บทเรียนจากชาวสะมาเรียผู้ใจดี
อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา ปี C |
ฉธบ 30:10-14 คส 1:15-20 ลก10:25-37 |
บทนำ
บ๊อบ
บัตเลอร์ ได้สูญเสียขาทั้งสองข้างเพราะเหยียบกับระเบิดในสงครามเวียดนามปี 1965 และเดินทางกลับบ้านเยี่ยงวีรบุรุษ
หลังจากนั้นยี่สิบปีเขาได้พิสูจน์ความเป็นวีรบุรุษอีกครั้ง
วันหนึ่งขณะกำลังทำงานในโรงรถของตนที่เมืองเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในรัฐอลิโซนา
เขาได้ยินเสียงกรีดร้องจากบ้านที่อยู่ใกล้ ๆ เขารีบรุดไปยังบ้านหลังนั้นด้วยรถเข็นคู่ชีพ
เมื่อไปถึงสระน้ำ เขาพบเด็กหญิงวัยสามขวบคนหนึ่งกำลังจมน้ำ เธอไม่มีแขนทั้งสองข้าง
คงพลัดตกลงไป แม่ของเธอยืนกรีดร้องปิ่มว่าจะขาดใจ
บัตเลอร์กระโจนลงไปในสระนำเด็กหญิงนั้นขึ้นมา
หน้าเธอซีด ชีพจรไม่เต้นและไม่มีลมหายใจแล้ว เขารีบทำการผายปอดช่วยชีวิต
ขณะที่แม่เด็กโทรศัพท์ไปยังหน่วยฉุกเฉินแต่ไม่มีใครอยู่เลย เธอรู้สึกสิ้นหวัง
ซบไหล่เขาและสะอื้นไห้ เขาบอกเธอว่า “อย่ากังวลไปเลย ผมได้อุ้มเธอขึ้นมาจากน้ำ เป็นแขนให้เธอ ไม่เป็นไรแล้ว
ตอนนี้ผมกำลังเป็นปอดให้เธอ เราต้องทำได้” ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้น
เด็กหญิงสำลัก รู้สึกตัวและร้องไห้ แม่ของเด็กหญิงสวมกอดเขาด้วยความยินดี
แม่ของเด็กถามบัตเลอร์ว่าทราบได้อย่างไรว่า “จะไม่เป็นไร” เขาบอกเธอว่าความจริงเขาไม่รู้
แต่เมื่อขาทั้งสองข้างของเขาขาดเพราะแรงระเบิด
ไม่มีใครอยู่บริเวณนั้นนอกจากเด็กหญิงชาวเวียดนามคนหนึ่ง
เธอพยายามลากเขาเข้าไปในหมู่บ้านและกระซิบที่หูว่า “ไม่เป็นไรแล้ว คุณยังไม่ตาย หนูจะเป็นขาให้คุณ” คำพูดนี้ทำให้เขามีความหวังและพยายามทำเช่นเดียวกันกับเด็กหญิงคนนั้น
มีบางครั้งในชีวิตที่ไม่สามารถยืนโดยลำพัง เราต้องการคนอย่างชาวสะมาเรียผู้ใจดี
ต้องการใครสักคนเป็นแขน เป็นขาและเป็นเพื่อนกับเรา
1. บทเรียนจากชาวสะมาเรียผู้ใจดี
นักกฎหมายได้ถามคำถามพื้นฐานทางศาสนาพระเยซูเจ้าว่า
“ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” (ลก 10:25) คำตอบของพระเยซูเจ้าได้นำความสนใจของนักกฎหมายไปที่พระคัมภีร์ “รักพระเจ้าและแสดงออกในการรักเพื่อนมนุษย์” (เทียบ ลก 10:17) สำหรับนักกฎหมายคำว่า “เพื่อนมนุษย์” หมายถึงนักกฎหมาย
หรือชาวฟาริสีด้วยกัน มิใช่ชาวสะมาเรีย หรือคนต่างศาสนา เขาขอให้พระองค์ขยายความเพื่อนมนุษย์
และพระองค์ตรัสอุปมาเรื่อง “ชาวสะมาเรียผู้ใจดี” ให้เขาฟัง
ในจำนวนอุปมาของพระเยซูเจ้า เรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีเป็นอุปมาที่งดงามและเกี่ยวข้องกับภาคปฏิบัติมากที่สุด ถือเป็นบทสรุปคำสอนในภาคปฏิบัติของพระเยซูเจ้าก็ว่าได้ และได้ให้คำตอบต่อปัญหาของนักกฎหมาย
2 ข้อด้วยกัน
1) “ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า” คำตอบของอุปมาคือ “ใครก็ได้ที่ต้องการความช่วยเหลือ” สำหรับชาวยิวถือเป็นสิ่งที่สะดุดอย่างมาก
เพราะพวกเขาจะช่วยเฉพาะชาวยิวด้วยกันเท่านั้น เช่น ถ้าในวันสะบาโตเกิดกำแพงล้มทับคน
เขาจะขุดรากพอให้ดูรู้ว่าคนเจ็บเป็นยิว หรือต่างชาติ ถ้าเป็นยิวจะได้รับการช่วยชีวิต
แต่ถ้าเป็นคนต่างชาติจะถูกทิ้งให้ทนทุกข์ต่อไป
2) “ข้าพเจ้ามีหน้าที่ปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ที่เดือดร้อนอย่างไร” คำตอบของอุปมาคือ “จงแสดงความสงสารในรูปของการช่วยเหลือ” คงไม่ต้องสงสัยว่าทั้งสมณะและชาวเลวีมีความสงสารคนบาดเจ็บเจียนตาย
แต่เขาไม่ได้ทำอะไรที่แสดงความสงสารออกมาในการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมเลย
2. บทเรียนสำหรับเรา
