"สมณสาส์นพระศาสนจักรในเอเชีย" (Ecclesia in Asia) เป็นเอกสารที่เป็นผลมาจากสมัชชาพระสังฆราชแห่งเอเชีย ระหว่างวันที่ 18 เมษายน-14 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ลงนามโดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1999 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย
ได้รับมอบหมายให้ศึกษาบทที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ
"การบริการด้านพัฒนามนุษย์" เห็นว่ามีแง่คิดและมุมมองเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์หลายประการที่น่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้รับรู้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
การบริการด้านพัฒนามนุษย์
1. คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
พระศาสนจักรมุ่งมั่นที่จะรับใช้มวลมนุษย์ ด้วยการให้ความช่วยเหลือให้แก่ชายหญิงทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยก ทั้งนี้เพื่อร่วมมือกันในการเสริมสร้างอารยธรรมแห่งความรัก บนพื้นฐานแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม ความเป็นปึกแผ่นและเสรีภาพ ซึ่งจะสำเร็จได้ในองค์พระคริสตเจ้า ดังนั้น พระศาสนจักรในเอเชียได้รับการเชื้อเชิญให้เจริญชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการรับใช้ผู้ยากจนและคนไร้ที่พึ่งด้วยความรัก
ที่ผ่านมา คำสอนของพระศาสนจักรได้เน้นให้มีการพัฒนาบุคคลอย่างถูกต้อง และทั้งครบมากขึ้นเพื่อตอบสนองสถานภาพอันแท้จริงของประชากรโลก มิใช่การกระทำของบุคคลเท่านั้น แต่รวมถึงโครงสร้างของชีวิตสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ ก่อให้เกิดช่องว่างที่ไม่เป็นธรรม หรือใช้ความเจริญก้าวหน้าเป็นเครื่องมือ
คำสอนเกี่ยวกับสังคมของพระศาสนจักร เป็นมาตรฐานเพื่อการตัดสินใจและเป็นแนวปฏิบัติ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจการแพร่ธรรม โดยเน้นความสำคัญของการให้บรรดาสัตบุรุษได้รับการอบรมอย่างเข้มข้นในเรื่องคำสอนที่เกี่ยวกับสังคม โดยเฉพาะในบ้านเณรและสถานอบรม ในหมู่ฆราวาส เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพวกเขาในการช่วยให้โลกมีชีวิตชีวามากขึ้น และดำเนินชีวิตเป็นเชื้อแป้งแห่งพระวรสาร
2. ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล
จุดมุ่งหมายแรกและจุดหมายปลายทางการพัฒนาคือ “มนุษย์” ในความเป็นบุคคลทั้งครบที่สร้างมาตามพระฉายาของพระเจ้า และได้รับพระพรแห่งศักดิ์ศรีและเสรีภาพที่พระเจ้าทรงประทานให้ อันเป็นที่มาของการประกาศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน น่าเสียดายที่คนเป็นจำนวนมากยังถูกเอารัดเอาเปรียบ ตกเป็นทาสของผู้ที่มีอิทธิพลมากกว่า ด้านเศรษฐกิจ การเมือง ด้านวิทยาศาสตร์ หรือสื่อมวลชน บรรดาพระสังฆราชผู้ร่วมประชุมสมัชชาตระหนักดีถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะต้องมีส่วนในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ส่งเสริมความยุติธรรมและสันติ โดยเฉพาะในเอเซียที่ถูกข่มเหง ถูกเอารัดเอาเปรียบและความยากจน
3. เลือกรักผู้ยากจน
