วันพุธที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พระสันตะปาปาฟรังซิสในเมียนมาร์

พระสันตะปาปาฟรังซิสในเมียนมาร์
บันทึกการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2017 
บทนำ
การเสด็จเยือนประเทศเมียนมาร์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ระหว่างวันที่ 27-30 พฤศจิกายน 2017 อยู่ในแผนการเสด็จเยือนประเทศในทวีปเอเชีย ครั้งที่ 3 ถือเป็นการเยือนครั้งประวัติศาสตร์และอยู่ในความสนใจของทั่วโลก เนื่องจากเมียนมาร์มีปัญหาการกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2017  เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน และชาวโรฮิงญากว่า 620,000 คนต้องอพยพหลี้ภัยไปอยู่ประเทศบังคลาเทศ
หลายคนมองว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้สมเด็จพระปาปาประกาศเสด็จเยือนเมียนมาร์และบังคลาเทศเมื่อ 28 สิงหาคม 2017 ซึ่งเกิดขึ้นหลังพระองค์ตรัสแสดงความเสียใจต่อชาวโรฮิงญาที่ถูกกวาดล้างในรัฐยะไข่ 1 วัน ในการนำสวดบททูตสวรรค์เที่ยงวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2017 กับผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวในจัตุรัสนักบุญเปโตร ทรงเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา ทรงขอให้คาทอลิกร่วมภาวนาให้พระเจ้าปกป้องชาวโรฮิงญาและได้รับสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับ
คำขวัญและตราสัญลักษณ์
คณะทำงานเตรียมการเสด็จเยือนเมียนมาร์โดยการนำของพระคาร์ดินัลชาร์ลส์ เมือง โบ แห่งอัครสังฆมณฑลย่างกุ้ง ร่วมกับฝ่ายพิธีกรรมของสมเด็จพระสันตะปาปาได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้การเสด็จเยือนครั้งนี้เป็นก้าวแรกในการสร้างสันติภาพ ในดินแดนที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ และเป็นที่มาของคำขวัญ “ความรักและสันติภาพ” (Love & Peace) บนตราสัญลักษณ์ เพื่อสื่อถึงการเป็นผู้ส่งสารแห่งความรักและสันติภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา
ตราสัญลักษณ์รูป “หัวใจ” หมายถึงความรักเป็นพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดความเคารพและการยอมรับซึ่งกันและกันระหว่างศาสนาและชาติพันธุ์ต่างๆ “เส้นสีรูปหัวใจ” มาจากสีธงชาติของทั้งสองประเทศ แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ได้รับการสถาปนาเมื่อ 4 พฤษภาคม 2017 “แผนที่สีรุ้งประเทศเมียนมาร์” หมายถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาร์ ประกอบด้วย 8 ชาติพันธุ์ใหญ่ และ 135 ชนกลุ่มน้อย “พระสันตะปาปาฟรังซิสและนกพิราบ” สื่อความว่าทรงเป็นผู้ส่งสารแห่งสันติภาพ
ความอ่อนไหวกรณีโรฮิงญา
ก่อนหน้านี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเคยใช้คำว่า “พี่น้องชายหญิงชาวโรฮิงญาของพวกเรา” ขณะตรัสประณามความรุนแรงในเมียนมาร์ แต่การเสด็จเยือนครั้งนี้กรณีโรฮิงญาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ถึงขนาดพระคาร์ดินัลชาร์ลส์ โบได้เดินทางไปพบพระองค์ที่นครรัฐวาติกันเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2017 เพื่อขอให้พระองค์หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “โรฮิงญา” ทั้งนี้เพื่อรักษาบรรยากาศของความสมานฉันท์ และป้องกันความไม่พอใจในหมู่ชาวเมียนมาร์
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเข้าพระทัยและส่งสาส์นผ่านวิดีโอเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2017 เพื่อยืนยันว่าพระองค์มาเพื่อประกาศพระวรสารของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นสาส์นแห่งการคืนดีกัน การให้อภัย และสันติภาพ ทรงให้กำลังใจคาทอลิกชาวเมียนมาร์ให้ยืนหยัดต่อความเชื่อในพระเจ้า และเป็นประจักษ์พยานถึงพระวรสารที่สอนว่า มนุษย์ชายหญิงทุกคนล้วนมีศักดิ์ศรี และเปิดใจกว้างกับทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและคนที่เดือดร้อนในชีวิต
 ทรงพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลายและนางออง ซาน ซูจี 28 พฤศจิกายน 2017
