การนำพระวาจามาปฏิบัติ
วันพฤหัสบดี
สัปดาห์ที่ 16 เทศกาลธรรมดา
|
อพย 19:1-2, 9-11, 16-20
มธ 13:10-17
|
พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักเทศน์ผู้ยิ่งใหญ่ พระองค์ตรัสด้วยภาษาที่ผู้คนเข้าใจง่าย
ทรงใช้เรื่องราว การเปรียบเทียบ และหยิบยกตัวอย่างจากชีวิตจริงมาเทศน์สอน บางครั้งพระองค์ทรงใช้คำอุปมาที่ค่อนข้างเข้าใจยากซึ่งเป็นภาษาเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้ผู้ฟังได้คิดและไตร่ตรองความหมายที่ซ่อนอยู่
พระวรสารวันนี้ บรรดาศิษย์จึงถามพระองค์ว่า “ทำไมพระองค์ตรัสแก่เขาเป็นคำอุปมาเล่า” (มธ 13:10)
คำตอบของพระเยซูเจ้าแสดงให้เห็นว่าทรงต้องการให้ผู้ฟังพระองค์ ฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง
คำอุปมาได้เปิดเผยธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรพระเจ้าแก่ผู้ที่เปิดใจรับฟัง
ใครที่ไม่เปิดใจรับฟังจะไม่เข้าใจความหมาย สิ่งสำคัญคือการตอบรับส่วนบุคคล
หากใจไม่เปิดรับและไม่ตอบรับ ข่าวดีนั้นจะผ่านไป เข้าทำนอง “เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา”
พระเยซูเจ้าตรัสกับมนุษย์ทุกคน
ทรงเรียกทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง พระวาจาของพระเจ้ามิใช่ความรู้ระดับสติปัญญา
แต่เป็นความรู้ระดับปฏิบัติ นอกจากเปิดใจรับฟังแล้ว ยังต้องนำมาปฏิบัติในชีวิต
พระคัมภีร์อาจทำให้เราเข้าใจยากและคลุมเครือ หากเราอ่านด้วยจิตใจที่ตื้นเขิน
ไม่ลึกซึ้ง เราต้องอ่านด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง
พร้อมที่จะรับสิ่งที่พระจิตเจ้าทรงเปิดเผยแก่เรา
เมื่ออ่านพระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระวาจาของพระเจ้า ต้องเปิดใจต่อสิ่งที่ทรงประสงค์จะตรัสกับเรา
ผ่านทางการไตร่ตรองและการภาวนาด้วยความเชื่อ มองผ่านสิ่งที่ปรากฏภายนอก เพื่อพบความหมายภายในที่พระองค์ต้องการจะบอก
และนำไปปฏิบัติในชีวิตซึ่งจะทำให้เราพบความจริง “ตาของท่านเป็นสุขที่มองเห็น
และหูของท่านเป็นสุขที่ได้ฟัง” (มธ 10:16)
ศิษย์พระคริสต์ต้องเจริญชีวิตด้วยพระวาจาพระเจ้า เราแต่ละคนได้รับการเชื้อเชิญให้อ่านพระวาจา ไตร่ตรองเพื่อเข้าใจความหมายและพระประสงค์ของพระองค์
และนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เรามีความจริงใจที่จะรู้จักพระเจ้า
ฟื้นฟูชีวิตฝ่ายจิตของเรา และตอบสนองต่อพระหรรษทานและความรักของพระองค์ไหม “ข้าแต่พระเยซูเจ้า
โปรดเปิดใจลูก เพื่อฟังพระวาจาพระองค์ และนำสู่การปฏิบัติเทอญ”
คุณพ่อขวัญ
ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
26 กรกฎาคม 2017
ภาพประกอบ: พระอัครสังฆราชลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน, เทศน์เข้าเงียบครั้งสุดท้าย, วัดน้อยสำนักมิสซัง; 2007-04-03
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น