พระศาสนจักรได้แสดงให้เห็นถึงการเลือกรักผู้ยากจน และผู้ที่ไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง เพราะคนเหล่านี้คือพระคริสตเจ้านั่นเอง (ดู มธ 25:40) การเลือกรักผู้ยากจน รวมไปถึงประชาชนที่หิวกระหาย ขัดสน ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ที่ไม่สมารถรับการรักษาพยาบาล ผู้ที่สิ้นหวัง พระศาสนจักรในเอเซียจะต้องพยายามที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนเกี่ยวกับผู้ยากจน อย่างจริงจังทั้งในวาจาและกิจการ
ความเป็นหนึ่งเดียวกับผู้ยากจน จะเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้น หากคริสตชนเจริญชีวิตอย่างเรียบง่าย ตามแบบฉบับของพระคริสตเจ้า ชีวิตที่เรียบง่าย ความเชื่ออันลึกซึ้งและความรัก ที่ไม่แสแสร้งต่อมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและถูกสังคมรังเกียจ ล้วนเป็นเครื่องหมายที่แจ่มชัดของพระวรสารในภาคปฏิบัติ เพื่อพระศาสนจักรเองจะได้เป็นพระศาสนจักรของคนจนและเพื่อคนจน
ด้วยความรักที่มีต่อคนจน พระศาสนจักรจึงให้ความสนใจกับผู้อพยพ ชนพื้นเมืองและชนเผ่าต่างๆ ตลอดจนสตรีและเด็กเป็นพิเศษ เหตุว่าบุคคลเหล่านั้นมักจะเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบที่เลวร้าย อีกทั้งถูกสังคมรังเกียจ เนื่องจากวัฒนธรรม เชื้อชาติ สีผิว ชั้น วรรณะ สภาพเศรษฐกิจหรือเพราะแนวคิดของพวกเขา รวมถึงผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อความเกลียดชัง เพราะการนับถือคริสตศาสนาด้วย
ในปัจจุบัน เอเซียกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาผู้ลี้ภัย ผู้ย้ายถิ่นฐานและคนงานโพ้นทะเลเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้มักจะไม่มีเพื่อน อยู่ในท่ามกลางวัฒนธรรมที่แปลกใหม่ ด้อยโอกาสเนื่องจากภาษา ปัญหาด้านเศรษฐกิจ คนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนและการดูแล เพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรี มรดกทางด้านวัฒนธรรมและศาสนา เหตุว่าในพระหฤทัยของพระเยซูเจ้านั้นไม่มีใครเป็นคนแปลกหน้า (ดู มธ 11:28-29)
ชุมชนคาทอลิกควรขยายงานอภิบาลชนเผ่าพื้นเมืองในสังคมเมือง ดูแลปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา เคารพนับถือศาสนาดั้งเดิมและค่านิยมของพวกเขา ด้วยการช่วยพวกเขาให้ช่วยตัวเอง เพื่อเขาจะได้กลายเป็นผู้แพร่ธรรมในกรอบวัฒนธรรมและสังคมของพวกเขาเอง นอกนั้น ยังพูดถึงเด็กที่ตกเป็นเหยื่อการถูกเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรง พระศาสนจักรจะต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้แก่ผู้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและชักจูงเด็กเหล่านี้ให้รู้จักความรักของพระเยซูเจ้า เหตุว่าพระอาณาจักรพระเจ้าเป็นคนของเด็กๆ เหล่านี้ (ดู ลก 18:16)
ที่ประชุมสมัชชากล่าวถึงความห่วงใยเป็นพิเศษสำหรับสถานภาพของสตรีในเอเชีย ที่ยังมีการเอารัดเอาเปรียบและความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งจะพบได้ในบ้าน ในที่ทำงาน แม้กระทั่งในระบบกฎหมาย หลายคนถูกนำไปใช้เป็นเครื่องบำเรอในสภาพของโสเภณี พระศาสนาจักรท้องถิ่นในเอเซีย ควรส่งเสริมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในนามของสตรี เชิดชูศักดิ์ศรีและเสรีภาพของสตรีให้ปรากฏชัดและมีผลมากขึ้น โดยสนับสนุนบทบาทสตรีในชีวิตของพระศาสนจักร ในพันธกิจแห่งความรักและการรับใช้
