าง” (Humility is the solid foundation of all the virtues) คนที่ถ่อมตนคือคนที่คิดถึงคนอื่นมากกว่าตนเอง เขาไม่คิดถึงตัวเองเลยเพราะไม่ปรารถนาให้ใครได้รู้จักหรือแสวงหาเกียรติใดๆ ความสุภาพจึงเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นมหาบุรุษ ที่ทำให้เขากลายเป็นคนยิ่งใหญ่ ดังสุภาษิตของชาวยิวที่ว่า “จงอย่าทำตัวเองให้ใหญ่ แล้วท่านจะไม่เป็นคนเล็กน้อย”
พระเยซูเจ้า คือแบบอย่างแห่งความสุภาพของคริสตชน

2. พระเยซูเจ้า: แบบอย่างความสุภาพของคริสตชน

คนที่ถ่อมตนจะไม่ขัดสู้คนที่ทำร้ายเขา แต่หันแก้มอีกข้างให้ ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนขี้ขลาด แต่ความสุภาพเรียกร้องเขาให้มีความกล้าหาญในขั้นที่สูงกว่า ที่จะเลือกสิ่งที่ต่ำต้อยมากกว่าสิ่งที่เขาสมควรจะได้รับ เลือกที่จะเงียบมากกว่าโพนทะนาความดีของตน เลือกที่จะถูกดูแคลนและถูกกล่าวหาว่าเป็นคนผิดเพื่อจุดประสงค์ที่สูงกว่า พระเยซูเจ้าคือแบบอย่างแห่งความสุภาพของคริสตชน เพราะเมื่อพระองค์ถูกประจานพระองค์ไม่ได้โต้ตอบ เมื่อพระองค์ถูกทรมานโดยปราศจากความผิด พระองค์มิได้ข่มขู่หรือแก้แค้น

ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงเป็นต้นแบบของความสุภาพถ่อมตนในแบบที่สวยงามและลึกซึ้งที่สุด “จงเลียนแบบอย่างจากเราเพราะเรามีใจสุภาพอ่อนโยนและถ่อมตน” (เทียบ มธ 11:29) พระองค์ตรัสกับเราว่า “บุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น” (มก 10:45) ดังนั้น ความสุภาพสำหรับคริสตชนจึงหมายถึงการเจริญชีวิตตามแบบพระคริสตเจ้า ไม่ใช่เพื่อตนเองแต่เพื่อคนอื่น ใช้พระพรต่างๆ ที่เราได้รับมา ไม่ใช่เพื่อเกียรติของตนแต่เพื่อคนอื่น โดยเฉพาะคนขัดสนและต้องการความช่วยเหลือ

ศิษย์ของพระเยซูเจ้าจะต้องแสดงออกถึงความรักแม้กระทั่งศัตรู ให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน และไม่คาดหวังว่าเขาจะสำนึกบุญคุณ ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเราในพระวรสารวันนี้ว่า “เมื่อท่านจัดงานเลี้ยง จงเชิญคนยากจน คนพิการ คนง่อย คนตาบอด แล้วท่านจะเป็นสุข เพราะคนเหล่านั้นไม่มีสิ่งใดตอบแทนท่านได้” (ลก 14:13-14) อีกทั้งยังตรัสว่า “ถ้าท่านทำดีเฉพาะต่อผู้ที่ทำดีต่อท่าน ท่านจะเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าได้อย่างไร คนบาปก็ทำเช่นนั้นด้วย” (ลก 6:33)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เป็นที่น่าสังเกตว่า คนที่ได้ชื่อว่าเป็นนักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่กลับเป็นคนที่สำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิสอัสซีซี พูดถึงตัวเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่จะน่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” เพราะเมื่อเปรียบเทียบความดีของเรากับพระเจ้าแล้วไม่มีอะไรที่จะต้องอวดตัว นอกจากจะกล่าวเหมือนเปโตรว่า “โปรดไปจากข้าพเจ้าเสียเถิด พระเจ้าข้า เพราะข้าพเจ้าเป็นคนบาป” (ลก 5:8)

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องผู้ที่ติดตามพระองค์ไม่ให้เลือกที่ที่มีเกียรติในงานเลี้ยง และให้ปฏิบัติต่อผู้ต่ำต้อยที่ไม่สามารถจะตอบแทนเราได้ เราทราบดีว่าท่าทีเช่นนี้ตรงข้ามกับกระแสของโลกและทำได้ยาก เพราะเกียรติยศชื่อเสียงคือยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าใครต่างชอบที่มีเกียรติและมีหน้ามีตาในสังคม ทำดีเพื่อหวังให้คนชม แต่พระเยซูเจ้าทรงสอนเราให้ทำในสิ่งที่ตรงข้าม สำหรับผู้ที่เป็นศิษย์ของพระองค์ เกียรติไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งแต่อยู่ที่ “การรับใช้” ดำเนินชีวิตโดยไม่คิดถึงตนเองและปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความรัก ตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า

มีคำกล่าวว่า “พระเจ้ามีสองพระบัลลังก์ คือแห่งหนึ่งในสวรรค์ชั้นสูงสุด อีกแห่งคือในหัวใจที่ต่ำต้อยที่สุด” (D. L. Moody) เพราะเยซูเจ้าได้แสดงให้เห็นว่า เฉพาะผู้ที่มีใจสุภาพเท่านั้นที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงแห่งสวรรค์ บางคนถึงกับกล่าวว่า “ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้เว้นแต่จะได้คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น” ดังนั้น เราจึงต้องมีหัวใจที่สุภาพอย่างแท้จริง ตระหนักว่าตนเองเป็นคนเล็กน้อย และดำเนินชีวิตเลียนแบบอย่างพระองค์ ผู้เป็นต้นแบบแห่งความสุภาพของเรา
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
28 สิงหาคม 2010

วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

Happy Feastday

สดุดี นักบุญหลุยส์
น. หลุยส์ กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส

นักบุญหลุยส์ จอมกษัริย์ ขจัดทุกข์   นำความสุข สู่โลกา เปิดฟ้าใหม่
ลบรอบแผล ชอกช้ำ ระกำใจ           ปราบเภทภัย สิ้นหมดไป ห่างไกลคน

รักมวลชน คนยากจน คนบาปผิด
รักพระคริสต์ สุดชีวิต อุทิศใจกาย
ต่อสู้ความชั่วร้าย สร้างความหมาย พระราชัยให้รุ่งเรือง

นักบุญหลุยส์ จอมกษัตริย์ แสนศรัทธา นำคุณค่าพระวาจา แผ่ประสาน
รู้รักหนึ่งเดียว หาญเชียวชาญ สืบสานงาน พันธกิจ พระคริสต์สอนคน

พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์
ว. วนังศณา
5-08-2010/13.47 pm

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

จงพยายามเข้าทางประตูแคบ

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา ปี C
บทอ่านที่ 1: อสย 66:18-21
บทอ่านที่ 2: ฮบ 12:5-7
พระวรสาร: ลก 13:22-30
ศีลล้างบาปไม่ใช่หลักประกันของความรอด
บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า พระสงฆ์หนุ่มองค์หนึ่งประสบอุบัติเหตุและตายไป เนื่องจากเคยกระทำความผิดอย่างหนึ่งเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่โดยที่ยังไม่ได้คืนดีจึงถูกตัดสินให้ไปรับโทษในไฟนรก เมื่อปีศาจพาไปที่นรก พระสงฆ์หนุ่มอดแปลกใจไม่ได้ที่เห็นผู้คนมากมาย พลันเหลือบไปเห็นคุณพ่อเจ้าวัดที่ตนเองเคยอยู่ด้วย ซึ่งสิ้นใจก่อนหน้านั้นไม่นาน จึงเอ่ยปากถามว่า “คุณพ่อก็อยู่ที่นี่ด้วยหรือ”

คุณพ่อเจ้าวัดรีบดึงตัวพระสงฆ์หนุ่มองค์นั้นเข้ามาใกล้ เอานิ้วแตะที่ปากเพื่อไม่ให้พูดอะไรต่อ พร้อมกับกระซิบเบาๆ ว่า “อย่าเอ็ดไป พระสังฆราชของเราอยู่ข้างล่างสุดโน่น”

เป็นเรื่องเล่าสนุกๆ แต่ก็สะท้อนความจริงหลายอย่างทีเดียวว่า การเป็นพระสงฆ์หรือพระสังฆราช ไม่ใช่หลักประกันว่าจะได้รับความรอดนิรันดร รวมถึงการเป็นคริสตชนด้วย ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า “ได้รับศีลล้างบาปแล้วคงเพียงพอสำหรับการไปสวรรค์” ซึ่งไม่ต่างจากชาวยิวที่ภูมิใจในความเป็นชนชาติที่เลือกสรร เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า คิดว่ามีแต่พวกเขาเท่านั้นที่จะได้รับความรอด

พระเยซูเจ้าทรงเตือนสติพวกเขาว่า พวกเขาจะถูกปฏิเสธหากไม่กลับใจ เปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิต จะมีผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาในอาณาจักรของพระเจ้า ดังนั้น เราควรตระหนักว่าการเป็นคริสตชนหรือการได้รับศีลล้างบาป ไม่ใช่หลักประกันของการเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ นอกเสียจากว่า เราจะดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสารที่พระเยซูเจ้าทรงสอน และเลียนแบบอย่างของพระองค์

1. จงพยายามเข้าทางประตูแคบ

ในพระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับประตูแคบเพื่อตอบคำถามที่ว่า “มีคนน้อยใช่ไหมที่รอดพ้นได้” ผู้ที่พยายามเข้าทางประตูแคบจะได้ร่วมงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระบิดาเจ้า ในขณะที่ผู้ไม่ดำเนินชีวิตตามความเชื่ออยู่ข้างนอก ซึ่งได้แก่ คริสตชนที่ใจเย็นเฉย พวกเขารู้จักเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี เคยกินดื่มด้วยกันและคิดว่าตนเองจะได้รับสิทธิพิเศษ แต่เวลานี้พวกเขาถูกทิ้งไว้ข้างนอก ไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้

เป้าหมายแห่งชีวิตคริสตชนคือ การอยู่กับพระคริสตเจ้าทุกเวลาและตลอดนิรันดร ทำไมเราถึงมาวัด คำตอบคงมากกว่าการมาร่วมพิธีมิสซาตามธรรมเนียมที่เราถือปฏิบัติ เรามาที่นี่เพราะต้องการอยู่กับพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่ชั่วโมงเดียวในหนึ่งอาทิตย์ที่วัด แต่เราจะต้องนำพระองค์กลับออกไปพร้อมกับเราในชีวิตจริงที่บ้าน ในสังคม และในที่ต่างๆ ที่เราจะไป เพื่อเราจะได้อยู่กับพระองค์ตลอดเวลาและพบพระองค์ในบุคคลต่างๆ ที่เราพบเห็น

ทุกวันนี้ คริสตชนถูกท้าทายด้วยกระแสและค่านิยมของโลกหลายรูปแบบ โดยเฉพาะค่านิยมที่ว่า “คนอื่นก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น” เช่นคดโกง เอารัดเอาเปรียบ หรือประพฤติผิดศีลธรรมต่างๆ หากเราทำบ้างคงไม่เป็นไร เพราะคนส่วนใหญ่ต่างก็ทำกัน เป็นการง่ายที่จะเข้าทางประตูกว้างหรือทำอย่างที่คนส่วนใหญ่ทำกัน แต่การเดินสวนกระแสย่อมยากกว่าเสมอ แต่นี่คือการเดินทางสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเข้าทางประตูแคบ เพื่อจะได้มีชีวิตที่สนิทความสัมพันธ์กับพระเจ้า และร่วมส่วนในงานเลี้ยงนิรันดร์กับพระองค์

2. คริสตชนสามประเภท

มีบางคนบอกว่า คริสตชนเปรียบได้กับเรือ 3 ประเภท คือ 1) เรือลากจูง 2) เรือใบ และ 3) เรือแพ กล่าวคือ คริสตชนแบบเรือลากจูง ได้แก่ คนที่สามารถติดตามพระเยซูเจ้าได้ทุกสถานการณ์ มีพลังและความร้อนรนสามารถลากจูงคนอื่นได้ พวกเขาไปร่วมพิธีมิสซาวันอาทิตย์ไม่ใช่เพราะต้องไป แต่เพราะสำนึกในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าในอาหารค่ำมื้อสุดท้ายที่ว่า “จงทำดังนี้เพื่อระลึกถึงเราเถิด” (ลก 22:19) พวกเขาช่วยเหลือคนอื่นเพราะตระหนักในพระดำรัสที่ว่า “ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) พวกเขาเป็นเหมือนกับคนที่พยายามเข้าทางประตูแคบ ตามที่พระองค์ตรัสในพระวรสารวันนี้

