วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

จงรักศัตรู: มาตรฐานความรักแบบคริสตชน

สัปดาห์ที่ 7 เทศกาลธรรมดา ปี A
ลนต 19:1-2,17-18
1 คร 3:16-23
มธ 5:38-48

บทนำ

ในการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของ อับราฮัม ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ต้องเผชิญกับคู่อริตัวฉกาจอย่าง เอ็ดวิน สแตนตัน (Edwin M. Stanton) ที่เกลียดลินคอล์นเข้ากระดูกดำและกล่าวหาให้ร้ายเขาต่อสาธารณะอย่างเผ็ดร้อนในทุกเวทีของการรณรงค์หาเสียง แต่คนที่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันและเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกาคือ อับราฮัม ลินคอล์น

เมื่อถึงเวลาของการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ลินคอล์นทำให้คณะที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนต้องแปลกใจ เพราะเขาได้เลือกสแตนตัน เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยเขายุติสงครามกลางเมืองและการเลิกทาส หากลินคอล์นยังถือโทษโกรธเคืองสแตนตัน ทั้งคู่คงเป็นอริกันจนวันตาย แต่พลังแห่งความรักและการให้อภัยของลินคอล์นได้แปรเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรและผู้ร่วมงานคนสำคัญ ที่ทำให้เขากลายเป็นมหาบุรุษของยุคสมัย

ผู้คนโดยทั่วไปคุ้นเคยกับกฎแห่ง “ความรุนแรงและการแก้แค้น” ในแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” หรือ “เกลือจิ้มเกลือ” นำมาซึ่งสงคราม การต่อสู้ ฆ่าฟันกัน ทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินไม่สิ้นสุด อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือสหรัฐอเมริกากับบิลลาเดน แต่พระเยซูเจ้าได้ปฏิรูปหลักคำสอนและวิธีปฏิบัติของยุคสมัย ด้วยการนำเสนอกฎแห่ง “การให้อภัยและการรักศัตรู” ทั้งนี้เพราะพระองค์ตระหนักว่า ความชั่วไม่สามารถชนะได้ด้วยความรุนแรงและการแก้แค้น แต่ด้วย “ความดี ความรัก และการให้อภัย”

1. จงรักศัตรู: มาตรฐานความรักแบบคริสตชน

ในพระวรสารของวันนี้ พระเยซูเจ้าต้องการวางกรอบสำหรับผู้ที่อยากเป็นศิษย์ของพระองค์ เพื่อการดำเนินชีวิตในความรักที่ครบครัน โดยเฉพาะในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง ซึ่งสามารถเข้าใจได้ใน 2 ลักษณะคือ การทำดีต่อทุกคนและต้อนรับทุกคนโดยไม่แบ่งแยก แต่ความรักที่ยิ่งใหญ่กว่าคือ การรักศัตรูและภาวนาให้ผู้ที่ทำไม่ดีกับเรา ซึ่งเห็นได้อย่างเด่นชัดในชีวิตของพระเยซูเจ้า ในแบบอย่างแห่งความรักของพระองค์บนไม้กางเขน

“การรักศัตรู” เป็นมาตรฐานของความรักแบบคริสตชน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความรักของพระเจ้า ที่ทรงรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยก ไม่มีเงื่อนไข และไร้ขีดจำกัด แต่ธรรมชาติและความอ่อนแอตามประสามนุษย์ ทำให้เรารักศัตรูได้ยาก เราจะเลือกรักเฉพาะผู้ที่รักเราและทำดีต่อเรา พระเยซูเจ้าทรงเข้าใจและรู้ถึงความยากลำบากนี้ พระวาจาของพระองค์ในวันนี้จึงท้าทายเราให้ออกจากตัวเอง เพื่อมุ่งสู่ความดีบริบูรณ์

รูปแบบของ “ความดีบริบูรณ์” ในการดำเนินชีวิตคริสตชนที่พระเยซูเจ้าตรัสถึงคือ พระบิดาเจ้า “ท่านจงเป็นคนดีบริบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่านทรงความดีบริบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) เราจะต้องพยายามเลียนแบบพระบิดาในความดีและความเมตตากรุณา พระองค์ไม่เพียงโปรดให้ดวงอาทิตย์สาดส่องเหนือคนดีและคนชั่ว และโปรดให้ฝนโปรยปรายเหนือคนชอบธรรมและคนอธรรม แต่ยังทรงประทานพระบุตรแต่องค์เดียวของพระองค์ให้รับทนทรมานเพื่อมนุษย์ทั้งหลาย

