วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2561

ตามรอยพระบาทพระเยซูเจ้า3



พระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม
สิ่งที่เราคุ้นเคยเวลาศึกษาพระคัมภีร์หรือฟังเรื่องราวจากพระวรสารคือ พระวิหารซึ่งเป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของชาวยิวและมีเพียงแห่งเดียวที่เยรูซาเล็ม แต่ปัจจุบันไม่มีพระวิหารที่ว่านี้ มีแต่จุดที่เคยเป็นที่ตั้งพระวิหารที่เรียกว่า “วัดบนภูเขา” (Temple Mount) ซึ่งถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของ 3 ศาสนา สำหรับชาวยิวเป็นสถานที่ตั้งพระวิหารอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา สำหรับคริสตชนเป็นสถานที่เกี่ยวพันกับหลายเหตุการณ์ในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า และสำหรับมุสลิมเป็นสถานที่ที่ศาสดามูฮัมหมัดเสด็จสู่สวรรค์
วัดบนภูเขาตั้งอยู่บนภูเขาโมรีอาที่อับราฮัมขึ้นไปถวายอิสอัคบุตรชายแด่พระเจ้า (ปฐก 22:1-22) กษัตริย์ดาวิดได้สร้างแท่นบูชาแด่พระเจ้าบนภูเขานี้ และสัญญาจะสร้างพระวิหารแด่พระเจ้า แต่ผู้ที่สร้างให้สำเร็จคือกษัตริย์ซาโลมอน พระโอรส ถือเป็นพระวิหารที่สวยงามมากและเป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก แต่ได้ถูกกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทำลายปี 587 ก่อนคริสตกาล และชาวยิวถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยที่บาบิโลนเป็นเวลา 50 ปี เมื่อกลับมาเอสราได้นำชาวยิวสร้างพระวิหารขึ้นใหม่แต่มีขนาดเล็กกว่า
ปี 20 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์เฮโรดมหาราชได้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่ ใหญ่โตและสวยงามมากสร้างเสร็จปี 64 ถือเป็นพระวิหารที่พระเยซูเจ้าทรงคุ้นเคย ทรงเสด็จเข้าไปอธิษฐานภาวนาและเทศนาเป็นประจำ ปี 70 พระวิหารนี้ได้ถูกทำลายจากกองทัพของจักรพรรดิตีตัส ปี 135  จักรพรรดิเอเดรียนได้สร้างสักการสถานเทพเจ้าจูปีเตอร์ขึ้นบริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งพระวิหาร ปี 636 มุสลิมได้ยึดครองและสร้างสุเหร่าขึ้นมาแทน ชาวยิวไม่สามารถขึ้นมาบนสถานที่แห่งนี้ได้ สิ่งที่ทำได้คือการมาอธิษฐานและร้องไห้ที่กำแพง แม้ไม่มีพระวิหารแต่กลับทำให้ชาวยิวมีความเชื่อในพระเจ้า และความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น




The Dome of the Rock
สุเหร่าสีทองหรือ Dome of the Rock ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นแห่งหนึ่งของเยรูซาเล็ม สร้างโดยกาลิบ อับดุล มาลิค โอมาร์ปี 691 เพื่อครอบหินซึ่งเชื่อว่าพระมูฮัมหมัดเสด็จสู่สวรรค์ แต่สำหรับชาวยิวถือว่าเป็นหินที่อับราฮัมถวายอิสอัคแด่พระเจ้า และเป็นที่วางหีบพันธสัญญา เครื่องหมายแห่งการประทับอยู่ของพระเจ้าเมื่อสร้างพระวิหารบนสถานที่แห่งนี้
โดมที่ครอบหินมีการซ่อมแซมหลายครั้ง เมื่อพวกครูเสดยึดกรุงเยรูซาเล็มปี 1099  โดมแห่งนี้ได้ถูกดัดแปลงเป็นวิหารของพระเจ้า แต่หลังจากพ่ายแพ้ปี 1187 กางเขนที่เคยตั้งตระหง่านบนยอดโดมได้ถูกแทนที่ด้วยพระจันทร์เสี้ยว รูปทรงภายนอกมีแปดเหลี่ยม แต่ละด้านกว้าง 63 ฟุต สูงจากพื้น 180 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางของโดม 78 ฟุต ประดับด้วยด้วยแผ่นหินและกระเบื้องเงาจากเปอร์เซีย ส่วนโดมทำด้วยแผ่นอะลูมิเนียมชุบทองคำ
ทางด้านทิศใต้ของลานกว้าง มีสุเหร่าอัล อัคซา สร้างขึ้นระหว่างปี 709-715 โดยกาลิบ วาลีด บุตรของอับดุล มาลิค สุเหร่านี้ถูกทำลายและสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง ตั้งอยู่บริเวณที่เคยเป็นปราสาทของกษัตริย์ซาโลมอน และถือเป็นสถานภาวนาพร้อมกันของชาวมุสลิม ในช่วงสงครามครูเสดปี 1099-1187 พวกครูเสดได้ใช้สุเหร่านี้เป็นศูนย์บัญชาการของบรรดาอัศวินที่มาร่วมรบ




