วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

125 ปี คริสตชุมชนนาบัว (2)

คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์

1.6  คุณพ่อปีแอร์ โกลาส์ 

คุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสคณะช่วยมิสซัง (Sacerdotes Auxilium Missionum) เป็นผู้ที่มีคุณูปการใหญ่หลวงสำหรับวัดนาบัว ในฐานะผู้อภิบาลที่ทำหน้าที่ปกครองดูแลชาวนาบัวอย่างดี เยี่ยงผู้เลี้ยงแกะที่ดีที่ยอมสละชีวิตเพื่อฝูงแกะ อีกทั้งเป็นผู้วางรากฐานความเชื่อและนำความเจริญมาสู่นาบัวทุกด้าน โดยเฉพาะในการสร้างวัดไม้หลังที่สี่ที่สร้างได้อย่างประณีต สวยงามมาก นอกนั้นคุณพ่อยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์และบ้านพักภคินี ที่ยังคงใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน
คุณพ่อโกลาส์ (แถวนั่ง ทีห้าจากซ้าย) ในวันที่มาถึงมิสซังปี ค.ศ. 1962

คุณพ่อโกลาส์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) ที่ประเทศฝรั่งเศส บวชเป็นพระสงฆ์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ในคณะธรรมทูตช่วยมิสซัง (S.A.M.) หลังจากนั้นสองปีคือ ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ได้เดินทางมาเป็นธรรมทูตที่ประเทศไทย ภายหลังเรียนภาษาไทยจนสามารถใช้งานได้ พระอัครสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์ ได้มอบหมายให้ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัว ปี ค.ศ. 1966-1978 (พ.ศ. 2509-2521), วัดแม่พระไถ่ทาส สองคอน ปี ค.. 1978-1981 (.. 2521-2524), รองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง ปี ค.ศ. 1981-1982 (พ.ศ. 2524-2525), วัดนักบุญยอแซฟ ดอนทอย ปี ค.ศ. 1982-1884 (.. 2524-2527)  และวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ ปี ค.. 1984-1986 (.. 2527-2529) ตามลำดับ
คุณพ่อโกลาส์ (แถวยืน ขวาสุด) กับคณะสงฆ์ท่าแร่-หนองแสง ปี ค.ศ. 1964

คุณพ่อโกลาส์ เดินทางมาเป็นเจ้าอาวาสวัดนาบัว โพนสวาง หนองบกและห้วยหินลาดในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) ต่อจากคุณพ่ออินตา นันสีทอง ในวัยที่กำลังหนุ่มแน่นคือ 32 ปี นับเป็นความลำบากไม่น้อยสำหรับคุณพ่อซึ่งเป็นชาวตะวันตกแต่ต้องมาอยู่บ้านนอกไกลปืนเที่ยง ที่อัตคัดขาดแคลน การคมนาคมไม่สะดวก แต่คุณพ่อสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องการกินอยู่ คุณพ่อสามารถกินอาหารแบบพื้นบ้านได้ทุกอย่างและชื่นชอบเอามากๆ เช่น ลาบเลือด คงเป็นเพราะเหตุนี้กระมังจึงทำให้คุณพ่อต้องเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ และถึงแก่มรณภาพก่อนวัยอันสมควร
คุณพอโกลาส์กับคุณพ่อเอ็ดมองด์ เปอร์เซ และแม่มาเดอร์แลน

