วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2560

โบสถ์เก่าคำเกิ้ม

โบสถ์เก่าคำเกิ้ม
“โบสถ์เก่าคำเกิ้ม” หรือวัดเก่าโบราณที่บ้านคำเกิ้ม ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เป็นวัดคาทอลิกหลังที่ 3 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจากวัดแม่พระนฤมลทิน บุ่งกะแทว อุบลราชธานี (ค.ศ. 1898) และวัดมหาพรหมมีคาแอล ท่าแร่ สกลนคร (ค.ศ. 1906) ขณะที่วัดเก่าคำเกิ้มสร้างเสร็จ ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) เมื่อวัดเก่าที่บุ่งกะแทวและท่าแร่ถูกรื้อเพื่อสร้างอาสนวิหารใหม่ วัดเก่าคำเกิ้มจึงเป็นวัดคาทอลิกเพียงหลังเดียวที่เหลืออยู่ และเป็นวัดคาทอลิกที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปัจจุบัน
วัดเก่าคำเกิ้มก่อสร้างโดยคุณพ่อเฟรสแนล พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) เมื่อ .. 1904 (.. 2447) มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก โครงสร้างผนังก่ออิฐถือปูนแข็งแรงแบบยุโรป แต่โครงหลังคาทำด้วยไม้และหลังคามุงไม้แป้นเหมือนบ้านชาวอีสานสมัยนั้น เมื่อสร้างเสร็จมีพิธีเสกและเปิดอย่างยิ่งใหญ่โอกาสสมโภชนักบุญยอแซฟ วันที่ 19 มีนาคม ค.. 1907 (.. 2450) โดยพระสังฆราชยัง มารีย์ กืออ๊าส  คุณพ่อกองสตังต์ ยัง บัปติสต์ โปรดม และบรรดาธรรมทูต 
 วัดเก่าคำเกิ้มหลังที่ 2 สร้างโดยคุณพ่อเฟรสแนล ค.ศ. 1904-1907
ด้านหน้ามีประตูใหญ่เหนือประตูมีคิ้วบัวโค้งรับกับประตู เหนือขึ้นไปเป็นช่องแสงวงกลมแต่มีขนาดไม่ใหญ่มาก ยังคงปรากฏรัศมีเป็นโครงไม้สวยงาม ภายในมีช่องหน้าต่างขนาดใหญ่ใส่กระจกสีแบบปิดตายข้างละ 6 ช่อง ส่วนด้านล่างสุดเป็นบานไม้สามารถเปิดรับลมได้ ด้านหลังมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลม มีพระแท่นอยู่ตรงกลางในลักษณะหันหลังให้สัตบุรุษเหมือนวัดเก่าทั่วไป และปีกซ้ายขวาเป็นโครงหลังคายื่นออกไปสำหรับเป็นห้องซาคริสเตียและห้องฟังแก้บาป มีประตูเข้าจากด้านนอก
วัดเก่าคำเกิ้มได้ใช้เป็นศูนย์กลางในการประกอบศาสนพิธีเป็นเวลานาน จนกระทั่ง ค.. 1940 (.. 2483)  เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนและการเบียดเบียนศาสนา มีผู้ขอซื้อโครงหลังคาทำด้วยไม้ในราคาถูก แต่ชาวคำเกิ้มไม่ยอม และกลายเป็นสาเหตุของการถูกลอบวางเพลิงโดยผู้ไม่หวังดี 3 คน ทำให้โครงหลังคาวอดเป็นเถ้าถ่าน โครงสร้างภายนอกที่ก่ออิฐถือปูนยังคงยืนตระหง่านอย่างท้าทายไม่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่สามารถใช้การได้และถูกทิ้งร้าง คุณพ่อฟรันเชสโก อันเดรโอนี ได้สร้างวัดชั่วคราว ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) เพื่อใช้งานแทน
 ภายในวัด โครงหลังคาไม้หลังการบูรณะและช่องหน้าต่างกระจกสีขนาดใหญ่ด้านละ 6 ช่อง