กำแพงเยรูซาเล็ม
กำแพงเยรูซาเล็มสร้างจากก้อนหินขนาดใหญ่ เป็นดังป้อมปราการที่แข็งแกร่งของเยรูซาเล็มซึ่งสร้างขึ้นหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะสุลต่านสุไลมานมหาราช ซึ่งเป็นชาวเติร์กได้สร้างกำแพงขึ้นระหว่างปี 1539-1542 กำแพงที่มีความยาวกว่า 2 ไมล์ครึ่ง ความสูงโดยเฉลี่ย 40 ฟุต มีหอ 34 หอ มีประตู 8 ประตูคือ ประตูใหม่ ประตูดามัสกัส และประตูเฮโรดทางทิศเหนือ ประตูสเทเฟนและประตูทองทางทิศตะวันออก ประตูที่ใช้ในการขนขยะและประตูศิโยนทางทิศใต้ และประตูยัฟฟาทางทิศตะวันตก
ป้อมที่โดดเด่นที่สุดคือป้อมของกษัตริย์ดาวิด กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่ชาวยิวให้ความเคารพนับถือ สร้างขึ้นโดยกษัตริย์เฮโรด ประกอบด้วยหอคอยสามหอ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงหอเดียว ในอดีตชาวมุสลิมได้ใช้เป็นสถานที่ภาวนา เพราะเชื่อกันว่ากษัตริย์ดาวิดได้อธิษฐานภาวนาต่อพระเจ้าที่นี่ บนป้อมมีทางเดินที่สามารถขึ้นไปเดินชมทัศนียภาพของกรุงเยรูซาเล็มได้




ประตูทอง
ประตูทอง (Golden Gate) เป็นประตูทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่ตรงข้ามกับภูเขาโอลีฟ โดยมีลำห้วยขิดโดรนขวางกั้น ถือเป็นประตูหลักในการเข้าสู่พระวิหาร ตามธรรมประเพณีคริสชนเชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงใช้ประตูนี้ในการเสด็จไปอธิษฐานภาวนาและเทศน์สอนในพระวิหาร อีกทั้งทรงเสด็จเข้าเมืองอย่างสง่าพร้อมบรรดาศิษย์จากประตูนี้ (อาทิตย์ใบลาน) แต่ประตูนี้ได้ถูกปิดตายตั้งแต่ศตวรรษที่ 9
ตามธรรมประเพณียิวเชื่อว่าพระแมสิยาห์จะเสด็จเข้ากรุงเยซูซาเล็มผ่านทางประตูนี้ เพื่อปลดปล่อยชาวยิว แต่เพราะความแตกต่างทางความเชื่อและความขัดแย้งทางศาสนา ชาวมุสลิมที่ครอบครองได้ปิดประตูนี้ และได้ฝังศพมุสลิมขวางกั้นตลอดแนวกำแพง เชื่อว่าพระแมสิยาห์ซึ่งเป็นสมณะจะไม่สามารถผ่านประตูนี้ได้ เพราะจะทำให้เป็นมลทิน หลุมฝังศพยังคงใช้ต่อมาจนถึงปัจจุบัน



