สวนองุ่นของพระเจ้า
ศุกร์ สัปดาห์ที่ 2
เทศกาลมหาพรต
|
ปฐก 37:3-4, 12-13ก,
17ข-28
มธ 21:33-43, 45-46
|
การทำสวนองุ่นเป็นวิธีดำรงชีพทั่วไปในดินแดนปาเลสไตน์
แต่สถานการณ์และความยากลำบากในสมัยนั้น ทำให้เจ้าของที่ดินไปหาที่อยู่ใหม่ที่สงบสุขมากกว่า
ปล่อยให้คนเช่าสวนทำประโยชน์และเก็บค่าเช่า ซึ่งอาจกำหนดเป็นตัวเงิน หรือส่วนแบ่งพืชผลที่เก็บได้ตามที่ตกลงกัน
เหตุการณ์ที่กล่าวถึงในอุปมาเรื่องคนเช่าสวนชั่วร้าย
เป็นไปได้ว่า คนเช่าสวนไม่ยอมจ่ายค่าเช่าและทุบตีตัวแทนเจ้าของสวน บางทีใช้วิธีรุนแรงเพื่อยึดที่ดินมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตน
เรื่องราวโยเซฟถูกพวกพี่ชายขายไปเป็นทาสในดินแดนอียิปต์ในบทอ่านแรก
เป็นภาพพจน์ของพระเยซูเจ้าถูกยูดาสทรยศและขายเป็นเงินสามสิบเหรียญ อุปมาในพระวรสารวันนี้ได้ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับตัวพระองค์อย่างเด่นชัด สวนองุ่นหมายถึงชนชาติอิสราเอล
เจ้าของสวนคือพระเจ้า คนเช่าสวนคือพวกคณะสงฆ์และชาวฟาริสี
ผู้รับใช้ที่ถูกส่งมาคือบรรดาประกาศกที่ไม่ได้รับการต้อนรับ
ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามบางคนถูกฆ่าตาย ส่วนบุตรหมายถึงพระเยซูเจ้าที่ไม่ได้รับการต้อนรับและถูกฆ่าตายเช่นกัน
อุปมาได้ให้บทเรียนแก่เราเรื่อง
“สิทธิพิเศษของมนุษย์” มัทธิวได้ให้รายละเอียดว่า เจ้าของสวนได้ทำสิ่งจำเป็นทุกอย่างสำหรับสวนองุ่น
เขาล้อมรั้วป้องกันสัตว์ร้ายมาทำลายสวนองุ่น
สร้างบ่อย่ำองุ่นเพื่อย่ำและสกัดน้ำองุ่น นอกนั้น
ยังสร้างหอเฝ้าเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย (มธ 21:33) นั่นหมายความว่า พระเจ้าได้ทำทุกอย่างสำหรับชนชาติอิสราเอล
เพื่อเตรียมพวกเขาให้รู้จักพระบุตรที่จะเสด็จมา
แต่พวกเขาได้ทำความผิดและปฏิเสธพระองค์
สิทธิพิเศษนี้ได้ถูกเพิกถอนและมอบให้กับต่างชาติ
ในฐานะคริสตชนเราได้รับสิทธิพิเศษนี้
เป็นสิทธิพิเศษของการเป็นบุตรพระเจ้า เราทุกคนเป็นลูกของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน มีคุณค่าและศักดิ์ศรีเท่าเสมอกันต่อหน้าพระเจ้า
การเดินทางไปแดนไกลของเจ้าของสวนเป็นเครื่องหมายว่า
พระเจ้าทรงมอบงานและความรับผิดชอบแก่เราด้วยความเชื่อใจ ดังนั้น
เรามีอิสรภาพที่จะร่วมมือกับพระเจ้า หรือต่อต้านพระองค์
และมีอิสระในการเลือกว่า จะทำ หรือไม่ทำก็ได้ นี่คือสิทธิพิเศษที่มนุษย์ได้รับ
อุปมาเรื่องคนเช่าสวนที่ชั่วร้ายยังแสดงถึง “ความอดทนของพระเจ้า”
ที่มีต่อความผิดพลาดของมนุษย์
เจ้าของสวนองุ่นได้ให้โอกาสคนเช่าสวนครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยหวังว่า เขาจะปรับปรุงตัวเองเสียใหม่
พระเจ้าได้ให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ทรงลงโทษใครในทันที
แต่ทรงให้เวลาและรอคอยด้วยหวังว่า เขาจะกลับใจเปลี่ยนแปลงชีวิตหันกลับมาหาพระองค์อีกครั้ง
พระเจ้าได้ประทานทุกอย่างที่จำเป็นแก่เรา
เพื่อช่วยเราให้สามารถได้รับความรอดนิรันดร เราได้ตระหนักในพระหรรษทานและความช่วยเหลือของพระองค์ในแต่ละวันไหม
เราได้สำนึกพระคุณในของประทานต่าง ๆ จากพระองค์หรือเปล่า เทศกาลมหาพรตเป็นช่วงเวลาพิเศษของการกลับใจมาหาพระเจ้า
ผ่านทางการอธิษฐานภาวนา การพลีกรรมใช้โทษบาป และการให้ทาน อีกทั้ง ต้องอดทนต่อความผิดพลาดของกันและกัน
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 58-59.
ที่มาภาพ : https://1969j.files.wordpress.com/2017/03/wp-1489703998857.jpg
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น