การกลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต
อาทิตย์
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ปี C
|
อพย 3:1-8, 13-15
1คร 10:1-6,
10-12
ลก 13:1-9
|
บทนำ
แผ่นดินไหวในประเทศเฮติเมื่อ
12 มกราคม 2010 เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 7
ริกเตอร์ แต่ก่อให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่เฮติ ประเทศเล็ก ๆ
ในคาบสมุทรแคริเบียน โดยเฉพาะกรุงปอร์โตแปรงซ์เมืองหลวงได้รับความเสียหายมากที่สุด
เพราะอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเพียง 25 กิโลเมตร
ทางการเฮติยืนยันตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบประมาณ
3 ล้านคน ผู้เสียชีวิตประมาณ 2.5 แสนคน ผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 3 แสนคน
เมื่อ
27 กุมภาพันธ์ 2010
ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นอีกนอกชายฝั่งแคว้นเมาเล ประเทศชิลี
เป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 8.8 ริกเตอร์
ถือเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับ 7 ของโลกเท่าที่มีการบันทึกไว้
ทางการชิลีได้ยืนยันยอดผู้เสียชีวิตประมาณ 1 พันคน
แม้มีผู้เสียชีวิตไม่มากเท่าแผ่นดินไหวในเฮติ
แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 1 ล้านคน
นี่คือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในโลกในยุคสมัยของเรา
คำถามที่เกิดขึ้นในใจผู้คนเรื่อยมาคือ
ผู้เสียชีวิตจำนวนมากมายเหล่านั้นเป็นคนบาป หรือมีความผิดมากกว่าเราหรือเปล่า
พระวรสารวันนี้ได้ให้คำตอบแก่เรา ตอนต้นพระเยซูเจ้าได้อ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบุคคลสองลุ่มในอิสราเอล
ได้แก่ คนที่ถูกปีลาตสั่งประหารชีวิตขณะกำลังถวายเครื่องบูชา
และคนสิบแปดคนที่ถูกหอสิโลอัมล้มทับเสียชีวิต เราไม่ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับทั้งสองเหตุการณ์เท่าใดนัก
แต่สำหรับชาวยิวเชื่อและสอนเสมอมาว่า “ความทุกข์ยากและความตายเป็นผลของบาป”
1.
การกลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต
พระเยซูเจ้าทรงใช้สองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์
เพื่อสอนว่าคนที่ประสบชะตากรรมเช่นนั้นไม่ใช่คนเลวกว่าประชาชนที่กำลังฟังพระองค์
รวมถึงเราในสมัยนี้อาจเลวร้ายกว่าคนที่ตายไปเหล่านั้นหลายเท่า สิ่งที่พระองค์เน้นคือ
ความพินาศแท้จริงของมนุษย์จะเกิดขึ้นหากเขาไม่กลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต “การกลับใจ” หมายถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดไม่กลับไปเดินทางผิดนั้นอีกและหันกลับมาหาพระเจ้า
นี่คือเงื่อนไขสำคัญของความไม่พินาศ
การกลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิตเป็นหลักการพื้นฐานของเทศกาลมหาพรต
ความผิดบาปย่อมเรียกร้องการลงโทษตามความยุติธรรม
แต่พระเจ้าทรงเป็นผู้ไถ่กู้ให้รอดพ้น
พระองค์ทรงกอบกู้ชาวอิสราเอลให้รอดพ้นจากการถูกกดขี่ข่มเหงในประเทศอียิปต์โดยทางโมเสส
และทรงไถ่กู้เรามนุษย์ให้รอดพ้นจากความผิดบาปโดยทางพระเยซูเจ้า
การกลับใจยอมรับความผิดบาปที่ได้กระทำและเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต
จึงเป็นหนทางสู่การได้รับการไถ่กู้จากพระองค์
ตอนท้ายของพระวรสาร พระเยซูเจ้าเล่าอุปมาเรื่องต้นมะเดื่อที่ปลูกในสวนองุ่น
ชาวยิวนิยมปลูกต้นมะเดื่อไว้ระหว่างเถาองุ่นเพื่อหวังพึ่งมันในกรณีที่องุ่นไม่ออกผล
โดยปกติต้นมะเดื่อใช้เวลาสามปีเพื่อให้ผล
แต่ในอุปมาเจ้าของสวนรอมาสามปีแล้วแต่ยังไม่มีผลเขาจึงอยากโค่นมันทิ้ง
แต่คนสวนได้วิงวอนขอโอกาสอีกเป็นปีสุดท้าย อุปมานี้มีความหมายสำหรับชาวยิวและสำหรับเราทุกคน
พระเจ้าได้ให้โอกาสสุดท้ายแก่เราผ่านทางพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงคาดหวังให้เราเกิดผลและทรงให้โอกาสเรากลับใจ
