วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2561

ตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า


ตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า
การเดินทางสู่ประเทศอิสราเอลของพระสงฆ์แสงธรรม รุ่น 15 ระหว่าง 14 เมษายน-5 พฤษภาคม 2018 ถือเป็นการฉลองครบรอบ 25 ปีชีวิตสงฆ์ร่วมกัน หลังจากได้มีการพบปะ ไตร่ตรองชีวิตร่วมกันตลอดปีที่ 24 เป็นเวลา 4 ครั้ง โดยมีเป้าหมายเพื่อตามรอยพระบาทพระเยซู พระอาจารย์ ประกาศก สงฆ์ และผู้อภิบาลที่ดี โดยการเดินทางศึกษา แสวงบุญ และฟื้นฟูความเชื่อร่วมกัน
ถือเป็นโครงการนำร่องของการฉลอง 25 ปีชีวิตสงฆ์ร่วมกันอย่างมีคุณค่าและความหมาย พวกเราประกอบด้วยพระสงฆ์ 8 องค์ และผู้ประสานงานอีก 1 คน รวมเป็น 9 คน ออกเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ เสาร์ที่ 14 เมษายน 2018 เวลา 00.30 น. โดยสายการบินรอยัล จอร์แดน เที่ยวบิน RJ 183 มุ่งหน้าสู่สนามบินควีนอาเลีย กรุงอัมมัน ประเทศจอร์แดน เวลา 05.30 น. ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 4 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 9 ชั่วโมง
สาเหตุที่ต้องเดินทางโดยสายการบินจอร์แดน เพราะสามารถย่นระยะเวลากว่าการเดินทางโดยสายการบินอิสราเอล ที่ไม่สามารถบินผ่านดินแดนของกลุ่มประเทศอาหรับได้ เนื่องจากความขัดแย้งและปัญหาทางการเมืองกันมายาวนาน จากจอร์แดนพวกเราได้ต่อเครื่องไปลงสนามบินเบนกูเรียน กรุงเทอาวีฟ ใช้เวลาเดินทางเพียง 40 นาที ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งถามว่าทำไมถึงมาประเทศอิสราเอล เมื่อได้รับคำตอบว่า “เพื่อศึกษาและแสวงบุญตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า” เขายิ้มและให้ผ่านโดยสะดวก
สนามบินควีนอาเลีย กรุงอัมมัน ประเทศจอร์แดน
อิสราเอล บ้านของเรา
คุณพ่อสมเกียรติ ตรีนิกร ซึ่งเป็นผู้นำและให้ข้อมูลระหว่างการเดินทางว่า “ขอต้อนรับสู่บ้านของเรา (Our Home) เนื่องจากประเทศอิสราเอลเป็นเหมือนบ้าน เพราะพระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับมนุษย์ผ่านทางอับราฮัม อิสราเอลจึงเป็นบ้านของพวกเราด้วย พระองค์ทรงเรียกอับราฮัมเมื่อ 1950 ก่อนคริสตกาล จากคนเลี้ยงสัตว์เร่ร่อน ไม่มีศาสนา นับถือพระเจ้าของบรรพบุรุษ ให้ละทิ้งดินแดน ละทิ้งบ้าน และละทิ้งครอบครัวมานับถือพระยาเวห์ อับราฮัมบิดาแห่งความเชื่อ จึงเป็นต้นแบบของศิษย์พระคริสต์ในการละทิ้งทุกสิ่งติดตามพระเจ้า
ชื่อ “อิสราเอล” มาจากชื่อของยากอบ บุตรชายคนเล็กของอิสอัก ผู้เป็นบุตรของอับราฮัม ส่วนความเป็นรัฐอิสราเอล (The State of Israel) เพิ่งเกิดเมื่อปี 1947 สมัชชาสหประชาชาติ ลงมติแบ่งดินแดนปาเลสไตน์ให้กับชาวยิว โดยแบ่งเอาดินแดนบางส่วนของซีเรียและอียิปต์ไปด้วย ปี 1948 มีการจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นอย่างเป็นทางการบนแผ่นดินปาเลสไตน์ โดยมี เดวิด เบนกูเรียน (David Bengurion) เป็นผู้นำคนแรก นับแต่นั้นมาอิสราเอลได้ปรากฏบนแผนที่โลกในฐานะประเทศ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่มีแผ่นดินครอบครอง
ประเทศอิสราเอลที่เรียกว่า “แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์” เป็นจุดพบระหว่างตะวันออกและตะวันตก และเป็นดินแดนที่ให้กำเนิด 3 ศาสนาคือ ยิว คริสต์ และอิสลาม สำหรับชาวยิวถือว่าเป็นดินแดนแห่งพระคัมภีร์และอดีตอันรุ่งเรือง สำหรับคริสตชนเป็นดินแดนของพระเยซูเจ้า บุตรพระเจ้าที่ลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ ทรงเทศนาสั่งสอน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนมชีพ สำหรับมุสลิมเป็นดินแดนที่ประกาศกมะหะหมัดได้เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งยังเป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งและสงคราม
วัดแม่พระเสด็จเยี่ยมนางเอลีซาแบ็ธ และบ่อน้ำแม่พระที่เอนคาเร็ม
วัดแม่พระเสด็จเยี่ยม
จากสนามบินเบนกูเรียน พวกเราเดินทางสู่เอนคาเรม (Ein Karem) ที่ตั้งของวัดแม่พระเสด็จเยี่ยม (The Church of The Visitation) ที่พระนางมารีย์ได้เดินทางกว่า 100 กิโลเมตรจากนาซาเร็ธ เพื่อมารับใช้นางเอลีซาเบ็ธผู้เป็นญาติและขณะตั้งครรภ์ยอห์น บัปติสต์ (ลก 1:39-46) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 มีการสร้างวัดครอบถ้ำที่ถือกันว่าได้เป็นส่วนของบ้านของเศคาริยาห์ บนเนินเขาห่างจากกรุงเยรูซาเล็มประมาณ 12 กิโลเมตร ที่ซึ่งเศคาริยาห์ไปปฏิบัติหน้าที่ในพระวิหาร 
