วันอังคารที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2560

พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสารกับอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง

พระสังฆราชยอร์ช ยอด  พิมพิสาร
กับอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
บทนำ
หากไม่บอกกล่าวหรือบันทึกไว้ หลายคนอาจไม่ทราบว่า พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร เคยมาทำหน้าที่รักษาการผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ถึงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)  รวมเวลา 1 ปี 3 เดือน โดยเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)
นับเป็นพระพรของพระเจ้าและความโชคดีของอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในยามที่ว่างเว้นตำแหน่งผู้ปกครอง พระเจ้าได้ประทาน พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ประมุขสังฆมณฑลอุดรธานีให้มาทำหน้าที่รักษาการผู้ปกครอง แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่มีเหตุการณ์และความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้นในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
นี่คือความมุ่งหมายของบทความนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ในสิ่งที่ได้ทำไว้ต่ออัครสังฆมณฑลฯ อีกทั้งร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับสังฆมณฑลอุดรธานีในความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ หลังการมรณภาพของ พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) เวลา 14.10 น. สิริอายุ 84 ปี
 วันเข้ารับตำแหน่งรักษาการผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันที่ 20 พฤษภาคม 2004
1.          ปีศีลมหาสนิทและฉลอง 50 ปีบ้านเณรฟาติมาท่าแร่
เมื่อตำแหน่งพระสังฆราชว่างลงทำให้ตำแหน่งต่างๆ ในอัครสังฆมณฑลฯหมดลงโดยอัตโนมัติ ในฐานะรักษาการผู้ปกครอง พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งอุปสังฆราชคือ คุณพ่ออันดรูว์ สำราญ  วงศ์เสงี่ยม คณะที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหาร สภาสงฆ์ และตำแหน่งหน้าที่ของคณะสงฆ์ ให้เป็นไปตามเดิมทุกตำแหน่ง ลงวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  เพื่อให้งานในหน้าที่ต่างๆ ได้รับการสานต่อและดำเนินต่อไป
ส่งผลให้อัครสังฆมณฑลไม่เกิดภาวะสุญญากาศหรือขาดผู้นำ เพราะ พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร  ได้มาเติมเต็มสิ่งที่ขาดหาย และทำหน้าที่เยี่ยงบิดาผู้ใจดีด้วยความเอาใจใส่อย่างดียิ่ง เห็นได้จากการเข้าร่วมการเข้าเงียบเป็นประจำทุกเดือน การเป็นประธานการประชุมกรรมการบริหาร การประชุมคณะสงฆ์ และการฉลองวัดต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของพระสงฆ์และสัตบุรุษด้วยการเทศน์สอน แบบอย่างชีวิต และคำแนะนำที่เป็นกันเอง  รวมถึงหนังสือบำรุงศรัทธาที่หามาให้เป็นประจำไม่เคยขาด
 ฉลองครบรอบ 50 ปีบ้านเณรฟาติมาท่าแร่และพิธีเคารพศีลมหาสนิท
ณ บ้านเณรฟาติมาท่าแร่; วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2004
เนื่องจากปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  เป็นปีศีลมหาสนิทและครบรอบ 50 ปีแห่งการก่อตั้งบ้านเณรฟาติมาท่าแร่  ในการเข้าร่วมประชุมคณะสงฆ์เดือนมิถุนายน พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้แจ้งให้ทราบว่าอัครสังฆมณฑลฯได้ตกลงจัดฉลองศีลมหาสนิทพร้อมกับการฉลอง 50 ปี บ้านเณรฟาติมาท่าแร่  โดยมอบหมายให้ คุณพ่ออันตน วีระเดช  ใจเสรี อธิการบ้านเณรและคณะกรรมการได้ประชุมเตรียมงานในโอกาสพิเศษดังกล่าว 