หากเราไม่กลับใจคงต้องพินาศเหมือนชนชาติอิสราเอล ที่ถูกกองทัพโรมันทำลายอย่างย่อยยับในปี 70
สูญเสียความเป็นชาติและกระจัดกระจายไปยังประเทศต่าง ๆ
ต้นมะเดื่อกำลังจะถูกทำลายเพราะไม่ออกผล การมีความรู้ความสามารถแต่ไม่ใช้ประโยชน์
การมีศักยภาพในการช่วยเหลือแต่ไม่ทำคือความบาปอย่างหนึ่ง
พระเจ้าไม่ได้ขอให้เราทำสิ่งที่เกินกำลัง
แต่ทรงต้องการให้เราลงมือทำตามขอบเขตความสามารถของเรา
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้ได้ให้บทเรียนสำคัญสำหรับเราหลายประการ ในการนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ประการแรก
เราต้องกลับใจเปลี่ยนทางดำเนินชีวิต
เราไม่ทราบว่า ชีวิตของเราต้องพบกับเหตุการณ์เลวร้ายอะไรบ้าง
เราต้องหันมาหาพระเยซูเจ้าองค์แห่งความเมตตาที่ช่วยเราให้ได้รับชีวิตนิรันดร
เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาพิเศษแห่งการใกล้ชิดพระเจ้า ผ่านทางพิธีกรรมและธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ
แต่สิ่งสำคัญคือการกลับใจใช้โทษบาป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การรับศีลอภัยบาปเครื่องหมายแห่งการสำนึกผิดและใกล้ชิดพระเจ้า เปิดดวงใจของเราสู่สันติสุข
ความจริงและความรักของพระเจ้า
ประการที่สอง
เราต้องเป็นต้นมะเดื่อที่เกิดผล ต้นไม้แห่งชีวิตของเราต้องทำให้เกิดผลอย่างอุดม
ผลที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากเราในเทศกาลมหาพรตคือ
การฟื้นฟูชีวิตของเราให้เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรมความรัก ความเมตตากรุณา การให้อภัย และการรับใช้ที่สุภาพปราศจากความเห็นแก่ตัว
โดยเริ่มต้นการเกิดผลในครอบครัวของเรา ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก
ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ก่อนขยายไปสู่หมู่คณะและสังคม
ในความใส่ใจต่อคนยากจน คนป่วย ผู้สูงอายุ และผู้ถูกทอดทิ้ง
ประการที่สาม
เราต้องใช้โอกาสที่พระเจ้าทรงประทานให้เกิดประโยชน์
พระบิดาเจ้า องค์แห่งความเมตตาได้ให้โอกาสเราเสมอ
เช่นเดียวกับที่ทรงให้โอกาสและเลือกเปโตร ผู้สำนึกผิดให้เป็นหัวหน้าพระศาสนจักร
หรือเซาโล ผู้เบียดเบียนให้เป็นผู้แพร่ธรรมสำหรับคนต่างศาสนา ตลอดเทศกาลมหาพรตนี้
ให้เราได้ใช้โอกาสกลับใจหันมาหาพระเจ้าที่ประสงค์ใช้เราเป็นดังคนสวนในอุปมา
เพื่อช่วยพระองค์ในการพรวนดินรดน้ำครอบครัวและหมู่คณะของเราให้เกิดผล
และเติบโตยิ่งขึ้นในพระหรรษทานของพระองค์
บทสรุป
พี่น้องที่รัก
พระวาจาของพระเจ้าวันนี้เรียกให้เราออกจากตัวเอง สำนึกในโอกาสที่พระองค์ทรงมอบให้และกลับใจมาหาพระองค์
นี่คือเงื่อนไขสำคัญที่พระเจ้าทรงเรียกร้องจากเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของเทศกาลมหาพรต
ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินชีวิตเสียใหม่ ลด ละ เลิกความโน้มเอียงไม่ดีต่าง ๆ
หันกลับมาหาพระเจ้าและเดินในหนทางที่ถูกต้อง
พระเจ้าคือผู้ที่
แสวงหา (ออกไปหาผลจากต้นมะเดื่อที่ปลูกไว้) รอคอย
(รอคอยผลจากต้นมะเดื่อต้นนั้นสามปี) และให้โอกาส
(รอคอยผลของต้นมะเดื่ออีกครั้ง) นี่คือธรรมชาติของพระเจ้า
เราแต่ละคนพึงแสวงหาพระเจ้าอย่างใกล้ชิด
และทำตนให้เกิดผลตามพระประสงค์ของพระองค์อยู่เสมอเพื่อจะได้ไม่พินาศไป อีกทั้ง
มีส่วนในความศักดิ์สิทธิ์และร่วมส่วนในความชื่นชมยินดีของพระองค์เมื่อโอกาสสุดท้ายของเรามาถึง
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร: สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 71-74.
ภาพ : การรับศีลอภัยบาป, สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี สองคอน, มุกดาหาร 1998-10-23
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น