ความสำคัญลำดับแรกของเปโตร
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลปัสกา
ปี C
|
กจ 5:27ข-32,
40ข-41
วว 5:11-14
ยน 21:1-19
|
บทนำ
นักพูดคนหนึ่งเริ่มต้นการสัมมนาโดยหยิบธนบัตร
100 ดอลล่าร์ขึ้นมาและถามผู้ฟังว่า
“ใครต้องการธนบัตรนี้” ผู้ฟังยกมือสลอน นักพูดกล่าวต่อไปว่า “ผมจะให้ธนบัตรนี้แก่พวกท่านคนหนึ่ง” จากนั้นได้ขยี้ธนบัตรจนยับยู่ยี่และถามต่อว่า
“มีใครยังต้องการธนบัตรนี้อยู่ไหม”
ผู้ฟังยังคงยกมือเช่นเดิม นักพูดพูดว่า “ดีมาก ถ้าผมทำอย่างนี้ละ” พร้อมกับทิ้งธนบัตรลงบนพื้น ใช้เท้าขยี้จนบางส่วนฉีกขาด
เขาหยิบธนบัตรขึ้นมากล่าวว่า “ตอนนี้ ยังมีใครต้องการมันอยู่อีกไหม” มีหลายคนยกมือ
ธนบัตรใบนั้นไม่ได้ด้อยค่าลง ยังคงมีมูลค่า 100 ดอลล่าร์เหมือนเดิม
บ่อยครั้งในชีวิตเรารู้สึกว่า ตนเองเต็มไปด้วยบาปและความไม่ดีต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกว่าตนเองต่ำต้อย
ความจริงเราไม่เคยด้อยค่าลงในสายพระเนตรของพระเจ้า คุณค่าแห่งชีวิตเราไม่ได้อยู่ที่การกระทำ หรือสิ่งที่เราเป็น
แต่อยู่ที่พระเยซูเจ้าผู้ทนทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพเพื่อทุกคน
เราเป็นคนพิเศษในสายพระเนตรของพระองค์
พระวรสารวันนี้
พระเยซูเจ้าทรงเลือกเปโตรให้เป็นผู้นำพระศาสนจักร แม้เปโตรเคยปฏิเสธพระองค์ถึงสามครั้ง
ทรงเปลี่ยนชื่อใหม่ให้เป็น “เปโตร” (ศิลา)
และบนศิลานี้พระองค์จะตั้งพระศาสนจักรของพระองค์ พร้อมกับมอบกุญแจแห่งพระอาณาจักรสวรรค์ให้กับเปโตร
(มธ 16:18-19)
เปโตรได้เป็นพระสันตะปาปาองค์แรกและตำแหน่งของเปโตรได้รับการส่งมอบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
พระสันตะปาปาทรงเป็นผู้นำพระศาสนจักรและผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร
1. ความสำคัญลำดับแรกของเปโตร
คริสตชนยุคแรกมีการเปรียบเทียบบทบาทของอัครสาวก
บางคนเห็นว่า ยอห์นยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงรักและมีความคิดลึกซึ้ง
บางคนเห็นว่า เปาโลยิ่งใหญ่กว่าเพราะเดินทางไปประกาศข่าวดีในดินแดนต่าง ๆ แต่วันนี้ยอห์นยืนยันว่า เปโตรยิ่งใหญ่ที่สุด
เพราะพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพได้ตรัสกับเปโตร 3 ครั้ง “จงเลี้ยงลูกแกะของเราเถิด”
“จงดูแลลูกแกะของเราเถิด” และ “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” (ยน 21:15, 16, 17) นี่คือการแต่งตั้งเปโตรให้เป็นผู้เลี้ยงแกะและผู้นำพระศาสนจักร
พระเยซูเจ้าตรัสถามเปโตรสามครั้ง
“ซีโมน บุตรของยอห์น ท่านรักเราไหม” (ยน 21:15, 16, 17) เพื่อให้โอกาสเปโตรได้ยืนยันความรักของตนต่อพระองค์สามครั้ง เท่ากับที่เคยปฏิเสธพระองค์ก่อนหน้านั้น
ถือเป็นการพิสูจน์รักแท้ของเปโตรต่อพระองค์ การปฏิเสธแทนที่ด้วยความรักแท้ ด้วยหัวใจที่รักและให้อภัยของพระเยซูเจ้าได้ลบล้างความรู้สึกผิดออกไปจากจิตใจของเปโตร
คำถามสามครั้งของพระเยซูเจ้า การยืนยันความรักสามครั้งของเปโตร
และคำสั่งสามครั้งของพระเยซูเจ้ากับเปโตร
คือการแต่งตั้งเปโตรเป็นตัวแทนของพระองค์ในโลกนี้ เปโตรเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกของพระศาสนจักร
นักพระคัมภีร์บางท่านตีความ “ลูกแกะ” หมายถึงกลุ่มคริสตชน หรือฆราวาสซึ่งมีเป็นจำนวนมาก
ส่วน “แกะ” หมายถึงบรรดาอัครสาวกที่เหลือและผู้นำพระศาสนจักร
ซึ่งต้องการการเลี้ยงของเปโตร
เป็นเวลาหลายศตวรรษ
โดยเฉพาะในศตวรรษแรกได้แสดงความจริง 4 ประการเกี่ยวกับเปโตรและผู้สืบตำแหน่งของท่าน
ประการแรก พระสังฆราชแห่งโรมคือหัวหน้าพระสังฆราช
และผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักรทั้งหมดของพระเยซูเจ้าในโลก
