วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560

บิดาผู้ใจดีและให้อภัย

 บิดาผู้ใจดีและให้อภัย 
วันเสาร์
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
มคา 7:14-15, 18-20
ลก 15:1-3, 11-32

คำอุปมาเรื่อง ลูกล้างผลาญ” (The prodigal son) ที่เราได้ยินในพระวรสารวันนี้ ถือเป็นคำอุปมาที่กินใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาคำอุปมาของพระเยซูเจ้า แต่ที่ถูกต้องควรเรียกว่า บิดาผู้ใจดีและให้อภัยเพราะผู้ที่เป็นพระเอกในเรื่องไม่ใช่บุตรแต่เป็นบิดา คำอุปมาได้กล่าวถึงชายคนหนึ่งมีบุตรสองคน บุตรคนเล็กได้ขอให้บิดาแบ่งสมบัติส่วนที่เป็นของตน จากนั้นได้เดินทางไปต่างแดนใช้ชีวิตเสเพลล้างผลาญสมบัติจนหมดสิ้น ขณะที่บุตรคนโตยังคงอยู่กับบิดา
ตามกฎหมายยิวบิดาไม่อาจยกสมบัติให้ใครตามใจชอบ ต้องยกสมบัติ 2/3 ส่วนให้บุตรชายคนโต และ 1/3 ส่วนให้บุตรชายคนเล็ก (ฉธบ 21:17) เนื่องจากธรรมเนียมยิวยกย่องบุตรชายหัวปี และเป็นธรรมดาที่บิดาจะแบ่งมรดกให้บุตรขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่มรดกจะตกแก่บุตรเมื่อบิดาตายแล้ว ดังนั้น การที่บุตรคนเล็กขอให้แบ่งสมบัติและยกให้ตนขณะที่บิดายังมีชีวิตอยู่ เป็นการไม่ให้เกียรติบิดา (เท่ากับแช่งให้ตาย)
คำอุปมาได้แสดงให้เห็นถึงชีวิตตกต่ำที่สุดของบุตรคนเล็ก เขากลายเป็นคนเลี้ยงหมูซึ่งเป็นสัตว์สกปรก (ลวต 11:7) ชาวยิวที่เคร่งศาสนาจะไม่ทำอาชีพนี้โดยเด็ดขาด ทำให้เขาคิดถึงบิดาและตัดสินใจกลับบ้าน โดยตั้งใจขอให้บิดารับเขาเป็นเหมือนคนรับใช้ในตำแหน่งที่ต่ำที่สุด ในบ้านชาวยิวมีคนรับใช้อยู่สามประเภทคือ “บ่าว” ซึ่งเกือบจะเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว อีกประเภทหนึ่งคือ “ลูกน้องของบ่าว” ซึ่งทำงานหนักกว่า และสุดท้ายที่มีฐานะต่ำสุดคือ “ลูกจ้างรายวัน” ซึ่งอาจถูกให้ออกเมื่อไหร่ก็ได้
ความจริงบุตรคนเล็กต้องการขอเป็นเพียงคนรับใช้ที่มีฐานะต่ำสุด แต่เขาไม่มีโอกาสขอให้บิดาทำเช่นนั้น (ลก 15:21) เพราะบิดาตัดบทและสั่งให้คนรับใช้ต้อนรับเขาด้วยของสามอย่าง (ลก 15:22) ดังต่อไปนี้
1)    เสื้อ หมายถึงเกียรติยศ เป็นการให้เกียรติบุตรที่กลับมา
2)   แหวน หมายถึงความเป็นใหญ่ เป็นการให้อำนาจดูแลทรัพย์สินทั้งหมดแก่เขา
3) รองเท้า หมายถึงฐานะการเป็นบุตร ในครอบครัวยิวมีแต่บุตรเท่านั้นที่สวมรองเท้า (ส่วนคนรับใช้เดินเท้าเปล่า)
คำอุปมานี้เกิดจากสถานการณ์ที่พระเยซูเจ้าถูกวิจารณ์ว่า “เป็นมิตรกับคนเก็บภาษีและคนบาป” คำอุปมานี้ได้แสดงให้เห็นถึงท่าทีของพระเจ้าต่อคนบาป
ประการแรก พระเจ้าทรงต้องการคนบาป แม้มนุษย์กระทำชั่วแต่พระเจ้ายังต้องการเขาอยู่ ด้วยการส่งพระบุตรมาไถ่บาปเพื่อให้เขาได้เดินในหนทางแห่งความรอด
ประการที่สอง พระเจ้าเฝ้ารอการกลับมาของคนบาป แสดงถึงความรักยิ่งใหญ่และการอภัยไม่สิ้นสุดของพระเจ้าที่ไม่จดจำความผิด แต่เพียรทนรอคอยวันที่เขากลับใจมาหาพระองค์
พระเยซูเจ้าทรงเล่าคำอุปมานี้สำหรับเราแต่ละคน เราคือบุตรคนเล็กที่เป็นคนบาปและหนีห่างจากพระเจ้า เราได้รับพระพรมากมายเพื่อช่วยให้เอาตัวรอดไปสวรรค์ แต่เราได้ใช้ชีวิตในบาปเช่นเดียวกับบุตรคนเล็ก เราต้องกลับมาหาพระองค์ทุกวัน การเดินทางกลับบ้านเป็นการเดินทางฝ่ายจิตที่แสดงถึงการกลับใจอย่างแท้จริง แสดงถึงการละทิ้งบาปและความทุกข์ที่เป็นผลของบาปเพื่อกลับมาหาพระองค์ คำอุปมาได้แสดงให้เราเห็นว่าบิดาไม่เคยละทิ้งบุตร แต่ตั้งตาคอยและเฝ้ารอการกลับมาของบุตรทุกวัน
ไม่เพียงบาปของบุตรคนเล็กที่ทำให้เขาถอยห่างจากบิดา แต่เป็นความเกลียดชังของบุตรคนโต ที่ไม่ยอมให้อภัยน้องและถือตัวว่าตนเองเป็นคนชอบธรรม ความผิดพลาดยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือ การที่เขาไม่สำนึกว่าตนเองมีความผิด การถือตัวว่าเป็นคนชอบธรรมและดีกว่าคนอื่น ได้ตัดเขาจากพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้เรายอมรับเพื่อนพี่น้องและให้อภัยกันด้วยใจกว้าง ใช้เวลาพิเศษในเทศกาลมหาพรตนี้กลับใจมาหาพระองค์ และเปลี่ยนแปลงตนเองอยู่เสมอ
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
San Tomasso Ashram, วัดป่าพนาวัลย์

17 มีนาคม 2017

ที่มาภาพ: 
https://larrydixon.wordpress.com/2012/01/19/a-brief-discussion-of-the-prodigal-son-luke-15/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น