วันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554

พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า

อาทิตย์มหาทรมาน
แห่ใบลาน ปี A
อสย 50:4-7
ฟป 2:6-11
มธ 27:11-54
บทนำ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับลาที่พระเยซูเจ้าใช้ประทับเข้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม ลาตัวนั้นคิดว่าการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของผู้คนมากมายวันนั้นจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติสำหรับตัวมันเอง มันรู้สึกภูมิใจและคิดว่าสัตว์ตัวอื่น คงชื่นชมและคิดว่ามันเป็นลาที่พิเศษกว่าตัวอื่น ลาตัวนั้นจึงถามแม่ของมันว่า มันจะเดินตามถนนโดยลำพังในวันข้างหน้าเพื่อจะได้รับเกียรติเช่นนั้นอีกได้ไหม แม่ของมันรีบตอบทันทีว่า “ไม่ได้เด็ดขาด แกไม่มีอะไรเลยหากไม่มีคนๆ นั้นที่นั่งบนหลังของแก”

5 วันต่อมา ลาตัวนั้นเห็นผู้คนมากมายตามท้องถนน วันนั้นเป็นวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ทหารกำลังนำพระเยซูเจ้าสู่เนินเขากัลวารีโอ เกียรติที่ได้รับในวันนั้นทำให้ลาตัวนั้นอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ มันรีบวิ่งไปที่ถนนโดยไม่สนใจคำเตือนของแม่มันอีกต่อไป แต่เมื่อมันไปถึงมันต้องผงะและรีบวิ่งหนีสุดชีวิต เพราะพวกทหารไล่กวดด้วยแส้และผู้คนเอาหินขว้างมัน ดังนั้น ลาน้อยตัวนั้นจึงได้บทเรียนว่า แท้จริงแล้วมันเป็นเพียงลา(โง่) ที่น่าสงสาร หากปราศจากพระเยซูเจ้าประทับบนหลังของมัน

ในปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง ลาไม่ใช่สัตว์ที่ต่ำต้อยแต่ทรงเกียรติ ปกติกษัตริย์จะขี่ม้าออกศึกสงคราม เมื่อรบชนะหรือปราบกบฏได้ นำพาประเทศสู่ความสงบสุข กษัตริย์จะประทับบนหลังลาเข้าเมืองอย่างผู้มีชัย การประทับบนหลังลาของพระเยซูเจ้าจึงเป็นการประกาศว่าพระองค์เป็น “องค์สันติราชา” ที่ทรงไว้ซึ่ง “ความรักและสันติสุข” นี่คือ แนวทางที่พระองค์ทรงเลือกในการเผชิญหน้ากับผู้เกลียดชังพระองค์

ชาวยิวต้อนรับพระเยซูเจ้าด้วยกิ่งมะกอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะและความมีเกียรติ ขณะที่ผู้นำศาสนาและชาวฟาริสีวางแผนจะจับตัวและประหารพระองค์ ที่สุด พระองค์ทรงรับทรมานและสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พิธีกรรมในวันนี้จึงมีทั้งความยินดีและความเศร้าโศก ใบลานที่เราแห่ในวันนี้ยังหมายถึงการเดินทางของเราพร้อมกับพระเยซูเจ้า ร่วมในพระมหาทรมานของพระองค์เพื่อจะได้กลับคืนชีพและอยู่กับพระองค์ตลอดไป บทอ่านวันนี้จึงท้าทายเราว่า เราได้เจริญชีวิตไปพร้อมกับกับพระคริสตเจ้าและได้เป็นพยานถึงพระองค์ในชีวิตประจำวันของเราหรือเปล่า

1. พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า

พระเยซูเจ้าไม่เพียงมีชีวิตในยุคที่มีความรุนแรง แต่พระองค์ยังทรงเป็นเหยื่อของความรุนแรงด้วย พระองค์ทรงน้อมรับความความรุนแรงโหดร้ายของการทรมานเหมือนลูกแกะที่ถูกนำไปฆ่า พระมหาทรมานของพระองค์ที่เราระลึกถึงในวันนี้ ได้กลายเป็นแหล่งพลังและความเข้มแข็งของผู้คนเป็นจำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์ เมื่อเราพิจารณาดูพระมหาทรมานของพระองค์อย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นถึงความทุกข์ทรมานของพระองค์ใน 3 ลักษณะ

ประการแรก ความทรมานทางด้านจิตใจ พระเยซูเจ้าทรงถูกยูดาส ศิษย์ของพระองค์ทรยศ เหตุการณ์ที่สวนเกทเสมนีได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงอยู่ในห้วงความทุกข์อย่างแสนสาหัส ขณะกำลังอธิษฐานภาวนาทรงเห็นภาพล่วงหน้าถึงมหาทรมานที่กำลังจะได้รับ จนต้องร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไป (The will of man) แต่ที่สุด ทรงขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า (The will of God) ความทรมานด้านจิตใจได้ส่งผลต่อร่างกายของพระองค์จนพระเสโทเป็นโลหิต นี่คือ อาการของคนที่เป็นทุกข์หนักอย่างแสนสาหัส (จนเส้นเลือดฝอยแตกและไหลออกมาเป็นเหงื่อตามรูขุมขน)

