ความหมายของพระมหาทรมาน
อาทิตย์มหาทรมาน
แห่ใบลาน
ปี C
|
อสย 50:4-7
ฟป 2:6-11
ลก 22:14-23:56
|
บทนำ
มีภาพยนตร์หลายเรื่องสร้างเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
แต่ที่โด่งดังและกล่าวขวัญมากที่สุดคือเรื่อง “The Passion of the Christ” ที่กำกับและร่วมสร้างโดย เมล กิบสัน โดยเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่สหรัฐอเมริกาเมื่อพุธรับเถ้า
25 กุมภาพันธ์ 2004 และติดอันดับสี่หนังทำเงินตลอดกาลของสหรัฐทันทีที่เปิดฉายในวันหยุดสุดสัปดาห์
ส่วนในประเทศไทยเปิดฉายเมื่อ 22 เมษายน 2004
The Passion of the Christ เป็นเรื่องราวเหตุการณ์
12 ชั่วโมงสุดท้ายแห่งชีวิตของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ โดยเปิดฉากที่สวนเกทเสมนี
สถานที่ที่พระองค์ทรงอธิษฐานภาวนาและเข้าตรีทูตจนพระเสโทเป็นโลหิต
จนถึงฉากสุดท้ายบนไม้กางเขนที่ทรงตรัสว่า “พระบิดาเจ้าข้า
ข้าพเจ้าขอมอบจิตวิญญาณของข้าพเจ้าไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์” (ลก 23:46) เมื่อตรัสดังนี้แล้วก็สิ้นพระชนม์ ทำให้ทองฟ้ามืดมัวม่านในพระวิหารฉีกขาด
ภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้พยายามนำเสนอความจริงเกี่ยวกับพระมหาทรมานของพระเยซูเจ้า
โดยเรียบเรียงจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่โดยเฉพาะพระวรสารทั้งสี่
มีการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และธรรมประเพณีในสมัยนั้นอย่างละเอียด
ภาพที่ออกมาจึงสมจริงจนหลายคนทนดูไม่ได้
เพราะความทารุณโหดร้ายที่พระเยซูเจ้าได้รับ แต่นี่คือภาพยนตร์ที่สะท้อนเหตุการณ์จริงที่เกิดกับพระเยซูเจ้ามากที่สุด
1.
ความหมายของพระมหาทรมาน
พระเยซูเจ้าทรงเจริญพระชนมชีพในยุคที่มีความรุนแรง และทรงเป็นเหยื่อของความรุนแรง
พระองค์ทรงน้อมรับความรุนแรงโหดร้ายเหมือนลูกแกะถูกนำไปฆ่า
พระมหาทรมานของพระองค์มีความหมายพิเศษสำหรับคริสตชน
เนื่องจากเป็นแหล่งพลังและความเข้มแข็งของผู้คนเป็นจำนวนมากตลอดประวัติศาสตร์
เมื่อพิจารณาพระมหาทรมานของพระองค์อย่างลึกซึ้ง เราพบความทุกข์ทรมานของพระองค์ใน 3 ลักษณะ
ความทรมานด้านจิตใจ พระเยซูเจ้าทรงถูกยูดาสทรยศ
เหตุการณ์ที่สวนเกทเสมนีได้แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงอยู่ในห้วงความทุกข์แสนสาหัส
ขณะกำลังอธิษฐานภาวนาทรงเห็นภาพล่วงหน้าถึงมหาทรมานที่กำลังจะได้รับ
จนต้องร้องขอพระบิดาให้ถ้วยนี้ผ่านพ้นไป แต่ที่สุด ทรงขอให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า
ความทรมานด้านจิตใจส่งผลต่อร่างกายจนพระเสโทเป็นโลหิต นี่คืออาการของคนทุกข์หนักอย่างที่สุด
ความทรมานด้านร่างกาย พระเยซูเจ้าทรงถูกทรมานอย่างทารุณโหดร้าย ด้วยการเฆี่ยน
การสวมมงกุฎหนาม การตรึงบนไม้การเขน และการแทงด้วยหอก รอยเลือดที่ปรากฏที่ผ้าตราสังข์แห่งตูริน มองเห็นได้ชัดเจนว่า เจ้าของร่างที่ปรากฏได้ผ่านการทารุณอย่างโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรม
ความทรมานด้านวิญญาณ พระเยซูเจ้าทรงถูกทอดทิ้งจากบรรดาศิษย์ และทรงรู้สึกสิ้นหวังขณะถูกตรึงบนไม้กางเขนพระองค์
ดูคล้ายกับว่า พระบิดาทรงทอดทิ้งพระองค์ด้วย “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า
ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” (มธ 27:46) คงไม่มีความทุกข์ใดยิ่งใหญ่ไปกว่าการที่ใครคนหนึ่งรู้สึกว่า ตนเองถูกทอดทิ้งจากบุคคลอันเป็นที่รัก
โดยเฉพาะในช่วงเวลาของความยากลำบาก
2.