อุปมาเรื่องชาวสะมาเรียผู้ใจดีได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ
ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือผู้อื่น แม้ความผิดพลาดเกิดจากตัวเขาเอง
เราเห็นชัดว่า คนบาดเจ็บเป็นคนประมาท เดินทางโดยลำพังในเส้นทางอันตราย
เส้นทางจากเยรูซาเล็มสู่เยรีโคคือเส้นทางสู่บ้าน วัด โรงเรียนและที่ทำงาน ซึ่งเราพบคนถูกโจรปล้น
ถูกกดขี่และต้องการความช่วยเหลือเสมอ บางที่อาจเป็นบ้านของเราเองที่มีคนกำลัง “บาดเจ็บ” เพราะคำพูดไม่สร้างสรรค์
ดุด่า เฉยเมย เย็นชา หรือการแสดงอารมณ์ความรู้สึกเกินขอบเขตของเรา เหนือสิ่งอื่นใด
พระเจ้าทรงประสงค์ให้เราแสดงความรักต่อผู้อื่น
ประการที่สอง
การช่วยเหลือคนเดือดร้อนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญลำดับแรก เราเห็นสมณะมีใจจดจ่อกับการปฏิบัติหน้าที่ตามจารีตพิธีในพระวิหาร
ถือปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องการเป็นมลทินอย่างเคร่งครัด
จนลืมความต้องการของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราได้รับการเรียกให้เป็นคนใจกว้าง ใจดีมีเมตตากรุณาต่อผู้กำลังเดือดร้อน
รอยยิ้ม คำทักทาย คำพูดให้กำลังใจและคำขอบคุณที่จริงใจ
สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในใจคนเหล่านี้ได้
ประการที่สาม เราต้องช่วยเหลือคนเดือนร้อนแม้ต้องเสี่ยง ชาวเลวีไม่ยอมเสี่ยง
เพราะเกรงว่า ตนเองจะติดร่างแหไปด้วย เหตุผลที่ไม่กล้าเสี่ยงเพราะไม่อยากเดือดร้อน
คิดคำนวณดูแล้วไม่คุ้ม ทำให้เสียงาน เสียเวลาและเสียเงิน แต่พระเยซูเจ้าสอนเราว่า
“อย่าชั่งน้ำหนัก
อย่าคำนวณ แต่จงยอมแพ้ต่อความรัก และถือทุกคนเป็นเพื่อนมนุษย์ของเรา” เพราะทุกคนต่างเป็นฉายาของพระเจ้าและได้รับการไถ่ให้รอดด้วยพระโลหิตของพระเยซูเจ้าเหมือนกัน
ประการสุดท้าย
เราต้องเป็นชาวสะมาเรีผู้ใจดี ทำในสิ่งที่คนเคร่งศาสนา ชื่อเสียงดี มีเกียรติภูมิไม่ทำกัน
เขาเป็นคนธรรมดาไม่มีชื่อ เป็นคนต่างถิ่นเดินทางตามลำพัง ไม่มีทรัพย์สินมาก แต่ “ตาของเขาช่างสังเกต
และหัวใจของเขาเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า” เขาเป็นคนแปลกหน้า
แต่ได้ช่วยเหลือคนบาดเจ็บและทำตัวเป็นผู้ดูแลดุจพี่น้อง เขาตีความบัญญัติประการที่
5 อย่าฆ่าคนว่าหมายถึง “ท่านต้องทำสิ่งที่ทำได้เพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตอยู่ต่อไป”
บทสรุป
พี่น้องที่รัก คริสตชนต้องดำเนินชีวิตแต่ละวันเป็นชาวสะมาเรียผู้ใจดี
มีดวงตาและหูที่เปิดกว้าง โดยมีเข็มทิศแห่งความเมตตาเป็นเครื่องนำทาง
ยอมให้หัวใจของเราเต้นในจังหวะเดียวกันกับหัวใจของพระเจ้า เพื่อตัดสินได้ว่ามีสิ่งไหนที่เราสามารถทำได้ในการช่วยคน “เกือบสิ้นชีวิต” ที่พบแต่ละวันให้มีชีวิตอยู่ต่อไป ทั้งนี้
เพื่อเห็นแก่ความรักที่เรามีต่อพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์
ขอให้คำสั่งของพระเยซูเจ้าที่ว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด” (ลก
10:37) ปลุกเร้าหัวใจเราให้ทำเช่นเดียวกัน
การเป็นคริสตชนไม่เพียงรู้ถึงความรักของพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ แต่ต้องแสดงความรักออกมาในภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
ศิษย์พระคริสต์ต้องใส่ใจต่อพี่น้องที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ไม่เดินเลยผ่านไป
หรือทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน แต่ต้องกล้าเสี่ยงและลงมือช่วยเหลือโดยไม่ลังเล
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
ID
LINE : dondaniele
Lavang, Quangtri, Vietnam
12 กรกฎาคม 2025
ภาพ : คริสตชนเวียดนาม, ลาวาง, เวียดนาม; 2025-7-11