วันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ย้อนรอยการเดินทาง 102 วัน


ย้อนรอยการเดินทาง 102 วัน
บทนำ
การเดินทางของ พ่อกองสตังต์ ยัง โปรดม และคุณพ่อฟรังซัวส์ ซาเวียร์ เกโก มายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือแผ่นดินอีสานถือเป็นการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ข่าวดีแห่งพระวรสารได้รับการประกาศ เป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์กลางการแพร่ธรรมและกลุ่มคริสตชนขึ้นในแผ่นดินอีสานเป็นครั้งแรก และเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาถึงปัจจุบัน
              การเดินทางครั้งประวัติศาสตร์นี้เริ่มต้นจากกรุงเทพฯ วันพุธที่ 12 มกราคม 1881 ถึงอุบลราชธานีจุดหมายปลายทาง วันอาทิตย์ที่  24 เมษายน 1881 รวมระยะเวลา 102 วัน คณะผู้เดินทางประกอบด้วย คุณพ่อโปรดม คุณพ่อเกโก ครูเณรทองครูคำสอน และคนรับใช้อีกจำนวนหนึ่ง ถือเป็นกองคาราวานเล็กๆ ที่มีความเชื่อเป็นพลังผลักดัน และการประกาศข่าวดีแห่งพระวรสารเป็นแรงบันดาลใจ
             ระยะเวลาที่ยาวนาน 102 วัน เป็นตัวบ่งชี้ถึงความยากลำบากของการเดินทางที่ไม่อาจคาดหวังความสำเร็จได้ นับเป็นการผจญภัยอย่างแท้จริง ขณะที่ปัจจุบันสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯถึงอุบลราชธานีใช้เวลาเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้นโดยทางเครื่องบิน และนี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้เพื่อย้อนรอยเส้นทางสู่แผ่นดินอีสานของธรรมทูตผู้บุกเบิกทั้งสองและคณะ
เส้นทางที่ผ่าน
12 มกราคม     ออกเดินทางจากกรุงเทพฯไปตามลำน้ำเจ้าพระยาโดยทางเรือจนถึงอยุธยา และเดินทางต่อไปตามแม่น้ำป่าศักดิ์จนถึงหัวแก่งใช้เวลาเดินทาง 8 วัน พักอยู่ที่หัวแก่งเพื่อเตรียมเดินทางผ่านดงพญาเย็น ด้วยการเช่าวัวหลายตัวขนสัมภาระเพราะใช้เกวียนไม่ได้ ได้ซื้อม้า 4 ตัวสำหรับพระสงฆ์และคนรับใช้
29 มกราคม     ออกเดินทางจากหัวแก่งผ่านคลองท่าเกวียน ที่คุณพ่อโปรดมได้ก่อตั้งและสร้างวัด ข้ามเทือกเขาดงพญาเย็นเส้นทางที่ยากลำบากและอันตรายที่สุด โดยเฉพาะจากยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคมาลาเรีย สมัยนั้นแทบไม่มีใครรอดจาก “ไข้ป่า” อีกทั้ง ต้องระวังโจรผู้ร้ายและสัตว์ป่าที่ดุร้าย คนและสัตว์ต้องนอนในวงล้อมของกองไฟ เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายไม่ให้เข้าใกล้
10 กุมภาพันธ์ เดินทางถึงนครราชสีมา ได้อาศัยพักที่บ้านของชาวจีนคนหนึ่งซึ่งให้การต้อนรับด้วยความใจดีเป็นเวลา 12 วัน คุณพ่อโปรดมได้ช่วยงานคนจีนผู้นี้ซึ่งได้ร่วมเดินทางไปด้วย เพราะต้องการเป็นคริสตชนและถือโอกาสหาซื้อสินค้า คุณพ่อทั้งสองได้ซื้อเกวียนหลายเล่มเพราะมีเส้นทางเกวียนที่สามารถใช้เกวียนได้
4 มีนาคม         เดินทางถึงเมืองชนบท (จังหวัดขอนแก่น) การเดินทางจากนครราชสีมาถึงชนบทลำบากมากเพราะอากาศร้อน สภาพภูมิประเทศเป็นเหมือนทะเลทราย ที่ชนบทคุณพ่อโปรดมต้องลำบากในการหาเช่าช้าง 4 เชือกเพื่อใช้ขนสัมภาระทั้งหมด ส่วนคุณพ่อเกโกล้มป่วยเพราะพิษไข้ตลอดทั้งวัน สมาชิกในคณะส่วนหนึ่งเป็นไข้เช่นกัน
16 มีนาคม       เดินทางถึงของแก่นและยังคงเดินทางต่อไปไม่ได้พักที่ขอนแก่น เมื่อค่ำลงถึงหยุดพัก หากเจอหมู่บ้านคนถือว่าโชคดี ถ้าไม่มีหมู่บ้านต้องหาป่าโปร่งหรือตัดต้นไม้ให้โล่ง คนและสัตว์อยู่ข้างในและก่อกองไฟโดยรอบ
