วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

ความสุภาพในการอธิษฐานภาวนา

 ความสุภาพในการอธิษฐานภาวนา 
เสาร์ สัปดาห์ที่ 3
เทศกาลมหาพรต
ฮซย 6:1-6
ลก 18:9-14
มีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งเดินทางไปประเทศเยอรมันเพื่อชมห้องที่บีโทเฟน (นักดนตรีเอกของโลกชาวเยอรมัน) เคยอยู่และทำงาน รวมถึงเปียโนตัวโปรดที่ใช้ประพันธ์เพลงมูนไลท์ โซนาต้า (Moonlight Sonata) เด็กสาวคนหนึ่งในหมู่นักท่องเที่ยวได้นั่งลงที่เปียโนและเล่นท่อนแรกของเพลงโซนาต้า เมื่อเธอเล่นจบ มัคคุเทศก์ได้กล่าวว่า “คุณคงสนใจหากรู้ว่าท่านเพเดรอสกี้ (นักดนตรีเอกชาวโปแลนด์) ได้มาเยี่ยมที่นี่เมื่อสัปดาห์ก่อน”
เด็กสาวคนนั้นพูดว่า “ดิฉันพนันได้ว่าเขาต้องทำเหมือนดิฉัน ด้วยการนั่งลงและเล่นเพลงโซนาต้าใช่ไหมค่ะ” แต่มัคคุเทศก์ตอบว่า “เปล่าเลยครับคุณผู้หญิง เขาไม่ได้ทำอย่างนั้น แม้ว่าทุกคนขอร้องให้เขาเล่น แต่เขาบอกว่าไม่ได้ ผมไม่คู่ควรเลย’” เด็กสาวผู้มีความมั่นใจในตัวเองได้เล่นเพลงของบีโทเฟ่น แต่นักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่กลับมีความสุภาพถ่อมตนเกินกว่าจะเล่นเพลงที่เปียโนของบีโทเฟ่นได้
พระวรสารวันนี้ พระเยซูเจ้าทรงเล่าอุปมาเรื่องการอธิษฐานภาวนาของชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีในพระวิหาร เพื่อสอนความสุภาพถ่อมตนในการอธิษฐานภาวนา พระองค์ทรงหยิบยกเรื่องราวชีวิตจริงของชาวยิวที่อธิษฐานภาวนาวันละ 4 เวลา ได้แก่ เวลาเก้าโมงเช้า เที่ยงวัน บ่ายสามโมง และหกโมงเย็น วิธีอธิษฐานภาวนาของชาวฟาริสีและคนเก็บภาษีสะท้อนความสัมพันธ์ที่มีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์
ชาวฟาริสียืนขึ้นอธิษฐานภาวนากับตนเอง เขามิได้สรรเสริญพระเจ้าแต่กำลังยกย่องตนเอง แม้เขาขอบคุณพระเจ้าแต่พูดถึงแต่ความดีของตนที่ไม่ได้เป็นขโมย หรือล่วงประเวณี เขารู้สึกพอใจกับสิ่งที่ตนเองทำเป็นพิเศษ เช่น การอดอาหารสัปดาห์ละสองวัน และได้ถวายหนึ่งในสิบของรายได้ทั้งหมด เขามีเจตนาเปรียบเทียบความดีของตนกับข้อเสียของคนอื่น เขาไม่ใช่คนที่น่ายกย่องอะไร เขาเป็นคนหยิ่งยโส ภูมิใจในตนเองและดูหมิ่นคนอื่น
ส่วนคนเก็บภาษีเป็นคนบาปสาธารณะและเป็นที่เกลียดชังของชาวยิว (เพราะเก็บภาษีให้โรมันและเก็บส่วนเกินเป็นของตนเอง) เขาตระหนักในความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า รู้ความจริงเกี่ยวกับตนเองและสำนึกผิด ยืนอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าเงยหน้า ได้แต่ตีอกชกตัวและกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า โปรดทรงพระกรุณาต่อข้าพเจ้าคนบาป ด้วยเถิด” (ลก 18:13) คำภาวนาของเขาเป็นคำภาวนาที่ดีที่สุดเพราะสำนึกในความบาปของตน และตระหนักในความรักเมตตาของพระเจ้าที่ทรงให้อภัยคนบาป ทำให้เขาเป็นที่พอพระทัยพระเจ้า
อุปมาได้ให้บทเรียนแก่เราเรื่องการอธิษฐานภาวนาด้วยความสุภาพถ่อมตน และการสำนึกผิดในบาปที่ตนเองทำ อีกทั้ง ตระหนักในความอ่อนแอของตนที่ได้ทำบาป มีเพียงพระเจ้าเท่านั้นสามารถอภัยบาปเราได้ เราต้องหมั่นมาหาพระองค์บ่อย ๆ ทางศีลอภัยบาป การให้อภัยของพระองค์ช่วยฟื้นฟูชีวิตเราให้กลับเป็นลูกของพระองค์ และเปิดหนทางสู่ชีวิตนิรันดรอีกครั้ง
เป็นที่น่าสังเกตว่า นักบุญผู้ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งใหญ่ เป็นคนสำนึกในความบาปของตนมากที่สุด นักบุญเปาโลได้เขียนถึงตัวเองว่า “ข้าพเจ้าเป็นคนแรกในบรรดาคนบาปเหล่านี้” (1 ทม 1:15) นักบุญฟรังซิส อัสซีซีพูดถึงตัวเองว่า “ไม่มีใครอีกแล้วที่น่าเกลียด น่าชิงชัง และน่าสังเวชเท่าตัวข้าพเจ้า” มีคำกล่าวว่า “ประตูสวรรค์นั้นเตี้ยมาก ไม่มีใครเข้าไปได้ เว้นแต่คุกเข่าเข้าไปเท่านั้น” ดังนั้น ศิษย์พระคริสต์ต้องมีความสุภาพถ่อมตน สำนึกว่าตนเป็นคนบาป ไม่กล่าวโทษ หรืออวดตัวว่าดีกว่าคนอื่น
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 85-86.
ที่มาภาพ : http://dustoffthebible.com/Blog-archive/2016/10/07/daily-bible-reading-devotional-luke-189-14-october-7-2016/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น