การเตรียมฉลอง 50 ปีบ้านเณรได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปีด้านอาคารสถานที่  รวมถึงการเขียนบันทึกความทรงจำแห่งอดีตเพื่อจัดพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ ควบคู่ไปกับการจัดเตรียมด้านพิธีกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโมทนาคุณพระเจ้า ส่งเสริมกระแสเรียก และชุมนุมศิษย์เก่า พิธีฉลองครบรอบ 50 ปีบ้านเณรจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  โดยมีพิธีสุวรรณสมโภชวันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม  ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547
โอกาสพิเศษนี้ พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้บวชสังฆานุกร 2 คนคือ สังฆานุกรยอห์น ชัยวิชิต  บรรเทา กับสังฆนุกรเปโตร วิโรจน์  โพธิ์สว่าง และเป็นประธานในพิธีเคารพศีลมหาสนิทระดับอัครสังฆมณฑลฯอย่างสง่า ในหัวข้อ ศีลมหาสนิท ครอบครัว และกระแสเรียก ตามเจตนารมณ์ของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ที่ประกาศให้เป็นปี ศีลมหาสนิท แสงสว่าง และครอบครัว และได้ขอร้องพระสงฆ์เฝ้าศีลมหาสนิทเป็นตัวอย่างดีสำหรับสัตบุรุษ
 บวชสังฆานุกรวิโรจน์ โพธิ์สว่างและสังฆานุกรชัยวิชิต บรรเทา
ณ บ้านเณรฟาติมาท่าแร่; วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม 2004
2.          การก่อตั้งสถานีวิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่-หนองแสง[1]
สืบเนื่องมาจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พุทธศักราช 2540 มาตรา 40 ที่ให้อิสระในการจัดสรร “คลื่นความถี่” ในการส่งวิทยุกระจายเสียงเพื่อประโยชน์สาธารณะ   ก่อให้เกิดวิทยุชุมชนขึ้น และเริ่มเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ทำงาน NGO ผู้นำชุมชน  รวมถึงเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ที่เข้าไปมีส่วนในการจัดรายการวิทยุชุมชนของจังหวัดสกลนครตั้งแต่เริ่มแรก
คุณพ่อชำนาญ บัวขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์สังคมพัฒนาฯ ได้เรียกประชุมองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบและการสนับสนุนจากพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ในฐานะประธานคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อสื่อมวลชนในสภาพระสังฆราชฯ และได้รับความอนุเคราะห์จากพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน ให้ใช้อาคารเซนต์ไมเกิ้ล เลขที่ 600 หมู่ที่ 8 ตำบลท่าแร่ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครเป็นที่ตั้งสถานี
 อาคารเซ็นต์ไมเกิ้ลที่ใช้เป็นสถานีวิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่-หนองแสง
พิธีเปิดอาคารโดยพระอัครสังฆราชคายน์ แสนพลอ่อน; วันที่ 27 กันยายน 2003
เมื่อการดำเนินการทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ได้มีพิธีเสกเสาส่งสัญญาณโดยพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน  วันจันทร์ที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2004 (พ.. 2547) และเริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) ภายใต้ชื่อ สถานีวิทยุชุมชนท่าแร่ เครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ในระบบ F.M. ความถี่ 104.00 Mhz. แต่เกิดปัญหาสัญญาณรบกวนสถานีอื่น และแก้ไขความถี่เป็น 102.25 Mhz.