คริสตชนแบบเรือใบ ได้แก่ คนที่ติดตามพระเยซูเจ้าเฉพาะเวลาที่มีคลื่นลมเหมาะสมเท่านั้น พวกเขามาวัดวันอาทิตย์ตามโอกาส เช่น คริสต์มาส ปัสกา หรือตามคนอื่น หากไม่มีใครพามาหรืออยู่ตามลำพังจะไม่มา พวกเหล่านี้คือผู้ที่ติดตามพระเยซูเจ้าผ่านทางประตูกว้าง และรู้สึกลังเลที่จะติดตามพระองค์ทางประตูแคบ แนวโน้มของพวกเขาคือทำตามอย่างคนอื่น “เฮ็ดคือบ้านคือเมือง” แทนที่จะทำตามคุณค่าพระวรสาร

ประเภทสุดท้าย คริสตชนแบบเรือแพ ได้แก่ คริสตชนแต่ชื่อ หรือคริสตชนเฉพาะในทะเบียนบ้าน พวกเขาไม่ได้ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างแท้จริง แม้ในเวลาที่คลื่นลมและโอกาสอำนวย พวกเขาจะไปวัดก็ต่อเมื่อมีอะไรที่ผลักดันพวกเขาให้ไป เช่น ผลประโยชน์ พวกเขาปฏิบัติศาสนกิจไม่ใช่เพราะเห็นคุณค่า แต่เพราะเงื่อนไขบางอย่างที่บังคับพวกเขาให้ทำ ดังนั้น พวกเขาจึงเป็นคริสตชนแต่ชื่อ แต่ไม่ใช่ในกิจการ

เราเป็นคริสตชนแบบไหนในสามประเภทนี้ แบบเรือลากจูงที่พร้อมจะติดตามพระคริสตเจ้าในทุกสถานการณ์ทั้งในเวลาที่มีความยินดีและยากลำบาก หรือแบบเรือใบ ที่ติดตามพระคริสตเจ้าแต่เฉพาะเวลาที่มีความยินดีเท่านั้น หรือแบบเรือแพ ที่เป็นคริสตชนแต่ชื่อเท่านั้น นี่คือ สิ่งที่พระวาจาของพระเจ้าท้าทายและบอกกับเราในวันนี้ ไม่มีใครสามารถตอบแทนเราได้ เป็นเราที่จะต้องตอบกับพระเจ้าด้วยตัวเอง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก เป็นธรรมดาอยู่เองที่ดอกและผลจะไม่ออกพร้อมกับการเพาะปลูก ทุกอย่างย่อมมีเวลาของมัน การติดตามพระคริสตเจ้าเป็นสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งเรามีความเพียรอดทนต่อการท้าทายนี้มากเท่าใด ทางแห่งความรอดจะเปิดกว้างสำหรับเรา ในทางกลับกัน หากเราท้อถอย หมดหวัง เบื่อหน่าย เราจะไม่สามารถบรรลุถึงเป้าหมายนั้น ผู้ที่ติดตามพระคริสตเจ้าด้วยความเพียรทน ย่อมได้รับผลที่คุ้มค่ากับการรอคอย

ความจริง พระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์ทุกคนได้รอดและอยู่กับพระองค์อย่างมีความสุขตลอดไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเราแต่ละคน พระเจ้าทรงให้อิสระกับเราที่จะเลือกหรือปฏิเสธ (ความรอด) ดังนั้น ความรอดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพระเจ้าเท่านั้น แต่ขึ้นกับเราและเป็นหน้าที่ของเราด้วย เราจะต้องทำส่วนของเราให้ดีที่สุดขณะที่ยังมีเวลาและชีวิตอยู่ หากเราซื่อสัตย์ต่อหน้าที่คริสตชนและดำเนินชีวิตตามแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า เป็นต้น ในความรักต่อกัน ความยินดีในสวรรค์จะเป็นของเรา

แน่นอนว่าไม่มีทางลัดสำหรับการไปสวรรค์ “อาณาจักรสวรรค์ต้องการความอดทนและความพยายาม ผู้ที่ใช้ความอดทนและความพยายามเท่านั้น จึงจะเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ได้” (มธ 11:12) ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิตคือการตีสอนของพระเจ้า อย่างที่จดหมายถึงชาวฮีบรูบอกเราในวันนี้ นักบุญเปาโล เป็นตัวอย่างสำหรับเราในเรื่องนี้ “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดีแล้ว ข้าพเจ้าวิ่งมาถึงเส้นชัยแล้ว ข้าพเจ้ารักษาความเชื่อไว้แล้ว” (2 ทม 4:7) ดังนั้น เราจึงไม่ควรท้อถอยในการทำความดีและและทำหน้าที่คริสตชน
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
21 สิงหาคม 2010

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 15

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 15, อาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120 โทร 086-231-3231
อาชีพหลักของชาวนาบัวคือทำนา ส่วนใหญ่ปักดำเสร็จแล้ว ปีนี้ฝนดีมาก

สัปดาห์ที่ 21 เทศกาลธรรมดา

พระเยซูเจ้าทรงเตือนประชาชนในสมัยของพระองค์ว่า การเป็นประชากรที่ทรงเลือกสรรไม่ได้เป็นหลักประกันแห่งความรอดนิรันดร พระองค์ทรงเรียกร้องพวกเขาให้เข้าทางประตูแคบ นั่นคือ การปฏิเสธตนเองและพยายามที่จะดำเนินชีวิตในทางที่ดีอาศัยพระหรรษทานของพระเจ้า เราจะต้องไม่ไว้ใจสิ่งใดๆ เลย นอกจากความรักของพระเจ้าที่มีต่อเรา

เป้าหมายทั้งหมดของเราจะต้องจดจ่ออยู่ทีการสนองตอบความรักของพระเจ้า ดังนั้น การมาร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณทุกวันอาทิตย์ของคริสตชน จึงเป็นภาพลักษณ์ของการเป็นหนึ่งเดียวกันเพื่อมุ่งสู่พระสิริของพระเจ้า ในความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าและกับเพื่อนพี่น้อง

บทอ่านที่ 1: หนังสือประกาศกอิสยาห์ อสย 66:18-21

ประกาศกอิสยาห์เตือนใจเราว่า ความรอดนิรันดรมิได้จำเพาะสำหรับชนชาติหนึ่งชนชาติใด แต่ทุกชาติทุกภาษาได้รับการเรียกให้มาเป็นประชากรของพระเจ้า เพราะพระเจ้าทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าและบิดาของทุกคน ที่ทรงรักและนำความรอดนิรันดรมาสู่ทุกคน กระนั้นก็ดี พระเจ้าทรงให้อิสระกับทุกคนในการเลือกหรือปฏิเสธความรอด

บทอ่านที่ 2: จดหมายถึงชาวฮีบรู ฮบ 12:5-7

สำนวนที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” คือใจความสำคัญที่จดหมายถึงชาวฮีบรูต้องการจะบอกเรา พ่อแม่ที่รักลูกต้องตีสอนเพื่อให้ลูกมีระเบียบและเป็นคนดี เช่นเดียวกับพระเจ้าที่ตีสอนบุตรของพระองค์ด้วยความลำบากต่างๆ เพื่อให้เขาบรรลุถึงความเชื่อที่เป็นผู้ใหญ่และเดินตรงตามเป้าหมายที่ทรงวางไว้ เพราะความยากลำบากและกางเขนนำไปสู่พระสิริรุ่งโรจน์

พระวรสาร: นักบุญลูกา ลก 13:22-30

พระอาณาจักรของพระเจ้านั้นไม่ใช่เฉพาะสำหรับชาวยิว แต่สำหรับประชาชนทุกมุมโลก อย่างไรก็ตาม มีแต่ผู้ที่ติดตามหนทางของพระเยซูเจ้าเท่านั้น ถึงจะสามารถบรรลุถึงอาณาจักรที่พระเจ้าทรงเตรียมไว้ นั่นคือการเดินเข้าทางประตูแคบ ด้วยการยอมรับพระเจ้า ถ่อมตัวลงเฉพาะพระพักตร์พระองค์ และดำเนินชีวิตตามแผนการและน้ำพระทัยของพระองค์

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์
1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 6 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 7 และขอบคุณพี่น้องที่ไปร่วมงานฉลองศาสนามพระคุณเจ้า ฉลองครบรอบ 4 ปีกลุ่มคริสชนพื้นฐาน เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
2) รายนามผู้บริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: (1) ผู้ใหญ่มานะ ปู่ภิรมย์ เสาไม้แดงยาว 7 เมตร 1 ต้น, (2) ตู้ศรี สายวงศ์ ไม้เต็ง 2 ต้น (3) ตู้ถัน พิมพ์นาจ และตู้ไมตรี จันทร์สุนีย์ ไม้เสา-ไม้เครื่อง (4) ยายนาง พิมพ์นาจ ไม้เครื่อง
3) ขอเชิญพี่น้องทุกท่านร่วมพัฒนาบริเวณวัดของเราให้สวยงาม และขอเชิญตัวแทนสภาอภิบาลวัดๆ ละ 3 คน เข้าร่วมการสัมมนาสภาอภิบาลวัดและวิถีชีวิตแห่งความสุขในการทำงาน วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม 2010 ณ ห้องประชุม ร.ร.เซนต์ยอแซฟสกลนคร
4) เงินทานวันเสาร์ ได้ 340.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม ได้ 9,624.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 245.- บาท

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2553

บัญญัติเอก

วันศุกร์ สัปดาห์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
ระลึกถึง น.เบอร์นาร์ด เจ้าอธิการ และนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
พระวรสาร: มธ 22:34-40 "บทบัญญัติเอก"
การรักเพื่อนมนุษย์คือหนทางที่นำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า
บรรดาธรรมาจารย์และชาวฟาริสีได้ออกกฎเกณฑ์มากมายเพื่อขยายความบทบัญญัติ ในสมัยพระเยซูเจ้ามีธรรมบัญญัติมากถึง 613 ข้อ ในหมู่ชาวยิวจึงมีการถกเถียงกันมาช้านานว่าธรรมบัญญัติข้อใดสำคัญที่สุด ด้วยบรรยากาศเช่นนี้จึงคาดหวังกันว่าจะมีใครซักคนถามความเห็นของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในพระวรสารวันนี้บัณฑิตทางกฎหมายคนหนึ่งได้ถามคำถามนี้ คำตอบของพระเยซูเจ้าทำให้ทุกคนตาสว่างและเข้าใจถึงแก่นแท้ของบทบัญญัติ

นี่คือบทสรุปของพระวรสารหรือหลักคำสอนที่สำคัญของพระเยซูเจ้า แก่นแท้ของบทบัญญัติที่ประองค์ประกาศคือ "ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน... ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง" (มธ 22:37-39) พระองค์ทรงสรุปบทบัญญัติของพระเจ้าให้เหลือเพียงสองประการ และทรงยืนยันหนักแน่นว่าไม่มีบทบัญญัติข้อใดยิ่งใหญ่กว่าบทบัญญัติสองข้อนี้

พระเยซูเจ้าทรงวางบทบัญญัติทั้งสองประการเข้าด้วยกันเป็นครั้งแรก ในความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยทรงขยายความหมายของคำว่า “เพื่อนมนุษย์” ให้กว้างออกไปสู่มนุษย์ทุกคน (เพราะทุกคนคือลูกของพระเจ้าที่ทรงรักโดยไม่แบ่งแยก) “ทุกสิ่งที่ท่านทำกับพี่น้องที่ต่ำต้อยที่สุด ท่านได้ทำต่อเราเอง” ชีวิตมนุษย์ในโลกจึงเป็นของประทานจากพระเจ้า เพื่อให้เราสามารถเติบโตในความรักของพระเจ้าและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของบทบัญญัติและต้องไปด้วยกันเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน

นักบุญยอห์นอัครสาวกเป็นผู้ที่เข้าใจและอธิบายความสัมพันธ์ของบทบัญญัติทั้งสองประการได้ดีที่สุด ท่านได้ยืนยันกับศิษย์ของท่านจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “จงรักกันและกัน” เพราะการรักเพื่อนมนุษย์คือหนทางที่นำไปสู่ความรักต่อพระเจ้า “หากผู้ใดกล่าวว่า ข้าพเจ้ารักพระเจ้า แต่จงเกลียดจงชังพี่น้องของตน ผู้นั้นเป็นคนโกหก เพราะผู้ที่ไม่รักพี่น้องผู้ที่เขามองเห็นได้ก็จะไม่สามารถรักพระเจ้าผู้ที่เขามองไม่เห็น” (1 ยน 4:20)

พระเยซูเจ้าทรงทำให้ความหมายของความรักนี้ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ด้วยแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันและกัน เหมือนดังที่เรารักท่าน” (ยน 15:12) เราถูกเรียกร้องให้รักตามมาตรฐานของพระเยซูเจ้า เพื่อเราจะได้ใกล้ชิดและเข้าอยู่ในอาณาจักรของพระองค์
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
19 สิงหาคม 2010

วันพุธที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ซิสเตอร์กางเขนแดง

ซิสเตอร์คามิลเลียนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "ซิสเตอร์กางเขนแดง"
ภคินีคณะผู้รับใช้คนป่วยแห่งนักบุญคามิลโล (ซิสเตอร์คณะคามิลเลียน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซิสเตอร์กางเขนแดง” ได้มาพบปะและหากระแสเรียกที่วัดนาบัว โดยซิสเตอร์ 2 รูป (ซ.หน่อย กับ ซ.แจ๊ะ) เดินทางมาถึงในเวลา 17.00 น. คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์ ได้ให้การต้อนรับ พร้อมกับพาเยี่ยมคนป่วยและผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ก่อนที่จะมีการพบปะกับบรรดาเด็กๆ และเยาวชนหญิงในเวลา 19.30 น. โดยมีเด็กและเยาวชนที่สนใจมาร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

ซิสเตอร์กำลังอธิบายความเป็นมาและจิตตารมณ์ของคณะ

งานของคณะนี้คือ “การเยี่ยมเยียน บริบาล และรับใช้ผู้ป่วยและผู้กำลังจะสิ้นใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ยากจนและถูกทอดทิ้ง และมองเห็นในพวกเขาแต่ละคนว่าเป็น พระเจ้าผู้มารับเอากายเป็นมนุษย์ที่กำลังเข้าตรีทูตในสวนมะกอกหรือที่กำลังสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน” พระธรรมนูญ มาตรา 3
งานหลักของคณะคือ การเยี่ยมเยียน บริบาล และรับใช้คนป่วย

"พระเจ้าเป็นองค์ความรัก" (1 ยน 4:8) เมื่อความรักเรียกเธอจงตามไป และมอบความรักของเธอเป็นของขวัญสำหรับผู้อื่น

ความรักคือ การออกจากตัวเอง เพื่อไปช่วยเหลือผู้อื่น ชีวิตของเธอคือของขวัญล้ำค่า จากแผ่นพับของคณะ
ความรักเมตตา แผ่ซ่านในใจเรา พวกเราก็สนใจคะ

วันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความมั่งมี

วันอังคาร สัปดาห์ที่ 20 เทศกาลธรรมดา
มัธทิว 19:23-30: “อูฐจะรอดรูเข็ม ยังง่ายกว่าคนมั่งมีเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์”
If you think your salary is low, how about her?

ธรรมเนียมยิวถือว่าความมั่งมีเป็นพระพรของพระ ขณะที่ความยากจนเป็นการลงโทษของพระเจ้า แต่พระเยซูเจ้าตรัสในลักษณะที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับธรรมเนียมยิว "อูฐจะรอดรูเข็ม ยังง่ายกว่าคนมั่งมีเข้าสู่อาณาจักรสวรรค์" ทำให้บรรดาอัครสาวกรู้สึกแปลกใจ รวมถึงเราในปัจจุบัน แม้เราจะไม่ใช่คนร่ำรวย แต่ส่วนใหญ่คงหวังอยากเห็นบุตรหลานของตนมั่งมีขึ้นสักวัน หรือรู้สึกชื่นชมผู้ที่มุมานะสร้างชีวิตจนร่ำรวย “ทำไมการที่ใครสักคนร่ำรวยมีเงินมีทองมากขึ้นจากการทำงานมาทั้งชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ผิด”

"ความมั่งมี" ที่พระวรสารพูดถึง หมายถึงการมีอย่างเหลือเฟือขณะที่คนจำนวนมากรอบตัวเขา ไม่มีแม้สิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี หากเป็นเช่นนี้ เขาจะเรียกร้องการเข้าในอาณาจักรสวรรค์ซึ่งเป็นอาณาจักรแห่งความรักและความยุติธรรมได้อย่างไร เพราะเมื่อเราหิว เรากระหาย เราเจ็บป่วยและอยู่ในคุก ท่านไม่ได้ให้เรากิน และให้อะไรเราดื่ม ท่านไม่ได้ไปเยี่ยมเรา หรือแสดงความเห็นอกเห็นใจเราแต่อย่างใด

ตรงข้ามเราสะสมเงินในธนาคารหรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีความสุขในการเห็นสินทรัพย์ของเราเพิ่มพูนขึ้น หรือใช้จ่ายในการซื้อสินค้าแบรนด์เนมราคาแพงหรือกินดื่มในภัตตาคารหรูหรา ความมั่งมีที่พระเยซูเจ้าตำหนิ คือการปฏิเสธที่จะแบ่งปันสิ่งที่เรามีกับคนที่ไม่มีอะไรเลย หากเราปฏิบัติตนเยี่ยงนี้ ก็ไม่สมควรที่จะเข้าในอาณาจักรสวรรค์ เหมือนกับอูฐจะรอดรูเข็ม ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากทีเดียวหรือเป็นไปไม่ได้เลย "คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็เป็นเช่นนี้" (ลก 12:21)
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
16 สิงหาคม 2010

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สารวัดนาบัว, ปีที่ 1 ฉบับที่ 14

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
ปีที่ 1 ฉบับที่ 14, อาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): http.//dondaniele.blogspot.com
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120086-231-3231
แม่พระเฝ้ามองและภาวนาเพื่อเราจากสวรรค์ อยากเห็นเราเป็นลูกที่ดี

สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ

“พระนางมารีย์ มารดาพระเจ้าผู้ปฏิสนธินิรมลและเป็นพรหมจารีเสมอ ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หลังจากบรรลุถึงความสมบูรณ์ของชีวิตในโลกนี้” นี่คือ ข้อความเชื่อที่พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 ซึ่งความเชื่อนี้บรรดาคริสตชนเชื่อและถือปฏิบัติมาเป็นเวลาช้านานในพระศาสนจักร

การประกาศของพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 เป็นการยืนยันว่า แม่พระได้รับเกียรติมงคลรุ่งเรืองและร่วมส่วนในชีวิตนิรันดรกับพระเยซูเจ้า บุตรของพระนาง ซึ่งเตือนเราว่า พระเจ้าจะทรงกระทำกับเราเช่นเดียวกับแม่พระ เพราะพระนางคือมารดาของเรา ที่เฝ้ามองเราจากสวรรค์และภาวนาเพื่อเรา พระนางต้องการให้เราทุกคนเชื่อฟังและเป็นบุตรที่น่ารักของพระบิดา

บทอ่านที่ 1: วว 11:19ก; 12:1-6ก, 10ก

หนังสือวิวรณ์ได้พูดถึง “หญิงผู้หนึ่งที่มีดวงอาทิตย์เป็นอาภรณ์ มีดวงจันทร์อยู่ใต้เท้า มีมงกุฎดาวสิบสองดวงประดับศีรษะ” ซึ่งเป็นรูปหมายถึงแม่พระ มารดาของพระศาสนจักร แม่พระคือหัวใจการต่อสู้ระหว่างความดีและความชั่วร้าย การได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณคือ ชัยชนะของพระศาสนจักรผ่านทางพระคริสตเจ้า เพื่อสถาปนาการปกครองของพระองค์

บทอ่านที่ 2: 1 คร 15:20-26, 27ก

นักบุญเปาโลได้อ้างโดยอ้อมในจดหมายของท่านถึงชาวโครินทร์ว่า การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์เป็นไปได้ เพราะพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนชีพจากความตาย พระองค์ทรงเป็นอาดัมใหม่ที่ทำให้สิ่งที่อาดัมทำลายกลับคืนมา เช่นเดียวกับแม่พระที่เป็นเอวาใหม่ ด้วยความนอบน้อมเชื่อฟังของพระนางได้นำสิ่งที่เอวาได้ทำลายให้กลับคืนมา

พระวรสาร: ลก 1:39-56

แม่พระเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและทรงครรภ์ด้วยอำนาจของพระจิตเจ้าได้เสด็จเยี่ยมนางเอลีซาเบ็ธ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงความรักและพระทัยเมตตาของพระเจ้า แม่พระไม่ได้แสวงหาเกียรติสำหรับตนเองแต่นำทุกคนมาหาพระเจ้า ผ่านทางแม่พระทำให้พระสิริของพระคริสตเจ้าปรากฏแจ้ง และเกียรติที่แม่พระได้รับมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของพระนางกับพระคริสตเจ้า

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 5 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 6
2) รายนามผู้บริจาคสมทบกองทุนบูรณะวัดไม้: (1) นายคำลา ทาสุวรรณ 1,000.- บาท, (2) นายธนวัฒน์ ลิขิตประคอง 1,000.- บาท และ (3) เงินขายสังกะสีเก่าทั้งหมดได้ 20,000.- บาท
3) ขอเชิญร่วมงานฉลองศาสนนามพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ฉลองครบรอบ 4 ปีการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และปิดปีพระสงฆ์ วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2010 เวลา 10.00 น. ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร
4) เงินทานวันเสาร์ ได้ 621.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม ได้ 3,657.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 200.- บาท

แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

วันอาทิตย์ สมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ปี C
บทอ่านที่หนึ่ง: วว 11:19ก; 12:1-6ก, 10ก
บทอ่านที่สอง: 1 คร 15:20-26, 27ก
พระวรสาร: ลก 1:39-56
ภาพไอคอน แม่พระนอนหลับ ล้อมรอบด้วยบรรดาอัครสาวก ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน

บทนำ

การฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ มีจุดกำเนิดในพระศาสนจักรตะวันออกเช่นเดียวกับการฉลองอื่นๆ เกี่ยวกับแม่พระ ก่อนสังคายนาสากลที่เมืองเอเฟซัส ปี ค.ศ. 431 ได้เริ่มมีการฉลองเกี่ยวกับแม่พระในพระศาสนจักร การฉลองนี้กระทำในแบบเดียวกับการฉลองนักบุญมรณสักขีที่พลีชีพเพื่อเห็นแก่ความเชื่อ ซึ่งบรรดาคริสตชนในสมัยแรกให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก

ในระยะเริ่มแรก การฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ เกี่ยวเนื่องกับการฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้า เนื่องจากวันฉลองดังกล่าวเป็นการฉลองวันที่แม่พระเกิดใหม่ในสวรรค์ ต่อมาภายหลังพิธีกรรมของพระศาสนจักรได้พัฒนาไปเป็นวันฉลองการนอนหลับ (Dormitio) ซึ่งเชื่อกันว่าแม่พระไม่ได้ตาย เพียงแต่นอนหลับสนิท และได้รับการยกขึ้นสวรรค์สู่อ้อมพระหัตถ์ของพระเจ้าในสภาพดังกล่าว

ในศตวรรษที่ 6 จักรพรรดิเมาริซซีโอ (Maurizio: 582-620) ได้กำหนดให้ฉลองแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ในวันที่ 15 สิงหาคม ทั่วอาณาจักรไบเซนทีน และไม่นานหลังจากนั้น วันที่ 15 สิงหาคมได้กลายเป็นวันที่ฉลองกันทั่วไป รวมถึงในพระศาสนจักรตะวันตก พระสันตะปาปาแซร์จิโอที่ 1 ได้บรรจุวันฉลองแม่พระนอนหลับไว้ในปฏิทินโรมัน ในศตวรรษที่ 18 พระสันตะปาปาอาดรีอาโนที่ 1 ได้เปลี่ยนการฉลองการนอนหลับของแม่พระเป็นการฉลองการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ (Assumption)