เมื่อคุณพ่อเอดัวร์ ถัง นำลาภ มาทำหน้าที่ดูแล ค.ศ. 1953-1958 (พ.ศ. 2496-2501) ได้คิดรื้อวัดเก่าคำเกิ้มเพื่อสร้างใหม่ ตามคำเล่าของนางทองจันทร์ เทพกรรณ์ วัย 90 ปี (10 มีนาคม 2017) แต่ผู้อาวุโสชาวคำเกิ้มไม่ยอมเพราะถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ของหมู่บ้าน ควรเก็บไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับชนรุ่นหลัง ดังนั้นจึงได้ทำการบูรณะใหม่โดยใช้ไม้แคนจากภูพาน มุงด้วยสังกะสี ทำกางเขนบนยอดวัดด้านหน้าใหม่ แต่กางเขนนี้ได้ถูกฟ้าผ่าหักพังลงมาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
.. 1958 (.. 2501) คุณพ่อเปาโล สมชาย สลับเชื้อ อธิการและผู้จัดการโรงเรียนสันตยานันท์ นครพนม ได้มาทำหน้าที่ดูแลแทนคุณพ่อเอดัวร์ ถัง นำลาภ ได้บันทึกเอาไว้ว่า
เมื่อมาถึงคำเกิ้มทีแรก รู้สึกเสียใจมาก ที่เห็นวัดและบ้านพักพระสงฆ์ถูกทำลาย เฉพาะวัดถูกเผา เดิมวัดนี้หลังคาเป็นไม้ มาในสมัยสงครามอินโดจีนวัดถูกปิดเพราะการเบียดเบียนศาสนา ครู (กง) ซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลอยากซื้อหลังคาวัดด้วยราคาถูก ชาวบ้านไม่ยอมเลยเผาทั้งวัดทั้งหลังคาสิ้น เลยกลายเป็นวัดร้างมาแต่สมัยนั้น มีต้นไม้ต้นหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด
 พระแท่นแบบหันหลังให้สัตบุรุษและพระรูปพระเยซูเจ้าที่ติดกางเขน
อนึ่ง หลังการบูรณะวัดเก่าคำเกิ้มได้ใช้งานต่อมาอีกนานหลายปี  จนถึงเวลาที่คุณพ่อราฟาแอล คาร  โสรินทร์ สร้างวัดหลังปัจจุบัน(หลังที่ 4) เสร็จ ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) วัดเก่าคำเกิ้มจึงไม่ได้ใช้งานอีก แต่ยังคงยืนตระหง่านอย่างโดดเด่นเป็นสัญลักษณ์ของคำเกิ้ม ดังคำขวัญของหมู่บ้านที่ว่า “โบสถ์เก่าเล่าขาน กำแพงโบราณ น้ำผึ้งแท้ แตงกวาหวาน หัตถกรรมพื้นบ้าน สมัครสมานสามัคคี ถิ่นนี้คือคำเกิ้ม” เป็นที่ดึงดูดใจของนักท่องเที่ยวและผู้พบเห็นให้ต้องมาเก็บภาพเป็นที่ระลึก
ในโอกาสแห่งความชื่นชมยินดีที่ ยอแซฟ อุทัย พองพูม ลูกวัดคำเกิ้มได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศีแห่งเมืองลาวจากสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส และมีพิธีเฉลิมฉลองเป็นพิเศษที่วัดนักบุญยอแซฟ คำเกิ้ม วันเสาร์ที่ 8 เมษายน ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2016) อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงได้ทำโครงการปฏิสังขรณ์วัดเก่าคำเกิ้ม ให้เป็นสักการสถานและมรดกทางความเชื่อสำหรับอนุชนรุ่นหลัง เชื่อแน่ว่าแรงศรัทธาและความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะทำให้โครงการนี้สำเร็จในอนาคตอันใกล้
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์
31 มีนาคม 2017; โอกาสครบรอบ 23 ปีแห่งชีวิตสงฆ์
ภาพเก่าและพื้นที่โดยรอบ เห็นผนังบ้านพักพระสงฆ์ที่พังทลายและต้นมะม่วงใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น