การพบผู้นำรัฐบาลเมียนมาร์
สมเด็จพระสันตะปาปาเดินทางถึงเมียนมาร์เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2017 ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพระคาร์ดินัลชาร์ลส์ โบ พระสมณทูตปอล ชาง อินนัม บรรดาพระสังฆราช และคาทอลิกชาวเมียนมาร์ โดยทรงเลือกพำนักที่สำนักพระสังฆราชแห่งย่างกุ้ง ก่อนเดินทางไปกรุงเนปิดอร์เมืองหลวงในวันรุ่งขึ้น (28 พ.ย.) เพื่อรับการต้อนรับและพบพลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ประธานาธิบดีและนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศ
รัฐบาลเมียนมาร์และประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ เพราะถือว่าเป็นชาวเบงกาลีจากบังคลาเทศที่หนีเข้ามาในเมียนมาร์อย่างผิดกฎหมาย จึงไม่ยอมให้สัญชาติแม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในเมียนมาร์มาหลายชั่วอายุคนแล้ว สมเด็จพระสันตะปาปาไม่ได้ใช้คำ “โรฮิงญา” เพราะคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในสุนทรพจน์ที่พระองค์ตรัสกับรัฐบาลและผู้มีอำนาจ ชัดเจนและร้อนแรงว่าทรงปกป้องชนกลุ่มน้อยและทรงเรียกร้องสันติภาพและความเสมอภาพ
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตรัสว่า  ทรัพย์สมบัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความขัดแย้งของพลเมืองและการสู้รบที่เกิดขึ้นยาวนาน ทรงย้ำว่า “อนาคตของเมียนมาจะต้องมีสันติสุข สันติสุขตั้งอยู่บนพื้นฐานการเคารพเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกในสังคมทุกคน เคารพกลุ่มชาติพันธุ์และอัตลักษณ์ของพวกเขา เคารพกฎหมาย และบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมบุคคลและกลุ่มคนทุกฝ่าย ไม่ใช่กีดกัน เพื่อให้คนเหล่านั้นทำสิ่งดีงามอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม”
 ทรงพบคาทอลิกชาวเมียนมาร์และผู้แสวงบุญ 29 พฤศจิกายน 2017
พิธีบูชาขอบพระคุณกับพระสันตะปาปา
สมเด็จพระสันตะปาปาเสด็จเป็นประธานพิธีบูชาขอบพระคุณ ณ สนามกีฬา Kyaikkasan Ground ใจกลางนครย่างกุ้งเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2017 ถือเป็นห้วงเวลาสำคัญสำหรับคาทอลิกชาวเมียนมาร์และผู้แสวงบุญ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ทุกคนตั้งตาคอยที่จะได้เห็นและเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์ มีผู้มาร่วมพิธีประมาณ 150,000 คน หลายคนเดินทางมาจากพื้นที่ทุรกันดารของประเทศ ต้องเดินเท้าและใช้เวลาเดินทางหลายวันกว่าจะถึงย่างกุ้ง
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเข้าพระทัยเป็นอย่างดีถึงสถานการณ์ในเมียนมาร์ ในบทเทศน์พระองค์ทรงตรัสถึงบาดแผลแห่งความรุนแรงที่หลายคนได้รับในเมียนมาร์ ทั้งที่มองเห็นได้และมองไม่เห็น บ่อยครั้งเรารักษาบาดแผลและความทรงจำที่เจ็บปวดนี้ด้วยความโกรธและการแก้แค้น แต่นั่นไม่ใช่วิถีทางของพระเยซูเจ้า มีเพียงความเมตตาและการให้อภัยตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้าบนไม้กางเขนเท่านั้น ที่จะช่วยรักษาบาดแผลในใจของเราได้อย่างแท้จริง
 ชาวเมียนมาร์รอต้อนรับพระสันตะปาปา 27 พฤศจิกายน 2017
อนึ่ง เมียนมาร์ได้รับข่าวดีแห่งพระวรสารเมื่อปี 1510 โดยมิชชันนารีชาวโปรตุเกสที่มาทำหน้าที่ดูแลทหาร นักเดินเรือ และชาวโปรตุเกสที่พำนักที่เมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดีย และได้เดินทางเข้ามาในเมียนมาร์  พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศเมียนมาร์ประกอบด้วย 16 สังฆมณฑล (อัครสังฆมณฑล) มีคาทอลิกประมาณ 750,000 คน คิดเป็น 1.3 % ของประชากร มีพระสงฆ์ 750 องค์ และนักบวชชาย-หญิง 2500 คน และเพิ่งฉลอง 500 ปีแห่งการประกาศพระวรสาร ระหว่าง 24 พฤศจิกายน 2013-23 พฤศจิกายน 2014 หลังจากผ่านมา 4 ปีเนื่องจากความวุ่นวายทางการเมือง 
ทรงพบผู้นำศาสนาและผู้นำรัฐบาล 28 พฤศจิกายน 2017
ผลกระทบหลังการเสด็จเยือน
