วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

เปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร


เปโตรและเปาโล เสาหลักของพระศาสนจักร
29 มิถุนายน
สมโภช น.เปโตรและน.เปาโล
อัครสาวก
กจ 12:1-11
2 ทธ 4:6-8, 17-18
มธ 16:13-19
บทนำ
การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลเป็นการฉลองเก่าแก่ที่สุด มีมาก่อนการฉลองพระคริสตสมภพด้วยซ้ำ เนื่องจากการให้ความเคารพและเลื่อมใสนักบุญมรณสักขีในหมู่คริสตชน มีการฉลองนี้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ด้วยการถวายพิธีบูชาขอบพระคุณ 3 แห่งที่มหาวิหารนักบุญเปโตร มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง และคาตากอมป์นักบุญเซบาสเตียน ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่เก็บรักษาศพของอัครสาวกผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสอง ในห้วงเวลาของการเบียดเบียนศาสนา
พระคัมภีร์ไม่ได้บันทึกการพลีชีพเป็นมรณสักขีของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล รวมถึงอัครสาวกองค์อื่น ๆ ยกเว้นนักบุญยากอบบุตรของเศเบดี (กจ 12:1-2) แต่เป็นที่รับรู้ในหมู่คริสตชนว่าทั้งสองได้พลีชีพเป็นมรณสักขีที่กรุงโรม ตามคำสั่งของจักรพรรดิเนโร เปโตรถูกตรึงกางเขนเอาหัวลงปี  64 บนเนินวาติกันที่ตั้งมหาวิหารนักบุญเปโตร เปาโลในฐานะพลเมืองโรมันถูกตัดศีรษะด้วยดาบประมาณปี  67 บนเนินน้ำพุนอกกรุงโรมที่ตั้งมหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพงเมือง
นักบุญเอากุสตินได้เทศน์ว่า “อัครสาวกทั้งสองมีวันฉลองวันเดียวกัน เพราะทั้งสองเป็นหนึ่งเดียวกัน แม้พลีชีพเป็นมรณสักขีคนละวันก็ตาม” ดังนั้น พระศาสนจักรเฉลิมฉลองอัครสาวกทั้งสองในวันเดียวกัน ในฐานะเป็น ศิลารากฐาน ของพระศาสนจักรสากล ซึ่งท่านทั้งสองมีบทบาทสำคัญในการยืนยันความเชื่อถึงพระเยซูเจ้าสืบต่อมา สั่งสอนหลักความจริงของพระองค์และสละชีวิตเป็นพยานยืนยันความจริงนั้น
1.   เปโตร หัวหน้าพระศาสนจักร
เปโตร เดิมชื่อ “ซีโมน” เป็นชาวประมงธรรมดาคนหนึ่งในตำบลเบธไซดา  (ลก 5:3; ยน 1:44) ไม่ได้มีการศึกษาอะไรมากนัก สิ่งที่รู้ดีที่สุดคือการจับปลา ต่อมาได้ย้ายไปตั้งหลักแหล่งที่เมืองคาเปอรนาอุม (มก 1:21-29) แต่ยังคงเลี้ยงชีพด้วยการจับปลาเช่นเดิม มีน้องชายชื่อ อันดรูว์ ซึ่งเป็นคนแนะนำเปโตรให้ติดตามพระเยซูเจ้า (ยน 1:42)    เป็นไปได้ว่ายอห์นแบปติสต์ เป็นผู้เตรียมจิตใจเปโตรก่อนพบพระเยซูเจ้า และได้ละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระองค์ทันที
พระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนชื่อจากซีโมนเป็น เคฟาส หรือ เปโตร แปลว่า ศิลา  (มธ 16:17-19) เพื่อทำหน้าที่เป็นศิลาสำหรับตั้งพระศาสนจักรและเป็นหัวหน้าอัครสาวก (ยน 21:15-17) เปโตรเป็นคนหนึ่งในบรรดาพยานที่พบพระคูหาว่างเปล่า (ยน 20:6) พระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่เปโตรหลังจากทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว (ลก 24:34; 1 คร 15:5) เราเห็นชัดว่าเปโตรแม้เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนอาชีพ แต่ยังอ่อนแอพลาดพลั้งและท้อถอย เคยปฏิเสธพระเยซูเจ้า 3 ครั้ง เคยหนีจากกรุงโรมจนพบพระเยซูเจ้าอีกครั้ง
บทเรียนสำหรับเรา ชีวิตของเปโตรสะท้อนธรรมชาติ 2 ลักษณะคือ ธรรมชาติพระเจ้าและธรรมชาติมนุษย์  1) ธรรมชาติมนุษย์ คือ ซีโมน ชื่อเดิม คนเดิม ที่ขี้คุย กลับกลอก และอ่อนแอ, 2) ธรรมชาติพระเจ้า คือ เคฟาส หรือ เปโตรที่ร้อนรน กล้าหาญเด็ดเดี่ยว ธรรมชาติทั้งสองมีอยู่ในตัวเรา สิ่งที่ทำให้เปโตรเอาชนะธรรมชาติที่เป็นซีโมนได้และกลายเป็นนักบุญผู้ยิ่งใหญ่คือ การกลับใจ หลังจากปฏิเสธพระเยซูเจ้าและได้ยินเสียงไก่ขัน เปโตรสำนึกได้และออกไปข้างนอกร้องไห้อย่างขมขื่น (ดู มธ 26:69-75) 