ที่สุด เมื่อระบบทุกอย่างสมบูรณ์ได้ออกอากาศในระบบ F.M. ความถี่ 104.50 Mhz. ทุกวันเรื่อยมา เวลา 05.30-23.00 น.  ภายใต้คำขวัญ คลื่นดี มีสาระ และบันเทิง และได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ฟัง เป็นต้นชาวท่าแร่ หมู่บ้านใกล้เคียง และเครือข่ายศูนย์สังคมพัฒนาฯ  นับว่ามีประโยชน์มากในการเผยแพร่ข่าวสารทางศาสนา สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ผู้ฟังได้รับรู้ 
การดำเนินการในระยะเริ่มแรกมีปัญหาบ้าง ทั้งในแง่ข้อกฎหมายและความทับซ้อนกันในเรื่องบทบาทหน้าที่ ระหว่างศูนย์สังคมพัฒนาฯกับแผนกวิทยุของอัครสังฆมณฑล  จนกระทั่งพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร และคณะกรรมการบริหารมีมติให้รวมวิทยุชุมชนท่าแร่ เป็นส่วนหนึ่งของแผนกวิทยุของอัครสังฆมณฑล และเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยุชุมชนมิสซังท่าแร่-หนองแสง ดังในปัจจุบัน
 ประธานในพิธีฉลองครบรอบ 80 ปีภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันเสาร์ที่ 11 กันยายน 2004
3.          การซื้อกิจการโรงเรียนอนุบาลอินทิรา กุฉินารายณ์
งานด้านการศึกษายังคงเป็นสนามงานแพร่ธรรมที่สำคัญ  ทุกครั้งที่มีการเปิดโรงเรียนใหม่เท่ากับเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนของชาติ ให้ได้รับการปลูกฝัง คุณธรรมนำความรู้  ตามหลักปรัชญาของโรงเรียนในเครืออัครสังฆมณฑลฯ ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพของเด็กและเยาวชนให้เป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ตามแนวทางการศึกษาคาทอลิกและการจัดการศึกษาของชาติ
ปลายปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) เจ้าของโรงเรียนอนุบาลอินทิรา อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มาติดต่อเสนอขายกิจการโรงเรียนให้กับอัครสังฆมณฑลฯ เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเงิน คณะกรรมการการศึกษาและคณะกรรมการบริหารเกิดความสนใจ ได้เดินทางไปดูอาคารสถานที่และต่อรองราคาหลายครั้ง 
 ซื้อกิจการโรงเรียนอนุบาลอินทิรา ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
ก่อตั้งเป็น "โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์"
ที่สุด พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร และคณะกรรมการบริหารได้มีมติซื้อกิจการโรงเรียนอุบาลอินทิรา และแจ้งให้คณะสงฆ์ทราบในการประชุมประจำเดือนเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  โดยตกลงทำสัญญาซื้อขายกิจการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)  พร้อมกับแต่งตั้ง คุณพ่อมีคาแอล นิเวศน์  อินธิเสน เป็นผู้จัดการ  โดยมีคุณพ่อยอแซฟ ชัยวัฒน์  นำสุย เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ
หลังจากนั้นได้ติดต่อภคินีคณะรักกางเขนแห่งท่าแร่ให้ไปช่วยบริหารงาน และดำเนินเรื่องขออนุญาตเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนเซนต์ยอแซฟกุฉินารายณ์ ดังในปัจจุบัน  นับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องและลงทุนที่คุ้มค่า เพราะอำเภอกุฉินารายณ์เป็นอำเภอใหญ่ มีความเหมาะสมในแง่ภูมิศาสตร์ อีกทั้ง เป็นการเริ่มต้นที่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ และประการสำคัญอำเภอกุฉินารายณ์เป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ธรรมในจังหวัดกาฬสินธุ์ของอัครสังฆมณฑลฯในอดีต  
 เสกเปิดอาคารแม่พุดทา วอ่งไว สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี
ณ บ้านสองคอน อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร; วันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม 2004
4.          พระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 สวรรคต
เหตุการณ์ที่อยู่ในความสนใจของโลกและพระศาสนจักรปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) คือ การประชวรของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2  ซึ่งบรรดาคาทอลิกทั่วโลกรับรู้และร่วมอธิษฐานภาวนาเพื่อพระองค์ พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้เห็นบรรยากาศดังกล่าว เมื่อเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมคณะกรรมการสื่อมวลชนคาทอลิกของวาติกัน ระหว่างวันที่ 19-27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) และขอให้คณะสงฆ์และสัตบุรุษในอัครสังฆมณฑลฯอธิษฐานภาวนาเพื่อพระองค์เป็นพิเศษ 
วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) สันตะสำนักได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่า สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ได้สวรรคต เวลา 21.37 น. ตามเวลาประเทศอิตาลี  หรือตรงกับเวลา 02.37 น. ของวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ตามเวลาในประเทศไทย  ข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปากลายเป็นข่าวใหญ่ นำมาซึ่งความโศกสลดและเสียใจอย่างสุดซึ้งของคาทอลิกทุกคนและสังคมโลก
 ประธานในพิธีฉลองอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่และเสกส่วนต่อขยาย
ณ อาสนิวหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2005
ในห้วงเวลาดังกล่าว พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้เป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณอุทิศแด่ดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ร่วมกับคณะสงฆ์และพี่น้องสัตบุรุษในอัครสังฆมณฑลฯอย่างเป็นทางการ ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) และประกาศให้ทุกวัดได้ภาวนาและร่วมถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ เพื่อขอพระเจ้าได้โปรดรับดวงพระวิญญาณของพระองค์ท่าน
วันรุ่งขึ้น พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้ไปร่วมในพิธีบูชาขอบพระคุณอุทิศแด่พระวิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ในระดับชาติ ที่มีพระอัครสังฆราชซัลวาตอเร เพ็นนัคคีโอ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยเป็นประธาน ร่วมกับพระสังฆราช พระสงฆ์ ผู้แทนรัฐบาล ทูตานุทูต ผู้แทนศาสนาและสัตบุรุษ ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ เวลา 17.00 น.
พระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ในฐานะประธานสภาพระสังฆราชฯ ได้อ้างคำกล่าวของพระสังฆราชนิกายรัสเซียน ออร์โธดอกซ์ ท่านหนึ่งในบทเทศน์ว่า พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก  พระองค์ทรงเป็นผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลมาก ทรงมีอิทธิพลเหนืออริยธรรม นอกขอบเขตของพระศาสนจักรคาทอลิก ซึ่งพระองค์ได้ทรงเป็นผู้นำมานานกว่า 25 ปี[2] 
 บวชคุณพ่อเปโตร วิโรจน์ โพธิ์สว่างและคุณพ่อยอห์น ชัยวิชิต บรรเทา
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2005
5.          พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 และพระสังฆราชผู้ปกครององค์ใหม่
           วันอังคารที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2005 (ค.ศ. 2548) เวลา 17.49 น. ตามเวลาในประเทศอิตาลี ตรงกับเวลา 22.49 น. ตามเวลาในประเทศไทย  สันตะสำนักได้ประกาศให้ทราบว่า เรามีพระสันตะปาปาแล้ว คือ สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16  หลังจากคณะพระคาร์ดินัล 115 องค์จาก 52 ประเทศทั่วโลกได้เลือก พระคาร์ดินัลโยเซฟ  รัตซิงเกอร์ ชาวเยอรมัน วัย 78 ปี เป็นพระสันตะปาปา องค์ที่ 265  ท่ามกลางความชื่นชมยินดีของคาทอลิกทั่วโลก
           วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) เวลา 17.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย  คาทอลิกในอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงได้รับแจ้งข่าวที่น่ายินดี จากพระอัครสังฆราชซัลวาตอเร เพ็นนัคคีโอ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทยว่า สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ได้แต่งตั้ง พระสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร์ พระสังฆราชแห่งนครสวรรค์ ให้เป็นพระอัครสังฆราชแห่งท่าแร่-หนองแสง หลังจากที่รอคอยมาเป็นเวลานาน
         
 ส่งมอบตำแหน่งผู้ปกครองแก่พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2005
           โดยได้ลงประกาศอย่างเป็นทางการในหนังสือพิมพ์ “L’Osservatore Romano วันเดียวกัน เวลา 12.00 น. ตามเวลาในประเทศอิตาลี และอัครสังฆมณฑลฯได้จัดพิธีเข้ารับตำแหน่งผู้ปกครองของ พระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร  สันติสุขนิรันดร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)  พร้อมกับการแสดงกตัญญุตาต่อพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ที่ได้ทำหน้าที่รักษาการผู้ปกครองเยี่ยงนายชุมพาบาลที่ดีอย่างดียิ่ง
           ก่อนหน้านั้น อัครสังฆมณฑลฯได้ร่วมความยินดีและโมทนาคุณพระเจ้าโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ของ คุณพ่อยอแซฟ ธีระยุทธ  อนุโรจน์ สัตบุรุษรองอาสนวิหารนักบุญอันนา หนองแสง และพิธีบวชพระสงฆ์ 2 องค์คือ คุณพ่อยอห์น ชัยวิชิต  บรรเทา สัตบุรุษวัดนักบุญอันตน คำบง กับ คุณพ่อเปโตร วิโรจน์  โพธิ์สว่าง สัตบุรุษวัดนักบุญเปโลกลับใจ นามน  โดยพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)
 พิธีเข้ารับตำแหน่งผู้ปกครองของพระอัครสังฆราชหลุยส์ จำเนียร สันติสุขนิรันดร
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม 2005
6.          หิรัญสมโภชพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน
 ปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) เป็นปีแห่งความชื่นชมยินดีและพระพรของพระเจ้าสำหรับพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน   เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีแห่งการอภิเษกเป็นพระสังฆราช  ซึ่งทางอัครสังฆมณฑลได้จัดงาน หิรัญสมโภช เพื่อแสดงออกถึงความชื่นชมยินดี การขอบคุณ และกตัญญุตาต่ออดีตผู้ปกครอง ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548)
โอกาสดังกล่าว มงซินญอร์ไบรอัน  อูไดเกว ที่ปรึกษาสถานเอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย ได้อ่านสาสน์แสดงความยินดีจากพระคาร์ดินัล อันเยโล  โซดาโน เลขาธิการรัฐวาติกัน ที่ส่งความชื่นชมยินดีและพระพรของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 มายังพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน  พร้อมกับสาสน์แสดงความยินดีของพระอัครสังฆราซัลวาตอเร  เพ็นนัคคีโอ เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย โดยมีพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร พระสังฆราชยออากิม พเยาว์ มณีทรัพย์ และพระสังฆราชยอแซฟ บรรจง  อารีพรรค พร้อมกับคณะะสงฆ์ นักบวช และสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
 หิรัญสมโภชการเป็นพระสังฆราชของพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน
ณ อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่; วันที่ 16 กรกฎาคม 2005
หลังพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ พระสังฆราชยอร์ช ยอด  พิมพิสาร ได้กล่าวขอบคุณ พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน  ในนามคณะสงฆ์และพี่น้องสัตบุรุษในอัครสังฆมณฑลฯ ในภารกิจและงานต่างๆ มากมายที่ได้กระทำเพื่อพระศาสนจักรและอัครสังฆมณฑลฯ เยี่ยงผู้เลี้ยงแกะที่ดีตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลา 24 ปีในตำแหน่งผู้ปกครองอัครสังฆมณฑลฯ
บทสรุป
ตลอดระยะเวลา 1 ปี 3 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาแห่งพระพรของพระเจ้า เป็นพระญาณสอดส่องและเป็นแผนการของพระเจ้าโดยแท้ ในความรักเมตตาที่โปรดให้ พระสังฆราชยอร์ช ยอด  พิมพิสาร ได้มาอยู่ท่ามกลางพวกเราชาวท่าแร่-หนองแสงในฐานะรักษาการผู้ปกครอง  แม้เพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้ทำหน้าที่สานต่อและทำให้งานทุกอย่างในอัครสังฆมณฑลฯ ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นและยอดเยี่ยมสมนาม
 กับคณะสงฆ์อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงโอกาสเข้าเงียบประจำเดือน
ณ สำนักมิสซังฯ สกลนคร; วันที่ 9 สิงหาคม 2005
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรัก ความห่วงใย และความเอาใจใส่ชีวิตความเป็นอยู่และชีวิตฝ่ายจิตของพระสงฆ์ และสัตบุรุษในอัครสังฆมณฑลฯเยี่ยงบิดาผู้ใจดี อีกทั้ง ดำเนินชีวิตเป็นเครื่องหมายแห่งพระพรและความรักเมตตาของพระเจ้าอย่างแท้จริง พวกเราชาวท่าแร่-หนองแสงต่างสำนึกพระคุณและระลึกถึงในคำอธิษฐานภาวนาเสมอ ความขอให้ดวงวิญญาณของพระสังฆราชยอร์ช ยอด พิมพิสาร ได้รับการพักผ่อนนิรันดรในอ้อมพระหัตถ์ของพระเจ้า เทอญ
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดแม่พระแห่งภูเขาการ์แมล ป่าพนาวัลย์
19 ธันวาคม 2017




[1] ขวัญ  ถิ่นวัลย์, พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน: พระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ใน หิรัญสมโภชการอภิเษกเป็นพระสังฆราชของพระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์  แสนพลอ่อน, (สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์, 2548) หน้า 22-24.
[2] อุดมสาร, ปีที่ 29 ฉบับที่ 16-17, 17-30 (เมษายน, 2548), หน้า21.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น