ดังนั้น เราจะสามารถเลียนแบบพระบิดาเจ้าสวรรค์ได้ก็โดยการเลียนแบบพระเยซูเจ้า ในความนอบน้อมเชื่อฟังของพระองค์ต่อพระบิดาจนถึงที่สุดคือ บนไม้กางเขนและมอบชีวิตเป็นสินไถ่มนุษย์ทุกคน จากบนกางเขนพระองค์ทรงร้องขอพระบิดาให้อภัยผู้ที่ตรึงพระองค์ (ลก 23:34) ความรักที่พระเยซูเจ้ามอบแก่เราจึงเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่และสูงสุด เราจะบรรลุถึงความรักนี้ได้ก็โดยอาศัยความช่วยเหลือจากพระเจ้า ในความเชื่อและความวางใจที่เรามีต่อพระองค์ ยิ่งเราเลียนแบบพระเยซูเจ้ามากเท่าใด เราก็จะละม้ายคล้ายกับพระบิดามากเท่านั้น

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระเยซูเจ้าได้วางแนวทางสำหรับศิษย์ของพระองค์บนพื้นฐานของ “ความรักและการให้อภัย” ในการปฏิบัติต่อผู้ที่ทำไม่ดีต่อเรา พระองค์บอกเราว่า เราจะต้องไม่รักแต่เฉพาะผู้ที่รักเราหรือทำดีต่อเรา แต่ “จงรักศัตรูและจงภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” ดูเหมือนเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก คงมีแต่พระเยซูเจ้าและนักบุญเท่านั้นที่ทำได้ แต่นี่คือ มาตรฐานความรักแบบคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงท้าทายและเรียกร้องจากเรา

สิ่งที่พระเยซูเจ้าตรัส “จงรักศัตรูและจงภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” ชัดเจนในตัวมันเอง เพราะเวลาที่เราเกลียดชังและแค้นเคือง ผลสุดท้ายคือการทำลายตัวเราเองมากกว่าทำลายศัตรูของเรา ทำให้เราวุ่นวายใจ อยู่ไม่เป็นสุข เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ความเกลียดชังไม่ได้ทำอะไรศัตรูของเราเลย ตรงข้ามมันได้เปลี่ยนวันชื่นคืนสุขของเราให้กลายเป็นเหมือนนรก กระสุนแห่งความเกลียดชังและแค้นเคืองจะทำลายศัตรูของเราได้ เมื่อมันทะลุผ่านร่างของเราแล้วเท่านั้น

ดังนั้น จึงมีคำพูดในลักษณะที่ว่า “มหาบุรุษคือคนที่สามารถเปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตร” อย่างที่ อับราฮัม ลินคอล์น กระทำกับ เอ็ดวิน สแตนตัน การรักศัตรูคือเครื่องพิสูจน์ความรักแบบคริสตชนตามมาตรฐานของพระคริสตเจ้าที่ทรงเรียกร้องจากเรา ในฐานะบุตรของพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่ทรงรักทั้งคนดีและคนชั่ว คนชอบธรรมและคนอธรรม ความรักนำไปสู่ความครบครัน เหมือนพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่ทรงความดีบริบูรณ์

บทสรุป

พี่น้องที่รัก พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องเราให้รักเพื่อนมนุษย์โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ต้องรักแบบไร้ข้อจำกัดและไม่มีกรณียกเว้น มาตรฐานความรักแบบคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงกำหนดและทำให้เห็นด้วยชีวิตของพระองค์คือ “จงรักศัตรูและจงภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” เราเริ่มต้นพิธีมิสซาด้วยการขอให้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องให้อภัยเรา ให้เราได้รักและให้อภัยผู้ที่ทำไม่ดีต่อเราด้วยใจกว้าง ตอบแทนความชั่วด้วยความดี แม้เป็นสิ่งที่ทำได้อยาก แต่อย่างน้อยให้เราภาวนาเพื่อเขา

พระเจ้าได้ให้แบบอย่างแก่เราในการปฏิบัติต่อทุกคนโดยไม่เลือกหน้า เราคริสตชนจะต้องเป็นคนดีและปฏิบัติต่อกันเยี่ยงพระบิดาเจ้าสวรรค์ที่ทรงความดีบริบูรณ์ ทัศนคติและกิจการทุกอย่างที่เราทำต้องเลียนแบบพระเจ้าในความใจดี มีเมตตา และความรัก พระเยซูเจ้าทรงบอกเราว่า เราจะต้องดำเนินชีวิตมุ่งสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อจะค้นพบพระเจ้าในเพื่อนมนุษย์ทั้งที่เป็นเพื่อนและศัตรูของเรา

เป็นการง่ายที่จะรักคนที่รักเรา แต่พระเยซูเจ้าทรงเรียกร้องให้เราทำมากกว่านั้น “จงรักศัตรูและจงภาวนาให้ผู้ที่เบียดเบียนท่าน” เราจะต้องเป็นผู้นำความรักและการให้อภัยเช่นเดียวกับ นักบุญฟรังซิส อัสซีซี “ที่ใดมีความเกลียดชัง ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำความรัก ที่ใดมีความเจ็บแค้น ให้ข้าพเจ้าเป็นผู้นำการอภัย” เช่นนี้เอง สันติสุขก็จะบังเกิดขึ้นในใจเรา ในครอบครัว ในหมู่คณะ และในหมู่บ้านของเรา

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
18 กุมภาพันธ์ 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น