ประการที่สอง ความทรมานด้านร่างกาย พระเยซูเจ้าทรงถูกทรมานอย่างทารุณด้วยการเฆี่ยน การสวมมงกุฎหนาม การตรึงการเขน และการแทงด้วยหอก รอยเลือดที่ปรากฏที่ผ้าตราสังข์แห่งตูริน มองเห็นได้ชัดเจนว่าเจ้าของร่างที่ปรากฏได้ผ่านการทารุณที่โหดเหี้ยมไร้มนุษยธรรม โดยเฉพาะรอยเลือดที่ไหลลงมาเป็นทางจากศีรษะและแขนทั้งสองข้าง รอยเปื้อนขนาดใหญ่ที่สีข้าง ที่ข้อมือและเท้า บาดแผลตามร่างกายอันเกิดจากการเฆี่ยนตี ที่ปลายของรอยแผลมีรอยลึกซึ่งเกิดจากแส้ “ฟลากรัม” (Flagrum) ที่ทำด้วยเชือกหรือเส้นหนังมีก้อนตะกั่วหรือกระดูกผูกติดไว้ตรงปลายแส้ ทุกครั้งที่หวดลงบนร่างของพระองค์ ก้อนตะกั่วหรือกระดูกจะตวัดเอาเนื้อติดออกมาด้วย

ประการที่สาม ความทรมานด้านวิญญาณ พระเยซูเจ้าทรงถูกทอดทิ้งจากบรรดาศิษย์ และขณะที่ทรงถูกตรึงบนกางเขนพระองค์ทรงรู้สึกสิ้นหวัง เพราะดูคล้ายกับว่าพระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ด้วย “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ 27:46) คงไม่มีความทุกข์ใดที่จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองถูกทอดทิ้งจากบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่กำลังใกล้จะตาย จึงมีคำพูดในลักษณะที่ว่า เราจะรู้จักธาตุแท้ของเพื่อนของเราในเวลาที่เราเผชิญกับความยากลำบากนั่นแหละ

2. บทเรียนสำหรับเรา

พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า คือที่มาแห่งความรอดพ้นของมนุษยชาติ อีกทั้ง ได้ให้บทเรียนที่สำคัญแก่เราคริสตชนด้วยชีวิตและแบบอย่างของพระองค์

ประการแรก พระทรมานของพระองค์คือเครื่องหมายแห่งความรักที่แท้จริงสำหรับมนุษยชาติ พระองค์ทรงรักและมอบชีวิตของพระองค์บนกางเขนเพื่อเราทุกคน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)

ประการที่สอง พระทรมานของพระองค์ได้เชื้อเชิญเราให้ดำเนินชีวิตในความรักตามมาตรฐานเดียวกันกับพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อเพื่อนพี่น้อง “นี่คือบทบัญญัติของเรา ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เราได้รักท่าน (ยน 15:12)

ประการที่สาม พระทรมานของพระองค์ได้เผยแสดงให้เห็นถึงความเมตากรุณาอันหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าที่มีต่อเรามนุษย์ ขณะที่กำลังแบกกางเขนพระองค์ทรงหันพระพักตร์ไปให้กำลังใจหญิงชาวเยรูซาเล็มกลุ่มหนึ่งที่ร้องไห้คร่ำครวญถึงพระองค์ (ลก 23:28) และยังทรงภาวนาขอให้พระบิดาทรงอภัยแก่ผู้ที่ประหารพระองค์ (ลก 23:33) อีกทั้ง ทรงยกโทษแก่นักโทษคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ (ลก 24:43)

บทสรุป

พี่น้องที่รัก ให้เราพร้อมที่จะมอบชีวิตของเราแด่พระเยซูเจ้าตลอดสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์นี้ และต้อนรับพระองค์เข้ามาในชีวิตของเราในฐานะพระผู้ไถ่ ขอให้ใบลานที่เราได้รับและนำกลับไปไว้ที่บ้าน ได้เตือนเราว่า พระเยซูเจ้าคือกษัตริย์แห่งครอบครัวและจิตใจของเรา ที่ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย ให้เราได้มอบตัวเองแด่พระเยซูเจ้าเป็นลำดับแรก ในการภาวนาร่วมกันในครอบครัว ในการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกับหมูคณะหรือส่วนตัว สิ่งนี้เองที่จะทำให้เราพบกับสันติสุขแท้ท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย

ประการสำคัญ เมื่อเราต้องเผชิญกับความยากลำบากหรือความทุกข์ทรมานใดๆ ในชีวิต เราควรหันมาหาพระเยซูเจ้า เพื่อพระองค์จะได้บรรเทาและช่วยเหลือเรา เหนือสิ่งอื่นใด ให้เราการเลียนแบบอย่างของพระองค์ในความรักและการให้อภัยไม่สิ้นสุด อีกทั้ง พระมหาทรมานของพระองค์ควรเตือนใจเราให้สำนึกในบาปที่เรากระทำ และกลับมาหาพระองค์ผ่านทางศีลอภัยบาป เพื่อเราจะได้รับการช่วยให้รอดด้วยพระโลหิตอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
danielkhuan@hotmail.com
วัดพระคริสตประจักษ์ นาบัว
16 เมษายน 2011

1 ความคิดเห็น:

  1. วันนี้เป็นวันพฤหัสศักดิ์สิทธิ์ จึงรอมาค้นหาความหมายของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะได้เตรียมตัวร่วมในพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าอย่างดี ขอบคุณสำหรับบทความดีๆ วันนี้จะภาวนาเป็นพิเศษให้คุณพ่อด้วยค่ะ

    ตอบลบ