วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

การให้อภัยไม่สิ้นสุด

 การให้อภัยไม่สิ้นสุด 
วันอังคาร
สัปดาห์ที่ 3 เทศกาลมหาพรต
ดนล 3:25, 34-43
มธ 18:21-55
พระวรสารวันนี้เตือนเราถึงหน้าที่และพันธกิจของการเป็นคริสตชน ในการเดินตามก้าวย่างของพระเยซูเจ้า อาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ได้ให้แบบอย่างแก่เราเรื่องการให้อภัย ขณะถูกตรึงบนไม้กางเขนได้ร้องขอให้พระบิดาอภัยพวกเขา นี่คือความรักที่เปี่ยมล้นหัวใจของพระองค์แม้ในห้วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด สำหรับเราคริสตชน การให้อภัยหมายถึง การลืม ไม่จดจำความผิดและยกโทษด้วยใจจริง การลืมคือการรักผู้ที่ทำผิดต่อเรามากกว่าเดิม ต้อนรับเขาด้วยใจกว้างและปฏิบัติต่อเขาเหมือนเขาไม่เคยทำอะไรผิดต่อเรามาก่อน
เราต้องขอบคุณเปโตรที่ยกปัญหาถามพระเยซูเจ้าว่า “ถ้าพี่น้องทำผิดต่อข้าพเจ้า ข้าพเจ้าต้องยกโทษให้เขาสักกี่ครั้ง ถึงเจ็ดครั้งหรือไม่” (มธ 18:21) เปโตรหวังได้รับคำชมจากพระเยซูเจ้า เพราะเลขเจ็ดถือเป็นเลขที่สมบูรณ์ อีกทั้งตามคำสอนของอาจารย์ชาวยิว การยกโทษให้คนที่ทำผิดต่อเราสามครั้งถือว่ามากที่สุดแล้ว และพระเยซูเจ้าตอบเปโตรว่า “ต้องยกโทษให้เจ็ดคูณเจ็ดสิบครั้ง” (มธ 18:22) ซึ่งหมายถึง “จำนวนที่ไม่จำกัด” ต้องยกโทษตลอดไปหรือให้อภัยไม่สิ้นสุดนั่นเอง
การให้อภัยไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องที่ยากมากทั้งแนวคิดและวิธีปฏิบัติ เพราะความคุ้นเคยกับการแก้แค้นแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของมนุษย์ แต่พระเยซูเจ้าสอนว่าเพื่อมีความสุขในชีวิตต้อง “ยกโทษให้ผู้อื่นเสมอ” คำอุปมาที่พระองค์เล่า ชี้ให้เห็นถึงจำนวนเงินมหาศาลที่คนรับใช้เป็นหนี้กษัตริย์ไม่อาจใช้คืนได้หมด  ซึ่งแตกต่างจากเงินเพียงเล็กน้อยที่เพื่อนเป็นหนี้เขาอยู่ สิ่งนี้ทำให้เราต้องตระหนักว่าผู้ที่ทำผิดต่อเรา เทียบไม่ได้กับความผิดที่เรากระทำต่อพระเจ้า
ในทางจิตวิทยา การไม่ยอมให้อภัยนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานในจิตใจ การให้อภัยไม่เพียงส่งผลดีต่อสุขภาพจิตแต่ยังส่งผลดีต่อชีวิตจิตของเราด้วย ดังนี้ พระเยซูเจ้าทรงสอนให้เรารักผู้อื่นแม้เขาทำไม่ดีต่อเรา ให้อภัยเขาด้วยใจจริง หากเราไม่ทำเช่นนี้ไม่ใช่พระเจ้าที่ลงโทษเรา แต่เป็นเราที่ทำร้ายตัวเอง เราจะมีความรู้สึกทุกข์ใจไม่เป็นสุข แต่เวลาใดที่เรายอมให้อภัย สันติสุขและความชื่นชมยินดีจะกลับมา
 “จงให้อภัยคนอื่นบ่อยๆ แต่อย่าให้อภัยตัวท่านเอง” (Forgive another often, yourself never.) สุภาษิตลาตินประโยคนี้สอนเราให้เข้าถึงคุณค่าของการใช้ชีวิตร่วมกัน นั่นคือ การให้อภัย สุภาษิตแขกมูร์ยังสอนเราด้วยว่า “การให้อภัยจากหัวใจ ดีกว่าทองคำเป็นกล่อง” (Forgiveness from the heart is better than a box of gold.) ทั้งนี้ก็เพราะว่า การให้อภัยนำสันติสุขแท้มาสู่จิตใจของผู้ให้อภัยและผู้ได้รับการอภัย มหาพรตปีนี้เราได้ให้อภัยผู้ที่ทำผิดต่อเรา... หรือยัง
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์

20 มีนาคม 2017
ที่มาภาพ:  https://heavenawaits.wordpress.com/forgiveness-vs-justice/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น