บทเรียนสำหรับเรา
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นที่มาแห่งความรอดของมนุษยชาติ
ได้ให้บทเรียนสำคัญแก่เราด้วยชีวิตและแบบอย่างของพระองค์
ประการแรก
เครื่องหมายแห่งความรักแท้ พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นเครื่องหมายแห่งความรักแท้จริงสำหรับมนุษยชาติ
พระองค์ทรงรักและมอบชีวิตของพระองค์บนไม้กางเขนเพื่อเราทุกคน “ไม่มีใครมีความรักยิ่งใหญ่กว่าการสละชีวิตของตนเพื่อมิตรสหาย” (ยน 15:13)
ประการที่สอง
ต้นแบบแห่งความรัก
พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเป็นต้นแบบแห่งความรัก ทรงเชื้อเชิญเราให้ดำเนินชีวิตในความรักตามมาตรฐานเดียวกันกับพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักต่อเพื่อนมนุษย์ “นี่คือบทบัญญัติของเรา
ให้ท่านทั้งหลายรักกันเหมือนดังที่เราได้รักท่าน” (ยน 15:12)
ประการที่สาม เครื่องหมายแห่งความเมตากรุณาหาที่สุดมิได้ พระมหาทรมานของพระเยซูเจ้าเผยแสดงให้เห็นถึงความเมตากรุณาหาขอบเขตมิได้ของพระเจ้าต่อมนุษย์
ขณะกำลังแบกไม้กางเขน
พระองค์ทรงให้กำลังใจหญิงชาวเยรูซาเล็มกลุ่มหนึ่งที่กำลังร้องไห้คร่ำครวญ (ลก 23:28) และทรงอธิษฐานภาวนาขอให้พระบิดาทรงอภัยแก่ผู้ที่ประหารพระองค์
(ลก 23:33) อีกทั้ง
ทรงยกโทษนักโทษคนหนึ่งที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ (ลก 24:43)
บทสรุป
พี่น้องที่รัก
อาทิตย์ใบลานเตือนเราถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างผู้มีชัยของพระเยซูเจ้า
เพื่อน้อมรับการทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นและเป็นปัจจุบันทุกครั้งในพิธีบูชาขอบพระคุณที่เรามาร่วมทุกสัปดาห์
เหนือสิ่งอื่นใด เราต้องเลียนแบบพระองค์ในความรักหาที่สุดมิได้และการให้อภัยไม่สิ้นสุด
เป็นต้น ในครอบครัว หมู่คณะ และชุมชนวัดของเรา
เมื่อเราต้องเผชิญกับความยากลำบาก หรือความทุกข์ทรมานใด
ๆ ในชีวิต เราควรหันมาหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับความบรรเทาและความช่วยเหลือ พระมหาทรมานของพระองค์ต้องเตือนใจให้สำนึกในบาปที่เราได้กระทำ
และกลับมาหาพระองค์ผ่านทางศีลอภัยบาป อีกทั้ง ทำให้เรามีกำลังใจในการดำเนินชีวิต
ความยากลำบากต่าง ๆ ที่เราได้รับเทียบไม่ได้เลยกับพระมหาทรมานของพระองค์
และเรามิได้เผชิญกับความยากลำบากโดยลำพัง
ขวัญ ถิ่นวัลย์, เทศกาลมหาพรต 40 วันแห่งการฟื้นฟูชีวิตคริสตชน, (สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป, 2561), หน้า 145-148.
ภาพ : พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม, วัดน้อยที่เบธฟายี, ภูเขามะกอก, อิสราเอล; 2018-04-20
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น