ประการที่สอง
พระสันตะปาปามีอำนาจสูงสุดในการสั่งสอนสมาชิกของพระศาสนจักร และบรรดาพระสังฆราชมีส่วนในอำนาจการสั่งสอนนี้ในสังฆมณฑลของตน
ประการที่สาม พระศาสนจักรมีเอกภาพที่เห็นได้
สมาชิกของพระศาสนจักรเป็นหนึ่งเดียวกับพระสันตะปาปา
ประการสุดท้าย พระสันตะปาปาไม่ผิดหลงในการสอนความจริงเกี่ยวกับความเชื่อและศีลธรรม
2. บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้และเรื่องราวของเปโตร
ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก
เราต้องเปิดตา
เปิดหู และเปิดใจให้กว้าง เพื่อมองเห็นและมีประสบการณ์เกี่ยวกับพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ
ซึ่งเสด็จมาในหลายรูปแบบ ในเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในแบบที่คาดไม่ถึง
เราต้องสำนึกในพระดำรัสที่ว่า “ปราศจากเรา ท่านทำอะไรไม่ได้เลย” (ยน 15:5) ประการสำคัญพระองค์ประทับอยู่ท่ามกลางเราในพิธีบูชาขอบพระคุณ
ในพระวาจาที่เราได้ฟัง ในศีลศักดิ์สิทธิ์ที่เรารับและในการอธิษฐานภาวนาร่วมกัน (มธ
18:20)
ประการที่สอง เราต้องดำเนินชีวิตในความรัก
หลังจากการยืนยันความรักสามครั้งของเปโตร
พระเยซูเจ้าตรัสกับเปโตรว่า “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” นี่คือ “หน้าที่แห่งความรัก” ต่อพระเยซูเจ้าซึ่งต้องแสดงออกด้วยการรักและรับใช้ผู้อื่น
ซึ่งอยู่ในฝูงแกะของพระองค์เช่นเดียวกัน เราสามารถพิสูจน์ความรักต่อพระเยซูเจ้าได้โดยการรักและรับใช้เพื่อนมนุษย์เท่านั้น
“ถ้าท่านทั้งหลายรักเรา ท่านจะปฏิบัติตามบทบัญญัติของเรา” (ยน 14:15)
ประการที่สาม
เราต้องสานต่อพันธกิจและเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้า
เปโตรได้เป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า โดยไม่เกรงกลัวคำสั่งห้ามของบรรดามหาสมณะที่ห้ามพูดในนามของพระองค์
แต่เปโตรยืนยันว่า “เราต้องเชื่อฟังพระเจ้ายิ่งกว่าเชื่อฟังมนุษย์” และเป็นพยานด้วยชีวิตโดยการถูกตรึงไม้กางเขนกลับหัว
ให้เราดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงพระเยซูเจ้าด้วยชีวิตของเราเช่นกัน
บทสรุป
พี่น้องที่รัก ซีโมนแม้พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น
“เปโตร” และแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าอัครสาวก แต่เปโตรยังเป็นซีโมนคนเดิมที่อ่อนแอและขลาดกลัว
ได้ปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง ทั้ง ๆ ที่เคยยืนยันหนักแน่นว่าพร้อมยอมตายเพื่อพระองค์
แต่วิธีปฏิบัติของพระเยซูเจ้าตรงข้ามกับผู้นำทั่วไป พระองค์มิได้กำจัดเปโตรออกไป แต่ยังทรงรักและให้โอกาส
ความรักและการให้อภัยของพระองค์ได้ชนะใจและเปลี่ยนชีวิตของเปโตร
เราปฏิบัติเช่นไรกับพี่น้องซึ่งทำผิดต่อเรา หรือทำไม่ดีกับเรา คงมีแต่ “ความรักและการให้อภัย” เท่านั้น สามารถสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและความแตกแยกรุนแรง
เราไม่ต่างจากเปโตรซึ่งอ่อนแอและขลาดกลัวและต้องการใครสักคนเข้าใจความอ่อนแอของเรา
ศิษย์พระคริสต์ต้องพร้อมเข้าใจคนอื่นด้วยความรักแบบเดียวกับพระเยซูเจ้า
ในความรักไม่มีเงื่อนไข การรับใช้ด้วยใจสุภาพ และการให้อภัยกันด้วยใจกว้าง
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลปัสกา การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า, (สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 52-55.
ภาพ : รูปปั้นนักบุญเปโตรริมทะเลที่คาเปอรนาอูม, กาลิลี, อิสราเอล; 2019-04-24
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น