อาสนวิหารแม่พระบรรทม
อาสนวิหารแม่พระบรรทมตั้งอยู่บนภูเขาศิโยน เป็นสถานที่ที่พระนางมารีย์สิ้นพระชนม์ ปี 1100 พวกครูเสดได้สร้างวัดใหญ่ขึ้นให้ชื่อว่าวัดพระนางมารีย์แห่งภูเขาศิโยน ต่อมาปี 1219 ได้ถูกทำลายจากพวกมุสลิม ปี 1898 ชาวเติร์กได้มอบสถานที่นี้ให้แก่แก่จักรพรรดิเยอรมัน ซึ่งทรงมอบให้ฤาษีคณะเบเนดิกตินสร้างวัดหลังปัจจุบันปี 1910
ภายในวัดมีรูปโมซาอิกที่สวยงามมากของแม่พระ พระกุมาร และพระตรีเอกภาพ ที่ชั้นใต้ดินของวัดมีวัดน้อยมีพระรูปแม่พระบรรทม เพื่อระลึกถึงการสิ้นใจของพระนางมารีย์ ซึ่งเป็นความเชื่อของคริสตชนตั้งแต่แรกเริ่มว่าพระนางไม่ได้สิ้นใจ เพียงแต่นอนหลับและได้รับการยกขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ซึ่งพวกเราได้อธิษฐานภาวนาต่อพระนางมารีย์ที่นี่เพื่อพระศาสนจักรในประเทศไทย วัดและสัตบุรุษที่อยู่ในความดูแล




ห้องชั้นบนและหลุมศพของดาวิด
ห้องชั้นบนเป็นห้องที่พระเยซูเจ้าและบรรดาศิษย์รับประทานอาหารค่ามื้อสุดท้าย  ทรงมอบบัญญัติใหม่แห่งความรัก (มก 14:12-16, ลก 22:7-13) ทรงปรากฏพระองค์แก่บรรดาศิษย์ 2 ครั้งหลังจากกลับคืนพระชนม์ชีพ (ยน 20:19-23, 20:24-29) และเป็นห้องที่พระจิตเจ้าเสด็จลงมาเหนือบรรดาศิษย์ (กจ 2:1-4) ปี 614 ชาวเปอร์เซียได้ทำลายสถานที่แห่งนี้ ศตวรรษที่ 12 พวกครูเสดได้สร้างขนึ้มาใหม่เป็นอาคาร 2 ชั้น ปี 1176  หีบศพของกษัตริย์ดาวิดได้นำมาประดิษฐานที่ชั้นล่าง ปี 1552 พวกเติร์กได้ยึดครองและดัดแปรงเป็นสุเหล่า
หลุมศพของกษัตริย์ดาวิดถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งในเยรูซาเล็ม รองจากกำแพงร้องไห้ที่ชาวยิวพากันมาอธิษฐานภาวนาเป็นประจำ ผู้ค้นพบหีบศพของกษัตริย์ดาวิดเป็นอาจารย์พระคัมภีร์ของชาวยิวชื่อเบนจามินแห่งตูเดลา เมื่อครั้งเยี่ยมกรุงเยรูซาเล็มปี 1172 หีบนี้ทำจากหิน คลุมด้วยผ้ากำมะหยี่ ประดับประดาด้วยมงกุฎและภาชนะเงินที่ใช้บรรจุม้วนพระคัมภีร์




วัดนักบุญเปโตร ไก่ขัน
วัดนักบุญเปโตร ไก่ขันสร้างขึ้นปี 1931 ณ สถานที่ที่ถือกันว่าเคยเป็นบ้านของมหา สมณะคายาฟาส หลังจากที่พระเยซูเจ้าถูกทรยศและจับกุมตัวในสวนมะกอก พระองค์ถูกนำตัวมาที่บ้านนี้ ทรงถูกตัดสินเป็นครั้งแรกบรรดาหัวหน้ามหาสมณะและสมาชิกสภาซันเฮดริน (มธ 26:57-63, มก 14:53-65, ลก 22:63-71, ยน 18:12-14) ที่นี่นักบุญเปโตรได้ปฏิเสธพระองค์ 3 ครั้งก่อนที่ไก่จะขัน 2 ครั้ง
จากสิ่งที่ขุดพบในสถานที่แห่งนี้สนับสนุนความเชื่อว่านี่เป็นบ้านของคายาฟาส บ่อน้ำที่เชื่อกันว่าหลังจากถูกตัดสินพระเยซูเจ้าถูกทรมานและหย่อนลงในบ่อนี้ตลอดทั้งคืน โดยมีบรรดาทหารคอยเฝ้า ที่ผนังชั้นใต้ดินพบห้องขังและจุดที่ผูกแขนตีตรวนนักโทษหรือผู้กระทำความผิด เราเห็นถึงความเข้มแข็งของพระเยซูเจ้าต่อหน้ามหาสมณะและสมาชิกสภาในบ้าน กับเปโตรที่อ่อนแอซึ่งอยู่นอกบ้าน



คุณพ่อขวัญ ถิ่นวัลย์
Ecce Homo Convent, Jerusalem, ISRAEL
19 เมษายน 2018

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น