ภาพวาด การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ฝีมือ นิโคลา ปิโลเต ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน
1. ข้อความเชื่อเรื่องการรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์

พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้ประกาศข้อความเชื่อว่า “พระนางมารีย์ มารดาพระเจ้าผู้ปฏิสนธินิรมลและเป็นพรหมจารีเสมอ ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หลังจากบรรลุถึงความสมบูรณ์ของชีวิตในโลกนี้” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 ซึ่งความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่เก่าแก่ที่สุดในพระศาสนจักร ที่บรรดาคริสตชนแสดงออกต่อแม่พระมาเป็นเวลากว่าพันปี อีกทั้ง เป็นการยืนยันว่า แม่พระได้รับเกียรติมงคลรุ่งเรืองและร่วมส่วนในชีวิตนิรันดรกับพระเยซูเจ้า บุตรของพระนาง

การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ จึงเป็นการมีส่วนในผลแรกแห่งการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ในฐานะที่แม่พระเป็นมารดาของพระเจ้า (Theotokos) และมีส่วนในงานไถ่กู้ของพระผู้ไถ่ตั้งแต่เริ่มแรก ในบทบาทของคนกลางแจกจ่ายพระหรรษทานของพระเจ้าและความหวังของมนุษยชาติ นักบุญอัลฟอนโซ (St. Alphonsus Liguori: 1696-1787) ยืนยันว่า พระคริสตเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้ร่างกายของแม่พระที่ปราศจากบาปต้องเน่าเปื่อยหลังความตาย พระนางจึงได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ

นอกนั้น การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ ยังถือเป็นการให้เกียรติและยกย่องผู้หญิงเพราะพระเจ้าได้ประทานพระหรรษทานแก่แม่พระให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์และเกียรติสูงส่ง อีกทั้งยังเป็นการยกย่องคนยากจนและคนถูกกดขี่ที่กล่าวถึงในบทเพลงสรรเสริญของแม่พระ (Magnificat) ให้ปรากฏเป็นจริง พระเจ้าทรงให้ความสำคัญกับคนยากจน คนเล็กน้อย และคนสิ้นหวังเป็นลำดับแรกเสมอ และพระสิริรุ่งโรจน์แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ในโลกปรากฏชัดในบุคคลเหล่านี้
ภาพวาดของ ฟรันเชสโก อัลบานี ในศตวรรษที่ 17

2. ความหมายสำหรับชีวิตคริสตชน

การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณของแม่พระ เพื่ออยู่กับพระเจ้าในแบบที่สมบูรณ์และเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์อย่างใกล้ชิด เป็นภาพล่วงหน้าถึงเกียรติมงคลรุ่งเรืองที่พระศาสนจักรจะได้รับหลังการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตายในวาระสุดท้าย และทำให้การดำเนินชีวิตคริสตชนของเราในปัจจุบันมีความหมาย กล่าวคือ

1) การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ เตือนใจเราว่า ชีวิตคริสตชนเป็นชีวิตที่ได้รับการไถ่ให้รอด โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การเป็นหนึ่งเดียวที่บริบูรณ์กับพระเจ้า ดังนั้น เราจึงไม่อาจจะปล่อยตัวหลงระเริงไปตามกระแสของโลกได้

2) การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ แสดงให้เห็นเช่นเดียวกันว่า ร่างกายของเราเป็นที่รักของพระเจ้าและมีเป้าหมายว่าจะได้รับเกียรติรุ่งโรจน์ กลายเป็นร่างกายใหม่ที่สดใสสวยงาม แม้ว่าขณะมีชีวิตอยู่เราจะประสบความทุกข์ระทมจากความชราภาพและความเจ็บป่วย

3) การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ ได้ชี้ให้เราเห็นถึงหนทางที่แท้จริงของเราคือ ความเชื่อในพระเจ้า แม่พระได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญเพราะ “การรับใช้” ด้วยการน้อมรับแผนการและน้ำพระทัยของพระเจ้า สรรพพร้อมและร่วมมือกับพระหรรษทานของพระองค์ด้วยใจยินดี

4) การรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ของแม่พระ คือภาพล่วงหน้าที่จะเกิดขึ้นในพระศาสนจักร ประชากรของพระเจ้าที่ชนะบาปและความตาย แม่พระคือแบบอย่างของผู้ที่ทนทุกข์จากการฟังและเจริญชีวิตตามพระวาจา ซึ่งพระเจ้าได้ทรงบันดาลให้ที่รับชัยชนะในที่สุด
หน้าภาพวาด แม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์อีกภาพ ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน

บทสรุป

พี่น้องที่รัก แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณเช่นเดียวกับพระเยซูเจ้า โดยไม่ต้องรอการกลับคืนชีพในวาระสุดท้าย เพราะแม่พระเป็นมารดาของพระคริสตเจ้าที่ทรงรับเอากายในครรภ์ของพระนาง ดังนั้น แม่พระจึงปฏิสนธินิรมลปราศจากบาปกำเนิด และไม่ต้องทนทุกข์เพราะผลที่เกิดจากบาป คือความตายและการเน่าเปื่อยเหมือนคนอื่นทั้งหลาย

พระเจ้าปรารถนาจะให้เราทุกคนไปอยู่กับพระองค์ในสวรรค์ อย่างที่แม่พระได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ที่เราสมโภชในวันนี้ ให้เราได้ไว้ใจพระเจ้าเช่นเดียวกับแม่พระ และทำทุกอย่างตามน้ำพระทัยของพระเจ้าอย่างที่แม่พระได้กระทำ บนเส้นทางแห่งการเป็น “ผู้รับใช้ที่ต่ำต้อยของพระเจ้า” ที่เป็นแบบอย่างสำหรับมนุษย์ทุกยุคสมัยให้เจริญรอยตาม

การสมโภชในวันนี้จึงเป็นวันเฉลิมฉลองความหวังของเรา โดยมีแม่พระเป็นต้นแบบแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า และเป็นแบบอย่างของชีวิตที่เปี่ยมด้วยพระหรรษทาน ขอให้เราวอนขอพระเจ้าในพิธีมิสซานี้ เพื่อให้เราทุกคน ทุกครอบครัว ได้มีชีวิตที่สนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าดังเช่นแม่พระ แม่ของเรา และขอแม่พระได้เสนอวิงวอนต่อพระเจ้าเพื่อเราทุกคน ให้มีความเชื่อ ความหวัง และความวางใจในพระเจ้าเสมอ

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
14 สิงหาคม 2010

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พระคุณแม่


ลูกขอกราบ แนบลง ตรงเท้าแม่    ที่ดูแล ลูกเติบใหญ่ ให้คำสอน
พระคุณแม่ มากล้น จนเกินกลอน     กราบวิงวอน คุณพระป้อง คุ้มครองเทอญ
พระคุณแม่

บทเทศน์ในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณโอกาสวันแม่แห่งชาติ ณ โรงเรียนบ้านนาบัว; 11 สิงหาคม 2010

บทนำ

มีเด็กน้อยคนหนึ่ง อายุประมาณ 10 ขวบ อยู่กับแม่และน้องอีกคนหนึ่งที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง อยู่มาวันหนึ่งเด็กคนนี้ได้เขียนข้อความบางอย่างลงบนกระดาษ เมื่อเขียนเสร็จได้นำกระดาษแผ่นนั้นไปให้แม่ที่กำลังทำกับข้าวอยู่ในครัว แม่รับกระดาษจากมือลูกน้อยสุดที่รักขึ้นมาอ่าน ข้อความในกระดาษนั้นเขียนด้วยลายมือขยุกขยิก อ่านยากสักหน่อยแต่พอจะอ่านได้ใจความว่า

ค่าตัดหญ้า 20.- บาท
ค่าซื้อของให้แม่ 10.- บาท
ค่าทำความสะอาดห้องอาทิตย์นี้ 20.- บาท
ค่าดูแลน้อง 30.- บาท
ค่าเอาขยะไปทิ้ง 10.- บาท
ค่าสอบได้คะแนนดี 40.- บาท
ค่ากวาดสนามหญ้าหน้าบ้าน 20.- บาท
รวมเงินที่แม่ค้างชำระ 150.- บาท

เมื่ออ่านจบ แม่อมยิ้ม พลิกกระดาษอีกด้าน และขอยืมดินสอจากลูกชายคนโปรดมาเขียนข้อความตอบกลับไป ลูกชายตัวน้อยจ้องมองอย่างใจจดใจจ่อว่าแม่เขียนอะไรลงไป ตนเองจะได้ค่าจ้างตามที่ขอไปหรือเปล่า พอแม่เขียนเสร็จก็ยื่นกระดาษให้ ลูกชายยกมือไหว้รับกระดาษแผ่นนั้น แล้วอ่านข้อความที่เขียนว่า

เก้าเดือนที่แม่อุ้มท้องลูก ไม่คิดเงิน
ค่าเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต ไม่คิดเงิน
ค่าพยาบาลและเฝ้าไข้ยามเจ็บป่วย ไม่คิดเงิน
ค่าอาหาร ของเล่น เสื้อผ้า และพาเที่ยว ไม่คิดเงิน
ค่าที่ลูกทำให้แม่เสียน้ำตา ไม่คิดเงิน
ค่าความรักที่มีให้ลูกเสมอมา ไม่คิดเงิน

เมื่อลูกชายอ่านจบก็ร้องไห้ วิ่งเข้าไปกอดและบอกแม่ว่า “แม่ครับ ผมรักแม่นะครับ” ลูกชายกอดแม่แน่น สะอึกสะอื้น น้ำตาไหลอาบแก้ม แม่ก้มลงมาเช็ดน้ำตาให้และตอบลูกชายว่า “แม่รักลูกที่สุดในโลกเลย” เด็กน้อยผละจากอ้อมกอดแม่ แล้วเอาดินสอเขียนลงในกระดาษแผ่นเดิมว่า “แม่จ่ายหมดแล้ว แต่ลูกยังทอนไม่หมด”

1. ความรักของแม่

คณะครู บรรดาลูกๆ นักเรียนและแม่ทั้งหลาย เราทุกคนที่เกิดมามีแม่ ไม่มีใครที่ไม่รู้จักคำว่า “แม่” เพราะแม่เป็นผู้ให้กำเนิด เป็นผู้เลี้ยงดูเรา และเฝ้าทะนุถนอมกล่อมเกลาเรามาตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ เป็นผู้ที่รักเรามากกว่าใครๆ ไม่ว่าลูกจะทำผิดแค่ไหนแม่ให้อภัยเสมอ บางครั้งลูกทำผิด แม่โกรธ แต่แม่ไม่เคยคิดทำร้ายลูก ทุกอย่างที่ทำลงไปเพราะอยากให้ลูกเป็นคนดี เป็นคนเก่ง และมีคุณธรรม

ความรักมีหลายรูปแบบ เช่น ความรักแบบหนุ่มสาว ความรักแบบเพื่อน ความรักต่อครูบาอาจารย์ ฯลฯ ความรักเหล่านี้อาจลืมเลือนได้ง่าย และเปรียบไม่ได้กับความรักของแม่ที่มีต่อลูก ซึ่งยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ แม่มีแต่ให้ และไม่เคยคิดถึงตนเองหรือหวังสิ่งใดตอบแทน บางครั้งแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกมีกิน ยอมลำบากทำงานหนักเพื่อให้ลูกได้เล่าเรียน หรือยอมตายเพื่อปกป้องลูกให้รอด

อย่างเมื่อคราวเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติ เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมา (12 มกราคม 2010) มีผู้เสียชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนี้กว่าสองแสนคน บาดเจ็บประมาณสามแสนคน และได้รับผลกระทบประมาณสามล้านคน หลังแผ่นดินไหวผ่านไปสองอาทิตย์ ความหวังที่จะพบผู้รอดชีวิตไม่มีทางเป็นไปได้ แต่หน่วยกู้ภัยต้องแปลกใจที่พบเด็กหญิงคนหนึ่งรอดชีวิตในอ้อมแขนของแม่ ที่ใช้ร่างบังผนังตึกที่ล้มทับมิให้โดนลูกน้อยของเธอ หนูน้อยจึงรอดชีวิตและยังชีพด้วยน้ำนมจากทรวงอกของแม่ที่ไม่มีลมหายใจแล้ว