25 มีนาคม       เดินทางถึงกาฬสินธุ์ หยุดพักเพื่อเตรียมสัมภาระให้พร้อมสำหรับการเดินทางต่อ โดยเฉพาะเสบียงอาหาร อย่างน้อยต้องเอาข้าวไปให้พอกินได้หนึ่งเดือน ไม่อาจหวังน้ำบ่อหน้าได้
1 เมษายน        ออกเดินทางจากกาฬสินธุ์มุ่งหน้าไปทางกมลาไสยและพักที่เมืองนี้ ภรรยาของเจ้าเมืองได้นำที่นอนและหมอนมาให้ และได้ตัดสินใจซื้อวัวและเกวียนอีกครั้งเพื่อเดินทางสู่ร้อยเอ็ด ได้หยุดพักแต่ไม่นานเพราะเห็นว่ามีความหวังน้อยในการเผยแพร่ศาสนา
11 เมษายน      เดินทางถึงยโสธรวันจันทร์หลังอาทิตย์พระทรมาน ขณะนั้นยโสธรเพิ่งถูกไฟไหม้ แต่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ได้หยุดพักเพื่อฉลองสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์และปัสกา (17 เม.ย.) นับเป็นการสมโภชปัสกาครั้งแรกในแผ่นดินอีสาน
20 เมษายน      เดินทางถึงอำนาจเจริญ เมืองเล็กๆ ที่ค่อนข้างยากจน กรมการเมืองได้มาต้อนรับเข้าเมืองอย่างเอิกเกริก และได้พบคริสตังชาวจีนคนหนึ่งชื่ออาเจ็กลอยแสน ผู้เคยรับศีลล้างบาปที่วัดกัลหว่าร์มาค้าขายที่นั่น 18 ปีแล้ว เขายังภาวนาบทภาวนาต่างๆ ได้และได้รับศีลสมรสอย่างถูกต้องหลังจากนั้น อีกทั้งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นาดูน
24 เมษายน เดินทางถึงอุบลราชธานี จุดหมายปลายทางที่พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ กำหนดไว้ เมื่อถึงอุบลราชธานีมีเรื่องน่าตื่นเต้น คุณพ่อเกโกเล่าว่าเมื่อเห็นคุณพ่อทั้งสอง ผู้หญิงทุกคนต่างวิ่งไปหลบในบ้าน เนื่องมาจากนักสำรวจชาวฝรั่งเศสได้ก่อเรื่องเสื่อมเสียกับผู้หญิงของเมืองนี้เมื่อสิบสองปีมาแล้ว นับเป็นการสิ้นสุดการเดินทางที่ยากลำบาก ไกลแสนไกล และยาวนานถึง 102 วัน
บทส่งท้าย
            แผ่นดินอีสานสมัยนั้นยังไม่มีถนนหนทาง ต้องเดินทางผ่านป่าดงที่ชื้นแฉะ ต้องใช้ขวาน พร้า จอบ เสียมซ่อมทางหรือตัดทางใหม่ ผู้ที่แข็งแรงใช้ม้าเป็นพาหนะ ส่วนคนป่วยขึ้นเกวียนที่บรรทุกสัมภาระจำเป็นสำหรับการเดินทาง ใช้วัวลากเกวียนไปได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 4 กิโลเมตร เดินทางได้ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อวัน และต้องหาคนขับเกวียนที่ชำนาญทาง รู้จักปลดและถอดเกวียนเมื่อต้องข้ามลำห้วย เมื่อเกวียนหักต้องรู้วิธีซ่อมเกวียนและไม่ลืมเครื่องไม้เครื่องมือที่จำเป็น
            เมื่อค่ำลงต้องหยุดพัก หากพอดีถึงหมู่บ้านถือว่าโชคดี แต่ส่วนใหญ่หมู่บ้านสมัยนั้นอยู่ห่างไกลกัน ต้องหาป่าโปร่งหรือตัดต้นไม้ให้โล่งเตียน จัดเรียงเกวียนเป็นวงกลม คนและสัตว์อยู่ข้างใน และก่อกองไฟไว้ตลอดทั้งคืน เพื่อป้องกันสัตว์ร้ายจำพวกเสือหรือป้องกันโจรผู้ร้าย นับเป็นการผจญภัยดีๆ นี่เอง ที่คุณพ่อทั้งสองซึ่งเป็นชาวต่างชาติยอมลำบาก อดทนเยี่ยงวีรบุรุษ และกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เพื่อนำข่าวดีแห่งพระวรสารมาประกาศในแผ่นดินอีสาน
            โอกาสครบรอบ “100 ปีมรณกรรมของสองธรรมทูตผู้บุกเบิก” และครบรอบ “350 ปีการสถาปนามิสซังสยาม” (4 มิ.ย. 2019) นับเป็นพระพรที่พระเจ้าประทานแก่พระศาสนจักรในประเทศไทย เป็นพิเศษพระศาสนจักรในภาคอีสานและประเทศลาว ควรที่บุคลากรทุกระดับจักสำนึกพระคุณ ฟื้นฟูความเชื่อในชุมชนวัดของตนให้เข้มแข็ง และกล้าออกไปประกาศข่าวดีในพันธกิจ “ศิษย์พระคริสต์เจริญชีวิตประกาศข่าวดีใหม่”
คุณพ่อดาเนียล ขวัญ ถิ่นวัลย์
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, พรรณานิคม
8 เมษายน 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น