คุณพ่อโกลาส์ เป็นคนที่เคร่งครัด เจ้าระเบียบ หากเห็นใครไม่มาวัดวันอาทิตย์ หลังมิสซาคุณพ่อจะขี่จักรยานไปที่บ้านทันทีเพื่อสอบถามถึงสาเหตุของการขาดวัด หากไม่มีเหตุผลเพียงพอก็จะว่ากล่าวตักเตือนเสียงดังสำเนียงพื้นบ้านอีสานแบบจริงจัง จนชาวนาบัวมีความยำเกรงไม่กล้าขาดวัดวันอาทิตย์อีก นอกนั้น หากพบเห็นใครทำผิดก็จะตักเตือนซึ่งหน้าโดยไม่เกรงกลัวใครทั้งสิ้น เล่ากันว่าครั้งหนึ่งคุณพ่อเห็นรถยนต์คันหนึ่งขับรถย้อนศร คุณพ่อจึงหยุดรถลงไปตักเตือนเหมือนเช่นทุกครั้ง  เจ้าของรถยนต์คันนั้นตอบคุณพ่อว่า “คุณรู้หรือเปล่าว่าผมเป็นใคร ผมเป็นนายอำเภอวานรนิวาส” คุณพ่อตอบกลับไปว่า “เป็นนายอำเภอแล้วทำผิดกฎจราจรเสียเอง อย่างนี้จะปกครองชาวบ้านได้อย่างไร” นายอำเภอเกิดความละอายจึงรีบขับรถหนีไป

แม้จะเป็นคนเจ้าระเบียบ แต่คุณพ่อโกลาส์เป็นคนใจดีมีเมตตา พบเห็นใครเดือดร้อนเป็นต้องช่วยเหลือ รถยนต์ของคุณพ่อกลายเป็นรถบริการนำคนเจ็บในเขตตำบลหนองแวงส่งโรงพยาบาล ทั้งที่อำเภอวานรนิวาสและจังหวัดสกลนครโดยไม่คิดจ้างแต่อย่างใด คุณพ่อให้ความช่วยเหลือโดยไม่ถือตัว ช่วยอุ้มผู้ป่วยขึ้นรถและส่งถึงมือหมอโดยไม่รังเกียจ พร้อมกับกำชับหมอและพยาบาลให้ดูแลคนป่วยอย่างดี หากใครปฏิบัติต่อคนป่วยไม่ดีหรือล่าช้าในการรักษา คุณพ่อจะตำหนิซึ่งหน้าจนหมอและพยาบาลหวาดกลัว ต้องรีบทำการรักษาทุกครั้งที่เห็นคุณพ่อพาคนป่วยมา ในรายที่ป่วยหนักคุณพ่อได้ประสานขอเฮลิคอปเตอร์จากฐานทัพอเมริกันที่ค่ายรามสูร อุดรธานี ให้มารับคนป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานีอยู่บ่อยครั้ง
"ตุ๊กตา" วิภาพร โกลาส (ซ้ายสุด) ในวันที่แวะมาเยี่ยมนาบัว เมื่อว 10 ตุลาคม
ความใจดีของคุณพ่อโกลาส์เป็นที่รับรู้ทั่วไป โดยเฉพาะในหมู่ชาวพุทธจนถึงขนาดมีคนนำเด็กแรกเกิด สองคนมาให้คุณพ่อเลี้ยง เนื่องจากพ่อแม่เสียชีวิตและยากจน คุณพ่อจึงรับภาระเลี้ยงดูเด็กหญิงสองคนคือ “ตุ๊กตา” วิภาพร (ผิวบาง) โกลาส จากบ้านท่าสะอาด อำเภอเซกา (จังหวัดบึงกาฬ) กับ “ตุ๊กติ๊ก” ยุพาพิน โกลาส บ้านตาลเดี่ยว อำเภอวานรนิวาร นอกเหนือไปจากการเลี้ยงดูลูกศิษย์อีกหลายคน คุณพ่อได้เลี้ยงดูเด็กสองคนนี้อย่างดีจนเติบใหญ่ และส่งเสียให้ได้รับการศึกษาด้วยการส่งไปอยู่กับแม่ที่ประเทศฝรั่งเศส จนทั้งสองมีอาชีพการงานที่ดีในปัจจุบัน โดยแต่งงานมีครอบครัวและตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
คุณพ่อโกลาส์ ขณะพักรักษาตัวทีโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ปี ค.ศ. 1986

