วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

ดูงานญี่ปุ่น 5

ศึกษาและดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น (ต่อ)
การศึกษาและดูงานวันนี้ (16 มกราคม 2015) เป็นแบบง่ายๆ ไม่รีบร้อน แต่ดูเหมือนพวกเราจะตื่นแต่เช้ากันเป็นส่วนใหญ่ เพื่อจะได้มีเวลาทำในสิ่งที่ตนเองพึงพอใจ บางคนเลือกที่จะไปแช่ออนเซนในตอนเช้าอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่าเกิดประโยชน์กับร่างกายตนเอง บางคนเลือกที่จะไปชมหิมะเวลาสะท้อนแสงอาทิตย์ยามเช้า ซึ่งแลดูงดงามตระการตายิ่งนัก และเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก
เมื่อทุกอย่างพร้อมได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ “นิกโกเอโดะ วันเดอร์แลนด์” (Edo Wanderland) หมู่บ้านจำลองยุคสมัยเอโดะหรือเหล่าโชกุนในยุครุ่งเรือง   ซึ่งได้จำลองช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของญี่ปุ่นเอาไว้  เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนในสมัยเอโดะ ในระหว่างปี ค.ศ. 1603-1868 มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมเอโดะขนานแท้และดั้งเดิม ที่จำลองความเป็นเอโดะในยุคก่อนเอาไว้


เมื่อพวกเราเดินทางมาถึง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากเหล่าซามุไร ได้เห็นถึงการจำลองทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเอโดะอย่างละเอียดและพิถีพิถัน ทำให้พวกเราได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แท้จริง อาทิ ได้รื่นรมย์กับระบำสายน้ำที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวและควบคุมสายน้ำได้ดั่งใจของสาวๆ ในชุดกิโมโน ได้สนุกไปกับการต่อสู้อันเร้าใจของเหล่านินจา และชื่นชมกับความงามของโออิรัน สาวงามแห่งเกอิชา ซึ่งคนหนึ่งในพวกเราได้รับเชิญให้ไปร่วมแสดงด้วย
จากนั้นได้เดินทางไปเมืองนาริตะ แวะซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าอิออน ข้าวของในญี่ปุ่นไม่ได้แพงอย่างที่คิด หลายอย่างถูกกว่าเมืองไทยมาก ช่วงเวลา 2 ชั่วโมงในการจับจ่ายซื้อของจึงผ่านไปอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นของฝากโดยเฉพาะสำหรับคุณครู เนื่องจากพวกเราทั้งหมดเป็นผู้บริหารสถานศึกษา จึงอดคิดถึงคุณครูซึ่งเป็นผู้ร่วมงานคนสำคัญที่เมืองไทยไม่ได้ และในโอกาสวันครูนี้ จึงขอนำบทความของครูบาอาจารย์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง "การเข้าคิวของคนญี่ปุ่น" เพื่อจะทำให้เราได้ทราบตัวตนของชาวญี่ปุ่นดียิ่งขึ้น



5.  เหตุผลที่คนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว
อาจารย์ฮารา ชินทาโร่ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เขียนถึงเหตุผลที่ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว ไม่แซงคิว โดยอาจารย์บอกว่าเขาเองก็ไม่ทราบว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว ที่สำคัญมันยังเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย
1)           เป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นถูกสอนตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็กๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิว ตั้งแต่สมัยเด็ก ก็เข้าใจว่าการแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดี แต่อยู่ที่ว่าทำได้หรือทำไม่ได้มากกว่า เนื่องจากว่าทุกครั้งที่พยายามจะแซงคิว เด็กๆจะโดนผู้ใหญ่ดุ และไม่มีผู้ใหญ่ที่แซงคิว ทำให้เด็กรู้ว่า ฉันก็ทำไม่ได้



2)           คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนานเพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง ชาวญี่ปุ่นแทบทุกคนเน้นความตรงต่อเวลามาก ดังนั้น การแซงคิวหมายความว่า คนที่แซงนั้นไม่ให้เกียรติต่อเวลาของคนอื่น เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าในเวลาของคนอื่น คนนั้นก็ถูกมองว่าคนที่ไร้คุณค่า
3)           แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับสึนามิโศกนาฏกรรมน่าเศร้าเช่นนี้ ญี่ปุ่นก็ยังแสดง ภาพน่าประทับใจให้เห็นถึงสังคมที่มีรูปแบบอย่างดี สามารถรับมือกับวิกฤตอย่างนิ่งสงบและมีระเบียบ


4)           สิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่า เขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เวลาคนญี่ปุ่นเค้าจะข้ามถนนยังต้องเข้าแถวเลย
5)           สังคมญี่ปุ่นเชื่อว่า การเข้าคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่าอาย เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่า อาย ได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม


ในสังคมบางสังคม ในขณะที่เราเข้าแถว ผู้ใหญ่มาถึงที่นั้น มักจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่และบอกว่า เชิญทางนี้นะค่ะ/ครับ หลังจากนั้นก็จะให้บริการแก่ท่านผู้ใหญ่คนนั้นก่อนคนที่เข้าแถวเป็นเวลานาน ถ้าในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่ (แม้ว่าหายาก) แต่คนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่นั้นก็ต้องบอกว่า ขอบคุณครับท่าน ขอโทษนะครับ วันนี้คิวมันจะยาวหน่อยครับ"

      ขอถือโอกาสนี้ส่งความสุขและความปรารถนาดีจากญี่ปุ่นมายังคุณครูทุกท่าน พวกเราทุกคนที่มาศึกษาและดูงานที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ต่างคิดถึงคุณครูที่โรงเรียนของตน บางท่านพูดถึงตั้งแต่เช้า และไม่ลืมที่จะหาของฝากกลับไปฝาก คืนนี้แต่ละคนคงวุ่นอยู่กับการจัดกระเป๋าให้ลงตัว เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับในวันรุ่งขึ้น (17 มกราคม 2015)
Don Daniele ภาพ/รายงาน
Narita, JAPAN

16 มกราคม 2015

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น