สำหรับผู้เป็นแม่แล้ว “วันแม่” คือทุกวินาที ทุกลมหายใจเข้าออกของชีวิต ความรักของแม่ไม่มีวันหยุด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ลูกคือแก้วตาดวงใจและสำคัญที่สุดในชีวิตแม่ แต่สำหรับลูกนั้น “วันแม่” มีเพียงแค่วันเดียวคือ วันที่ 12 สิงหาคม ดังนั้น ขอให้ลูกทุกคนรักแม่ให้มาก ไม่ใช่แต่เฉพาะในวันแม่เท่านั้น แต่ต้องรักแม่ทุกวัน ด้วยการเป็นคนดี เชื่อฟังท่าน ทำให้ท่านมีความสุขทุกวัน แค่นี้แม่ก็ดีใจแล้ว

2. พระคุณของแม่

เป็นความจริงว่า แม่รักลูกตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกเกิดมาจนถึงวันสุดท้ายที่แม่จากไป พระคุณของแม่จึงยิ่งใหญ่ ทั้งชีวิตของลูกไม่สามารถทดแทนได้หมด แม่ต้องอุ้มท้องเรา 9 เดือนโดยที่ไม่คิดว่าเป็นอุปสรรค ท้องของแม่คือบ้านหลังแรกของลูก ที่อาศัยกินนอนขับถ่าย เป็นบ้านหลังแรกที่แม่ให้อยู่โดยไม่คิดค่าเช่า วันที่คลอดเราคือวันที่แม่เจ็บปวดที่สุด แต่แม่ลืมความเจ็บปวดเป็นปลิดทิ้งเมื่อรู้ว่าลูกปลอดภัย

นับตั้งแต่วันที่คลอดเราออกมา แม่เฝ้าดูแลเราเป็นอย่างดี ยุงไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม หาอาหารและสิ่งดีๆ มาให้ ทุกวันนี้แม่ยังดูแลเราไม่เคยห่างสายตา เพราะแม่กลัวว่าลูกจะหลงผิดทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม่ไม่คิดที่จะให้ลูกทดแทนคุณ เพราะแม่รักลูกจากใจจริงไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน แม่สั่งสอนลูกตลอดมาตั้งแต่เล็กจนโต ด้วยหวังจะให้ลูกเป็นคนดีมีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม่จึงเป็นครูคนแรกของลูก

แม่เป็นทั้งแม่ เพื่อน และครู ในเวลาเดียวกัน ในยามที่ลูกทุกข์แม่คอยปลอบใจ ในยามที่ลูกผิดแม่คอยตักเตือน ในยามที่ลูกป่วยไข้มีเพียงแม่ที่เฝ้าดูแลไม่ห่างกาย แม่ทนลำบากทำงานหนักเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือมีความรู้สูง จะได้ไม่ลำบากเหมือนแม่ แต่แม่ไม่เคยรู้เลยว่าลูกมาโรงเรียนแล้วเป็นอย่างไร บางคนไม่ตั้งใจเรียน หนีโรงเรียนบ้าง เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของแม่เราต้องตั้งใจเรียน ไม่ทำให้แม่ผิดหวัง

บทสรุป

พระบัญญัติประการสี่เตือนเราว่า “จงนับถือบิดามารดา” เมื่อลูกรู้ว่าแม่รักเรามากและมีพระคุณต่อเราถึงเพียงนี้ จึงเป็นหน้าที่ที่ลูกทุกคนจะต้องดูแลและรักแม่ให้มากในวันที่ท่านยังอยู่ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง ป่วยการที่จะพร่ำบอกรักแม่ในวันที่ท่านไม่อยู่แล้ว ยาอายุวัฒนะที่จะต่ออายุแม่ให้ยืนยาวคือ การที่ลูกทุกคนเป็นคนดี ทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และรักใคร่กลมเกลียวกัน นี่คือความสุขและของขวัญอันประเสริฐสำหรับแม่

ที่สุด ให้เราภาวนาเป็นพิเศษสำหรับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ “แม่ของแผ่นดิน” ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เราคงเคยเห็นโฆษณาวันแม่ทุกปี “ให้บอกรักแม่และพาแม่เที่ยว” คงไม่ใช่แต่เฉพาะวันแม่นี้เท่านั้น แต่จะต้องดูแลเอาใจใส่และรักแม่ทุกวัน อยากจะบอกแม่ว่า “รักแม่ที่สุดในโลก” เพราะแม่คือคนดีที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีใครมาแทนที่ได้

ลูกเติบใหญ่ ได้ดี เพราะมีแม่               ที่รักแท้ ดูแล คอยสั่งสอน
มอบความรัก ห่วงใย เอื้ออาทร            แม่พรำสอน ให้ลูกนั้น หมั่นทำดี
แม่ไม่โกรธ ไม่โทษ เมื่อลูกผิด            คอยเตือนจิต แก้ไข อย่าได้หนี
ทุกปัญหา มีทางแก้ อย่ารอรี               ทำความดี ล้างชั่ว ในตัวเรา

แม่ยอมอด ยอมหิว เพื่อลูกอิ่ม            ไม่เคยลิ้ม ชิมของดี อย่างใครเขา
ถึงจะเหนื่อย ยอมทน เพราะรักเรา       เพื่อให้เจ้า ทั้งหลาย สบายกัน
มาเถิดลูก ทุกคน จงมากอด               อย่าอิดออด กอดแม่ ดูแลท่าน
มอบความสุข ก่อนท่าน จากเราพลัน    บอกรักแม่ ทุกวัน กันเถิดเอย
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
11 สิงหาคม 2010

วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สารวัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว

ปีที่ 1 ฉบับที่ 13, อาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553): www.genesis.in.th
บ้านนาบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองแวงใต้ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร 47120086-231-3231

วัดไม้หลังเก่าอายุ 43 ปี สร้างโดยคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์
สัปดาห์ที่ 19 เทศกาลธรรมดา

ความเชื่อในพระเจ้า คือความจริงที่บทอ่านในวันนี้ต้องการจะบอกกับกลุ่มคนที่กำลังสิ้นหวังและท้อถอย ความเชื่อคริสตชนหมายถึงการเชื่อว่า พระเยซูเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงทำงานในตัวเรา ทรงนำทางและจัดการทุกอย่างเพื่อเรา ความเชื่อคริสตชนจึงตั้งมั่นอยู่ในพระเจ้า และเปิดประตูแห่งความเข้าใจในตัวเรา

พระเยซูเจ้าทรงตรัสกับบรรดาศิษย์และกับเราแต่ละคนให้รื้อฟื้นความเชื่อนี้ ด้วยการจุดตะเกียงและเติมน้ำมันแห่งความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เพื่อให้ตะเกียงแห่งความเชื่อนี้ลุกโชนอยู่เสมอ ทุกวันอาทิตย์เราจึงมาวัดเพื่อฟื้นฟูความเชื่อของเราในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ ทำให้เรามีพลังในการดำเนินชีวิตตามความเชื่อนี้ในชีวิตประจำวันอย่างมีเป้าหมาย

บทอ่านที่ 1: หนังสือปรีชาญาณ ปชญ 18:6-9

หนังสือปรีชาญาณเขียนสำหรับชาวยิวนอกปาเลสไตน์ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาจักรโรมัน เพื่อเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในอดีตคือ “ปัสกา” ที่พระเจ้าทรงปลดปล่อยประชากรของพระองค์ให้พ้นจากการเป็นทาสในดินแดนอียิปต์ ทรงซื่อสัตย์ต่อคำสัญญา นำอิสรภาพที่แท้จริง และความรอดมาสู่พวกเขา นี่คือประสบการณ์ที่พระเจ้าทรงกระทำกับบรรพบุรุษของพวกเขา

บทอ่านที่ 2: จดหมายถึงชาวฮีบรู ฮบ 11:1-2, 8-12

จดหมายถึงชาวฮีบรู เขียนสำหรับชาวยิวที่กลับใจมาเป็นคริสตชนและกำลังเผชิญความลำบากเพราะการเป็นคริสตชน โดยเตือนให้ดูแบบอย่างความเชื่อของอับราฮัม ที่เชื่อและวางใจพระเจ้าโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ อับราฮัมทำตามพระประสงค์ของพระเจ้าโดยไม่สงสัยเลย ความเชื่อในพระเจ้าโดยปราศจากการมองหาเครื่องหมายหรือหลักประกันความปลอดภัยคือ ความเชื่อที่แท้จริง

พระวรสาร: นักบุญลูกา ลก 12:35-40

นักบุญลูกาเขียนพระวรสารเพื่อช่วยให้คริสตชนในสมัยของท่าน ที่กำลังสงสัยเรื่องการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า ได้เข้าใจถึงแผนการของพระเจ้า มีความเชื่อที่ลึกซึ้งในพระคริสตเจ้าและมีกำลังใจ โดยเตือนให้ดำเนินชีวิตอย่างผู้มีความเชื่อ ด้วยความหวัง และความรัก เนื่องจากพระเยซูเจ้าจะเสด็จมาในเวลาที่เราไม่คาดฝัน เราจึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

ข่าวสารและประชาสัมพันธ์

1) ขอบคุณพี่น้องกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน กลุ่มที่ 4 ที่มาช่วยกันทำความสะอาดวัด กลุ่มที่รับผิดชอบอาทิตย์ต่อไปคือ กลุ่มที่ 5

2) แจ้งเรื่องการบูรณะวัดไม้ส่วนแรก: (1) เงินขายสังกะสีเก่า 10,000.- บาท, (2) ค่าวัสดุอุปกรณ์มุงหลังคาและปั้นลมปั้นชาย 196,764.- บาท, (3) ค่าแรง 36,900.- บาท รวมจ่าย 233,664.- บาท

3) ขอเชิญพี่น้องบริจาคเสาไม้ขนาดยาว 6.5 เมตร 4 ต้น เพื่อสร้างหอระฆังไม้ ที่ระลึก 125 ปีแห่งความเชื่อและการแพร่ธรรม

4) ขอเชิญร่วมพิธีบวชสังฆานุกร: เปาโลเด่น ช่วยสุข และเปาโลพนม ลือประสิทธิ์ พิธีแต่งตั้งผู้ช่วยพิธีกรรม: ยอแซฟเทพณรงค์ พุดษา และยอแซฟทินกร เหลือหลาย และพิธีแต่งตั้งผู้อ่านพระคัมภีร์: ยอห์น บัปติสต์อภิชาต ธรรมวงศ์ และเปาโลวรเมธ มาหนู จากสังฆมณฑลของเรา ณ บ้านเณรใหญ่แสงธรรม วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 2010

5) ขอเชิญร่วมงานฉลองศาสนนามพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ ฉลองครบรอบ 4 ปีการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนพื้นฐาน และปิดปีพระสงฆ์ วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2010 เวลา 10.00 น. ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลท่าแร่

6) เงินทานวันเสาร์ ได้ 396.- บาท, วันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม ได้ 1,594.- บาท; เงินทานวัดพระนามเยซู โพนสวาง ได้ 245.- บาท

จงเตรียมพร้อมไว้

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 19 เทศกาลธรรมดาปี C
บทอ่านที่ 1: ปชญ 18:6-9
บทอ่านที่ 2: ฮบ 11:1-2, 8-12
พระวรสาร: ลก 12:35-40

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า พระสงฆ์ใหม่องค์หนึ่งได้รับเชิญให้ไปเทศน์เตรียมฉลองความเชื่อประจำปีที่วัดแห่งหนึ่ง คุณพ่อตอบรับคำเชิญด้วยความเต็มใจและเตรียมตัวอย่างดี เพราะตระหนักว่าเป็นโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่สงฆ์ ในการเทศน์เตือนใจสัตบุรุษให้กลับใจมาหาพระเจ้า คุณพ่อไปถึงวัดดังกล่าวก่อนเวลามิสซาพอสมควร และใช้เวลาช่วงนั้นในการทักทายสัตบุรุษเพื่อสร้างความคุ้นเคย