4. พระวรสารทรงชีวิต
ชีวิตเป็นพระพรอันยิ่งใหญ่ที่พระเป็นเจ้าทรงมอบไว้กับเรา ดังนั้นเราจึงต้องเป็นผู้พิทักษ์ชีวิต ทั้งนี้เพราะการปฏิสนธิชีวิตมนุษย์เกี่ยวโยงกับการเนรมิตสร้างของพระเจ้า และเป็นสายสัมพันธ์พิเศษกับพระผู้สร้าง ผู้ทรงเป็นแหล่งที่มาและจุดจบของชีวิต การพัฒนาที่แท้จริง อารยธรรมที่แท้จริง และการส่งเสริมมนุษยชนอย่างจริงจังจะมีขึ้นไม่ได้ หากไม่เคารพต่อชีวิตมนุษย์ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีเสียงในการปกป้องตัวเอง
สมณสาสน์เรื่อง “พระวรสารแห่งชีวิต” ได้กล่าวถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตมนุษย์ เนื่องจากปัญหาเรื่องประชากร ทำให้มักอ้างว่าจำเป็นต้องมีการคุมกำเนิดโดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พระศาสนจักรต้องต่อต้าน “วัฒนธรรมแห่งความตาย” จะต้องส่งเสริมและมีส่วนในแผนการที่จะปกป้องชีวิตของผู้ไม่สามารถป้องกันตนเองได้
5. ดูแลด้านสุขภาพ
พระศาสนจักรในเอเซียดำเนินตามแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ทรงมีพระเมตตาต่อทุกคนและ “ทรงรักษาโรคและความเจ็บไข้ทุกชนิด” (มธ 9:35) เพราะว่านี่คือพันธกิจอันสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งในการมอบพระหรรษทานแห่งความรอดให้แก่คนทั้งครบ ตามแบบอย่างของชาวสะมาเรียผู้ใจดี (ดู ลก 10:29-37) พระศาสนจักรมีความปรารถนาที่จะดูแลคนเจ็บป่วยและผู้พิการอย่างเป็นรูปธรรม
คริสตชนผู้ดูแลสุขภาพถูกเรียกร้องมากขึ้นให้มีใจกว้างขวาง และอุทิศตนในการดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของยาเสพติดและโรคเอดส์ ซึ่งเป็นที่รังเกียจของสังคมและถูกทอดทิ้ง บรรดาผู้ดูแลสุขภาพเหล่านี้ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนในความดีที่เขากำลังทำอยู่ เพื่อว่าการอุทิศตนของพวกเขาสามารถทำให้คุณค่าและคริสตศาสนธรรมซึมซาบเข้าไปในการดูแลรักษา
6. การศึกษา
ในฐานะที่เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของมวลมนุษยชาติ พระศาสนจักรจำต้องเสวนากับชนทุกชาติ ทุกกาลเวลาและสถานที่ เพื่อตอบสนองพันธกิจที่ได้รับไว้ พระศาสนจักรจึงออกไปพบปะกับประชาชนในโลก เนื่องจากพระศาสนจักรเป็น “ฝูงแกะน้อยๆ” ในท่ามกลางมนุษยชาติ (ดู ลก 12:32) แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเชื้อแป้งในโลก (ดู มธ 13:33) โดยมุ่งไปยังบรรดาผู้ที่เชื่อว่าพระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นพระจ้าและผู้ไถ่ เป็นอันดับแรกและขยายไปสู่ผู้นับถือศาสนาอื่น
7. ส่งเสริมสวัสดิภาพ
หลังศตวรรษที่ยี่สิบ โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งและภาวะสงคราม มีการแบ่งแยกด้านสังคม วัฒนธรรม การเมืองและศาสนา มีการใช้ความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล พระศาสนจักรถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพ ความยุติธรรมและการคืนดีกัน โดยเน้นการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจา มิไม่ด้วยกำลังทหาร การเสวนาคือวิถีทางเดียวที่จะก่อให้เกิดการตกลงและคืนดีกัน