พวกเราได้ถวายบูชาขอบพระคุณในถ้ำซึ่งเป็นวัดน้อยของวัดหลังนี้ บริเวณชั้นล่างเป็นวัดน้อย มีบ่อน้ำที่พระนางมารีย์ใช้ตักตลอดเวลา 3 เดือนที่อยู่รับใช้นางเอลีซาเบ็ธ และหินที่เชื่อกันว่าได้ช่วยปิดบังมิให้ทหารของเฮโรดเห็นยอห์น บัปติสต์ เมื่อเฮโรดส่งทหารมาฆ่าเด็กชาวยิวที่อายุสองขวบลงมา ตามผนังกำแพงด้านหน้าวัดมีบทเพลง “มักญีฟีกัต” จารึกบนแผ่นเซรามิกเป็นภาษาต่างกว่า 40 ภาษา รวมทั้งภาษาไทยด้วย
ไม่ไกลจากนั้นเป็นสถานที่เกิดของนักบุญยอห์น บัปติสต์ เป็นที่ตั้งของ “วัดนักบุญยอห์น บัปติสต์” ที่สร้างครอบบ้านมารดาของนางเอลีซาเบ็ธ วัดหลังแรกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยไบเซนไทน์ แต่ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่สมัยสงครามครูเสด วัดหลังปัจจุบันสร้างขึ้นปี 1885 โดยคณะฟรังซิสกัน เหนือสถานที่เกิดของยอห์น บัปติสต์ ผู้นำหน้าพระผู้ไถ่ ด้านหน้าวัดมี “บทเพลงของเศคาริยาห์” จารึกบนแผ่นเซรามิกเป็นภาษาต่างๆ (ไม่มีภาษาไทย)
วัดนักบุญยอห์น บัปติสต์และสถานที่เกิดของยอห์น บัปติสต์
นครเยรูซาเล็ม
จากนั้นพวกเรามุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็ม นครศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรให้เป็นป้อมปราการทางความเชื่อ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการเดินทางมาครั้งนี้ ที่เรียกว่าเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” “นครแห่งสันติสุข” “นครแห่งดาวิด” “นครแห่งสิโยน” ฯลฯ ถือเป็นเมืองหลวงทางศาสนาราวครึ่งหนึ่งของมนุษยชาติ ได้แก่ ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม นอกนั้น ยังเป็นเมืองแห่งสงคราม และการหลั่งเลือด มีการสู้รบมากกว่าเมืองใดในโลก ถูกล้อมรอบมากกว่า 50 ครั้ง ถูกยึด 36 ครั้ง และถูกทำลายมากกว่า 10 ครั้ง
ศตวรรษที่ 10 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ดาวิดได้ยึดเมืองนี้และตั้งเป็นเมืองหลวง โดยนำหีบพันธสัญญามาประดิษฐาน ปี 965-922 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ซาโลมอนได้ปรับปรุงเมืองและสร้างพระวิหาร ปี 587 ก่อนคริสตกาล บาบิโลนได้ยึดกรุงเยรูซาเล็มทำลายพระวิหาร และนำชาวยิวไปเป็นทาสที่บาบิโลน ปี 538 ก่อนคริสตกาล ชาวยิวได้กลับสู่เยรูซาเล็มและสร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ปี 332 ก่อนคริสตกาล พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชได้ยึดเยรูซาเล็ม ปี  63 ก่อนคริสตกาล  โรมันได้ยึกครองเมืองนี้
นครเยรูซาเล็ม, Dome of The Rock ที่เคยเป็นที่ตั้งพระวิหาร
วัดพระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (สองโดมด้านขวามือ) ที่ฝังพระศพพระเยซูเจ้า
 ปี 37 ก่อนคริสตกาล  เฮโรดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกษัตริย์ของชาวยิว ได้ปรับปรุงเยรูซาเล็มให้สวยงาม โดยสร้างกำแพงและพระวิหารขึ้นใหม่ให้สวยงามกว่าสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน ปี  70  เยรูซาเล็มถูกทำลายโดยจักรพรรดิติตัส ปี 132 - 135 จักรพรรดิเอเดรียน ได้สร้างเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ตามแบบโรมัน ปี 330 จักรพรรดคอนสแตนตินที่กลับใจเป็นคริสตชน ได้เปลี่ยนเยรูซาเล็มให้เป็นเมืองคริสตชน ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญโดยเฉพาะพระนางเฮเลนา พระมารดาของคอนสแตนติน ที่มีบทบาทในการสร้างความเจริญของคริสตศาสนา
ปี 636 เยรูซาเล็มตกอยู่ใต้อำนาจของชาวอาหรับ ปี 1187 ถูกยึดจากชาวมุสลิมภายใต้การนำของซาลาดิน ปี 1517 ตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวเติร์กตลอด 400 ปี ก่อนเป็นของรัฐอิสราเอลปี 1948 นครเยรูซาเล็มจึงมีความหลายหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ส่วนในความครอบครองของยิว มุสลิม คริสตชน และอาร์เมเนียน และเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวและผู้แสวงบุญจากทั่วโลก ได้มาเยือนสักครั้งในชีวิต
อาหารมื้อแรกที่เยรูซาเล็มและทัศนียภาพของเยรูซาเล็มจากที่พัก

คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
Ecce Homo Convent, Jerusalem, ISRAEL
16 เมษายน 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น