วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

เทศกาลปัสกา การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า

เทศกาลปัสกา
การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า
เทศกาลปัสกาเป็นศูนย์กลางของปีพิธีกรรมของพระศาสนจักร  ซึ่งพระศาสนจักรให้เรามีเวลาเตรียมจิตใจล่วงหน้าก่อน 40 วันในเทศกาลมหาพรต  ปัสกาเป็นวันสมโภชสำคัญและยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบปี สำคัญยิ่งกว่าการสมโภชพระคริสตสมภพ  แต่ในความเป็นจริงคริสตชนมักคุ้นเคยและให้ความสำคัญกับวันพระคริสตสมภพมากกว่า
การสมโภชปัสกาไม่ได้เฉลิมฉลองเพียงวันเดียว แต่พระศาสนจักรให้เรามีเวลา 7 สัปดาห์จนถึงวันสมโภชพระจิตเจ้า  และทุกวันอาทิตย์ตลอดปีเป็นวันปัสกา ซึ่งเราคริสตชนมาชุมนุมกันในพิธีบูชาขอบพระคุณเพื่อพบพระเยซูเจ้าผู้กลับคืนพระชนมชีพ  ทรงเสด็จมาประทับอยู่ท่ามกลางเราเหมือนเมื่อครั้งทรงปรากฎพระองค์แก่บรรดาอัครสาวก
คำว่า ปัสกา มาจากคำ Pesach ในภาษาฮีบรู แปลว่า การข้าม หรือ การผ่านไป  เป็นวันที่ชาวยิวฉลองการกินขนมปังไร้เชื้อในวันที่ 14 ของเดือนนิซาน (ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน) โดยฉลองกันหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงช่วยเหลือบรรพบุรุษของชาวยิวจากการเป็นทาสในดินแดนอียิปต์ ด้วยการประหารบุตรหัวปีของชาวอียิปต์และทรงผ่านไปไม่ประหารชาวยิว (อพย 11:1-10)
ปัสกา เป็นวันฉลองเพียงหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรยุคแรก เพื่อเฉลิมฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า โดยฉลองในวันแรกของสัปดาห์คือวันอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นวันของพระเจ้า (The Lord’s Day)  เนื่องจากเป็นวันที่พระเยซูเจ้าทรงผ่านความตายไปสู่การกลับคืนพระชนมชีพ ผ่านจากการเป็นทาสของบาปสู่การเป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นหนึ่งเดียวกับพระบิดาเจ้า
การฉลองปัสกาได้กลายเป็นศูนย์กลางของพิธีกรรมและการฉลองทุกอย่างตลอดปี  โดยมีหัวใจอยู่ที่การกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นความเชื่อพื้นฐานของคริสตชนที่เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ชนะ แม้บั้นปลายชีวิตของพระองค์ทรงถูกทรยศ รับทรมาน ถูกตรึงบนไม้กางเขนและสิ้นพระชนม์อย่างน่าเวทนาอย่างผู้แพ้  แต่พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพเป็นผู้ชนะในที่สุด
คริสตชนทุกคนสามารถชนะทุกสิ่ง และมีส่วนในชัยชนะของพระเยซูเจ้าเหนือความตายเช่นเดียวกัน  ด้วยการเชื่อในพระองค์และดำเนินชีวิตเป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ดังนั้น คริสตชนต้องเป็นผู้ส่งสารแห่งการกลับคืนพระชนมชีพนี้และประกาศให้ทุกคนได้ทราบ ข่าวดีแห่งการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และ “ข่าวดีแห่งการกลับคืนชีพของตน” ด้วยการตายต่อบาป กลับใจและเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนร่วมส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์
คริสตชนต้องเป็นพยานถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าด้วย: แบบอย่างชีวิต ความรักแท้ และ ความชื่นชมยินดี
1)        แบบอย่างชีวิต ด้วยการดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร ละทิ้งความชั่ว ความเห็นแก่ตัว ดำรงไว้ซึ่งความจริง ความถูกต้องและความยุติธรรม
2)        ความรักแท้ ด้วยการรักทุกคนโดยไม่แบ่งแยกและปราศจากเงื่อนไข ใจดีมีเมตตาและให้อภัยเสมอตามแบบอย่างของพระเยซูเจ้า เพราะทุกคนถูกเรียกมาเป็นบุตรของพระเจ้าและเป็นพี่น้องกัน
3)        ความชื่นชมยินดี ด้วยการนำความยินดี ความหวังและความสุขไปสู่ผู้อื่น เราต้องยินดีไม่โศกเศร้าแม้ในห้วงเวลาแห่งความทุกข์ เพราะพระเยซูเจ้าทรงเป็นความยินดี ความหวัง และสันติสุขสำหรับมนุษยชาติได้กลับคืนพระชนมชีพแล้ว อย่าให้การดำเนินชีวิตแต่ละวันของเราเป็นการตรึงพระองค์บนไม้กางเขนอยู่ร่ำไป
เราต้องนำสารแห่ง แบบอย่างชีวิต ความรักแท้ และ ความชื่นชมยินดี ไปสู่ทุกคนเดี๋ยวนี้ขณะยังมีชีวิตอยู่  ทำให้ปัสกาของพระเยซูเจ้าปรากฏเป็นจริงในใจเราและในโลก  เพื่อร่วมส่วนในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ตั้งแต่ในโลกนี้
สุขสันต์วันปัสกา
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลปัสกา การฉลองการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2562), หน้า 1-3.
ภาพ : The Resurrection of Christ ผลงานของ Nicolas Bertin

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น