สิ่งที่น่าห่วงใยเป็นพิเศษในเอเชียคือ การแข่งกันในการแสวงหาขีปนาวุธที่สามารถทำลายคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงกับระเบิดซึ่งทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องพิการหรือเสียชีวิต และทำให้พื้นดินอันอุดมถูกทำลาย สมัชชายังได้เรียกร้องให้หยุดการผลิต ขาย หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมีและอาวุธเชื้อ อีกทั้งได้ย้ำถึงความทุกข์ของชาวอิรัก โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เสียชีวิตเพราะขาดแคลนยาและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน
8. โลกาภิวัตน์
สมัชชายอมรับถึงความสำคัญของเศรษฐกิจโลกาภิวัฒน์ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยเฉพาะต่อผู้ที่ยากจน นำสังคมเอเซียเข้าสู่วัฒนธรรมบริโภคนิยม ซึ่งมุ่งไปทางโลกและวัตถุนิยม ส่งผลให้สถาบันครอบครัวแตกสลาย พระศาสนจักรต้องมีบทบาทในการออกมาตรการทางด้านศีลธรรมและข้อกำหนดที่จะควบคุมการค้าอย่างเสรีในโลกและสื่อมวลชน
9. หนี้ต่างประเทศ
ประเทศที่ร่ำรวยกว่าต้องสนับสนุนให้องค์กรการเงินนานาชาติและธนาคารต่างๆ ให้แสวงหาหนทางที่จะผ่อนปรนหนี้สินของประเทศต่างๆ ด้วยการลดหนี้หรือปลดหนี้โดยสิ้นเชิง โดยเตือนประเทศเหล่านี้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนเศรษฐกิจที่ถูกต้อง โปร่งใสและการดำเนินงานที่ดี อีกทั้งเชิญชวนให้ต่อสู่กับการฉ้อราษฎรบังหลวงอย่างจริงจังและประณามการคดโกงในทุกรูปแบบ
10. สภาพแวดล้อม
เมื่อใดที่ความก้าวหน้าในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ไม่ควบคู่ไปกับความห่วงใยเรื่องความสมดุลของระบบเศรษฐกิจ โลกของเราก็เสี่ยงต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหน้าที่ของคริสตชนและบรรดาผู้มองพระเจ้าว่าทรงเป็นพระผู้สร้าง ที่จะช่วยกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ทุกคนมีหน้าที่ทางด้านศีลธรรมที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมมิใช่เพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เพื่อชนรุ่นหลัง
สมัชชาได้สรุปด้วยคำพูดของนักบุญยอห์น คริสซอสโตมที่ว่า “ท่านปรารถนาจะให้เกียรติแก่พระกายของพระคริสตเจ้าหรือ? ถ้าเช่นนั้น ท่านก็อย่ามองข้ามพระองค์ไป เมื่อท่านเห็นว่าพระองค์ทรงไร้เครื่องนุ่งห่ม อย่าถวายเกียรติพระองค์ด้วยผ้าไหมในพระวิหารเท่านั้น แต่แล้วกลับไม่สนใจพระองค์ เมื่อพระองค์ต้องเผชิญกับความหนาวและไร้เครื่องนุ่งห่มอยู่ข้างนอก พระองค์ผู้ตรัสว่า “นี่คือกายของเรา” คือพระองค์เดียวกับผู้ที่ตรัสไว้ว่า “ท่านเห็นเราหิว แต่ท่านมิได้ให้อาหารแก่เรา” ...จะมีประโยชน์อะไร ถ้าพระแท่นบูชาหนักด้วยกาลิกส์ทอง ในเมื่อพระคริสตเจ้ากำลังสิ้นพระชนม์ด้วยความหิว? จงเริ่มต้นด้วยการกำจัดความหิวของพระองค์ และแล้วสิ่งที่เหลืออยู่ ท่านอาจนำเอาไปประดับประดาพระแท่นได้”