คุณพ่อเริ่มมิสซาด้วยความตั้งใจและเทศน์อย่างไหลรื่นตามที่เตรียมมา แต่เมื่อมองลงไปเห็นคนเต็มวัดกำลังฟังอย่างตั้งใจ คุณพ่อเริ่มประหม่าและไปสะดุดตรงคำว่า “จงเตรียมพร้อมไว้” นึกไม่ออกว่าจะเทศน์อะไรต่อไป คุณพ่อย้ำคำเดิมอีกครั้งเพื่อเรียกความทรงจำกลับมา “พี่น้อง จงเตรียมพร้อมไว้” แต่ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น สมองยังมืดแปดด้าน คุณพ่อเริ่มเหงื่อแตกตัวสั่น ทำให้ธรรมมาสน์ที่ยืนอยู่สั่นไหวไปด้วย

ที่สุด คุณพ่อร้องดังกว่าเดิมเป็นครั้งที่สามว่า “จงเตรียมพร้อมไว้” พอสิ้นเสียง ธรรมมาสน์ก็พังครืนลงมา ทำให้คุณพ่อเสียหลักหัวคะมำไปพาดอยู่บนตักของสตรีใจศรัทธาคนหนึ่งที่นั่งอยู่แถวหน้า คุณพ่อรู้สึกอายมากและขอโทษสุภาพสตรีคนนั้นสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แต่สุภาพสตรีคนนั้นกลับบอกคุณพ่อว่า เป็นความผิดของเธอเอง คุณพ่ออุตส่าห์เตือนถึงสามครั้งแต่เธอกลับไม่เชื่อ ยังคงนั่งอยู่ที่เดิม (นับเป็นความโชคดีของคุณพ่อใหม่องค์นั้น ที่เธอคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของบทเทศน์)

1. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเวลา

พี่น้องที่รัก มีสามสิ่งในชีวิตเราที่ไม่สามารถเรียกให้หวนกลับคืนมาได้ นั่นคือ เวลา คำพูด และโอกาส เราคงเคยได้ยินสุภาษิตที่ว่า “เวลาและวารีไม่คอยใคร (Time and tide wait for no man)” หรือ “คำพูดมีปีกบิน และไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ (Words have wings, and cannot be recalled)” ก่อนพูดเราเป็นนายมัน แต่หลังจากพูดมันออกไป คำพูดเป็นนายเรา หรือ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสที่มีมาต้องรีบไขว่คว้าไว้ให้ได้ เพราะไม่รู้เมื่อไหร่จะได้รับอีกอีก

มีเรื่องเล่าว่า ผีร้ายสามตนกำลังเตรียมออกปฏิบัติงานในโลก ได้มารายงานถึงแผนการที่จะทำกับหัวหน้าใหญ่ ผีตนแรกรายงานว่า “ข้าจะบอกมนุษย์ว่าไม่มีพระเจ้า” หัวหน้าปีศาจตอบว่า “ไม่ได้ผลหรอก เพราะส่วนลึกแห่งใจมนุษย์รู้ว่ามีพระเจ้า” อีกตนหนึ่งบอกว่า “ข้าจะบอกว่าไม่มีนรก” หัวหน้าปีศาจตอบว่า “นั่นยิ่งร้ายใหญ่ เพราะในความเป็นจริงชีวิตของมนุษย์เป็นนรกอยู่แล้ว” ตนสุดท้ายเสนอว่า “ข้าจะบอกว่าไม่ต้องรีบร้อน ยังมีเวลาอีกเยอะ” หัวหน้าปีศาจตอบว่า “ดีมาก รีบไปดำเนินการตามแผนของเจ้าเลย”

คำพูดที่อันตรายที่สุดคือ “ยังมีเวลาอีกเยอะ” หรือ “รอไว้พรุ่งนี้” เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะมีวันพรุ่งนี้หรือไม่ เวลาในชีวิตมนุษย์นั้นสั้นและผ่านไปเร็วมาก ความตายอาจมาเยือนวันนี้หรือหรุ่งนี้ ไม่มีใครรู้ บางคนจึงบอกว่า “ชีวิตมนุษย์สั้นเกินกว่าที่จะเห็นแก่ตัว” แต่คนส่วนใหญ่ยุ่งวุ่นวายอยู่กับหลายสิ่งจนไม่มีเวลาสำหรับพระเจ้า โดยบอกกับตนเองว่า “รอไว้ก่อน ยังมีเวลา ไว้อายุมากค่อยเข้าวัด” หรือ “ให้รวยก่อนค่อยมาหาพระเจ้า” เราไม่ควรปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปในสภาพที่ยังอยู่ในบาป ห่างไกลจากพระเจ้า

2. จงเตรียมพร้อมไว้

พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงเตรียมพร้อมไว้ เพราะบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย” (ลก 12:40) คำพูดนี้มีความหมาย 2 นัยยะ กล่าวคือ ประการแรก ความหมายแบบเจาะจง หมายถึง การเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูเจ้า หรือที่เรียกว่า “วันสิ้นพิภพ” และประการที่สอง ความหมายกว้าง หมายถึง การพบกับพระเจ้าในรูปแบบต่างๆ จนถึงวันสุดท้ายที่พระเจ้าทรงเรียกเราไปพบคือ “ตาย”

บางครั้งเราคิดว่า การตื่นเฝ้าและรอคอยเป็นเรื่องไร้สาระ ความเชื่อเป็นเหมือนฝันกลางวัน ทำให้เราเพิกเฉยที่จะเตรียมตัวไปพบพระเจ้า แต่พระวรสารวันนี้ได้ให้กำลังใจและบอกเราว่า พระเจ้าทรงพอพระทัยจะประทานพระอาณาจักรให้แก่เรา พระองค์ทรงสัญญาและจะประทานให้แก่เราอย่างแน่นอนในวาระสุดท้าย แต่เราจะต้องจุดตะเกียงของเราและตื่นเฝ้าอยู่เสมอ เหมือนดังคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่คอยนายกลับจากงานมงคลสมรส

ชีวิตคริสตชนถูกเรียกให้กลับใจและเปิดตัวเองต่อพระเจ้าและผู้อื่นอยู่เสมอ นั่นคือ การพบพระเจ้าในเหตุการณ์และบุคคลต่างๆ ในแต่ละวัน “ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) เราจึงต้องตื่นเฝ้าและเตรียมพร้อมที่จะพบพระเจ้าในทุกเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้แหละคือ วิธีการที่ดีที่สุดในการเตรียมตัวเพื่อพบกับพระเจ้าอีกครั้ง เมื่อวาระสุดท้ายแห่งชีวิตของเรามาถึง

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระวาจาของพระเจ้าในอาทิตย์นี้ เป็นกำลังใจสำหรับเราคริสตชนในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยความไว้ใจในพระเยซูเจ้า นายชุมพาที่แท้จริงของเรา โดยการติดตามและฟังเสียงเรียกของพระองค์ด้วยความเชื่อ เพราะพระองค์ทรงนำเราไปสู่ทุ่งหญ้าเขียวสดและเลี้ยงดูเรา และจะทรงนำเรากลับสู่คอกแกะที่ปลอดภัย คือพระศาสนจักร เราจึงต้องพร้อมที่จะติดตามและพบพระองค์ทุกเวลา

พระเยซูเจ้าทรงกระตุ้นเตือนเราให้เตรียมพร้อมและทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด นั่นคือ ตื่นเฝ้าและเตรียมตัวให้พร้อมเหมือนคนใช้ที่ซื่อสัตย์ที่คอยนายกลับมา พระเจ้าทรงเรียกเราให้ทำเช่นเดียวกับอับราฮัม บิดาแห่งความเชื่อ ที่เชื่อและไว้ใจพระเจ้าโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ และทำตามพระประสงค์ของพระองค์โดยไร้ข้อสงสัย ความเชื่อในพระเจ้าโดยปราศจากการมองหาเครื่องหมายหรือหลักประกันความปลอดภัย เช่นนี้แหละคือ ความเชื่อที่แท้จริง

ที่สำคัญ ความเชื่อคริสตชนบอกเราว่า พระเยซูเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงทำงานในตัวเรา ทรงนำทางและจัดการทุกอย่างเพื่อเรา ความเชื่อคริสตชนจึงตั้งมั่นอยู่ในพระเจ้า และเปิดประตูแห่งความเข้าใจในตัวเรา พระเยซูเจ้าตรัสกับบรรดาศิษย์และตรัสกับเราแต่ละคนให้รื้อฟื้นความเชื่อนี้ ด้วยการจุดตะเกียงและเติมน้ำมันแห่งความรักต่อเพื่อนพี่น้อง เพื่อให้ตะเกียงแห่งความเชื่อนี้ลุกโชนอยู่เสมอ จนถึงวันที่เราจะได้พบและอยู่กับพระองค์ตลอดไป

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
7 สิงหาคม 2010

วันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เก็บมาฝาก จากสิงคโปร์



ความจริงผู้เขียนตั้งใจที่จะไปสิงคโปร์นานมาแล้ว แต่ยังหาโอกาสเหมาะไม่ได้ บังเอิญเพื่อนรุ่นน้อง (แต่อายุมากกว่า) คนหนึ่ง ซึ่งรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดีตั้งแต่บ้านเณรเล็กจนถึงบ้านเณรใหญ่ ชื่อ วิชัย สิงห์แขก จากบ้านเชียงยืน ตำบลเวินพระบาท อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม มาตั้งหลักปักฐานเปิดร้านอาหารที่สิงคโปร์นับสิบปี วันหนึ่งเขากลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่เมืองไทยพร้อมครอบครัว ได้พบปะเพื่อนฝูงและออกปากเชิญให้ไปเยี่ยมที่สิงคโปร์บ้าง

เมื่อโอกาสเหมาะและทุกอย่างเอื้ออำนวยเลยได้โอกาสไปเยือนสิงคโปร์ โดยออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2010 เวลา 07.30 น. ด้วยสายการบินแอร์เอเชีย ช้ากว่ากำหนดร่วมครึ่งชั่วโมง เนื่องมาจากเป็นสายการบินราคาประหยัด (Low Cost) จึงต้องรอผู้โดยสาร มีบริการอาหารและเครื่องดื่มบนเครื่องเหมือนสายการบินทั่วไปแต่ต้องจ่ายเพิ่ม แถมด้วยการขายสินค้าและของที่ระลึกซึ่งดูแปลกไปอีกแบบ ทำไงได้ เมื่อเลือกที่จะประหยัดเงินในกระเป๋าก็ต้องทำใจกับบริการแบบนี้

ที่สุด เครื่องแอร์บัส A320-200 ได้นำพวกเราและผู้โดยสารถึงสนามบินนานาชาติชางฮี (Changi International Airport) ของประเทศสิงคโปร์อย่างปลอดภัยในเวลา 10.30 น. ตามเวลาของสิงคโปร์ซึ่งเร็วกว่าเวลาที่เมืองไทย 1 ชั่วโมง สนามบินชางฮีได้ชื่อว่าเป็นสนามบินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในเรื่องความสะดวกและบริการ ถือเป็นศูนย์กลางทางการบินที่คับคั่งแห่งหนึ่งของโลก แต่ในเวลาที่พวกเรามาถึงไม่เห็นบรรยากาศที่พลุ่กพล่านเหมือนสุวรรณภูมิบ้านเราเลย อาจเป็นเพราะว่าสิงคโปร์ได้สร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่แห่งที่สาม และมีการจัดการที่ดีเยี่ยมเราจึงไม่เห็นบรรยากาศดังกล่าว

เล็กพริกขี้หนู

สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่ากรุงเทพฯ เกือบสามเท่าเมื่อเทียบขนาดของพื้นที่ แต่อะไรที่ทำให้ประเทศเล็กๆ แห่งนี้กลายเป็นประเทศที่มีความเจริญ ความทันสมัย และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจระดับแถวหน้าของเอเชีย เทียบเท่าประเทศแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นระเบียบและความมีคุณภาพของประชากร จนกลายเป็นที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลกให้มาท่องเที่ยวและลงทุน ทั้งๆ ที่สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไร แต่กลายเป็นนายหน้าค้าทุกอย่างตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ นับเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก

สิงคโปร์ตั้งอยู่บนเกาะปลายสุดของแหลมมาลายู มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่รายล้อมอีก 63 เกาะ เป็นสถานีพักสินค้าของพ่อค้าทั่วโลกมาตั้งแต่โบราณ ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้ามาตั้งแต่อดีต แต่ที่ตั้งอย่างเดียวหาใช่องค์ประกอบที่สำคัญไม่ ดูอย่างประเทศปานามาที่มีคลองปานามาเชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก หรือประเทศอียิปต์ที่มีคลองสุเอสเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงสู่มหาสมุทรอินเดีย สามารถย่นระยะทางการเดินเรือได้มาก แต่ทั้งสองประเทศไม่ได้เป็นศูนย์กลางทางการค้าแต่อย่างใด

สิ่งที่ทำให้สิงคโปร์มีความเจริญทุกด้านคือ ความมั่นคงทางการเมืองและความมีคุณภาพของประชากร การมีนโยบายที่ชัดเจนและสามารถบริหารจัดการให้เป็นไปตามนโยบายอย่างต่อเนื่องของพรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ที่สร้างความกินดีอยู่ดีของประชาชน และทำให้โครงการต่างๆ ที่วางไว้ สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมปราศจากการทุจริตคอรัปชั่น สิงคโปร์จึงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการค้าของโลก น่าเสียดายที่ประเทศไทยของเราร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ และมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อนที่สิงคโปร์จะได้รับเอกราชด้วยซ้ำ แต่เรายังไปไม่ถึงไหน

สิงคโปร์ได้รับเอกราชมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) โดยปกครองในรูปของสาธารณรัฐ ภายใต้การปกครองของนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเป็นเวลาถึง 25 ปี คือ นาย ลี กวน ยู (Lee Kuan Yew) ทั้งนี้เพราะพรรคกิจประชาชนซึ่งนายลี เป็นผู้ก่อตั้งชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ผู้นำรุ่นใหม่อย่าง นายโก๊ะ จ๊ก ตง (Goh Chok Tong) ในทศวรรษที่ 1990 จนถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันคือ นายลี เซียน ลุง (Lee Xian Lung) บุตรชายของนายลี กวน ยู นั่นเอง

สิงโตพ่นน้ำ

สิงคโปร์เดิมชื่อว่า เทมาเส็ก (เมืองแห่งทะเล) เป็นจุดนัดพบทางธรรมชาติของเส้นทางเดินเรือ จึงกลายเป็นจุดแวะพักของเรือเดินสมุทรหลายประเภท ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีเจ้าผู้ครองนครปาเล็มบังเดินทางแสวงหาดินแดนใหม่เพื่อสร้างเมืองแต่เรือเกิดอับปาง พระองค์ได้ว่ายน้ำขึ้นฝั่งแล้วเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งมีรูปร่างลำตัวสีแดงหน้าอกขาวหัวดำคล้ายสิงโต จึงถามคนติดตามว่า “นั่นตัวอะไร” คนติดตามตอบว่า “สิงโตทะเล” (Merlion) พระองค์จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น “สิงหปุระ” (สิงห์บุรี) ทางการสิงคโปร์จึงได้สร้างรูปสิงโตพ่นน้ำขึ้นที่อ่าวมารีน่า (Marina Bay) ซึ่งกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของสิงคโปร์ ใครที่มาสิงคโปร์ต้องไปถ่ายรูปที่นั่นมิฉะนั้นจะถือว่ายังมาไม่ถึง

ในยุคการล่าอาณานิคม โปรตุเกสนับเป็นชาติแรกที่ครอบครองสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1511 (พ.ศ. 2054) ก่อนที่จะถูกฮอลันดาหรือเนเธอแลนด์แย่งไป ประมาณปี ค.ศ. 1817 (พ.ศ. 2360) อังกฤษซึ่งได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดินได้ส่ง เซอร์โทมัส แสตมฟอร์ด บิงก์เลย์ แรฟเฟิลส์ (Sir Thomas Stamford Bingley Raffles) มาสำรวจดินแดนสิงคโปร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของสุลต่าน เพื่อตั้งสถานีการค้าของอังกฤษขึ้นในชื่อบริษัทอินเดียตะวันออก (British East India Company) ที่สุด อังกฤษได้ยึดสิงคโปร์ไว้เป็นอาณานิคม (Crown Colony) จนกระทั่งปี 1946 (พ.ศ. 2498) จึงได้ยกฐานะให้เป็นอาณานิคมแบบเอกเทศ (Separate Crown Colony)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและเข้ายึดครองสิงคโปร์ แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลงอังกฤษได้ครอบครองสิงคโปร์เหมือนเดิม จนกระทั่งประเทศมาเลเซียได้รับเอกราชจากอังกฤษ สิงคโปร์ได้ขอรวมชาติเข้ากับมาเลเซียด้วยเพื่อจะได้ไม่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ หลังจากรวมชาติกับมาเลเซียได้เพียง 2 ปี สิงคโปร์เริ่มไม่พอใจมาเลเซียเพราะการเหยียดชนชาติ ต้องเข้าใจว่าสิงคโปร์ประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวจีน มาเลย์ อินเดีย และลูกหลานชาวยุโรป (Eurasian) ทำให้นายลี กวน ยู ได้ขอแยกสิงคโปร์เป็นอิสระจากมาเลเซีย กลายเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างในปัจจุบัน

สิงโตเจ้าเศรษฐกิจ

ช่วงเวลาเพียงไม่นาน เมืองสิงโตแห่งนี้ได้เติบโตจนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม บทบาทในฐานะจุดพักสินค้าในอดีตถูกแทนที่ด้วยท่าเรือปลอดภาษี ทำให้มีบริษัทเดินเรือกว่า 600 รายส่งเรือบรรทุกน้ำมันขนาดยักษ์ เรือบรรทุกสินค้า และเรือโดยสารประเภทต่างๆ มาใช้น่านน้ำของเกาะเล็กๆ แห่งนี้ สิงคโปร์จึงกลายเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก รวมถึงอุตสาหกรรมการต่อเรือและการซ่อมเรือ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์รายใหญ่

นอกนั้น สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย การเจรจาทางธุรกิจดำเนินไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วด้วยเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย ผ่านระบบดาวเทียมและเครือข่ายที่โยงใยทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ย่านธุรกิจการเงินของสิงคโปร์(ที่ต้องติดต่อกับโลกตะวันตก) จึงต้องเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้ง เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตัดสินใจเปิดบ่อนกาสิโนและธุรกิจบันเทิงที่ย่านมารีนาและเกาะเซนโตซ่า (Sentosa) เลยยิ่งทำให้สิงคโปร์กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงิน และความบันเทิงแบบครบวงจร

สิงคโปร์ แม้จะเป็นประเทศที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่เป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ บ้านเมืองสวยงาม ทันสมัย และน่าอยู่ โครงสร้างพื้นฐานได้รับการจัดวางอย่างเป็นระบบ ถนนหนทางสะอาดไม่มีสายระโยงระยางเพราะทุกอย่างถูกร้อยสายไว้ใต้ถนน ที่โผล่ให้เห็นมีเพียงเสาไฟส่องสว่าง สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มตลอดทั้งปี เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรสภาพภูมิอากาศจึงคงที่ มีอุณหภูมิสม่ำเสมอและมีฝนตกชุก อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะอยู่ระหว่าง 22 ถึง 34 องศาเซลเซียส ประชาชนมีระเบียบ มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาดทำให้ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้สิงคโปร์กลายเป็นเสือเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน

พระศาสนจักรในสิงคโปร์

สิงคโปร์มีประชากร 4.99 ล้านคน (สถิติ ปี ค.ศ. 2009) แยกเป็นชาวจีน 74.2% ชาวมาเลย์ 13.4% ชาวอินเดีย 9.2% และอื่นๆ 3.2% ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ 42.5% รองลงมาคืออิสลาม 14.9% คริสต์ 14.6% เต๋า 8.5% ฮินดู 4% ตามลำดับ รวมถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใดๆ 14.8% ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทางวัตถุทั้งหลาย สำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกในสิงคโปร์ มีอยู่ประมาณ 210,000 คน คิดเป็น 4.6% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวตะวันตก ชาวจีน ฟิลิปปินส์และอินเดีย

คริสตศาสนาในสิงคโปร์มีที่มาจากการที่โปรตุเกสยึดมะละกาในปี ค.ศ. 1511 (พ.ศ. 2054) และตั้งสังฆมณฑลมาลักกา (Diocese of Malacca) ขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1558 (พ.ศ. 2101) เชื่อกันว่าธรรมทูตองค์แรกชาวโปรตุเกสจากมาลักกาได้เข้ามาในสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1821 (พ.ศ. 2364) เพื่อดูแลกลุ่มชาวยุโรปและชาวจีนที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ในช่วงที่อยู่ภายใต้การครอบครองของโปรตุเกสระหว่างปี ค.ศ. 1511–1641 (พ.ศ. 2054-2184) มีการสร้างวัดและโรงเรียนหลายแห่ง อาสนวิหารนายชุมพาที่ดี (Cathedral of the Good Shepherd) ถือว่าเก่าแก่ที่สุดสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1843-1847 ส่วนวัดที่สวยงามที่สุดคือวัดพระหฤทัยศักดิ์สิทธิ์ สร้างในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449)

ปัจจุบัน พระศาสนจักรในสิงคโปร์มี 1 สังฆมณฑลคือ อัครสังฆมณฑลสิงคโปร์ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสังฆมณฑลมาลักกา ได้รับการสถาปนาเป็นอัครสังฆมณฑลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) มีพระอัครสังฆราชนิโคลัส เชีย เย็ก จู (Nicholas Chia Yeck Joo) เป็นพระสังฆราชปกครอง โดยเป็นส่วนหนึ่งของ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน (Catholic Bishops’ Conference of Malaysia, Singapore and Brunei) ในความดูแลของสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย

ภัตตาคาร Joe’s Kitchen

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่าได้มาสิงคโปร์เพราะเพื่อนรุ่นน้องที่ชื่อ วิชัย สิงห์แขก (Joe) ซึ่งมีความสามารถในการทำอาหารให้เพื่อนๆ ได้รับประทานตั้งแต่อยู่บ้านเณร ขณะที่เขียนบทความนี้ยังคิดถึงรสชาดแกงอ่อมเต๋าและผัดเผ็ดปลาสวายที่จับได้จากสระน้ำบ้านเณรฝีมือของเขาอยู่ หลังจากเรียนจบปรัชญาเขาได้เปลี่ยนกระแสเรียกไปเป็นครูอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะออกมาใช้พรสวรรค์ในการทำอาหารที่เขามีในตัวอย่างเต็มเปี่ยมเปิดร้านขายอาหาร จับพลัดจับพลูได้ไปเป็น Chef ที่ภัตตาคารอาหารไทยที่สิงคโปร์เป็นเวลา 6 ปี

ที่สุด ได้เปิดภัตตาคารอาหารไทยของตัวเอง ชื่อ “Joe’s Kitchen Thai Cuisine” ตั้งอยู่ที่ Bukit Merah Lane 1 ตรงข้ามกับโรงพยาบาลอเล็กซานดรา (Alexandra Hospital) ประเทศสิงคโปร์ ภัตตาคารแห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ทั้งนี้ เพื่อทำความฝันของเขาที่ต้องการมีภัตตาคารเป็นของตนเองให้เป็นจริง ที่เขาสามารถแสดงฝีมือปรุงรสกับข้าวไทยให้ลูกค้าได้ลิ้มลองอย่างเต็มที่ โดยมีเจมี (Jemie) ภรรยาชาวสิงคโปร์ของเขาเป็นผู้ช่วยคนสำคัญ

ภัตตาคาร Joe’s Kitchen ของเขาแม้จะมีขนาดเล็กแต่ติดอันดับ Top ten ในเรื่องรสชาดและบริการ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วสิงคโปร์ ที่รายการโทรทัศน์ของสิงคโปร์มาถ่ายทำไปออกอากาศบ่อยครั้ง มีลูกค้าประจำที่เป็นดารา นักการเมือง และผู้คนทั่วไป เรียกได้ว่าร้านเต็มตลอด จนต้องเพิ่มโต๊ะตามทางเดินหน้าร้าน โดยเปิดให้บริการทุกวัน ในเวลา 11.00-15.00 น. และ 17.00-22.00 น. ใครที่มีโอกาสไปเที่ยวสิงคโปร์ อย่าลืมไปอุดหนุนนะครับ รับรองไม่ผิดหวัง ก่อนไปอาจศึกษาข้อมูลภัตตาคารของเขาได้ที่ www.joesthaikitchen.com หรือติดต่อกับเขาโดยตรงได้ที่ +65 9100 5185 ต้องขอบคุณเพื่อนคนนี้อีกครั้ง สำหรับการต้อนรับอันอบอุ่นตลอด 2 คืน 3 วันที่สิงคโปร์