2.   เปาโล ผู้สอนและป้องกันความเชื่อ
เปาโล เดิมชื่อ เซาโล เกิดที่เมืองทาร์ซัส แคว้นซิลีเซียในตระกูลเบนยามิน เป็นฟาริสีชั้นแนวหน้าในการตามล่าคริสตชน เพราะคิดว่าเป็นพวกมิจฉาทิฐิต้องกำจัดให้หมดสิ้นไป แต่เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์ให้เห็น ขณะเดินทางไปจับกุมคริสตชนที่เมืองดามัสกัสมารับโทษ เปาโลเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า บรรดาคริสตชนเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะแห่งพระกายทิพย์ของพระคริสตเจ้า ได้กลับใจรับศีลล้างบาปจากอานาเนียและกลายมาเป็นธรรมทูตผู้ยิ่งใหญ่
เปาโลได้รับเลือกให้เป็นธรรมทูตพร้อมกับบาร์นาบัส ออกเดินทางไปประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าอย่างกว้างขวาง เราทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางแพร่ธรรมทั้งสามครั้งของเปาโล จากหนังสือกิจการอัครสาวกตั้งแต่บทที่ 13 เป็นต้นไป เปาโลประกาศพระนามของพระเยซูเจ้าทั้งแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา ตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ทำให้เปาโลเป็น อัครสาวกของคนต่างศาสนา เป็นเครื่องมือนำพระนามของพระเยซูเจ้าไปประกาศแก่ชนต่างศาสนา (เทียบ กจ 9:15) อย่างแท้จริง
บทเรียนสำหรับเรา เปาโลจากผู้เบียดเบียนตัวยง พระเยซูเจ้าทรงเรียกและเลือกให้เป็นผู้ประกาศพระนามของพระองค์ เปาโลได้กระทำเช่นนั้นตลอดชีวิตและพลีชีพด้วยความกล้าหาญเพื่อพระองค์ การเบียดเบียนพระศาสนจักร หรือคริสตชนเท่ากับเป็นการเบียดเบียนพระคริสตเจ้าเอง ดังนั้น พระเจ้าสามารถเรียกและเลือกใช้ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา และไม่มีใครสามารถขัดพระประสงค์ของพระองค์ได้
บทสรุป
พี่น้องที่รัก การสมโภชนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล เป็นการสมโภชเสาหลักสำคัญของพระศาสนจักร นักบุญเปโตรหัวหน้าพระศาสนจักร เป็นเสาหลักทางความเชื่อที่ต้องยึดถือ นักบุญเปาโลผู้สอนและป้องกันความเชื่อ เสาหลักทั้งสองมีความสำคัญเพราะความเชื่อของเราสืบเนื่องมาจากอัครสาวก ความเชื่อเปรียบดังเมล็ดพันธุ์แห่งพระหรรษทานที่หว่านลงในใจเราตั้งแต่วันรับศีลล้างบาป เรามีหน้าที่บำรุงรักษาและทำให้งอกงามเติบโต
ทั้งเปโตรและเปาโลเหมือนกันตรงที่เคยผิดพลาดมาก่อน เปโตรเคยปฏิเสธพระเยซูเจ้าสามครั้ง ส่วนเปาโลเคยเบียดเบียนกลุ่มคริสตชน แต่ภายหลังได้สัมผัสความรักของพระเยซูเจ้า ทั้งสองให้กลายเป็นผู้ร้อนรนในการนำคริสตชนไปสู่ความรอด พระเจ้าทรงเรียกและเลือกใช้ผู้อ่อนแอเป็นเครื่องมือที่ดีของพระองค์ ความผิดพลาดในอดีตไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิต แต่การกลับใจและเริ่มต้นใหม่ต่างหากคือการกระทำที่ควรยกย่องและเลียนแบบ
การสมโภชวันนี้ เชื้อเชิญเราให้รำพึงถึงอำนาจที่พระเยซูเจ้าประทานแก่นายชุมพาของพระศาสนจักร มิใช่อำนาจปกครองเยี่ยงกษัตริย์ หรือเจ้านายทั้งหลายในโลก แต่เป็น อำนาจแห่งการรักและรับใช้ ที่ทรงสอนและมอบชีวิตบนไม้กางเขนเพื่อทุกคน ศิษย์พระคริสต์ต้องร่วมมือกับนายชุมพาทุกระดับของตน อธิษฐานภาวนาเพื่อท่านให้สามารถทำหน้าที่ของตนอย่างศักดิ์สิทธิ์ และทำหน้าที่ประจำวันของตนที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดและเกิดผล
คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
khuanthinwan@gmail.com
วัดแม่พระแจกจ่ายพระหรรษทาน ดอนม่วย, สกลนคร
30 มิถุนายน 2018
ที่มาภาพ : https://www.stfrancisdesales.ca/news/the-solemnity-of-saints-peter-and-paul/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น