ในช่วงบั้นปลายชีวิตขณะเป็นเจ้าอาวาสวัดแม่พระถือศีลชำระ จันทร์เพ็ญ คุณพ่อโกลาส์ได้ล้มป่วย อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้ส่งไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ แพทย์ลงความเห็นว่าคุณพ่อป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ อันเนื่องมาจากการใช้ชีวิตกินอยู่แบบชาวบ้านทั่วไปในช่วงเวลาหลายปีที่ทำงานในสังฆมณฑล ที่สุด คุณพ่อได้ขอกลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศส และมอบคืนดวงวิญญาณแด่พระเจ้าอย่างสงบท่ามกลางญาติพี่น้อง เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1987 (พ.ศ. 2530) สิริอายุ 53 ปี ยังความเศร้าโศกเสียใจแก่ญาติมิตรและมวลสัตบุรุษที่คุณพ่อเคยดูแล โดยเฉพาะชาวนาบัวที่มีความผูกพันกับคุณพ่อเป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณพ่อได้ทำหน้าที่เทศน์สอนและสร้างคุณประโยชน์มากมายตลอดเวลา 12 ปีที่ทำหน้าที่เจ้าอาวาส
วัดไม้ทีประณีต สวยงาม ผลงานของคุณพ่อโกลาส์

1.7  วัดไม้ที่สวยงาม

ผลงานชิ้นโบว์แดงที่คุณพ่อโกลาส์ฝากไว้สำหรับชาวนาบัวก็คือ วัดหลังที่สี่ซึ่งเป็นวัดไม้ สร้างอย่างประณีตสวยงาม ด้วยน้ำพักน้ำแรงของคุณพ่อกับชาวนาบัวที่ร่วมแรงร่วมใจกัน คุณพ่อเริ่มสร้างวัดหลังนี้ประมาณ ปี ค.ศ. 1966 หลังจากที่คุณพ่อได้ย้ายมาประจำที่นาบัวได้ไม่นาน เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของคุณพ่ออินตา นันสีทอง ที่ได้หาทุนด้วยการทำนาขายข้าวเพื่อสะสมเป็นกองทุนสำหรับสร้างวัด คุณพ่อได้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างเองทั้งหมด
ด้านหน้าของวัดไม้ ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 27 เมตร เสา 55 ต้น

วัดหลังนี้สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มุงด้วยสังกะสี ขนาดกว้าง 15 เมตร ยาว 27 เมตร มีเสาทั้งหมด 55 ต้น ตั้งบนตอหม้อคอนกรีตผสมศิลาแลงละเอียดที่ร่อนจนได้ขนาดเดียวกันสูง 70 เซนติเมตร นัยว่าเพื่อป้องกันปลวกซึ่งเป็นเทคนิควิธีการก่อสร้างตามแบบตะวันตก และเป็นแนวคิดใหม่สำหรับชาวนาบัวสมัยนั้นที่นิยมสร้างบ้านด้วยการตั้งเสาฝังดิน เวลาผ่านไป 45 ปีได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวคิดของคุณพ่อโกลาส์ถูกต้อง เพราะวัดไม้ที่คุณพ่อสร้าง รวมถึงบ้านพักพระสงฆ์และโรงครัว (บ้านพักภคินี) ปลวกไม่สามารถทำอะไรได้
ภายในวัด ซึ่งได้รับการออกแบบให้ไม่มีเสากลาง

ความแปลกของวัดหลังนี้คือ ไม่มีเสากลางให้เกะกะสายตา เพราะได้รับการออกแบบอย่างดีเยี่ยมในเรื่องการถ่ายน้ำหนักจากจั่วไปยังเสาข้างตามหลักการก่อสร้างสมัยใหม่ ภายในวัดจึงดูโล่ง หน้าต่างเป็นฝาไม้แนวตั้งที่สามารถเลื่อนปิดเปิดได้ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างเป็นไม้เนื้อดีจากป่านาบัวเอง และจากดงอี่บ่างซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร นับเป็นเรื่องน่าทึ่งที่คุณพ่อโกลาส์สามารถสร้างวัดหลังใหญ่นี้ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือที่มีในสมัยนั้น อย่าง ขวาน เลื่อย กบใสไม้ ค้อน ซิ่ว ไขควง ไม่ได้มีเครื่องมือไฟฟ้าอย่างในปัจจุบัน การขนย้ายไม้แต่ละต้นใช้แรงคนล้วนๆ บรรทุกบนเกวียนหลายสิบเล่ม
 ชื่อของนายช่าง ที่คุณพ่อโกลาส์จารึกไว้ที่เสาตอหม้อด้านหน้า