Don Daniele เรื่อง/ภาพ
23 July 2010

ความร่ำรวยในสายพระเนตรพระเจ้า

วันอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 18 เทศกาลธรรมดา ปี C

บทอ่านที่ 1: ปญจ 1:2; 2:21-23
บทอ่านที่ 2: คส 3:1-5, 9-11
พระวรสาร: ลก 12:13-21

บทนำ

มีเรื่องเล่าว่า เจ้าของนาผู้มั่งคั่งคนหนึ่ง ตั้งใจจะตอบแทนผู้เช่านาที่เช่านาของตนเป็นเวลานาน โดยเสนอที่จะมอบที่นาแปลงหนึ่งให้ เนื้อที่ตามจำนวนที่ผู้เช่าสามารถไถได้ตั้งแต่ 8 โมงเช้า จนถึง 6 โมงเย็น ไถได้กี่ไร่จะแบ่งโฉนดมอบให้เป็นเจ้าของทันที ผู้เช่านาดีใจมากที่จะได้มีที่นาเป็นของตัวเองกับเขาเสียที เขาเริ่มเตรียมตัวด้วยการออกกำลังกายทุกวัน บำรุงร่างกายด้วยอาหารเสริมสุขภาพนานาชนิด และเครื่องดื่มชูกำลังที่โฆษณากันดาษดื่นทางโทรทัศน์ เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับโอกาสอันดีที่มีผู้หยิบยื่นให้

ผู้เช่านาเฝ้ารอวันเวลาที่กำหนดอย่างใจจดใจจ่อ คืนก่อนถึงวันนัดหมาย เขาตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ เพราะอีกไม่นานเขาจะได้เป็นเจ้าของที่นาแล้ว เมื่อวันนัดหมายมาถึง เขาเริ่มไถอย่างรีบเร่งโดยไม่ยอมหยุดเลย แม้ตอนเที่ยงวันยังไม่ยอมพักทานข้าว ด้วยกลัวว่าจะทำให้เสียเวลาไถนาได้น้อยเพียงไม่กี่ไร่ ยิ่งเห็นดวงอาทิตย์คล้อยต่ำลงใกล้หกโมงเย็นยิ่งโหมหนัก เพราะคิดว่าหลังจากนี้เขาจะได้เป็นเจ้าของที่นาหลายสิบไร่แบบฟรีๆ โดยไม่ต้องจ่ายอะไร นอกจากแรงกายที่เขาทุ่มเทไถมาตั้งแต่เช้า

แต่แล้วสิ่งที่ผู้เช่านาไม่คาดฝันได้เกิดขึ้น ก่อนถึงเวลาหกโมงเย็นเล็กน้อย เขารู้สึกเสียวแปล๊บตรงหัวใจ เนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยและสูญเสียน้ำในร่างกายในปริมาณมาก ทำให้เขาหัวใจวายเฉียบพลัน ล้มลง และสิ้นใจตาย ไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของที่นาผืนใหญ่ตามที่เขามุ่งหวัง นอกจากที่ดินผืนเล็กๆ เพียงหนึ่งตารางวา เพื่อฝังร่างอันไร้วิญญาณของเขาเท่านั้น

พี่น้องที่รัก เราทำมาหาเลี้ยงชีพมาทั้งชีวิต แต่เวลาที่เราจบชีวิตลงเอาอะไรไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไร่นาสาโท หรือทรัพย์สินเงินทอง ที่เราสู้อุตส่าห์เสาะแสวงหาด้วยความเหนื่อยยาก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีมีเงินร้อยล้าน พันล้าน แต่เมื่อตายลงก็เอาไปไม่ได้ อย่างมากลูกหลานอาจจับยัดใส่ปากเพียงไม่กี่บาทตามธรรมเนียมพอเป็นพิธี แม้ตอนมีชีวิตอยู่จะเป็นเจ้าของที่ดินหลายร้อยไร่ แต่เมื่อตายลงก็ได้เพียงหนึ่งตารางวาในสุสาน เพื่อฝังร่างของเรา

1. ความต้องการที่ไม่สิ้นสุดของมนุษย์

พระวรสารวันนี้ เริ่มต้นจากสถานการณ์ที่มีชาวยิวคนหนึ่งมาขอร้องพระเยซูเจ้า ให้พูดกับพี่ชายเรื่องแบ่งมรดกแก่เขา ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวยิวจะไปปรึกษาปัญหากับรับบีที่เขานับถือ การมาหาพระเยซูเจ้า แสดงให้เห็นว่าเขาถือพระองค์เป็นรับบีคนหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายยิวระบุชัดว่า บุตรชายหัวปีจะได้มรดกสองในสามส่วนของบิดา ส่วนอีกหนึ่งส่วนเป็นของน้องชาย หรือแบ่งกันระหว่างบุตรคนอื่นที่เหลือ

ชายคนนั้นรู้กฎหมายดีอยู่แล้วแต่ไม่พอใจในส่วนแบ่งที่เขาได้รับ เนื่องจากเขาเป็นคนโลภจึงมาหาพระเยซูเจ้า แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างไม่ใยดีจากพระองค์ ทำไมพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นผู้ที่สอนให้รักและพร้อมที่จะช่วยทุกคนจึงปฏิเสธที่จะช่วยเขา ความจริงพระเยซูเจ้าต้องการช่วยเขาให้มองไปที่ต้นตอของปัญหา หากท่านรักกันและกันเหมือนพี่น้อง และเข้าใจดีถึงคุณค่าของทรัพย์สมบัติในโลกนี้ ท่านคงไม่ทะเราะกัน โดยทรงยกอุปมาเรื่อง “เศรษฐีโง่” ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นทัศนคติที่พึงมีต่อ “ทรัพย์สมบัติและสิ่งของของโลกนี้”

เราเห็นชัดว่า ในหัวของเศรษฐีผู้นี้มีแต่ “ตัวเอง” ไม่มีที่ว่างสำหรับ “คนอื่น” ด้วยเหตุนี้ พระเยซูเจ้าจึงเตือนเราทุกคนว่า “จงระวังและรักษาตัวไว้ให้พ้นจากความโลภทุกชนิด” (ลก 12:15) นักบุญเปาโลได้ขยายความว่า “การรักเงินทองเป็นรากเหง้าของความชั่วทั้งหมด ความโลภเงินทองทำให้บางคนหลงไปจากความเชื่อ และตรอมตรมด้วยความทุกข์มากมาย” (1 ทธ 6:10) พระเยซูเจ้าจึงทรงสอนว่า “ถ้าผู้ใดอยากตามเรา ก็จงเลิกคิดถึงตนเอง” (มธ 16:24) และ สิ่งที่ท่านทำกับพี่น้องที่ต่ำต้อย ท่านทำกับเราเอง (มธ 25:40)

นี่คือ เหตุผลแรกที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเศรษฐี ผู้ใช้ทรัพย์สมบัติด้วย “ความโลภ” เพราะมันเป็นรากเหง้าของความชั่ว ทำให้เขามองไม่เห็นความต้องการของเพื่อนพี่น้องด้วยกัน ประการที่สอง เศรษฐีใช้ทรัพย์สมบัติโดยไม่คำนึงถึง “โลกหน้า” แผนการของเขาคือ “รื้อยุ้งฉางเก่าแล้วสร้างใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเดิม... จะได้พักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนาน” (ลก 12:18-19) เขาไม่ได้คิดหรือมองอะไรเกินเลยไปจากโลกนี้เลย

2. ความร่ำรวยในสายพระเนตรของพระเจ้า

ความต้องการทรัพย์สินเงินทองและการผูกติดกับความร่ำรวยทางวัตถุภายนอกที่มากเกินไป ทำให้เราตาบอด หลงคิดไปว่าพระเจ้าอยู่ห่างไกลและเราจะมีชีวิตที่ยืนยาว อันนำไปสู่ความหลงผิด ด้วยการใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย กินดื่มอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย สิ่งนี้เองที่ทำให้เรากลายเป็นทาสของวัตถุ ที่นำหายนะใหญ่หลวงมาสู่วิญญาณของเรา กระนั้นก็ดี พระเจ้าไม่เคยทอดทิ้งเรา พระองค์ทรงอดทนและยังคงรักเรา

เศรษฐีโง่คนนั้น เฝ้ามองแต่ประโยชน์ที่เขาจะได้จากความร่ำรวยทางวัตถุ แต่ละเลยความหมายที่แท้จริงแห่งชีวิต คือ การอยู่กับพระเจ้า ซึ่งเป็นความร่ำรวยในสายพระเนตรของพระเจ้า “คนที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้สำหรับตนเอง ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า ก็เป็นเช่นนี้” (ลก 12:21) เศรษฐีสะสมทรัพย์สมบัติไว้เพื่อใช้เอง และใช้อย่างเห็นแก่ตัว นั่นคือ “พักผ่อน กินดื่ม และสนุกสนาน”

ทุกวันนี้ มีผู้คนเป็นจำนวนมากคิดไม่ต่างไปจากเศรษฐีโง่คนนั้น เขาทำงานหนักเพื่อจะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จะได้มีชีวิตอยู่อย่างสุขสบาย มีมือถือรุ่นใหม่ มีรถยนต์ใช้ มีบ้านอยู่ ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่คนเหล่านี้ “ไม่เป็นคนมั่งมีสำหรับพระเจ้า” ตรงกันข้าม การใช้ทรัพย์สินเงินทองอย่าง “พอเพียง” ไม่เป็นภาระแก่ผู้อื่น แล้วแบ่งปันส่วนที่เหลือแก่ผู้ที่มีความจำเป็นและขัดสนมากกว่าคือ การสะสมทรัพย์สมบัติที่แท้จริงในสวรรค์ และเป็นคนร่ำรวยในสายพระเนตรของพระเจ้า

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ทรัพย์สินเงินทอง เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีของมนุษย์ พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจดีถึงสิ่งเหล่านี้ ในคำอุปมาพระองค์ไม่ได้ตำหนิทรัพย์สินเงินทองที่จำเป็นในชีวิต แต่ทรงตำหนิ “ความโลภ” ของเศรษฐีคนนั้น เขาเป็นคนร่ำรวยแต่ไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมี ความโลภเป็นเหมือนไฟ ยิ่งใส่ฟืนเข้าไปมากเท่าใด ไฟยิ่งลุกโชนมากเท่านั้น ยิ่งคนที่มีใจโลภด้วยแล้ว ไม่มีวันพอสำหรับเขา

แม้ว่าเศรษฐีคนนั้นจะเป็นคนฉลาดตามมาตรฐานของโลก แต่สำหรับพระเยซูเจ้าเขาเป็นคนโง่ เพราะเขาละเลยและลืมสิ่งที่สำคัญ 3 ประการ นั่นคือ 1) เขาลืมพระเจ้า 2) ลืมคิดถึงชีวิตในโลกหน้า และ 3) ลืมคิดถึงเพื่อนพี่น้องที่ยากจนและขัดสน สำหรับคนใจโลภเช่นเขา เงินอาจซื้อทุกสิ่งได้ แต่ไม่อาจซื้อความสุขได้ เงินอาจนำพาเขาไปทุกแห่งในโลก แต่ไม่อาจพาเขาไปสวรรค์

เพื่อจะเป็นผู้มั่งมีในสวรรค์ ไม่จำเป็นต้องลงทุนอะไรมาก เพียงแค่น้ำเย็นแก้วหนึ่งแก่ผู้รับใช้พระเจ้า หรือไปเยี่ยมเยียนคนเจ็บป่วย ผู้สูงอายุ หญิงหม้าย เด็กกำพร้า ฯลฯ เท่านี้เราก็ได้ทำต่อองค์พระเยซูเจ้าแล้ว นักบุญเปาโล ตระหนักในคำสอนนี้ จึงกล่าวว่า “การให้ย่อมเป็นสุขมากกว่าการรับ” (กจ 20:35) ปัญหาก็อยู่ตรงที่ว่า เราอยากจะมั่งมีในโลกนี้แล้วยากจนในโลกหน้า หรืออยากมีสันติสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
31 กรกฎาคม 2010