อังคาร สัปดาห์ที่ 1
เทศกาลมหาพรต
|
อสย 55:10-11
มธ 6:7-15
|
เทศกาลมหาพรต
เป็นช่วงเวลาพิเศษสำหรับการอธิษฐานภาวนา พระวรสารวันนี้บอกให้เราทราบถึงบทภาวนาที่เป็นแบบแผนของคริสตชนคือ
“บทข้าแต่พระบิดา” ที่พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้อธิษฐานภาวนา
เพื่อมีชีวิตสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าและติดต่อกับพระเจ้าได้โดยง่าย
ไม่ใช่ในฐานะพระผู้สร้างผู้ทรงสรรพานุภาพ แต่เป็นดังพ่อ (Abba) หรือบิดาผู้ใจดีที่เราสามารถวางใจและพูดกับพระองค์อย่างสนิทใจ
โดยปราศจากความหวาดกลัว
เรามีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกันซึ่งรู้ถึงความต้องการของเราแต่ละคน
“บทข้าแต่พระบิดา” เป็นบทภาวนาที่แสดงความเป็นบุตรและการเป็นพี่น้อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรงสอนเราให้รู้จักให้อภัยซึ่งกันและกัน เราแต่ละคนเป็นคนบาป
อ่อนแอ และบกพร่อง แต่ยังสามารถเรียกพระเจ้าว่าเป็น “บิดาของเรา” ภายใต้เงื่อนไขของการให้อภัย หรือการยกโทษเพื่อนมนุษย์จากส่วนลึกของจิตใจ
บทข้าแต่พระบิดา
เป็นบทภาวนาพิเศษสำหรับคริสตชนที่พระเยซูเจ้าทรงสอนและมอบไว้ให้
ถือเป็นบทภาวนาสำคัญและบอกให้รู้ว่า “คริสตชนเป็นใคร”
ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากการอธิษฐานภาวนาของชาวฟารีสีและคนต่างศาสนา
ที่เน้นการพูดจายืดยาวและรูปแบบภายนอก เราเริ่มต้นด้วยคำว่า “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย”
(มธ 6:9)
เป็นการที่พระเจ้าทรงเผยแสดงพระองค์ให้เราทราบ และเราตอบรับด้วยความเชื่อ
ความวางใจ ความรัก และการให้อภัย
ซึ่งถือเป็นบทสรุปของพระวรสารทั้งหมด
ในบทข้าแต่พระบิดา
พระเยซูเจ้าทรงสอนศิษย์ของพระองค์ให้อธิษฐานภาวนาต่อพระบิดาเจ้าเยี่ยงบุตร
แสดงถึงสัมพันธภาพใหม่ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าว่าเป็นดังความสัมพันธ์ในครอบครัว (กท 4:6; รม 8:15) ซึ่งแสดงออกอย่างเด่นชัดในพันธสัญญาใหม่ที่พระเจ้าทรงรักบุตรของพระองค์ทุกคน
นอกนั้น ยังเป็นคำภาวนาของหมู่คณะ เมื่อใครคนหนึ่งอธิษฐานภาวนาถึงพระบิดาเจ้า ทุกคนอธิษฐานภาวนากับเขาและพร้อมกันกับเขา
บทข้าแต่พระบิดา แสดงให้เห็นว่า พระเจ้าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
ในการทำให้งานไถ่กู้และอาณาจักรสวรรค์ปรากฏเป็นจริงตั้งแต่ในโลกนี้ “พระอาณาจักรจงมาถึง”
(มธ 6:10) ที่สำคัญมากกว่านั้นคือการให้อภัยความผิดของกันและกัน “โปรดประทานอภัยแก่ข้าพเจ้า
เหมือนข้าพเจ้าให้อภัยแก่ผู้อื่น” (มธ 6:12) ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญและเครื่องหมายว่า เราเป็นบุตรของพระเจ้าและพี่น้องกัน
มีพระบิดาเจ้าองค์เดียวกันผู้ทรงรักและให้อภัยความผิดของเราเสมอ
พระศาสนจักรให้เราใช้
“บทข้าแต่พระบิดา” ก่อนรับพระเยซูเจ้าในศีลมหาสนิท
เพื่อเตือนใจเราว่า ทุกคนเป็นบุตรของพระบิดาเจ้าองค์เดียวกัน
เป็นพี่น้องกันโดยไม่แบ่งแยก และได้ให้อภัยความผิดของกันและกันแล้ว หากเรายังไม่สามารถยอมรับได้ว่าทุกคนเป็นพี่น้องและอภัยความผิดกันได้อย่างสนิทใจ
เท่ากับว่าเราสวด “บทข้าแต่พระบิดา” ยังไม่จบ
ขอพระเจ้าประทานความเข้มแข็งในการอภัยความผิดของกันและกัน และช่วยเราให้หลีกหนีบาป
เทอญ
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์, 2561), หน้า 28-29.
ภาพ : บทข้าแต่พระบิดาภาษาไทย, วัดข้าแต่พระบิดา, ภูเขามะกอก, เยรูซาเล็ม, อิสราเอล; 2018-04-20
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น