หลังการเสด็จเยือนเมียนมาร์ของสมเด็จพระสันตะปาปา  ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่าเหตุใดพระองค์ถึงเลี่ยงที่จะเอ่ยชื่อ “โรฮิงญา” ขณะเสด็จเยือนเมียนมาร์ ล่าสุดพระองค์ได้ทรงออกมาเผยถึงสาเหตุดังกล่าว ทรงให้เหตุผลว่าหากพระองค์ใช้คำว่าโรฮิงญาโดยตรงในการกล่าวอย่างเป็นทางการที่เมียนมาร์ อาจจะเป็นการพังประตู(ทางออกของปัญหา)นี้ได้ และก่อนที่พระองค์เดินทางมาได้เคยตรัสถึงปัญหาของชนกลุ่มนี้ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว
อีกทั้ง พระองค์ได้พบกับนางออง ซาน ซูจี และพลเอกอาวุโสมิน ออง ลาย เพื่อหารือและแสดงความกังวลต่อวิกฤตการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น “สำหรับเรา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือข้อความที่ได้สื่อออกไป เป็นการพบปะกันที่ดีมีอารยะ และเขาก็รับรู้ถึงข้อความที่เราได้สื่อสารไป” นอกจากนี้พระองค์ยังทรงยืนยันว่าการพูดคุยกันไม่ทำให้ใครเสียประโยชน์ มีแต่ยิ่งช่วยค้นหาทางออกและสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้มากขึ้น
 ทรงพบตัวแทนชาวโรฮิงญาที่ประเทศบังคลาเทศ 2 ธันวาคม 2017
หลังจากนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาได้การเสด็จเยือนประเทศบังคลาเทศ ในวันสุดท้ายเมื่อ 2 ธันวาคม 2017 พระองค์ได้พบตัวแทนชาวโรฮิงญา 16 คน ที่อพยพหนีความรุนแรงจากรัฐยะไข่ของประเทศเมียนมาร์ ทรงเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมกันหาทางออกเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาโดยเร็ว ชาวโรฮิงญาคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตันว่า เป็นครั้งแรกที่ผู้นำโลกหันมาฟังพวกตน ทั้งยังยอมเอ่ยคำ “โรฮิงญา” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ของตน แต่เมียนมาร์กลับไม่ยอมรับ
ขณะที่เด็กสาวชาวโรฮิงญาวัย 12 ขวบ บอกพระสันตะปาปาว่าได้สูญเสียครอบครัวทั้งหมด ทำให้พระองค์ทรงตรัสว่า “โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับหนูนับว่าสาหัสมาก แต่ขอให้พึงรู้ว่าพวกเรารับรู้แล้วด้วยหัวใจ ในนามของทุกคนที่เบียดเบียน ทำร้าย และโดยเฉพาะการเพิกเฉยของโลก พ่อวอนขอการให้อภัยจากหนู” อันแสดงถึงการความเข้าพระทัยในชะตากรรมที่ชาวโรฮิงญาได้รับ ทรงขอโทษพวกเขาแทนผู้ที่ได้มีส่วนร่วมในการเข่นฆ่าและทำร้ายพวกเขา
 ทรงพบผู้นำศาสนาต่างๆ 28 พฤศจิกายน 2017
บทสรุป
“ความเป็นหนึ่งเดียวในความแตกต่าง” (Unity in Diversity) เป็นบทสรุปสำคัญของการเสด็จเยือนประเทศเมียนมาร์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จากปากของเกรก บูร์ค (Greg Burke) ผู้อำนวยการสื่อสิ่งพิมพ์ของสันตะสำนัก สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเรียกร้องให้เคารพสิทธิ์ของชนเผ่าทุกกลุ่มในเมียนมาร์ ทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่เหยียบแผ่นดินเมียนมาร์ที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เป็นการเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์สำหรับพระศาสนจักรแห่งเมียนมาร์ และเป็นของขวัญอันยิ่งใหญ่สำหรับประเทศเมียนมาร์
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตรัสถึง “ความเป็นหนึ่งเดียวในความแตกต่างกับผู้นำศาสนาต่างๆ เมื่อ 28 พฤศจิกายน 2017 เป็นความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรคาทอลิกที่จะแสดงบทบาทในสังคม ในการทำงานร่วมกับพุทธศาสนิกชนเพื่อสันติภาพและการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน แม้พระองค์ไม่ได้ตรัสคำ “โรฮิงญา” แต่ทรงเรียกร้องให้แสวงหาความร่วมมือ ความเข้าใจ และการเคารพในสิทธิ์ของทุกกลุ่ม ทรงเป็นดังสะพานที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจปัญหาโรฮิงญาที่มีมาช้านานในเมียนมาร์ ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น และกำลังเดินไปสู่เงื่อนไขใหม่แห่งอิสรภาพและสันติภาพอย่างช้า
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์
5 ธันวาคม 2017
เครดิตภาพ: Vatican Radio, Zenit และเจ้าของภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น