คุณพ่อโกลาส์ได้จารึกชื่อช่างไม้ชาวนาบัว ที่ได้ช่วยคุณพ่อสร้างวัดหลังนี้ไว้ที่ตอหม้อต้นหนึ่ง ด้านหน้ามุขต้นที่สามนับจากซ้ายว่า “อำคา (มะลินันท์), กระใส (แพงยอด), ฉวี (ทองอ่อน), เรียน (ทองอ่อน), แสง (นาโควงศ์), นวล (เหง้าน้อย) และ P.C. (Piere Colas)” เหล่านี้คือลูกมือคนสำคัญของคุณพ่อในการสร้างวัด โดยมีนายคำคา มะลินันท์ เป็นช่างใหญ่ ภายใต้การควบคุมดูแลของคุณพ่อ อีกทั้ง เป็นผู้สอนบรรดาช่างเหล่านี้ให้ปฏิบัติตามวิธีการของคุณพ่ออย่างเคร่งครัด เราจึงยังคงได้เห็นวัดไม้หลังนี้ตกทอดมาถึงเราในปัจจุบัน
เสาตอหม้อคอนกรีตผสมเม็ดหินศิลาแลง จำนวน 55 ต้นที่รับน้ำหนักวัดทั้งหลัง

เล่ากันว่า คุณพ่อโกลาส์เป็นคนละเอียดในการก่อสร้างวัดหลังนี้มาก ตั้งแต่การเลือกต้นไม้ การถากไม้เสาต้องได้เหลี่ยมและได้ขนาดตามที่ต้องการ ไม้เครื่องทุกตัวคุณพ่อจะเป็นคนทดสอบความแข็งแรงด้วยตนเอง ด้วยการยืนขย่ม คุณพ่อสูงประมาณ 185ถ เซนติเมตร น้ำหนักตัวประมาณ 90 กิโลกรัม หากสามารถทานน้ำหนักของคุณพ่อได้แสดงว่าไม้ตัวนั้นผ่านการทดสอบ สามารถใช้งานได้ ที่สำคัญวัดหลังนี้ใช้นอตและสกรูยึดทั้งหมด หากได้ยินเสียงค้อนตอก คุณพ่อจะตำหนิเพราะเป็นการใช้งานผิดประเภท ต้องใช้ไขควงขันอย่างเดียว นัยว่าเพื่อความสะดวกในการรื้อถอน การฝนกบใสไม้บนหินลับเช่นเดียวกัน หากใครฝนกบไปมาเฉพาะตรงกลางตามความเคยชิน คุณพ่อจะตำหนิ เพราะจะทำให้หินลับมีดสึกและเป็นร่องตรงกลาง
วัดไม้หลังการย้ายจากจุดที่ตั้งเดิม ปี ค.ศ. 1999

วัดไม้หลังที่สี่ จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความชาญฉลาดและวิริยะอุสาหะของคุณพ่อโกลาส์โดยแท้ ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในการสร้างวัดหลังนี้ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสมัครสมานสามัคคีของพี่น้องชาวนาบัวทุกคน ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกับคุณพ่อในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี ควรอย่างยิ่งที่ชาวนาบัวรุ่นหลังจะภาคภูมิใจและรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณพ่อปิแอร์ โกลาส์ ที่จะครบรอบ 25 ปีแห่งมรณกรรม ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 2012 นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น